ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ทองใบ แท่นมณี |
เผยแพร่ |
สุนทรภู่ กับการเล่นแร่แปรธาตุ คิดค้นแสวงหา เหล็กไหล พระปรอท พระธาตุ และยาอายุวัฒนะ
มีวลีกล่าวขานเชิงตำหนิแกมสอนว่า “เหล็กไหล ไพลดำ พูดพล่ามเป็นบ้า คิดสรตะโสฬสนอนอดเหมือนหมา เล่นแร่แปรธาตุผ้าขาดเป็นวา” แสดงว่าในอดีตสมัยหนึ่งมีคนฝักใฝ่เชื่อถือในเรื่องนี้มาก ในอินเดียซึ่งเป็นบ่อเกิดด้านวัฒนธรรมตะวันออกหลายแขนงเรียกวิชานี้ว่า รสายนเวท หรือรสายนวิทยา (วิชาประสมแร่ธาตุ, วิชาเคมียุคเล่นแร่แปรธาตุ) เชื่อกันว่าหากทำถูกวิธี สามารถทำธาตุที่มีค่าน้อยให้เป็นธาตุที่มีค่ามาก เช่น ทำตะกั่วให้เป็นทองได้ ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครทำได้จริง โบราณท่านจึงเตือนคนที่หลงเล่นในทางนี้ไว้
ในชีวิตของสุนทรภู่นอกจากจะเป็นบรมครูทางกลอนแล้ว ท่านยังสนใจคิดค้นแสวงหาในเรื่องสำคัญที่คนส่วนหนึ่งเชื่อถือกัน 5 ประการ คือ เล่นแร่แปรธาตุ (ทำทอง) เหล็กไหล พระปรอท พระธาตุ และยาอายุวัฒนะ และสุดท้ายลงสรุปไว้สอดคล้องกับคำกล่าวข้างต้น ในที่นี้จะนำเสนอในแต่ละเรื่อง โดยมีคำกลอนในผลงานของท่านเป็นหลักฐาน ดังนี้
1. เหล็กไหล เหล็กไหลในวงการของพวกที่เล่นทางนี้มี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นแท่งหรือเกล็ด–ก้อน ดังกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนที่ 29) กล่าวถึงเครื่องรางของแสนตรีเพชรกล้า ว่า
ฝังเข็มเล่มทองไว้สองไหล่ ฝั่งเพชรเม็ดใหญ่ไว้แสกหน้า
ฝังก้อนเหล็กไหลไว้อุรา ข้างหลังฝังเทียนคล้าแก้วตาแมว
ดังนี้ เป็นชนิดก้อนหรือแท่งฝังไว้ตามร่างกาย อีกประการหนึ่งเป็นลักษณะนุ่มนิ่มย้อยยืดได้ ว่ามักอยู่ตามหลืบถ้ำ ใช้น้ำผึ้ง (ประกอบอาคม) ล่อให้ยืดออกมา แล้วใช้เส้นผม (รูดประจำเดือนเด็กสาว) คล้องตัดออกมา ดังที่พนมเทียน (นักเขียนนวนิยาย, ศิลปินแห่งชาติ) เขียนไว้ในสารคดีเรื่องเหล็กไหล กล่าวถึงการแสวงหาของทันตแพทย์คนหนึ่งที่ฝักใฝ่ในเรื่องนี้ สรุปว่า เป็นธาตุกายสิทธิ์ มีกระแสแผ่ไปรอบตัว (ไกล–ใกล้แล้วแต่ขนาด) ดับชนวนระเบิด–จุดวาบไฟ ทำให้ปืนยิงไม่ออก ขีดไม้ขีดไฟไม่ติด และลบคมมีดได้ เป็นต้น แต่เหล็กไหลของสุนทรภู่ใช้วิธีหุง ดังกล่าวในรำพันพิลาป ว่า
โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง
ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง จดเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน
คำว่าบ้านจุง เข้าใจว่าเป็น บ้านจูงนาง ในเมืองพิษณุโลก (ใกล้วัดจุฬามณี) ซึ่งจากนิราศวัดเจ้าฟ้า กล่าวความว่าสุนทรภู่ได้ตำราลายแทงมาจากที่นี่ (เมืองเหนือ) ดังกลอนว่า
