ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในโลกใบนี้มีบุคคลที่ถูกเรียกว่า “นักปฏิวัติ” มากมาย ขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับชื่อเรียกนี้มากมายไม่แพ้กัน แต่อย่างน้อยยังมีคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “นักปฏิวัติ” เช่นกัน ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ประเทศไทยมีผู้เรียกตัวเองว่านักปฏิวัติอย่าง นายร้อยโท ขุนศรีศรากร ซึ่งทำการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ขณะอายุ 32 ปี กระทั่งเมื่อปี 2526 ขณะอายุ 83 ปีก็อยู่ในจีวรพระจากการบวชมายาวนาน 16 ปีภายใต้ชื่อ “พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส” และทำปฏิวัติ “การปฏิบัติศาสนา”
การก่อการเมื่อปี 2475 นั้น นิยม สุขรองแพ่ง ผู้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ “นายร้อยโท ขุนศรีศรากร” (ชลอ ศรีธนากร) บันทึกว่า บทบาทของเขาผู้นี้คือเข้าไปจับตัวนายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ในบ้านพักเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากนี้อีกปีเศษ ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ขุนศรีศรากรได้รับคำสั่งให้ไปโคราช ที่ชุมพลฝ่ายกบฏเพื่อเชิญเสด็จ นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช ลงมากรุงเทพฯ จนตัวท่านถูกจับเกือบถูกยิงเป้า
นั่นคือบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการ “ปฏิวัติ” ในการทหาร นอกเหนือจากนี้ นิยม ยังเล่าบทบาทในการทหารอื่นว่า “…เข้าไปถึง ‘รัง’ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและกำลังซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ลพบุรีถึง 3 ครั้ง เพื่อ ‘ห้ามทัพ’ ไม่ให้ยกลงมาพระนครเพื่อขับไล่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์…, ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นยึดครองไทย ท่านได้วางแผนและจัดกำลังเตรียมพร้อมไว้เพื่อจับตายนายพลงิและนายพลอีก 8 คนด้วยวิธี ชีวิตแลกชีวิต!…, หลังสงคราม ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตต์ ท่านถูกสั่งให้ซื้อฝิ่นด้วยเงิน 44 ล้านบาท ในขณะที่ราคาจริง 22 ล้านบาท เมื่อท่านปฏิเสธท่านจึงต้องออกจากราชการ ด้วยเหตุรับราชการนาน 28 ปี และเมื่ออายุตัวเพียง 46 ปี…”
ในช่วงที่ตกงาน ยังได้รับชักชวนจากเพื่อนที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้ร่วมทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งท่านตอบปฏิเสธถึง 4 ครั้ง หลังรัฐประหาร แม่ยายจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาตามให้ร่วมทำงานกับคณะรัฐประหาร ก็ถูกท่านปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “เมื่อได้เสี่ยงตายสถาปนาการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว จึงไม่บังอาจละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหารได้ เพราะจะเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า”
เมื่อปี 2527 นิยม สุขรองแพ่ง เดินทางไปที่วัดตโปทาราม (วัดร่ำเปิง) เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเข้าพบภิกษุรูปหนึ่ง หลังทราบว่าภิกษุรูปนี้ซึ่งเคยแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2526 และจำพรรษาที่วัดเต่าไหใต้ จังหวัดอุตรดิตถ์ มาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดแห่งนี้
นิยม สุขรองแพ่ง มีโอกาสเข้าพบภิกษุ ได้รับอนุญาตให้ซักถามและบันทึกเสียงพระคุณเจ้าเพื่อมาเผยแพร่ให้ลูกหลานทราบถึงเหตุการณ์ในหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยในฐานะผู้รู้เห็นเหตุการณ์และมีส่วนในปฏิบัติการหลายครั้งรอบ 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2475-2490
แรกเริ่มเข้าร่วมปฏิบัติการ 2475
ในคราแรกเริ่ม ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นิยม เรียบเรียงการบอกเล่าของท่านออกมาเป็นการบรรยายเรื่องราวใจความว่า
“บนถนนอัษฎางค์ตอน หลังกระทรวงกลาโหม ในเย็นวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2475, ขณะที่ฝนต้นฤดูกำลังโปรยลงมาบางๆ นายทหารปืนใหญ่สองคนเดินตามกันมาในระยะค่อนข้างห่าง คนหน้าเดินตามสบาย ไม่รีบร้อนเพราะเลิกงานแล้ว ส่วนคนหลังพยายามสาวเท้าเดินเพื่อจะให้ทันคนหน้า เมื่อทันกันแล้วจึงใช้แขนขวาโอบไหล่อย่างสนิทสนมเยี่ยงผู้ใหญ่กระทำต่อผู้น้อยแล้วพูดขึ้นว่า
‘มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกำลังคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้เหมือนกับนานาประเทศที่เจริญทั้งหลาย ขุนศรีฯ ยินดีจะเข้าร่วมกับเขาไหม?’
