ธรรมชาติ-ร.ศ. 112 เป็น “ดอกประดู่” เพลงอมตะกองทัพเรือโดยกรมหลวงชุมพรฯ

กรมหลวงชุมพรฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (2423-2466) องค์บิดาของทหารเรือไทยทรงพระปรีชาวิชาการต่างๆ หลายแขนง หนึ่งในนั้นคือ ความสามารถทางดนตรี เมื่อเข้ารับราชการทหารเรือ นอกจากพระองค์ทรงมานะปรับปรุงกองทัพเรือให้เป็นทหารเรือแบบใหม่แล้ว ยังทรงนิพนธ์เพลงปลุกใจให้นักเรียนนายเรือร้องเมื่อเข้าแถวสวดมนต์ไหว้พระตอนค่ำ และเวลาเดินทางไกล เช่น เพลงดอกประดู่, เพลงเดินหน้า, เพลงดาบของชาติ ฯลฯ

สำหรับ “เพลงดอกประดู่” ที่ทรงนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ในส่วนทำนองนั้น แม้มีต้นเค้าจากเพลง Auld Lang Syne และ เพลง Comin’ Thro’ the Rye แต่หลายตอนทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่ จึงแตกต่างจากทั้ง 2 เพลง ส่วนเนื้อร้องนั้น จากชีวิตของทหารเรือ จากประสบการณ์ของพระองค์ที่ทรงนำทหารออกฝึกภาคทะเล และแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112  สันนิษฐานว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นในช่วงที่ทรงออกจากราชการ ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เนื้อเพลงมีดังนี้

เพลงดอกประดู่

หะเบสสมอ พลัน ออกสันดอนไป ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา

พวกเราดูรู้เจ็บแล้วต้องจํา ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์ จะนํา สยามเป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลํา ถึงเรือจะจมในนำ ธงไม่ต่ำลงมา

เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี สยามเป็นชาติของเรา อย่าให้เขามามายี ถึงตายตายให้ดี ตายในหน้าที่ของเรา

พวกเราทุกลํา จําเช่นดอกประดู่ วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่ วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่ให้ชาติไทย

เนื้อร้องเพลงพระนิพนธ์ดังกล่าวที่ว่า “หะเบสสมอ” นั้น เป็นศัพท์ทหารเรือไทย เป็นคําภาษาจาม แปล ว่า ถอนสมอเรือ, “กระโจมไฟ” คือหอประภาคาร ในที่นี้หมายถึงกระโจมไฟ ที่แหลมงอบ อําเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด, “พวกเราจงดูรู้เจ็บแล้วต้องจำ” (บ้างว่าเป็น “พวกเราจงดูรู้เจ็บแล้วต้องจำ”) เป็นการย้ำเตือนให้จดจำวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112, “กาฟฟ์” (Gatt) คือเสาสำหรับชักธงประจำเรือที่ตอนกลางเรือ เมื่อชักธงชาติขึ้นที่เสานี้ แสดงว่าเรือลำดังกล่าวกำลังประจำสถานีรบ ช้างบนยอดกาฟฟ์ หมายถึง รูปช้างเผือกในธงราชนาวีไทย

ส่วนเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายและชื่อเพลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงใช้ธรรมชาติของประดู่ เวลาออกดอกจะค่อยๆ บานและโรยพร้อมกันทั้งต้น จึงทรงเลือกใช้ “ประดู่” แทนความรักสามัคคีของเหล่าทหารเรือ อันเป็นที่มาการเปรียบเทียบตนเองของทหารเรือไทยว่าเป็น “ลูกประดู่”

 


ข้อมูลจาก

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พลเรือโท ณรงค์ ชโลธร. พระประวัติพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย, เอกสารภาคนิพนธ์ผู้นำในระบอบประชาธิปไตย หลักสูตรผู้นำการเมืองยุคใหม่ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2547


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563