“ฮาเร็ม” มาจากไหน กำเนิดแนวคิดแยกผู้หญิงไว้โซนต้องห้าม ก่อนเป็นจินตนาการลึก

ฮาเร็ม ของ สุลต่าน
ภาพสภาพบรรยากาศของฮาเร็ม ฝีมือของ Fernand Cormon คาดว่าวาดหลัง ค.ศ. 1877

หากเอ่ยคำว่า “ฮาเร็ม” ในทุกวันนี้ คนตะวันตก (หรือแม้แต่ตะวันออกเอง) อาจนึกถึงภาพอีโรติกต่างๆ หรือภาพจากสื่อที่มักสร้างการรับรู้ถึงพื้นที่ในเชิงโซนรวมสตรีอันน่าเย้ายวนสำหรับบำเรอรักผู้เป็นเจ้าของ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว หลังม่านพื้นที่ต้องห้ามตามความเชื่อแบบดั้งเดิมแล้ว คงมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถบอกเล่าประสบการณ์ หรือความทรงจำที่มาจากการถ่ายทอดของคนยุคก่อนได้อย่างครบถ้วน

คำว่า “ฮาเร็ม” ปรากฏการใช้อย่างกว้างขวางไปกว่าบริบทแบบในสังคมมุสลิม มีตัวอย่างเห็นได้จากงานเขียนของแหม่มแอนนา ครูสตรีฝรั่งที่เข้ามาสอนภาษาในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อจากไปก็เขียนหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1870 มีเนื้อหาบอกเล่าบรรยากาศภายในราชสำนัก ใจความตอนหนึ่งเอ่ยถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในแง่บรรยากาศในวังว่า “เราจะพบผู้ทรงปัญญา…อยู่ในฮาเร็มของเขากับบรรดานางคนโปรดชุดใหม่ล่าสุดที่คอยหยอกเย้าอยู่ใกล้ๆ”

การรับรู้แบบนี้สะท้อนมุมมองดังที่กล่าวมาข้างต้น แม้ในความเป็นจริงแล้ว มีบางส่วนที่ใกล้เคียงกับการรับรู้แบบนี้อยู่บ้างก็ตาม แต่การให้ภาพกว้างโดยรวมทั้งหมดจากข้อมูลด้านต่าง ๆ น่าจะช่วยทำความเข้าใจฮาเร็มในสมัยต่าง ๆ มากกว่าไปการรับรู้จากการเผยแพร่ซ้ำเกี่ยวกับภาพข้างต้นนี้

คำว่า “ฮาเร็ม” 

มีข้อมูลต่าง ๆ และคำนิยามเกี่ยวกับฮาเร็มมากมาย สารานุกรม Britannica อธิบายคำว่า “ฮาเร็ม” ว่า ในภาษาอารบิก (Arabic) คือ ḥarīm หมายถึงพื้นที่ส่วนหนึ่งในที่พักซึ่งแยกออกต่างหากสำหรับสมาชิกที่เป็นสตรี

ขณะที่ Alev Lytle Croutier นักเขียนหญิงและผู้เขียนหนังสือ Harem: The World Behind the Veil เธอถือกำเนิดในตุรกีอีกทั้งมีบรรพบุรุษอาศัยในฮาเร็ม เธออธิบายว่า มาจากคำ haram ในภาษาอารบิก คำนี้มีความหมายว่า “ผิดกฎหมาย”, “ได้รับการคุ้มครอง” หรือ “ซึ่งต้องห้าม”

Alev ขยายความเพิ่มเติมว่า หากแต่ในทางโลก สังคมทั่วไปนั้น คำว่า “ฮาเร็ม” หมายถึง พื้นที่ส่วนหนึ่งของที่พำนักซึ่งถูกแยกออก ได้รับการคุ้มครอง เป็นที่ซึ่งสตรี เด็ก และคนรับใช้ อาศัยโดยแยกออกจากโซนอื่น เป็นส่วนตัวแบบเด็ดขาด แต่คำว่า “ฮาเร็ม” ไม่จำเป็นต้องสื่อถึงระบบ “ภรรยาหลายคน” (Polygamy) เสมอไป

ในอีกความหมายหนึ่ง หากพูดถึงโดยรวมยังหมายถึง “สตรี” และสามารถสื่อความหมายเกี่ยวกับ “ภรรยา” ได้ด้วย