ร.ท. ขุนศรีศรากร ย้ายถามกลับไปว่า ‘เราจะไปสู่รีพับลิค หรือว่ายังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ต่อไป’
ร.อ. หลวงพิบูลสงคราม ‘เราเพียงแต่ต้องการกฎหมายรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราไม่ต้องการรีพับลิค’
ร.ท. ขุนศรีศรากร ‘ผมตกลงร่วมมือด้วย'”
สำหรับเหตุผลที่หลวงพิบูลสงคราม ออกปากชวนขุนศรีฯ ให้มาร่วม นิยม บรรยายว่ามีหลายประการ อาทิ เป็นเพื่อนร่วมงานในกองตรวจอากาศ กรมจเร ทหารปืนใหญ่ โดยมี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นจเรทหารปืนใหญ่ มีโอกาสศึกษานิสัยใจคอและความสามารถมานาน, หลวงพิบูลฯ เป็นหัวหน้ากองตรวจอากาศซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของขุนศรีฯ และขุนศรีฯ คุ้นเคยกับภรรยาของหลวงพิบูล เพราะเป็นชาวพิษณุโลกเช่นเดียวกัน
แต่ในแง่เหตุผลส่วนตัวของขุนศรีฯ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้โดยง่ายนั้น นิยม อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของท่านเองว่า ขุนศรีฯ กล่าวอ้างถึงว่า ตระกูลท่านสืบเชื้อสายจากพระยาพิชัยดาบหัก (ท่านอ้างว่า บิดาห้ามเปิดเผย แต่เปิดเผยได้เพราะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สำเร็จลง และยังจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์จักรีโดยไม่เปลี่ยนแปลง) บิดามารดาเป็นชาวนา เปลี่ยนอาชีพมารับซื้อข้าวเปลือกล่องเรือขายปากน้ำโพ ตัวท่านเองเกิดในเรือบรรทุกข้าว
รับการศึกษาในโรงเรียนวัดยาง บ้านบางสะแก โชคดีกว่าลูกชาวนาคนอื่นตรงที่เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก และเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก
เหตุผลในการเข้าร่วมของขุนศรีฯ
ตัวท่านเล่าบ่งชี้ว่า
1. มีความรู้ทางการเมืองของต่างประเทศมากเกิน รู้ว่าประเทศที่เจริญทั้งหลายปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้คิดอยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อถูกชวนก็ตอบตกลง เพราะตรงกับความคิด เหตุผลข้อนี้มีน้ำหนัก 60 เปอร์เซ็นต์
2. ปี 2475 เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลสมัยนั้นปลดข้าราชการออกเพื่อประหยัดรายจ่าย ผู้ถูกปลดส่วนมากเป็นตระกูลพ่อค้าและชาวนา ส่วนตระกูลขุนนางสูงศักดิ์ไม่ถูกปลด จึงรู้สึกร้อนใจ เพราะตัวท่านเข้าข่าย ทำให้เกิดความคิดเห็นแก่ตัว ดิ้นรนเพื่ออยู่รอด เหตุผลข้อนี้มีน้ำหนัก 30 เปอร์เซ็นต์
3. สงสารเพื่อนที่มาจากตระกูลพ่อค้าและชาวนา ครอบครัวต้องลำบากยากจน โดยพวกนี้ไม่มีความผิด เหตุผลข้อนี้มีน้ำหนัก 10 เปอร์เซ็นต์