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง
เป็นตำรามาแต่เหนือท่านเชื่อถือ ดูหนังสือเสาะหาอุตส่าห์แสวง
และในรำพันพิลาป ว่า
คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก ไปพิศีโลกลายแทงแสวงหา
อนึ่ง เมื่อสุนทรภู่ (ขณะเป็นพระ) เดินทางไปป่าสูงเมืองสุพรรณบุรีเพื่อแสวงหาแร่ ปรอท เหล็กไหล ไปพบพระที่ตั้งเตาถลุงเหล็กไหลจนมรณภาพคาเตา (พบซากศพ) ก็เล่าไว้ในโคลงนิราศสุพรรณ ว่า
ตะวันบ่ายหายเลื่อยล้า คลาไคล
ข้ามโป่งดงเหล็กไหล แหล่งขมิ้น
พบเต่าเก่าก่อไฟ ผ้าพาด บาตรแฮ
ตายแน่แร่กินสิ้น ซากเนื้อเหลือของ
สงสารท่านที่ม้วย อวยบุญ
กระดูกยังบังสุกุล เก็บผ้า
ย่ามบาตรขาดเป็นจุณ จุดใส่ ไฟเอย
ตายเปล่าเจ้ากูบ้า บ่รู้ครูสอน
แสดงว่า ป่าแถบนั้นมีพระขึ้นไปแสวงหาแร่ เหล็กไหลกันมาก ที่อำเภอเลาขวัญ ติดแดนอำเภอด่านช้าง ยังมีเขาชื่อเขาพระหุงดิน แสดงว่า หุงเหล็กไหล หรือไม่ก็เล่นแร่แปรธาตุ แต่พรางโดยใช้ดินใส่ข้างบน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้ว่าทำอะไร
2. พระปรอท พระปรอทในที่นี้เป็นชื่อของธาตุกายสิทธิ์ (ที่เชื่อกัน) ไม่ใช่ปรอทธาตุลำดับที่ 80 (Hg) ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นธาตุที่บินมากินน้ำผึ้งได้ ถึงจับไว้ได้ก็มักหนีไปได้ สุนทรภู่กล่าวถึงการหาพระปรอทและการจับพระปรอทไว้หลายแห่ง เช่น ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ว่า
ตักน้ำผึ้งครึ่งจอกกับดอกไม้ จุดเทียนใหญ่อย่างตำราบูชาเชิญ
หวังจะปะพระปรอทที่ยอดยิ่ง ประนมนิ่งนึกรำพันสรรเสริญ
สำรวมเรียนเทียนอร่ามงามเจริญ จนดึกเกินไก่ขันหวั่นวิญญาณ์
ทั้งเทียนดับศัพท์เสียงสำเนียงเงียบ เย็นยะเยียบน้ำค้างพร่างพฤกษา
เห็นแวววับลับลงตรงนัยตา ปรอทมาสูบซึ่งน้ำผึ้งรวง
ครั้นคลำได้ในกลางคืนก็ลื่นหลุด ต้องจับจุดธูปเทียนเวียนบวงสรวง
ฯลฯ
สรุปว่า ครั้งนั้นจับได้พระปรอท 3 องค์ เอาใส่ขวดไว้ แต่รุ่งเช้าก็หนีไปเสีย ดังกลอนว่า
ครั้นเช้าปะพระปรอทที่ปลอดปลง ทั้งสามองค์เอามาไว้ก็ไพล่หนี
และ
ที่ธุระพระปรอทเป็นปลอดเปล่า ยังดูเลาลายแทงแสวงถวิล
นี่เป็นการกล่าวถึงพระปรอทในนิราศวัดเจ้าฟ้า ต่อมาท่านไปป่าเมืองสุพรรณ ก็ไปจับพระปรอทอีกกับศิษย์หาและกะเหรี่ยง ละว้านำทาง ช่วยกันจับเป็นการใหญ่ ดังปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ว่า
น้ำผึ้งครึ่งกระบอกตั้ง หวังริน
ฟอดฟอดปรอทกิน กบปล้อง
ควักขึ้นลื่นตกหิน หายเปล่า เล่าแฮ
หนุ่มหนุ่มหุ้มอยู่ซ้อง แซ่ปล้ำคลำหวาม
หยิบขึ้นลื่นหลุดเหล้ ปรอทเหลว
ใส่เหน่งเหน่งปลอดเปลว ปลอบช้อน
ห่อนเห็นเช่นองค์เอว เล็ดฟ่าย คล้ายแฮ