หากแต่ในมุมมองของบางคน Alev เล่าว่า ฮาเร็มเป็นคำซึ่งหมายถึง “ที่พำนักอันเต็มไปด้วยความสำราญ” การต้อนรับเจ้านายที่มีสิทธิ์ในการค้นหากิจกรรมทางกามารมณ์แต่เพียงผู้เดียว สถานที่ซึ่งผู้หญิงถูกแยกตัวออก อาศัยแบบสันโดษ ห้ามล่วงละเมิด ยกเว้นเพียงชายผู้เดียวที่มีอำนาจเหนือชีวิตพวกเธอ Alev ใช้คำอธิบายว่า

“เป็นพื้นที่ในบ้านของคนผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย คุ้มครองดูแลโดยขันที ซึ่งเหล่าขุนนางใช้เป็นสถานที่เก็บภรรยาและสนมของพวกเขา”

คำถามแรกเริ่มเลยคือ ทำไมสังคมมนุษย์ต้องแบ่งแยกพื้นที่สำหรับ “ผู้หญิง” เป็นพื้นที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด?

การให้คำตอบของคำถามนี้ คงต้องสืบค้นกันไปถึงความเป็นมาแรกเริ่มที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้ ซึ่งหลากหลายแหล่งบอกเล่าใกล้เคียงกัน แม้จะมีรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างกันออกไปบ้าง

ทำไมต้องมี “ฮาเร็ม”

สารานุกรมฉบับ Britannica บรรยายไว้ว่า ในสังคมตะวันตกมักคิดว่าฮาเร็มเกี่ยวกับกิจทางมุสลิม แต่เป็นที่รับรู้กันว่า ฮาเร็มปรากฏขึ้นในอารยธรรมก่อนยุคอิสลามในตะวันออกกลางแล้ว ในเวลานั้น ฮาเร็มเป็นสถานที่ส่วนตัวอันปลอดภัยสำหรับผู้หญิงซึ่งอย่างน้อยก็ยังคงมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปในวิถีชีวิตในสาธารณะ และท่านมูฮัมหมัด ผู้นำและศาสดาในศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นต้นคิดไอเดียฮาเร็ม แต่ท่านสนับสนุนแนวคิด

ในประวัติศาสตร์อิสลามยุคต้น แนวคิดการแยกสตรีออกจากสาธารณะมักปรากฏให้เห็นได้มากกว่าในยุคต่อ ๆ มา ในบางยุคสมัยของประวัติศาสตร์สังคมอิสลาม ผู้หญิงในฮาเร็มยังถือว่ากุมอำนาจทางการเมืองหลากหลายระดับด้วยซ้ำ

หากเอ่ยถึงสังคมก่อนยุคอิสลามในเปอร์เซียและอียิปต์ ราชสำนักส่วนใหญ่ก็รวมถึงโซนฮาเร็มด้วย ฮาเร็มของราชสำนักก็ยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองเช่นเดียวกับบทบาททางสังคม ชนชั้นปกครองมักเพิ่มเติมภรรยาเข้าไปในฮาเร็มของตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงในแง่พันธมิตรทางการเมือง

ขณะที่เหล่าภรรยาก็มักเข้าร่วมกิจกรรมทางกลยุทธ์ด้วยตัวเอง ส่วนบุตรชายของพวกเธอก็พยายามไขว่คว้าตำแหน่งทางการเมืองไปพร้อม ๆ กัน ฮาเร็มจึงกลายเป็นสนามสำหรับการขับเคี่ยวกันเพื่อไต่เต้าสู่ราชสำนัก แต่ในเมื่อสตรีในฮาเร็ม ก็มักมาจากตระกูลที่มีอิทธิพลและอำนาจ บรรยากาศการหักเหลี่ยมกันในฮาเร็ม ก็อาจส่งผลกระทบหลายประการ บางครั้งนำไปสู่ยุคเสื่อมของอาณาจักร

แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งมาจากบันทึกของสายตระกูลที่เคยสัมผัสกับฮาเร็มมาก่อน ดังเช่นงานเขียนของ Alev เธอเล่าว่า เธอเกิดในบ้านหลังเก่า (konak) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฮาเร็มของปาชา (pasha) ท่านหนึ่ง (ตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงในตุรกี)

