ลิเก กับชุมชนป้อมมหากาฬ

เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ประดับเพชรแพรวพราวของลิเกคณะพระยาเพชรปาณี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“สวยจริงๆ จ๊ะ น้องจ๋าอย่ามัวอาย หัวใจชายของพี่วาบหวาม เจ้าสิ งอนค้อนพี่ก็ยิ่งงาม ขอพี่ตามไปอยู่ด้วย…น้อย นอย น่อย น้อย”

นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาเพลงลิเกชื่อมะลิซ้อน ที่หยิบยกออกมาจากงานเสวนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนป้อมมหากาฬ แหล่งกำเนิดลิเกในประเทศไทย” ณ บริเวณลานชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนที่ผ่านมา [๒๕๔๙] ซึ่งได้วิทยากรรับเชิญ เช่น ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ทดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เอนก นาวิกมูล และพรศิริ บูรณเขตต์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับด้านต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับลิเกและชุมชน

Advertisement

การจัดงานในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจด้านศิลปะการแสดงลิเกเป็นจำนวนมาก หลายหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชนยังคงให้ความสำคัญและเล็งเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้โดยไม่ได้ปล่อยให้ถูกลบเลือนกลืนหายไปตามกาลเวลา

ประเด็นของการเสวนาช่วงแรกเป็นการเล่าย้อนไปยังยุคเริ่มต้นลิเกที่มีการแสดงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือราวๆ พ.ศ. ๒๔๔๐ ส่วนช่วงท้ายเป็นการกล่าวถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่จะฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งกำเนิดลิเกไทยทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า

เอนก นาวิกมูล ได้หยิบยกหลักฐานจากรูปถ่ายโปสการ์ดเก่าๆ ซึ่งชาวต่างชาติผู้หนึ่งเป็นผู้ถ่ายเอาไว้โดยเป็นรูปบรรยากาศป้ายที่ระบุชื่อ “ลิเกพระยาเพชรปาณี” ซึ่งขณะนั้นเปิดวิกแสดงอยู่แถวบริเวณหน้าวัดสระเกศ

การค้นคว้าข้อมูลของคุณเอนกจากข่าวในหนังสือพิมพ์สมัยก่อนที่หอสมุดแห่งชาติ ทำให้ได้หลักฐานสำคัญ เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของลิเกคณะพระยาเพชรปาณี โดยเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทกันระหว่างคนของคณะพระยาเพชรปาณีกับพลตระเวณ ณ บริเวณแถวบ้านหม้อ ซึ่งคุณเอนกตั้งข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิมลิเกพระยาเพชรปาณีน่าจะเปิดแสดงจากแถวๆ นี้ก่อน

ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นมีสถานบันเทิงทั้งลิเกและละคร เปิดจัดแสดงให้ผู้คนได้ชมกันในแถบบริเวณนั้นอย่างแพร่หลาย ในเวลาต่อมาลิเกของพระยาเพชรปาณีจึงค่อยย้ายโรงมาเล่นที่บริเวณป้อมมหากาฬจนกลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ดังเช่นปัจจุบัน

ด้านประวัติความเป็นมาเป็นไปของพระยาเพชรปาณี นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ผู้ศึกษาเรื่องราวทางด้านลิเกมาเป็นเวลานานนั้นได้อธิบายว่า ชื่อของพระยาเพชรปาณีเป็นตำแหน่งราชทินนามที่ได้รับพระราชทานเดิมชื่อของท่านนั้นมีชื่อว่าตรี และต่อมาท่านก็เป็นผู้ก่อตั้งโรงลิเกเพื่อจัดการแสดงที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมสมัยนั้น

“ส่วนที่มีหลายคนสงสัยและได้สอบถามถึงความหมายของคำเพชรปาณี แปลว่าอะไร คุณยายผมเคยเล่าว่าคือนิ้วเพชร และน่าจะด้วยเหตุผลนี้พระยาเพชรปาณีจึงรับเอากุศลจากการพระราชทานชื่อเพชรปาณีมาใช้ตกแต่งท่ารำที่มีการประดับเพชร โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวนั้นมีการประดับเพชรซึ่งมีความแพรวพราวระยิบระยับมาก”

ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเพชรที่ใช้ประดับตามเสื้อผ้าของตัวละครที่ใช้แสดงว่ามีการเพิ่มจำนวนตกแต่งเม็ดของเพชรเข้าไปในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากขึ้นตามยุคสมัย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการทางเครื่องแต่งกายของลิเกมาตามลำดับ

