เผยเส้นทาง “คาคุเระคิริชิตัน” คริสเตียนที่ซ่อนเร้นความเชื่อของตนในคราบชาวพุทธ

รูปแกะสลักของนักบุญเปาโล มิกิ (St. Paolo Miki) ณ พิพิธภัณฑ์ 26 ผู้สละชีพเพื่อศาสนา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ชาวคริสต์ถูกประหารในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ในเมืองนางาซากิ (ภาพจาก AFP PHOTO / Behrouz MEHRI)

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกๆ เริ่มมีเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชาวญี่ปุ่นที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นระยะเดียวกันกับที่มีการก่อตั้งคณะนักบวชเยซูอิต คณะสงฆ์แห่งโรมันคาทอลิกซึ่งมีชื่ออย่างมากในด้านการศึกษาและการกุศล นอกเหนือไปจากการเผยแพร่ศาสนา

หลังจากนั้นไม่นาน นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ หนึ่งในนักบวชคนสำคัญผู้ก่อตั้งคณะเยซูอิต ที่ปฏิบัติภารกิจเผยแพร่ศาสนาในโลกตะวันออกเริ่มตั้งแต่อินเดีย มะละกา ไปจนถึงโมลุกกะ ก็เดินทางมายังญี่ปุ่นในปี 1549 เพื่อประกาศข่าวดีตามความเชื่อของชาวคริสต์

Advertisement

เบื้องต้น นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ สามารถเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นให้หันมานับถือพระเจ้าได้ราาว 2,000 คน แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึงร้อยปี มีชาวญี่ปุ่นหันมาเข้ารีตกว่า 300,000 คน ขณะที่พ่อค้าต่างชาติซึ่งมีความใกล้ชิดกับหมอสอนศาสนาก็ขยายอิทธิพลมากขึ้นทุกที ทำให้ผู้ปกครองญี่ปุ่นมองชาวคริสต์ด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ

พระแม่มารีที่ถูกอำพรางด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเจ้าแม่กวนอิม (Iwanafish, via Wikimedia Commons)
พระแม่มารีที่ถูกอำพรางด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเจ้าแม่กวนอิม (Iwanafish, via Wikimedia Commons)

ญี่ปุ่นเริ่มการขับไล่หมอสอนศาสนาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 และยังตามจับกลุ่มชาวคริสต์ที่พยายามหลบซ่อนตัว เพื่อบีบบังคับให้ละทิ้งความเชื่อเดิม บางคนถูกจับเผาทั้งเป็น บ้างก็ถูกตรึงกางเขน และกระทำการทารุณต่างๆ นานา เชื่อกันว่ามีจำนวนผู้ที่ยอมตายเพื่อศาสนาในช่วงนั้นตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน

ชาวคริสต์ที่หลงเหลืออยู่จึงจำเป็นต้องหลบซ่อน ปกปิดความเชื่อของตัวเอง แฝงเร้นอยู่ภายใต้ฉากหน้าที่ดูเหมือนชาวญี่ปุ่นซึ่งนับถือลัทธิต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับก่อนการเข้ามาของศาสนาคริสต์อย่างเช่นศาสนาพุทธ และชินโต ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือศิลปกรรมของพวกเขาที่พยายามซ่อนพระแม่มารีไว้ในคราบของเจ้าแม่กวนอิม

ทายาทของพวกเขาจำนวนมากยังสืบทอดความเชื่อของบรรพชนที่ผสมผสานความเชื่อของทั้งคริสต์ ชินโต และพุทธ ซึ่งเบื้องต้นเพื่อปกปิดความเชื่อที่แท้จริง  แต่ภายหลังได้กลายเป็นจารีตเฉพาะประจำกลุ่มไป และเป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ “ชาวคริสต์ผู้เร้นกาย” หรือ “คาคุเระคิริชิตัน” (Kakure Kirishitan) ในภาษาญี่ปุ่น

พระแม่มารีที่ถูกอำพรางด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเจ้าแม่กวนอิม (ภาพโดย PHGCOM, via Wikimedia Commons)
พระแม่มารีที่ถูกอำพรางด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเจ้าแม่กวนอิม (ภาพโดย PHGCOM, via Wikimedia Commons)

ล่วงถึงศตวรรษที่ 19 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้หมอสอนศาสนาเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้อีกครั้ง ชาวคริสต์ที่ใช้ชีวิตอย่างลับๆ ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงสมัครใจละทิ้งประเพณีที่ขัดกับความเชื่อแบบคาทอลิก เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรโรมันโดยเปิดเผยอีกครั้ง