หลวงพิบูลฯ สั่งให้ขุนศรีฯ ชวนเพื่อนนายทหารที่ไว้ใจได้เข้าร่วมอีก 20 คน แต่ท่านออกปากชวนเพียง 15 มีผู้เห็นชอบเข้าร่วม 11 คน อีก 4 คนให้เหตุผลเรื่องกลัวติดคุกหรือประหารชีวิต จากบทเรียน ร.ศ. 130 ประกอบกับอีกรายที่เป็นนายทหารรักษาพระองค์ ไม่อยู่ในฐานะเข้าร่วมได้
แผนปฏิบัติการ
วันที่ 24 มิ.ย. 2475 เวลา 9.00 น. หลวงพิบูลฯ กับหลวงอดุลเดชจรัสเรียกประชุม แจ้งเวลาเริ่มปฏิบัติการให้ทราบ ต่อจากนั้น หลวงพิบูลฯ กับหลวงอดุลฯ เรียกเข้าไปพบทีละคนเพื่อมอบหมายภารกิจโดยแต่ละคนไม่รู้รายละเอียดหน้าที่ซึ่งกันและกัน
สำหรับขุนศรีฯ ชอบพอกับพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์ฯ) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในฐานะนักแม่นปืนด้วยกัน จึงได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าไปเชิญตัวพระยาเสนาสงครามมาควบคุมตัว หากจำเป็นต้องใช้ปืน ก็ฝีมือใกล้เคียง คงไม่เสียเปรียบมากนัก ในภารกิจมีขุนจำนงค์ภูมิเวทย์ กับนายทหารอีก 2 คนตามไปด้วย คำสั่งให้จับเป็น
นิยม เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
“ขุนศรีฯ ได้พาเพื่อนร่วมงานทั้งหมดไปที่หน้าบ้านหลังหนึ่งแล้วรออยู่…พวกเขาจะต้องรออยู่จนกว่าจะได้พบกับผู้ที่พวกเขาต้องการ ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาสักกี่ชั่วโมง ตลอดเวลาเหล่านี้ความลับอาจจะรั่ว พวกเขาจะถูกจับ? รู้สึกว่าเป็นภาวะที่น่าอึดอัดและหวาดระแวงเป็นที่สุด
ลมกรรโชกมาเป็นพักๆ ฝนทำท่าจะตกลงมาอีก ทั้ง 4 คนยังยืนอยู่ในความเงียบและความมืดของชั่วโมงแรกๆ ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เสียงโลหะเสียดสีกันดังมาจากที่ใดที่หนึ่งแถวๆ นั้น ทุกคนสดุ้ง! พร้อมกับเงี่ยหูฟังอย่างใจจดใจจ่อ เสียงนั้นดังขึ้นอีก ขุนศรีฯ กับขุนจำนงค์ฯ ชักปืนพกออกจากซองพร้อมที่จะยิง
ขุนศรีฯ แหงนหน้าไปทางยอดเสาอันเป็นที่มาของเสียง พลันก็ได้พบร่างทมึนของใครคนหนึ่งอยู่บนยอดเสานั้น
’04!’ ขุนศรีฯ ร้องขึ้น
‘เอ็งไม่ต้องมา 04 กับข้าหรอก เพราะข้ารู้ว่าเอ็งคือ ไอ้ขุนศรีฯ’ เสียงตอบกลับมาจากยอดเสา พร้อมกับเจ้าของเสียงไต่ลงมาสู่พื้นดิน
‘ข้าก็รู้ว่าเอ็งคือ ไอ้ขุนปลดปรปักษ์ เอ็งขึ้นไปทำอะไรอยู่บนนั้น’ ขุนศรีฯ พูดขึ้นบ้าง
‘แย่ว่ะ ไม่มีเครื่องมือตัดสายโทรศัพท์ ต้องใช้มีดพับ’ ขุนปลดฯ พูดอย่างขอความเห็นใจ แล้วกล่าวต่อไปว่า ‘เมื่อคืนไปตัดสายในกลาโหม ขากลับออกมาเจอทหารยามเข้าพอดี ไม่รู้จะทำยังไงต้องทิ้งเครื่องมือไว้ เดินตัวเปล่าออกจากกลาโหม ยามมันจะได้ไม่สงสัย’
ขุนปลดฯ หยุดเว้นระยะแล้วถามว่า ‘แล้วเอ็งล่ะมาที่นี่ทำไม?’