(บน) วิทยากรรับเชิญกำลังร่วมให้คำบรรยายเกี่ยวกับตำนานกำเนิดลิเกไทย, (ล่าง) ชุมชนป้อมมหากาฬ ณ วันนี้ กำลังถูกฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ท่างด้านประวัติศาสตร์ทางด้านลิเกที่สำคัญ
(บน) วิทยากรรับเชิญกำลังร่วมให้คำบรรยายเกี่ยวกับตำนานกำเนิดลิเกไทย, (ล่าง) ชุมชนป้อมมหากาฬ ณ วันนี้ กำลังถูกฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ท่างด้านประวัติศาสตร์ทางด้านลิเกที่สำคัญ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สร้างชื่อให้กับลิเกพระยาเพชรปาณีคือท่ารำ โดยเฉพาะท่าร่ายรำที่นายนามงามเด่น ตัวพระเอกชื่อดังในยุคนั้นเป็นตัวชูโรง จนถึงขนาดว่ามีคนเคยกล่าวเอาไว้หากใครต้องการให้ลิเกไปสอนท่าเดินกรายให้ดูนั้น จะต้องมาเอาคนจากลิเกคณะพระยาเพชรปาณี ไปสอนกันเลยทีเดียว

ด้วยคำร่ำลือถึงกิตติศัพท์ทางด้านต่างๆ ทำให้ลิเกคณะพระยาเพชรปาณีกลายเป็นลิเกที่มีชื่อสูงสุด มีการเก็บค่าเข้าชมได้แพงที่สุด และชื่อเสียงโด่งดังมากสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พระยาเพชรปาณีเป็นราชปลัดทูลฉลอง สังกัดกระทรวงนครบาล ทำหน้าที่รับหรือกราบทูลพระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงนครบาลทั้งหมด แต่เป็นเรื่องประหลาดที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าพระยาเพชรปาณีนั้นมีนามสกุลว่าอะไร จึงยากที่จะสืบหาลูกหลานของท่าน และน่าเสียดายว่า เมื่อพระยาเพชรปาณีสิ้นไปแล้ว โรงลิเกของท่านก็ได้แตกตามไปด้วย ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนอีกเช่นกันว่า ลิเกคณะนี้นั้นหมดไปตั้งแต่เมื่อไหร่ รวมถึงผู้ที่เคยร่วมแสดงลิเกกับคณะของท่านนั้นแยกย้ายไปตั้งรกรากกันที่ใด

ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนป้อมมหากาฬกับลิเกนั้น พรศิริ บูรณเขตต์ บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตนเองเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นชุมชนกับพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดลิเกว่า

“ของทุกอย่าง ทุกเรื่องนี่มันเชื่อมโยงมาสู่ความทรงจำและความภาคภูมิใจ เศษไม้ชิ้นเดียวถ้าเรามีวิธีอธิบาย เราเอารอบด้านของมันออกมาพูดเลย ไม่มีใครลืมหรอก สิ่งที่มากกว่าไม้ชิ้นหนึ่งก็คือชุมชนตรงนี้ คือชุมชนลิเก มีบ้านไม้เก่าๆ มีการทำพลุ มีการปรับเปลี่ยน มีการทำนก มีคนเลี้ยงไก่ชน มีชีวิตมากกว่าไม้ไผ่ชิ้นหนึ่งอีก”

สิ่งที่น่าสนใจที่พรศิริได้ยกตัวอย่างให้ฟังนั้นเปรียบเทียบกิ่งไม้กับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยชี้ให้เห็นถึงการหยิบเศษกิ่งไม้ที่ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่ถ้านำกิ่งไม้มาสานให้เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ก็จะทำให้กิ่งไม้นั้นกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาได้

เช่นเดียวกันถ้าชาวชุมชนมีการนำเสนอเอกลักษณ์ของความเป็นพื้นที่แสดงลิเกเก่าที่เคยมีตำนานมายาวนาน โดยแสดงให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าชุมชนแห่งนี้มีคุณค่า มีความหมายทางลิเกมากอย่างไร

วันนี้แม้ลิเกคณะพระยาเพชรปาณีจะไม่ได้เปิดการแสดงต่อไปอีกแล้ว บ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬจะทรุดโทรมไปกับกาลเวลา แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของชุมชนป้อมมหากาฬยังชัดเจนดังที่ ม.ร.ว.ดร.อคิน รพีพัฒน์ กล่าวไว้

“ของสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้เราอยู่รอดด้วยกันได้ คือความหลังที่มีร่วมกันมา ทุกชุมชนเคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา”


ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2549