หยิบหลุดปลุดปลิ้นปล้อน เปล่าคล้ายหายสูญ
กะเหรี่ยงละว้าผ้าขอดเข้า เปล่าหาย
ใส่กลักหนักมือหมาย มั่นแท้
กลับลอดปลอดเปล่าดาย เด็กกระโดด โกรธเอย
ลื่นหลุดสุดกลแก้ กิจสึ้งตรึงกสิณ
สรุปว่า ตอนไปสุพรรณนี้จับพระปรอทไม่ได้ ได้บรรยายลักษณะพระปรอทไว้ว่า มีลักษณะลื่นๆ ใสคล้ายเมล็ดฝ้าย บินได้คล่องแคล่วและชอบกินน้ำผึ้ง (ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็นแมลงกลางคืนชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ ไม่ใช่ธาตุศักดิ์สิทธิ์อะไร ที่จับได้ไว้ครั้งแรก พอได้จังหวะจึงบินหนีไปได้)
3. พระธาตุ เชื่อกันว่าเป็นพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวกว่ามักทำปาฏิหาริย์ลอยมาเห็นเป็นแสงสว่างได้ และได้ไว้มักจะหายไป (ว่าผู้ได้ไม่มีบุญพอ) หรืออาจเพิ่มจำนวนขึ้นได้ เป็นเมล็ดเล็กๆ มีลักษณะ สีสันต่างๆ กัน สุนทรภู่ท่านก็เล่นพระธาตุเหมือนกัน ดังปรากฏในนิราศภูเขาทอง ว่า
พอกราบพระปะดอกปทุมชาติ พบพระธาตุสถิตในเกสร
สมถวิลยินดีชุลีกร ประคองช้อนเชิญองค์ลงนาวา
กับหนูพัดมัสการสำเร็จแล้ว ใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้เกศา
มานอนกรุงรุ่งขึ้นจะบูชา ไม่ปะตาตันอกยิ่งตกใจ
แสนเสียดายหมายจะชมบรมธาตุ ใจจะขาดคิดมาน้ำตาไหล
โอ้บุญน้อยลอยลับครรไลไกล เสียน้ำใจเจียนจะดิ้นสิ้นชีวัน
การที่ท่านพบพระธาตุในดอกบัว คนที่ไม่ศรัทธาอาจพิจารณาว่าเป็นไปได้ว่า แร่–หินบางอย่างในกระแสน้ำอาจตกหล่นแทรกอยู่ในกลีบบัวได้ และการที่ว่าพระธาตุหนีไป เป็นไปได้ว่าผู้ได้มาคุยอวดให้คนฟัง จึงมีผู้แอบขโมยไป ส่วนที่ว่าพระธาตุงอกหรือเพิ่มจำนวน–ขนาดได้ก็อาจเป็นกระบวนการเคมีในแร่–ธาตุนั้นเอง หรือมีผู้ลอบเอามาใส่เพิ่มให้ ในรายที่นำไปบูชาเพื่อลาภผล (ซึ่งเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์–เพื่อตน) แล้วไม่ได้ผลก็เบื่อหน่าย จะทิ้งไปก็ไม่ดี จึงลอบนำไปใส่ไว้ในที่บรรจุพระธาตุของเพื่อน ผู้เขียนได้พบผู้เล่นทางนี้ (เป็น ดร. และเรียนทางธรณีวิทยา) มีเรื่องทำนองนี้อยู่มาก อนึ่ง บางคนก็คุยเป็นการโฆษณา เพื่อหาทางปล่อยหรือให้บูชาในราคาที่แพงๆ แก่คนที่หลงเชื่อถ้อยคำ
4. ยาอายุวัฒนะ คำที่สุนทรภู่และคนรุ่นนั้นใช้ คือ อายุวันชนะ เป็นยาที่มีลายแทงบอกว่ากินแล้วจะอายุยืน ดังกล่าวในนิราศวัดเจ้าฟ้า ว่า
ที่ธุระพระปรอทเป็นปลอดเปล่า ยังดูเลาลายแทงแสวงถวิล
ท่านนอนอ่านลานใหญ่ฉันได้ยิน ว่ายากินรูปงามอร่ามเรือง
แม้นฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แกกลับกลายหนุ่มนั้นเหลือเหลือง
และเมื่อพบแหล่งยาตามลายแทงก็ว่า
มาพบปะจะได้ขุดก็สุดแรง ด้วยดินแขงเขาประมูลด้วยปูนเพชร