ขุนศรีฯ ตอบว่า ‘ข้าจะมาพบเจ้าคุณเสนาสงคราม’
‘อ้าว! ไม่ใช่บ้านนี้ เอ็งเข้าผิดบ้านเสียแล้ว บ้านโน้นต่างหากถัดไปอีก 2 ประตู’ ขุนปลดฯ ชี้บอกบ้านอันเป็นเป้าหมายให้
ทั้งสองฝ่ายต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตน ขุนปลดฯ กลับขึ้นไปบนเสาโทรศัพท์ ส่วนขุนศรีฯ พาพรรคพวกไปที่ประตูบ้านพระยาเสนาสงคราม
รอจนสว่าง พระยาเสนาฯ ก็ยังไม่ออกมา ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทหารทั้งสี่ตกเป็นเป้าสายตาของผู้ที่เดินผ่านไปมา โดยเฉพาะพวกผู้หญิงชาวบ้านที่หิ้วตะกร้าออกไปจ่ายกับข้าวถึงกับหยุดยืนดูเป็นกลุ่ม ขุนศรีฯ จึงแกล้งพูดกับขุนจำนงค์ฯ ถึงเรื่องการรังวัดสอบเขตที่ดินที่จะมาซื้อจากเจ้าของเดิม ผู้หญิงกลุ่มนั้นจึงผละจากไป”
เลือดหยดแรกในวันปฏิวัติ
“เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ความกระวนกระวายใจและความหวาดผวาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด…
ทันใดนั้น เสียงฝีเท้าหนักๆ ดังใกล้ประตูเข้ามา ขุนศรีฯ จำเสียงนั้นได้เป็นอย่างดี พระยาเสนาสงครามเป็นคนร่างเล็กมาก เป็นทหารม้า แต่เดินเสียงดังผิดปกติ จนเพื่อนๆ ล้อท่านว่า “ตัวเล็กเดินดัง”
เสียงนั้นทำให้ขุนศรีฯ สั่งลูกน้อง 2 คนเข้าประชิดประตูเพื่อกลุ้มรุมจับตัว หากพูดกันดีๆ ไม่ได้ผล
ประตูเปิดออก พระยาเสนาสงครามก้าวพ้นประตูออกมานอกบ้าน ขุนศรีฯ เข้าไปทำวันทยหัตถ์ ยังไม่ทันที่ปลายนิ้วจะแตะขอบหมวก นายจ้อย โอปลักก็ใช้พานท้ายปืนพาลาเบรั่มฟาดลงไปที่ศีรษะด้านหลังของพระยาเสนาฯ เมื่อฟาดแล้ว หันปากกระบอกปืนจะยิงซ้ำ แต่ขุนจำนงค์ ยิงขึ้นก่อน และยิงกันคนละนัด รวม 4 นัด กระสุนทุกนัดเข้าที่ท้อง ไม่ได้ตั้งใจจะยิงส่วนบน เพราะต้องการจะจับเป็น ตามคำสั่งพระยาพหลฯ
เกือบจะในเวลาเดียวกับที่เสียงปืนระเบิดขึ้น คน 4 คนถือปืนยาววิ่งออกมา ขุนศรีฯ จึงสั่งถอยขึ้นรถยนต์ที่จอดรถอยู่ที่ปากซอย
1 ใน 4 คนนั้นคือ คุณหญิงแสร์ นพวงศ์ ภรรยาของพระยาเสนาฯ ซึ่งเป็นนักแม่นปืนเหมือนสามี
วันต่อมา เมื่อขุนศรีฯ พบนายจ้อย โอปลัก จึงถามว่าทำไมจึงตีพระยาเสนาฯ นายจ้อยฯ บอกว่า เห็นขุนศรีฯ ยกมือ (ทำท่าวันทยหัตถ์) คิดว่าให้สัญญาณตี แต่บังเอิญถูกขอบหมวก ถ้าถูกต้นคอเกรงว่าจะคอหักตาย ส่วนกระสุน 4 นัดที่ยิงออกไปบังเอิญไม่ถูกกระดูก ทราบว่าได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนหายเป็นปกติ
การปฏิวัติสำเร็จลงอย่างง่ายดาย…“
กบฏพระองค์เจ้าบวรเดช : “เอาเลือดเซ่นธงไชยเฉลิมพล!”