แต่คาคุเระคิริชิตันอีกส่วนหนึ่งปฏิเสธที่จะละทิ้งวิถีปฏิบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ พวกเขายังใช้ชีวิตตามจารีตประเพณีที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งสำหรับพวกเขาการถือธรรมเนียมปฏิบัติแบบชินโตหรือพุทธซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีของพวกเขาจนแยกไม่ออก ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกประการใด แต่นั่นถือเป็นข้อห้ามสำคัญสำหรับชาวคาทอลิกทั่วไปที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และหลักคำสอนที่มีเพียงหนึ่งเดียว

“ผมมีหิ้งบูชาแบบพุทธ และศาลเจ้าแบบชินโตอยู่ในบ้าน” โทเมอิจิ โอกะ (Tomeichi Oka) นักบวชคาคุเระกล่าวกับนิวยอร์กไทม์ในปี 1997 “เมื่อก่อนมันอาจจะเป็นแค่การอำพราง…แต่ตอนนี้ผมเชื่อในพระเจ้าองค์อื่นๆ ด้วย”

แม้จะมีรากความเชื่อมาจากศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก และมีบทสวดหลากภาษาปะปนทั้งโปรตุเกส ละตินและญี่ปุ่น แต่สำหรับคาคุเระหลายคน นั่นมิได้เป็นบทสรรเสริญพระเจ้าและพระแม่มารีตามอย่างชาวคาทอลิกทั่วไป กลับเป็นการรำลึกบูชาถึงบรรพบุรุษความเชื่อดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกในเอเชียตะวันออก

“เราเอ่ยชื่อพระแม่มารีหลายครั้ง แต่เรามิได้สวดอวดวอนท่าน และเราก็ไม่ได้อ้างเอ่ยต่อพระเจ้าองค์ใดเป็นการเฉพาะ หากเป็นบรรพบุรุษของเรามากกว่า”  มาซาซึกุ ทานิโมโตะ (Masatsugu Tanimoto) หนึ่งในคาคุเระที่มาร่วมพิธีในเมืองอิคิตซึกิ (Ikitsuki) ใกล้กับนางาซากิ กล่าว

ในอดีตคาคุเระห้ามการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มความเชื่อ ส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาสายเลือดที่จะส่งต่อความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นให้ยาวนานที่สุด แต่นั่นไม่ใช่ข้อบังคับที่จะสามารถใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน และสังคมญี่ปุ่นโดยรวมก็มีอัตราการเกิดที่ต่่ำมานานนับทศวรรษแล้ว จำนวนคาคุเระจึงได้ลดลงเป็นอย่างมาก จนน่าสงสัยว่า ความเชื่อที่พวกเขาพยายามรักษาจนเหลือรอดมาจากยุคที่พวกเขาถูกเข่นฆ่าและกดขี่มานานนับร้อยปีจะยังคงอยู่ได้นานอีกกี่รุ่น

“ผมยังรักษาความเชื่อของผมเอาไว้ด้วยความหวังเล็กๆ ว่า ลูกๆ ของผมจะรับช่วงต่อ เมื่อถึงเวลาที่ผมจากไปแล้ว” ทามิโมโตะ กล่าวกับเอเอฟพี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ฉากแรกสัมพันธ์ อยุธยา-โปรตุเกส การรับราชทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตามรอย ทหารรับจ้างโปรตุเกส ผู้นำเทคโนโลยี-ยุทธศาสตร์การทหาร สู่ราชสำนักอยุธยา


อ้างอิง:

1. “St Francis Xavier Departs from Japan”. History Today. <http://www.historytoday.com/richard-cavendish/st-francis-xavier-departs-japan>

2. “Japan’s ‘Hidden Christians’. The japan Times. <http://www.japantimes.co.jp/life/2007/12/23/general/japans-hidden-christians/#.WFywVRREeX1>

3. “The Kakure Kirishitan and Their Place in Japan’s Religious Tradition”. Ann M. Harrington. Japanese Journal of Religious Studies 7/4 December 1980.

4. “The Secret World of Japan’s Hidden Christians”. AFP. <http://www.dailymail.co.uk/wires/afp/article-4050502/The-secret-world-Japans-hidden-Christians.html>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2559