ถึงสิ่วขวานผลาญพะเนินไม่เยิ่นยู่ เห็นเหลือรู้ที่จะทำให้สำเร็จ
แต่จะต้องลองตำรากาลเม็ด เผื่อจะเสร็จสมถวิลได้กินยา
เมื่อขุดจุดที่ลายแทงบอกไม่สำเร็จท่านก็ปลงตก และเขียนบอกนิสัยเชิงวิทยาศาสตร์ของท่านว่า ท่านลองทำดูเพื่อรู้ความจริงเท่านั้น ดังกลอนว่า
ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย ขออภัยพุทธรัตน์ปัฏิมา
เมื่อรู้ความยามโศกด้วยโรคร้าย จึงตามลายลัดแลงแสวงหา
จะใคร่เห็นเช่นเขาบอกดอกจึงมา มีตำราแล้วก็ต้องทดลองดู
ถ้าพิจารณาลึกๆ ในตอนแรกๆ ท่านก็มุ่งหวังในเรื่องลาภผลเหมือนกัน เพราะในลายแทงนอกจากจะว่า มียาอายุวัฒนะแล้วยังพูดถึงเงินทองในกรุอีกด้วย ดังกลอนในตอนต้นๆ ของนิราศนี้ ว่า
ขอคุณพระอนุเคราะห์ทั้งเกาะพระ ให้เปิดปะตรุทองสักสองขุม
คงจะมีพี่ป้ามาชุมนุม ฉะอ้อนอุ้มแอบอุราเป็นอาจิณ
หรือที่กล่าวไว้ในรำพันพิลาป ว่า
ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ แก้ปูนเพชรพบทองสักสองถุง
จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟัน
แต่สุดท้ายท่านก็สรุปทุกเรื่องที่ท่านแสวงหาว่า เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ฝันลมๆ แล้งๆ ไปเปล่าๆ แต่ท่านไม่ได้สรุปเหมือนอย่างนักวิจัยที่ใช้ นัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งคนในสมัยนั้นคงไม่เข้าใจหรือเชื่อถือ หากสรุปเป็นพระดำรัสของ (วิญญาณ) พญาเมืองร้าง ว่า
ใช่ยาอายุร้อย แสนปี
ทั่วล่าหาห่อนมี แม่นแล้ว
ปรอทฟอดรัศมี เสมอเม็ด เพชรเอย
ใช่พระปรอทแพร้ว พระไหว้ใช่การ
ห้ามอย่าหาปรอทแหร้ แชเชือน
สืบซ่างทางบุญเบือน แบ่งบ้าง
ยายืนหมื่นปีเฟือน ฝ่ายว่า บ้าแฮ
อย่าอยู่จู่หนีช้าง ช่วยให้ไปดี
เหล็กไหลได้แต่บ้า หาแสวง
ถูกแร่แม่สารแสลง เหล็กคล้าย
หลอมถลุงพลุ่งเพลิงแรง ราวรส กรดเอย
ควันพิษฤทธิ์สารร้าย ร่ำไซ้ไส้สูญ
หวังไว้ให้ลูกเต้า เหล่าหลาน
รู้เรื่องเปลืองเปล่าการ เกิดร้อน
อายุวัฒนะขนาน นี้พ่อ ขอเอย
แร่ปรอทยอดยากข้อน คิดไว้ให้จำ
จะเห็นว่าสุนทรภู่ฝักใฝ่ในเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ พระปรอท พระธาตุ เหล็กไหล และยาอายุวัฒนะ และเริ่มศึกษาตั้งแต่ ตีลายแทง แสวงหาจุด พิสูจน์ข้อมูล และสรุปคุณโทษ นับว่าเป็นบุราณวิจัยที่มีคุณค่าควรแก่กาลสมัยได้เรื่องหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- สุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี ผู้มีเสน่ห์มากกว่าการเป็นกวี
- สุนทรภู่ชาวฝั่งธนฯ เกิดวังหลัง ตายในสวนบางระมาด เผาศพที่วัดชิโนรส
- สุนทรภู่ต้องกินเหล้าจึงประพันธ์ได้ดีจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563