ในห้วงเหตุกบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 วันที่ 9 ต.ค. ปีนั้น หลวงอดุลฯ สั่งให้ขุนศรีฯ กับม.ร.ว. ลาภ หัสดินฯ ไปโคราชเพื่อดูความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม และเชิญเสด็จพระองค์เจ้าบวรเดชกลับพระนคร
แต่ทันทีที่ลงจากรถไฟ ขุนศรีฯ รู้สึกทันทีว่าถูกสะกดรอย จึงพากันไปพักที่บ้านร.ท. น้อม เพื่อนของ ม.ร.ว. ลาภฯ ซึ่งอยู่ในกรมทหาร เมื่อทานอาหารเสร็จ ทหารก็เข้าล้อมบ้าน ขุนศรีฯ กลายเป็นหมดอิสรภาพ นายทหารคนสนิทของผู้บังคับบัญชากองพลบอกว่า พระองค์เจ้าบวรเดชสั่งให้จับ ผู้สัมภาษณ์เล่าต่อมาว่า
“ทหารผู้ควบคุมส่งตัวขุนศรีฯ เข้ากรงสำหรับขังคนบ้าทันที! ขุนศรีฯ ต้องทักท้วงอย่างเต็มที่ ‘ทำไมทำกับผมอย่างนี้…ปืนนี่จะเก็บไปผมไม่ว่า แต่ไม่ควรเอาผมมาขังในกรงเหล็กสำหรับขังคนบ้าอย่างนี้ ให้เกียรติและไว้หน้ากันบ้าง ผมไม่ใช่อาชญากร ผมเป็นนายทหาร…’ ผู้ควบคุมจึงเอาตัวขุนศรีฯ ออกจากกรง”
วันที่ 10 ต.ค. 2476 ผู้บังคับกองเรือนจำทหาร ได้มายืนอยู่ที่โคนต้นก้ามปู มองมายังขุนศรีฯ เมื่อขุนศรีฯ มองบ้างก็หลบไป … มองแล้วหลบ… ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง จนขุนศรีฯ สังเกตเห็น
อีกปีเศษต่อมา เมื่อขุนศรีฯ เป็นผู้บัญชาการเรือนจำบางขวางเพื่อดูแลนักโทษการเมือง 200 กว่าคน ก็เรียกผู้บังคับกองเรือนจำคนนั้นมาถามถึงอากัปกิริยาที่ทำในตอนเช้าวันที่ 10 ต.ค. 2476 จึงได้ความว่า พระองค์เจ้าบวรเดชสั่งให้มาดู เพื่อจะเอาตัวไปยิงเป้าเอาเลือดเซ่นธงไชยเฉลิมพล เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเคลื่อนพลเข้าพระนคร
แต่พระยาคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ เดิมชื่ออึ่ง เป็นชาวโคราช ได้คัดค้านว่า ขุนศรีฯ มีเพื่อนเป็นนายทหารอยู่ที่โคราชมากมาย และฝ่ายเราก็บอกกับทหารและชาวบ้านชาวเมืองว่า พวกนั้น (รัฐบาลพระยาพหลฯ) เป็นคอมมูนิสต์ยึดพระนคร เราจะยกทัพไปปราบกบฏแต่ขุนศรีฯ ซึ่งเป็นสันติบาลขึ้นมาจนถึงโคราช ก็ขัดๆ กันอยู่แล้ว ถ้าจะเอาเขาไปยิงเป้า ดูไม่มีเหตุผล เพื่อนฝูงเขาจะคิดอย่างไร ถ้าเรายิงเพื่อนเขาตายต่อหน้าต่อตา กองทหารของเราอาจจะเคลื่อนไม่ได้
พระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งระงับการยิงเป้าขุนศรีฯ“
(ก่อนที่ขุนศรีฯ ไปโคราช ได้มีการตกลงกันล่วงหน้าว่า ถ้าขุนศรีฯ ไม่กลับหรือไม่ส่งข่าวในเวลาที่กำหนด พ.ต.ท. พระกล้ากลางสมร จะนำกำลังตำรวจตามไป เมื่อขุนศรีฯ หายไปโดยไม่มีข่าวคราว จึงมีกำลังติดตามไป แต่เมื่อถึงสถานีปากช่องก็พบกำลังส่วนหน้าของฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช เลยถูกปลดอาวุธและคุมตัวทันที)
สงครามโลก : จับรัฐมนตรี
เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในไทย รัฐบาลหลวงพิบูลฯ ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ในพ.ศ. 2485 หนังสือ “สันติบาลใต้ดิน” หน้า 6-7 หนังสือที่ขุนศรีฯ เขียนได้กล่าวถึงนายวณิชย์ ปาณะนนท์ รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ว่าเป็นลูกน้องของญี่ปุ่น อาศัยการติดต่อประสานงานกับญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จนเมื่อ 7 ม.ค. 2487 หลวงอดุลฯ มีคำสั่งให้ขุนศรีฯ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจับนายวณิชย์ กรณีทุจริตการจำหน่ายทองคำ
