ปัญหาระหว่างการรักษามรดกทางวัฒนธรรม-การขยายเมือง ของเมืองโบราณ

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างการรักษามรดกทางวัฒนธรรมกับการขยายเมือง นับวันจะเป็นปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงเมืองเก่าอีกหลายเมืองก็เจอสภาพเดียวกัน

เฉี่ยตง-นักเขียนชาวจีน เรื่องการรื้อวัฒนธรรม ทำลายวัฒนธรรมของเมืองโบราณไว้ใน มหาอำนาจจีนบนทางแพร่ง” ได้อย่างน่าคิด ดังนี้

ทุกวันนี้กรุงปักกิ่งได้สูญเสียสิ่งต่าง ๆ ไปมากมายแล้ว ถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนบทเรียนกันเสียที ในจำนวนเมืองที่ถูกยกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม อันได้แก่ เมืองบาธของอังกฤษ เมืองลียงของฝรั่งเศส เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย เวนิสของอิตาลี และเมืองเก่าลี่เจียงของจีน

มหานครปักกิ่งซึ่งแต่เดิมก็เป็นเมืองที่เปี่ยมล้นด้วยคุณสมบัติของเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้มากที่สุด แต่ความเป็นนครแห่งจักรพรรดิได้สิ้นสลายจนไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ประกอบกับการสร้างขยายเมืองอย่างไม่สมเหตุสมผล ก็ได้แต่หวังเป็น ‘มรดก’ เท่านั้นแล้ว

หากมีใครคิดว่านักท่องเที่ยวทั้งจีนและต่างชาติที่มาเยือนนครหลวงแห่งนี้จะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างของ ‘เศษซากปรักหักพัง’ ของเมืองเก่าที่เอามาเร่ขายเหล่านั้นโดยมองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของกรุงปักกิ่ง พวกเขาก็ผิดแล้ว…

กล่าวตามหลักทฤษฎีแล้ว การอนุรักษ์โบราณสถานได้ขยายจากหน่วยพื้นที่การอนุรักษ์เฉพาะสิ่งปลูกสร้างโดด ๆ มาเป็นเขตหรือแหล่งโบราณสถาน อาทิ การอนุรักษ์เฉพาะในพระราชวังต้องห้ามขยายออกมารวมถึงบริเวณภายนอกโดยรอบ ซึ่งหมายถึงกรุงปักกิ่ง จากการอนุรักษ์เมืองที่ถูกเสนอมาตั้งแต่ปีทศวรรษ 1960 มาจนถึงทศวรรษ 1990 ที่เสนอให้มีการอนุรักษ์หมู่บ้าน เช่น การอนุรักษ์นครปักกิ่งมาถึงการอนุรักษ์เมืองเก่าโจวจวง จากทศวรรษ 1960-1900 ประชาชนก็ค่อย ๆ รู้จักความหมายของคำว่าอนุรักษ์มากขึ้นทีละขั้น ๆ นี่คือความก้าวหน้าของวัฒนธรรม มิใช่การยึดติดกับของเก่า และยิ่งมิใช่แนวคิดที่ล้าหลังหรือการโหยหาระบบศักดินาในอดีต

ชาวปักกิ่งที่ไปตั้งถิ่นฐานในต่างแดนเมื่อกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง ประโยคแรกเมื่อได้มาเห็นบ้านเก่าในช่วงไม่ถึงสิบปีก็คือ ‘รื้อไปหมดแล้ว ไม่รู้จักสักแห่งเลย! ซึ่งบางคนก็ยกย่องในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงปักกิ่ง แต่บ้างก็อดเสียดายความเก่าแก่ของปักกิ่งในแบบ ‘สิ่งแวดล้อมใหม่แต่คนยังอยู่’ ไม่ได้