วัยเด็กของเธอแวดล้อมด้วยทาส และสนมที่อยู่ในฮาเร็ม (odalisque) ขณะที่คุณย่าของเธอ และพี่น้องของย่าของ Alev ก็เคยอาศัยในฮาเร็มแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง เธอเติบโตมาพร้อมกับเรื่องเล่า บทสนทนา และดนตรีที่เปล่งออกจากบุคคลซึ่งรายล้อมเธอ

ย่าของ Alev ชื่อว่า Zehra เป็นธิดาของผู้ผลิตดินปืนที่มั่งคั่งรายหนึ่งในมาเซโดเนีย และเป็นธรรมเนียมมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ที่ Zehra และพี่น้องของเธอถูกนำเข้าสู่ฮาเร็ม พื้นที่ในบ้านซึ่งแยกออกต่างหาก ผู้ชายที่พบได้มีเพียงผู้ร่วมสายเลือดเท่านั้น

จากการศึกษาสืบค้นของเธอ คำว่า “ฮาเร็ม” (พื้นที่ที่แยกผู้หญิงออกมา) เป็นผลจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับการแยกขั้วระหว่างความศักสิทธิ์ทางศาสนา กับทางโลก นั่นจึงเกิดการแบ่งแยกจำแนกประเภทสิ่งต่าง ๆ และควบคุมโดยระเบียบที่เรียกว่า “ข้อห้าม”

ภาพวาด “ฆาตกรรมใน Seraglio” (Murder in the Seraglio) โดย Fernand Cormon (1874) ไฟล์ภาพ public domain

เมื่อเป็นเช่นนั้น เพศชายกับเพศหญิงจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกจัดแยกเป็นอันดับต้นๆ ผู้หญิงเป็นเพศซึ่งสื่อถึงกิเลส-ความหลงใหล ส่วนชายสื่อถึงเหตุผล อีฟเป็นผู้ที่ยั่วยวน ระบบการจัดจำแนกลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงถูกรับรู้เช่นนี้มายาวนาน

แต่หากเอ่ยถึงสังคมก่อนยุค “อดัมกับอีฟ” ก็มีบางพื้นที่ซึ่งเป็นสังคมยุคก่อนชายเป็นใหญ่แล้ว ในสุเมเรียน อียิปต์ และกรีก ผู้หญิงมีตำแหน่งทางสังคมในฐานะผู้มีพลังทางจิตวิญญาณสืบเนื่องไปสู่บัลลังก์ของพระเจ้า เทพ(ธิดา) อย่าง White Goddess ถือเป็นเทพธิดาองค์แรก ๆ ร่างของเธอถูกมองว่าเป็นดวงจันทร์ ได้รับเคารพบูชาในหลายชื่อ

แต่เมื่อยุคแรกเริ่มของอารยธรรมมนุษย์ การเกษตรเริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่าการล่าสัตว์และเก็บของจากธรรมชาติ เมื่อมีการแย่งชิงดินแดนจับจองพื้นที่ พัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมของจุดเด่นเรื่องพลังทางจิตวิญญาณของฝ่ายสตรี มารดาไม่ได้เป็นศูนย์กลางของครอบครัว หากแต่เป็นบิดา ระบบหลายภรรยากำเนิดขึ้นตอบสนองความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ชายต้องการแรงงานมากที่สุดเพื่อดำรงไว้ซึ่งลมหายใจและปากท้อง

ระบบหลายคู่สมรสกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลายความเชื่อทางศาสนา ขณะที่ตลาดการค้าทาสนั้นก็ปรากฏในตะวันออกกลาง และเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย 2 พันปีก่อนพระเยซู

ชนเผ่าตุรกีหลายกลุ่มรวมถึงเหล่าออตโตมัน มีระบบหลายภรรยาตั้งแต่ก่อนพิชิตคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของไบเซนไทน์ในปี 1453