กรณีนี้ นายวณิชย์ ไม่ได้รอฟังคำพิพากษา เขาใช้ผ้าขาวม้าผูกคอกับเสาเตียงถึงแก่ความตายภายในห้องขังที่สันติบาล แต่มีเรื่องลือกันว่า ขุนศรีฯ เป็นผู้ “ชักรอก” นายวณิชย์
เรื่องนี้พระคุณเจ้า เล่าให้นิยม ความว่า
“เช้าวันนั้น คนใช้ได้เอาปิ่นโตมาส่งนายวณิชย์ ตามปกติ เมื่อเขารับปิ่นโตจากคนใช้แล้ว ยังไม่กิน กลับเอาผ้าแพร่เพลาะดำขึงกับเสาเตียงทำเป็นม่าน คนใช้ที่ส่งปิ่นโตแล้วมันก็อยู่แถวนั้น แต่เข้าไปในห้องขังไม่ได้ มันรออยู่นานมาก จึงไปบอกตำรวจยาม ตำรวจยามได้ไขกุญแจเข้าไปดูพบว่า นายวณิชย์ใช้ผ้าขาวม้าผูกคอ ชายผ้าอีกด้านหนึ่งผูกกับยอดเสาเตียง แล้วเลื่อนตัวลงจากเตียงให้ผ้าขาวม้ารัดคอ แขวนอยู่อย่างนั้น
ตำรวจมาตามอาตมาไปดู ปรากฏว่าเลือดคั่งที่ซอกคอเขาสิ้นใจไปแล้ว อาตมาสั่งไม่ให้ใครแตะต้องศพ แล้วใช้ให้คนไปตามหลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ ซึ่งเป็นพี่เมียของนายวณิชย์ มาดูศพ เมื่อตอนนำศพไปเผาที่วัดไตรมิตรฯ ก่อนเผา ทูตญี่ปุ่นชื่อนายทสุโบกามิ ขอให้เปิดหีบศพ หลวงสินธุ์ฯ บอกว่า ไม่ต้องเปิดหรอก ไม่มีใครทำเขา เขาทำของเขาเอง ฉันรับรอง นายทสุโบกามิเห็นว่าหลวงสินธุ์เป็นพี่เมีย และเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรับรองแข็งขันเช่นนั้นก็ไม่ติดใจอะไรอีก…
ไอ้ข่าวลือนี้มันมาจากคนวงนอก อยู่ห่างเหตุการณ์มากๆ ก็พูดกันไป ส่วนคนวงในเขาไม่พูดกัน เพราะคนใช้ของเขาก็อยู่ด้วย หลวงสินธุ์ฯ ก็ได้เห็นศพตอนตายใหม่ๆ…”
ออกจากราชการ
เมื่อสงครามผ่านไป การเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งก็ส่งผลต่อบทบาทขุนศรีฯ บทบาทลดลงเรื่อยๆ กระทั่งถึงรัฐบาลพล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขุนศรีฯ เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต มีหน้าที่จัดจำหน่ายฝิ่นให้เอเยนต์ทั่วประเทศ
ขุนศรีฯ ปฏิเสธเซ็นอนุมัติซื้อฝิ่นในวงเงิน 44 ล้านบาท ขณะที่ราคาจริงอยู่ที่ 22 ล้านบาท ภายหลังมีคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน 28 ปี และอายุตัว 46 ปี
หลังออกจากราชการแล้วยังมีผู้มาชักชวนทำรัฐประหารถึง 4 ครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไปทั้งหมด หรือกรณีชักชวนไปร่วมงานหลังทำการเสร็จแล้วก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน นิยม ยกคำพูดจากบทสนทนาตอนหนึ่งว่า
“…เราเป็นคนหารัฐธรรมนูญมาให้ แล้วจะมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือไปร่วมงานกับผู้ทำลายรัฐธรรมนูญ มันจะยังไงอยู่นะ มันไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว…”
สันติบาลใต้ดิน
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ในวันที่ 30 มีนาคม 2488 หลวงอดุลฯ สั่งให้ขุนศรีฯ วางแผนจัดกำลังตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบเข้าประชิดจุดสำคัญของญี่ปุ่น 11 จุด
ช่วงเวลานั้นขบวนการเสรีไทยเติบโตขึ้นลำดับแล้ว หลายพลพรรคเล็งฟาดกับญี่ปุ่นให้แตกหัก แต่อังกฤษยังไม่พร้อมรบรุกในไทย ไทยกับญี่ปุ่นก็เผชิญหน้ากันบ่อยขึ้นจนคิดว่าจะต้องปะทะกันแน่นอน เหลือเพียงเวลาเท่านั้น
