จาก ‘สนามยิงปืน’ สู่ ‘โรงเรียนทหารปืนใหญ่’ พัฒนาการของ “ค่ายพหลโยธิน”

ทางเข้าเดิมของค่ายพหลโยธิน (ช่องทางเสาธงด้านทิศตะวันตก) (ภาพต้นฉบับจากหนังสือ 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2551. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2552)

หลังจากกองทัพบกได้พัฒนาขีดความสามารถของการยิงปืนใหญ่ให้ยิงได้ระยะไกลและมีอำนาจทำลายล้างสูงมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องหาสนามยิงปืนที่เหมาะสม และปลอดภัย กองทัพบกจึงได้สร้างสนามยิงปืนใหญ่ขึ้น ณ ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่รกร้าง ราวปี 2457 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จเรการปืนใหญ่ทหารบก และผู้บังคับบัญชาการโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ทรงกำหนดตำบลและเขตสนามยิงปืนขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว จากนั้นจึงบัญชาให้สร้างถนนจากสถานีรถไฟโคกกระเทียมถึงสนามยิงปืน เส้นทาง 6 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางให้สะดวกมากขึ้น

พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างสนามยิงปืน และอาคารโรงเรือนควบคู่กันไปด้วย จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2459 ก็พร้อมเปิดสนามยิงปืน ตั้งกองร้อยปืนใหญ่พิเศษ และส่วนอำนวยการศึกษาโรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่

จากนั้นได้จัดตั้งกองร้อยปืนใหญ่พิเศษขึ้นจากกำลังพล ทั้งนายทหาร นายสิบ และพลทหาร จากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ จนในวันที่ 1 เมษายน ปี 2460 ได้จัดตั้งและเปิดโรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่ ซึ่งมีนักเรียนนายสิบจากกรมทหารปืนใหญ่ต่าง ๆ ที่ได้คัดเลือกพลทหารส่งไปศึกษาที่นั่น

หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี ที่ได้มาควบคุมการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2458 จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ช่วงเวลานี้ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และขยับขยายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม และขยายสนามยิงปืน

ถึงวันที่ 15 เมษายน ปี 2469 พันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ (พจน์ พหลโยธิน) ยศและบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนหม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี

พันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งเกือบ 2 ปี จึงได้ย้ายไปเป็นราชองครักษ์เวร ต่อจากนั้น พันโท พระยากำแพงรามภักดี (ยุทธ คงอยู่) เข้าดำรงตำแหน่งแทนตั้งแต่ 1 เมษายน ปี 2471 ถึง 1 สิงหาคม ปี 2475

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

ในระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 โรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่ถูกระงับชั่วคราว เนื่องจากการจัดอัตรากำลังพลใหม่และปรับปรุงบุคลากร จึงย้ายโรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่มาที่กรุงเทพฯ รวมเข้ากับกองบังคับการทหารปืนใหญ่เป็นการชั่วคราว ขณะที่พื้นที่เดิมนั้นมีเพียงหน่วยกองสนามยิงปืนและกองร้อยทดลอง กองสนามยิงปืน สำหรับการฝึกยิงปืนใหญ่และการทดลอง

ราวปี 2477 มีการปรับปรุงกองทัพบกใหม่ โดยกองบังคับการปืนใหญ่ได้แปรสภาพเป็น “แผนกที่ 3 กรมจเรทหารบก” และมีจุดประสงค์ในอนาคตจะย้ายสำนักงานมาในพื้นที่โคกกระเทียม

ต่อมา ปี 2479 กองทัพบกได้มีคำสั่งให้แปรสภาพหน่วยกองสนามยิงปืนที่โคกกระเทียม เป็นกองโรงเรียนทหารปืนใหญ่ (กองพันลูกมือในการศึกษาและทดลอง) ขึ้นตรงต่อแผนกที่ 3 กรมจเรทหารบก ได้ดำเนินการเปิดการศึกษาโรงเรียนทหารปืนใหญ่ชั้นผู้บังคับกองร้อยเป็นรุ่นแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยนำหลักสูตรทหารปืนใหญ่จากฝรั่งเศสและเบลเยียมมาใช้