ฮาเร็มของ สุลต่าน

สุลต่านเมห์เมดที่ 2 (Mehmed II) ผู้พิชิตคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) มีพระประสงค์ต้องการสร้างมหานครใหม่ตามแบบคอนสแตนติโนเปิล พระองค์เรียกเมืองว่าอิสตันบุล พระองค์ยังมีรับสั่งให้เร่งจัดการพื้นที่เอาไว้สำหรับจักรพรรดินีเฮเลน หรือแม่หม้ายแห่งจักรพรรดิคอนสแตนติน ซึ่งเป็นพื้นที่ในวังของพระนางที่อยู่ห่างไกลจากจุดอื่นที่สุด ห่างไกลจากราชสำนักฝ่ายใน และเป็นที่ซึ่งผู้หญิงมาพำนักอาศัยแยกต่างหาก แถมยังแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มย่อยอีก

สุลต่านเมห์เมดที่ 2 ทรงนำธรรมเนียมนี้มาใช้ในวัตถุประสงค์เรื่องแบ่งแยกกลุ่มราชวงศ์ สร้างโรงเรียนในวัง และสำหรับเป็นที่อาศัยของทาสในแต่ละพื้นที่

ระบบหลายภรรยาในแบบอิสลามก็ผสมผสานเข้ากับแนวทางของพระองค์ได้อย่างราบรื่น เมื่อเป็นดังนี้ จึงนำมาสู่ระบบฮาเร็มภายหลังจากการพิชิตคอนสแตนติโนเปิล มีธรรมเนียมว่า สุลต่าน ต้องสมรสกับบรรดาสนม ผู้หญิงในฮาเร็มก็มาจากทั้งเอเชีย แอฟริกา หรือแม้แต่ยุโรป

ภายหลังสุลต่านพิชิตคอนสแตนติโนเปิลได้แล้ว พระองค์สร้างพระราชวังโทพคาปี (Topkapi) ขึ้นระหว่างแหลมที่ยื่นจากโกลเด้นฮอร์น (Golden Horn) กับทะเลมาร์มาร่า (Marmara) เรียกกันว่า Seraglio Point

ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นถึงวัง Topkapi (ด้านหน้า) และ Hagia Sophia (ด้านหลัง) ในอิสตันบุล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2020 ในช่วงเคอร์ฟิวเนื่องจากโควิด-19 ภาพจาก OZAN KOSE / AFP

พระราชวังแห่งนี้ถือเป็นใจกลางอำนาจของ สุลต่าน แวดล้อมไปด้วยผู้คนหลายพันคนที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ และพื้นที่ส่วนตัวในพระราชวังอันถูกแยกออกจากโซนอื่นอย่างสิ้นเชิง ก็คือฮาเร็มของสุลต่าน โดยถูกเคลื่อนย้ายมาที่นี่ตั้งแต่ปี 1541 พร้อมพระชายาโรซาเลนา (Roxalena) ตราบจนถึงปี 1909 มีกลุ่มสตรีที่เกิดและตายที่นี่ยาวนานถึง 4 ศตวรรษเลยทีเดียว และนั่นยังเป็นสัญลักษณ์ของระบบการแบ่งแยกสตรีออกมาอย่างโดดเดี่ยว

ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 บ้านของชาวอาหรับที่มีฐานะร่ำรวยก็มักมีฮาเร็มขนาดใหญ่เป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นคนมีฐานะยากจนก็มักแค่แยกพื้นที่อาศัยระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ฮาเร็มหลงเหลือเพียงแค่ในบ้านของกลุ่มอนุรักษนิยมในสังคมอาหรับเท่านั้น กระทั่งหลัง 1926 เมื่อตุรกีประกาศให้การมีภรรยาหลายคน (Polygamy) แบบนอกกฎหมายเป็นเรื่องผิด ธรรมเนียมเรื่องการเก็บตัวผู้หญิงก็ไม่ค่อยแพร่หลายดังเดิม

นี่คือพัฒนาการของฮาเร็ม จากข้อมูลเชิงวิชาการและการสืบค้นของทายาทตระกูลที่เคยสัมผัสกับบรรยากาศฮาเร็มมาก่อน แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีเรื่องราวภายในรั้วฮาเร็มอีกมากมายที่บอกเล่ากันจากรุ่นสู่รุ่น หากโอกาสอำนวย จะมานำเสนอกันอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Alev Lytle Croutier. Harem: The World Behind the Veil, 1989

“Harem”. Encyclopaedia Britannica. Online. Access 27 APR 2020. <https://www.britannica.com/topic/harem>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2563