สำหรับสันติบาลใต้ดิน มีหน้าที่ทำลายสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั้ง 4 แห่ง ฆ่านายทหารชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ประจำจุด แต่สงครามยุติก่อนที่จะทำหน้าที่
เมื่อสงครามยุติใหม่ๆ หลวงอดุลฯ ให้ขุนศรีฯ เขียนหนังสือถึงเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือ “สันติบาลใต้ดิน” จึงเกิดขึ้น วางจำหน่ายเมื่อธันวาคม 2488 ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนฟ้องหมิ่นประมาท ไม่นานนัก พล.อ. มังกร พรหมโยธี ยื่นฟ้องทันที ศาลพิพากษาให้ขุนศรีฯ แพ้คดี สั่งเก็บหนังสือนี้
เมื่อออกจากราชการแล้วจึงมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต
เหตุของการบวช
“ก่อนบวช อาตมาอ่านพระไตรปิฎกอยู่ 4 ปี เกิดความประทับใจตรงที่ว่า คนแก่ควรจะบวชเพื่อชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ก่อนตาย อาตมาได้ใช้พระไตรปิฎกเป็นแนวทางในการเขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเฉพาะเรื่อง ‘นิพพานมีจริง’ หนังสือเล่มนี้ทำให้อาตมาตั้งใจจะบวช เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของอาตมา อาตมาผูกพันธ์อยู่กับตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้มาก ในที่สุด อาตมาก็บวชเมื่อปี 2510 เมื่ออายุ 66 ปี”
นั่นคือคำตอบของพระคุณเจ้าต่อข้อซักถามที่นิยม ร้องขอให้เล่าถึงสาเหตุของการบวช ผู้สัมภาษณ์ถามต่อว่า “หมายความว่า พระคุณเจ้าบวชมาแล้ว 16 ปีเต็ม เพราะเหตุใดจึงบวชนานถึงเพียงนี้ ทั้งที่ภูมิหลังไม่อำนวยเลย”
พระคุณเจ้าอธิบายต่อมาว่า
“บวชแล้วอาตมาก็ฝึกวิปัสสนา บางครั้งก็ไปหาที่สงบวิเวก รู้สึกมีความสุขมากเพิ่งจะได้พบความสุขที่แท้จริงเมื่อตอนบวชนี่เอง เมื่อจิตเป็นสมาธิจะเกิดเมตตา…เมตตาธรรมค้ำจุนโลก“
บทสนทนาระหว่างนิยม กับพระคุณเจ้า ที่กินเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงสิ้นสุดลงที่ประโยค “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก”
หลังจากการสัมภาษณ์ครั้งนั้นขุนศรีศรากร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2530 ขณะอายุ 86 ปี
“…ข้าพเจ้าเป็นนักปฏิวัติ ได้ทำการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475…วันปฏิวัติ ข้าพเจ้ามียศเป็น นายร้อยโท ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร)…อายุได้ 32 ปี ทำการปฏิวัติมานาน 51 ปีแล้ว ถึงปี 2526 นี้ ข้าพเจ้าจึงมีอายุได้ 83 ปี กำลังทำการปฏิวัติการปฏิบัติศาสนา…”
(พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส, พุทธะประสงค์)
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดวินาทีทหารคณะราษฎรชักปืนใส่ “เจ้านาย” ในปฏิวัติ 2475 จากบันทึกเจ้านายสตรี
- “สู่สมรภูมิบางเขน” กำเนิดและจุดสุดท้ายของกบฏบวรเดช (ชมคลิป)
อ้างอิง :
นิยม สุขรองแพ่ง. “นายร้อยโท ขุนศรีศรากร ผู้อุทิศชีวิตให้กับการปฏิวัติ ใน,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2527
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2563