วิถีชีวิตชาวบุรีรัมย์ราวร้อยปีก่อน จากบันทึกครอบครัวชาวโคราชอพยพ

ภาพประกอบเนื้อหา - หญิงสาวชาวบ้านอีสานสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นางน้อย วัชรานันท์ (โรงพิมพ์สงเคราะห์หญิงปากเกร็ด, 2517) มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวอีสานในอดีต โดยเฉพาะที่ “บุรีรัมย์” และ “โคราช” ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างน้อย หรืออาจย้อนได้ไกลถึงสมัยรัชกาลที่ 6

นางน้อย วัชรานันท์ เป็นบุตรของนายเซียงฮ้อและนางหมา เจริญสุข เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2441 ที่อำเภอตลุง บุรีรัมย์ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอประโคนชัย) เดิมบิดาเป็นชาวโคราช โยกย้ายไปทำอากรสุราตามท้องที่ต่าง ๆ นางน้อยเกิดที่บุรีรัมย์ขณะบิดามาทำอากรสุราที่นั่น

เมื่อบิดาเสียชีวิต นางหมาผู้เป็นมารดา พาบุตรทั้งหมด 4 คน พร้อมด้วยนางแจ่ม ผู้เป็นมารดาของนางหมา ไปตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่อำเภอเมือง บุรีรัมย์ ในหนังสือบรรยายว่า ในขณะนั้นยังเป็นท้องที่กันดาร ไม่มีถนน ไม่มีทางรถไฟ การเดินทางติดต่อกับโคราชต้องใช้เกวียน ม้า และโคต่าง ครอบครัวของนางน้อยนับเป็นชาวโคราชรุ่นแรก ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บุรีรัมย์

นางน้อยแต่งงานกับนายหมก วัชรานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2463 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 มีบุตรด้วยกัน 4 คน พ.ศ. 2480 นายหมก ผู้เป็นสามี เสียชีวิต ส่วนนางน้อย เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515

บรรดาลูก ๆ ของนางน้อยได้เขียนบันทึกความทรงจำถึง “แม่” บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตของครอบครัวที่ทวด ยาย และแม่ เล่าให้กับหลาน ๆ เหลน ๆ ฟัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวอีสานได้อย่างน่าสนใจ เช่น

เรื่องปราบฮ่อ นางแจ่ม ผู้เป็นยายของนางน้อย เล่าให้เหลน ๆ ฟัง เกี่ยวกับการลี้ภัยสงครามจากลาว นางแจ่มเคยไปค้าขายที่เวียงจัน ขณะที่พวกฮ่อบุกโจมตีเมือง นางแจ่มต้องพาครอบครัวลงเรือล่องหนีไปตามแม่น้ำโขง ไปขึ้นบกที่อุบลราชธานี เดินทางต่อด้วยเกวียนกลับบ้านเกิดที่โคราช

เรื่องเกวียน นางหมา ผู้เป็นแม่ของนางน้อย เคยพาหลาน ๆ นั่งเกวียนไปทำบุญตามตำบลต่าง ๆ หลานเล่าว่า คนขับเกวียนเป็นที่น่านับถือมาก เพราะเมื่อเกวียนหัก เขาสามารถหาอุปกรณ์ที่หาได้ในป่ามาซ่อมเกวียนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นางน้อยเคยเล่าให้ลูก ๆ ฟังว่า เมื่อครั้งนางน้อยยังเป็นเด็ก นั่งเกวียนกับมารดาไปค้าขายที่โคราชในช่วงฤดูฝน “…เมื่อเอาเกวียนข้ามลำปลายมาศ ต้องใช้เรือขนาบเกวียนลอยข้ามไป เมื่อพักเกวียน พื้นดินมีน้ำนองทั่วไปหมด ต้องตัดกิ่งไม้กองสุมไว้ใต้เกวียน แล้วใช้เสื่อหวายปูทับจึงจะนอนได้…”

เรื่องตำน้ำ นางน้อย เคยเล่าให้ลูก ๆ ฟังถึงเรื่องการตำน้ำกินในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากในช่วงฤดูแล้ง น้ำในหนองบึงต่าง ๆ จะขุ่นข้น หากจะใช้ดื่มกินต้องทำให้น้ำใสเสียก่อน วิธีเดียวที่ทำได้คือการตำน้ำ เพราะไม่มีสารส้มใช้แกว่งให้น้ำใส

วิธีการตำเริ่มจาก “…ขุดหลุมลึกประมาณ 1 แขน กว้างประมาณ 1 ศอก ตักน้ำขุ่นมาใส่เกือบเต็มหลุม ใส่ก้อนดินเหนียวปนลงไป แล้วใช้สากตำข้าว ตำให้ดินเหนียวละลายปนกับน้ำในหลุมนั้นจนขุ่น ทิ้งไว้คืนหนึ่ง ดินเหนียวจะจับเอาฝุ่นผงต่าง ๆ ในน้ำตกตะกอนนอนก้นอยู่ข้างล่าง ทำให้น้ำใสสะอาดเหมือนกวนสารส้ม แล้วตักเอาน้ำไปใช้…”

ลูก ๆ ของนางน้อยบันทึกว่า นางแจ่มผู้เป็นทวด เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2477 นางหมาผู้เป็นยาย เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2480 ฉะนั้น บันทึกเรื่องราวข้างต้นจึงน่าจะอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-7 ประมาณร้อยปีล่วงมาแล้ว

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2563