ถนนสายเก่าแก่เส้นแล้วเส้นเล่าถูกพลิกถมทำลายใต้รถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน ที่ดินของเขตเมืองเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผืนแล้วผืนเล่าค่อย ๆ มลายหายไป โครงการก่อสร้างดัดแปลงบ้านที่อันตรายได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับถนนหนทางในเขตประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของการ ‘ทำศัลยกรรม’ กรุงปักกิ่งมาจากเจตนาที่ดี คือการทำให้มันกลายเป็นเมืองที่ทันสมัยกว่าและสวยงามยิ่งกว่าเก่า ซึ่งมิใช่การเปลี่ยนให้มันกลายเป็นคนอื่นหรือเปลี่ยนให้เป็นคนแปลกหน้าที่ชาวจีนโพ้นทะเลก็ยังไม่รู้จัก ดังนั้น ด้วยการน้อมนำจากความปรารถนาที่ดีงามเช่นนี้ ผู้ที่มีหน้าที่ก่อสร้างเมืองจึงต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะรื้อถอน และควรหลงเหลือรากและจิตวิญญาณของปักกิ่งในอดีตไว้ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองน้อยใหญ่ในประเทศจีนขณะนี้ คือยังมีเมืองที่ออกแบบไปในทำนองเดียวกันหรือเหมือน ๆ กันอย่าง “หน้าเดียว พันเมือง” และนำมาซึ่งการสูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตนไป อาคารสูงใหญ่ล้ำสมัยที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ากลืนพื้นที่ตามเขตประวัติศาสตร์และถนนสายเก่าแก่

…หัวหน้าสำนักงานโบราณสถานและโบราณวัตถุแห่งชาติ และกรรมการแห่งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมืองฯ นายตันจี้เสียง จึงออกมาเตือนสติว่า มรดกทางวัฒนธรรมไม่ใช่ภาระของการพัฒนาเมือง แต่เป็นทุนและแรงขับเคลื่อนของการพัฒนาเมือง จึงสมควรที่หน่วยงานวางผังเมืองทุกหน่วยทุกระดับขั้นต้องตระหนักถึงความสำคัญในแง่ของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วย

เมื่อเมืองต้องพัฒนา คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รื้อถอนเสียเลยหรือให้คงสภาพเดิมไว้ แต่เมื่อต้องรื้อทิ้งก็ควรมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และเคารพวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยไตร่ตรองให้ดีก่อนลงมือ หรือไม่ควรปฏิเสธสิ่งเก่าทุกอย่าง แต่แม้ว่าขณะที่การสร้างเมืองเดินหน้าไปนั้น โดยสักแต่อนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ไม่กี่หลัง ถนนไม่กี่สาย หรือแหล่งโบราณคดีบางจุด แล้วรื้อถอนบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ ‘ความทันสมัย’ กลายเป็นจริงแบบก้าวกระโดด

วิธีนี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการทำลายมันมากกว่า

ลองคิดดู ถ้ากรุงปารีสคงเหลือแต่พระราชวังแวร์ซายด์ พระราชวังลูฟท์ หอไอเฟล และมหาวิหารโนตเทรอดาม ส่วนถนนสายอื่น ๆ ก็เปลี่ยนเป็นโฉมหน้าใหม่ เช่นนั้นปารีสจะยังเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกได้อยู่หรือไม่? คุณค่าของมันจะไม่ลดลงไปถนัดใจเลยหรือ?

ขอให้พวกเรายืมวิธีการที่ประเทศอื่น ๆ ใช้ในการปรับปรุงเมืองมา ชาวปารีสเขาทำกันอย่างนี้ พวกเขาเจาะเข้าไป ณ ใจกลางของอาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้เปลือกนอกที่ทำขึ้นจากอิฐเก่าแก่ที่ผ่านกาลเวลามานานยังคงหยัดยืนอยู่ได้โดยไม่ล้มลง จากนั้นก็สร้างภายในตัวอาคารให้ใหม่และทันสมัยกว่าเก่า

ดังนั้น เมื่ออาคารสร้างแล้วเสร็จ ภายในก็จะเป็นสภาพใหม่เอียมทันสมัย แต่ภายนอก เพียงแค่ทำความสะอาดแล้วก็ยังคงเป็น “หน้าเดิม” จากวิธีการนี้จะเห็นว่าชาวปารีส มีความรู้สึกรักและเคารพในวัฒนธรรมที่มีอยู่ในอาคารเก่าแก่ การรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่เพียงประหยัดเงิน ไม่เรื่องมาก แล้วยังทำให้งานดําเนินไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกันกลับทําให้ความสำคัญอีกแง่หนึ่งหายไป”


ข้อมูลจาก

เฉี่ยตง เขียน, กนิษฐา ลีลามณีและคณะ แปล. มหาอำนาจจีนบนทางแพร่ง, สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2555


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 12 มิถุนายน 2563