ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“อำเภอเชียงคาน” ตั้งอยู่ที่บ้านท่านาจันทน์ จังหวัดเลย ส่วน “เมืองเชียงคาน” ดั่งเดิมแท้ๆ นั้น ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เยื้องที่ว่าการอำเภอเชียงคานลงไปทางใต้น้ำโขงเล็กน้อย ที่บ้านผาฮด หรือเมืองชนะคราม ในประเทศลาว
ชื่อเมืองเชียงคานนั้น มีประวัติมาว่า ขุนคาน กษัตริย์เมืองเชียงทอง โอรสขุนคัว (หรือขุนค้อ) ซึ่งเป็นเชื้อสายของขุนลอ (หรือขุนซัว) เป็นผู้สร้างเมืองเชียงคาน แล้วตั้งชื่อเมืองตามพระนามของพระองค์คือ “คาน” ส่วน “เชียง” นั้นตามธรรมเนียมของล้านนา ล้างช้าง ใช้นำชื่อเมืองเป็นการเฉลิมเกียรตินามเมืองที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงสร้าง หรือเสด็จไปประทับ คล้ายคลึงกับโบราณราชธรรมเนียมของขอมที่ใช้คำว่า “บุรี” ต่อท้ายชื่อเมือง
พ.ศ. 2019 เกิดศึกญวนยกทัพมาตีเมืองล้านช้างในสมัยพระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้วรบสู้ญวนไม่ได้ จึงได้ล่าถอยมาประทับที่เมืองเชียงคาน แล้วโปรดให้ท้าวแท่นคำ (หรือแท่งคำ) ราชโอรสไปต่อรบญวนอีกชนะ ขณะที่ยกทัพกลับตามลำน้ำโขงลงมา ได้ยกพลขึ้นบกซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้าน และขนานนามว่า “บ้านชนะคราม” [สำเนียงพื้นเมืองเรียก “ซนะคาม” สมัยฝรั่งเศสปกครองเลยเขียนตามว่า “Sanakham” ] เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ได้ทำสงครามชนะกองทัพญวน
พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้วประทับอยู่ที่เมืองเชียงคานนานถึง 37 ปี (65 พรรษา) ก็สวรรคต ท้าวแท่นคำพระโอรสได้ครองราชสมบัติแทน ทรงนามว่า “พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์” เมื่อได้ถวายพระเพลิงพระราชบิดา (แล้วก็ได้เสด็จกลับไปประทับเมืองเชียงทองตามเดิม) และทรงสร้างวัดและเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิพระชนก วัดนั้นให้ชื่อว่า “วัดศพเชียงคาน”
แต่คนส่วนใหญ่เรียก “วัดพระฮด” ด้วยมีศิลาประหลาดแผ่นหนึ่ง (สูง 12 เมตร กว้าง 8 เมตร หนา 60 เซนติเมตร) โผล่จากพื้นดินขึ้นมา ปรากฏมีพระพุทธรูปฉายในแผ่นศิลาเช่นเดียวกับพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี ประชาชนนับถือสักการะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้พากันไปสรงน้ำจนเป็นประเพณีนิยม ชาวเมืองนิยมเรียกว่า “ผาฮด” คือผารดนั่นเอง ต่อมาพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ทรงสร้างพระพุทธรูปไว้ที่หน้าผา และสกัดตัวผาเป็นรูปเรือนแก้วรองรับพระพุทธรูปนั้น เพื่อเป็นที่ระลึกวาครั้งหนึ่งพระราชบิดาทรงหลบภัยมาประทับที่เมืองเชียงคาน
พ.ศ. 2238 อาณาจักรล้านช้างได้แยกออกเป็นสองอาณาจักร คือ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ เพื่อป้องกันการรุกรานของฝ่ายตรงข้าม หลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองไว้ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเหนือปากเหืองให้เป็นเมืองหน้าด่านแม่น้ำโขงตอนใต้ คู่กับเมืองเชียงคานทางฝั่งซ้ายซึ่งอยู่เหนือปากน้ำมี้ ซึ่งฝรั่งเศสเรียก Sanakham
พ.ศ. 2321 ปลายรัชสมัยกรุงธนบุรี สยามรวมเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ เข้าอยู่ในความปกครอง พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองอาณาจักรมีฐานะเป็นพระเจ้าประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงสยามตลอดมา และได้กวาดต้อนผู้คนตามบรรดาหัวเมืองทางฝั่งซ้ายซึ่งขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาไว้ทางฝั่งขวาเพื่อสะดวกในการปกครอง ชาวเมืองเชียงคานโบราณซึ่งอยู่พรมแดนหลวงพระบางและเวียงจันทน์ จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในท้องที่เมืองปากเหืองเป็นส่วนมาก ส่วนเมืองปากเหืองโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นเมืองน้ำปาด (อุตรดิตถ์) เพราะเป็นเมืองใหญ่อยู่เวลานั้นพ้นจากความเกี่ยวข้องกับเมืองหลวง
พ.ศ. 2369-70 เกิดกบฎเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงส่งกองทัพและได้กวาดต้อนกำลังพลเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาไว้ทางฝั่งขวามากยิ่งขึ้นกว่าครั้งแรก และโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเทศราชเวียงจันทน์ ให้พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุล “เครือทองดี”) ชาวเมืองลับแลนายทหารที่ไปปราบกบฏเวียงจันทน์ เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า “เมืองเชียงคาน” อาจทรงเห็นว่า เมืองเชียงคานโบราณเป็นราชธานีนครล้านช้าง เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก่อน
กระทั่งเกิดศึกฮ่อ พ.ศ. 2417-18 พบว่าชัยภูมิเมืองเชียงคาน (ปากเหือง) ไม่เหมาะสม ด้วยภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าดงภูเขา ราษฎรประกอบการอาชีพไม่สะดวก จึงได้ย้ายตัวเมืองมาตั้งที่บ้านท่านาจันทน์ คือ อำเภอเชียงคานปัจจุบัน ครั้งแรกที่ทำการตั้งอยู่บริเวณวัดธาตุเรียก “ศาลเมืองเชียงคาน” ต่อมาย้ายมาอยู่ที่วัดโพนชัย และวัดท่าคก ตามลำดับ
พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ฝรั่งเศสได้บุกรุกเอาดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทยไป ราษฎรที่ไม่ต้องการอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส จึงอพยพมาอยู่เมืองปากเหืองเก่า และเมืองเชียงคานเก่า มาอยู่ที่เมืองเชียงคานใหม่ เมืองปากเหืองก็ร้างไปโดยปริยาย
พ.ศ. 2450 มีประกาศยกเลิกบริเวณน้ำเหืองเป็นจังหวัดเลย เวลานั้นเมืองเชียงคานยังไม่ได้สังกัดจังหวัดเลยเช่นในปัจจุบัน แต่สังกัดอยู่แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก มีพระยาศรีอัคร์ฮาด (ทองดี ต้นสกุล “ศรีประเสริฐ”) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงคานคนสุดท้าย
พ.ศ. 2454 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเทศราชถวายดอกไม้ทองเงินเช่นแต่ก่อน กระทรวงมหาดไทยได้โอนเมืองเชียงคานจากเมืองพิชัยมาขึ้นสังกัดจังหวัดเลย มณฑลอุดร เพื่อสะดวกในการปกครอง เพราะเชียงคานห่างจากจังหวัดเลยเพียง 50 กิโลเมตรและลดฐานะเมืองเชียงคานลงเป็น “อำเภอ” โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองเป็นระบอบเทศภิบาลเช่นหัวเมืองอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว
ข้อมูลจาก :
เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2530
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563