ขณะที่โรงเรียนนายสิบทหารปืนใหญ่ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ได้ไปทำการศึกษารวมกับโรงเรียนนายสิบพลรบ ณ บริเวณกรมการทหารสื่อสารในปัจจุบัน โดยแผนกที่ 3 กรมจเรทหารบก ได้ส่งนายทหารไปสอนตามตารางเรียนที่กำหนด กระทั่ง ได้เริ่มรับรักเรียนชั้นผู้บังคับกองร้อย ทำการเรียนการสอนรับนักเรียนชั้นปีที่ 1 และ 2  ณ บริเวณกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) เกียกกาย กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

ขณะที่ กองโรงเรียนทหารปืนใหญ่ที่โคกกระเทียมนั้น ลดความสำคัญลง คงเป็นส่วนลูกมือการศึกษาและการทดลองเท่านั้น แต่ได้เริ่มสร้างอาคารและที่พัก เพื่อเตรียมการให้แผนกที่ 3 กรมจเรทหารบก ย้ายไปยังโคกกระเทียมในปี 2481

ปี 2484 แผนกที่ 3 กรมจเรทหารบก แปรสภาพเป็น “แผนกทหารปืนใหญ่ กรมเสนาธิการทหารบก” ได้รับมอบหมายหน้าที่เร่งด่วนในการผลิตคนและทดลองอาวุธใหม่เพื่อรับสถานการณ์ในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2

ปี 2488 แผนกทหารปืนใหญ่ กรมเสนาธิการทหารบก แปรสภาพเป็น “กรมจเรทหารปืนใหญ่” และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานให้สอดคล้องกับสภาวะหลังสงคราม กระทั่งล่วงเข้าปี 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายจากกรมจเรทหารปืนใหญ่ เป็น “ค่ายพหลโยธิน”

กองบัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่ (เดิม) ปัจจุบันเป็นกองการศึกษา โรงเรียนทหารปืนใหญ่ (ภาพจาก เว็บไซต์โรงเรียนทหารปืนใหญ่ www.artyschool.org)

และในปีเดียวกันนั้นเอง กรมจเรทหารปืนใหญ่ ได้แปรสภาพเป็น “กรมการทหารปืนใหญ่” เข้าสู่ปี 2497 กองทัพบกจึงได้แปรสภาพเป็น “ศูนย์การทหารปืนใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อของหน่วยมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลานี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ปรับปรุงศูนย์การทหารปืนใหญ่ให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยได้รับความร่วมมือจาก JUSMAG ตามโครงการ MDAP ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของทหารปืนใหญ่ รวมถึงปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายให้ดีขึ้น ทั้งการก่อสร้างอาคารโรงเรือน ประปา ไฟฟ้า การกีฬา กิจการสโมสร และยานพาหนะรับส่งระหว่างค่ายกับตัวเมือง ฯลฯ

ปี 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกประกาศกระทรวงกลาโหม ขยายของเขตสนามยิงปืนจากเดิมในปี 2462 ซึ่งกว้าง 8 กิโลเมตร ยาว 12 กิโลเมตร เป็น กว้าง 8 กิโลกเมตร ยาว 25 กิโลเมตร

จากข้อมูลในหนังสือ 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2551. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2552 ระบุว่า ภายในค่ายพหลโยธิน เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่, โรงเรียนทหารปืนใหญ่, กรมทหารปืนใหญ่ที่ 21, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์, กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 3 และกองพันทหารขนส่งซ่อมบำรุงเครื่องบินทหารบก เป็นต้น

ปัจจุบัน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหาร ประกาศ ณ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามค่ายทหารแก่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” มีที่ตั้ง ณ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ว่า “ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานนามย่อว่า “ค่ายภูมิพล”

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2563