เผยแพร่ |
---|
ภูมิศาสตร์ เป็นวิชาที่ทำให้รู้จักประเทศใดประเทศหนึ่งได้ดีขึ้น รู้ว่าประเทศนั้นมีทำเลที่ตั้งอย่างไร, มีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร, มีทรัพยกรธรรมชาติอะไร ฯลฯ ยุคจักรวรรดินิยม “ภูมิศาสตร์” จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ชาติตะวันตกใช้สำรวจโลก สำรวจอาณานิคมในแดนไกล
ไกรฤกษ์ นานา เคยค้นคว้าเรื่องนี้และเขียนไว้ในบทความชื่อ “แผ่นดินของใคร? (4) ‘ราชสมาคมภูมิศาสตร์ฯ’ แผนยุทธศาสตร์สูตรสำเร็จของนักจักรวรรดินิยม” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2562) โดยอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
แม้ก่อนหน้านั้นจะมีนักสำรวจชาติอื่น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น Bartolomeu Dias ชาวโปรตุเกสผู้ค้นพบแหลมกู๊ดโฮป ในปี 1487 แต่ก็ไปไม่ถึงอินเดียตามที่เขาคาดหมายไว้ หรือ Christopher Columbus ชาวอิตาลี เองก็ต้องผิดหวังเมื่อกษัตริย์โปรตุเกสทรงปฏิเสธการให้ทุนการเดินทาง (ต้องหันไปพึ่งกษัตริย์สเปนในการเดินทางไปอินเดีย แต่ก็เลือกเส้นทางผิดทว่ากลับไปค้นพบทวีปอเมริกากลางแทน)
ค.ศ. 1830 (ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย) ในประเทศอังกฤษมีการจัดตั้ง “สมาคมภูมิศาสตร์แห่งลอนดอน” เพื่อเผื่อแผ่ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศและการสำรวจดินแดนนอกทวีปยุโรป สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ Lowther Lodge ใกล้โรงมหรสพ Albert Hall กลางลอนดอน
กิจกรรมของสมาคมภูมิศาสตร์ฯ เป็นไปในลักษณะ Book Club ที่มีการชุมนุมของสุภาพบุรุษ จัดให้มีเลี้ยงอาหารค่ำแก่บรรดาสมาชิกของสมาคม เพื่อถกเถียงปัญหาทางภูมิศาสตร์ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกตามความสนใจของคนอังกฤษในสมัยนั้น โดยได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ได้รับพระราชทานนามและตราตั้งเป็น Royal Geographical Society (RGS) ใน ค.ศ. 1859 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย)
โดยมีสมาชิกที่ผลงานโดดเด่นเป็น “ดาว” ของสมาคมอยู่ 3 คน คือ
1.Dr. David Livingstone แพทย์ชาวสกอตแลนด์ เขาเริ่มปักหลักทำงานที่เมืองคูรูมัน ทางตอนเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ ในดินแดนภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ในปี 1840
Livingstone เป็นผู้คนพบน้ำตกขนาดใหญ่ชื่อ “โมซิโอวาทุนยา” ซึ่งเขาเปลี่ยนชื่อเป็น Vitoria Falls เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีอังกฤษ, ค้นหาจนพบต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักและสำคัญที่สุดของทวีป ที่ช่วยให้อังกฤษควบคุมเส้นทางการค้าใหม่ในทวีปแอฟริกา
แต่ Livingstone หายสาบสูญในระหว่างการสำรวจ ต่อมาพบว่าเขาป่วยเป็นไข้ป่า และถึงแก่กรรมที่แอฟริกา ศพของเขาส่งกลับไปอังกฤษในฐานะวีรบุรุษ และฝังอย่างสมเกียรติภายในมหาวิหาร Westminster Abbey โดยสมเด็จพระราชินีอังกฤษทรงเป็นประธานในพิธี
2. Henry Morton Stanley “นักข่าว” ชาวอังกฤษ จากหนังสือพิมพ์ NEW YORK HERALD เคยไปทำข่าวที่แอฟริกาหลายครั้ง เช่น การค้นหา Livingstone ซึ่งหายตัวไปที่แอฟริกา, ข่าวสงครามอังกฤษกับชนพื้นเมืองเผ่าอาชันตี ในปี 1873 พร้อมการรายงานข่าวการถึงแก่กรรมของ Livingstone ฯลฯ
นั่นทำให้เขารับช่วงการสำรวจแม่น้ำไนล์ต่อจาก Livingstone ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือครั้งใหม่ของหนังสือพิมพ์อังกฤษ Daily Telegraph กับหนังสือพิมพ์อเมริกัน Herald ที่จะต่อยอดการสำรวจครั้งสำคัญนี้จนสำเร็จ
3. Francis Garnier นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส การค้นพบคาบสมุทรอินโดจีนและเส้นทางการค้าใหม่สู่จีนตอนใต้ของเขาเป็นความหวังของฝรั่งเศส เพราะความมั่งคั่งและทรัพยากรของอาณานิคมนอกทวีปยุโรปที่จะตาม Garnierและคณะสำรวจแม่น้ำโขง (Mekong Exploration Commission) เริ่มต้นแผนงานนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1863 เขาสำรวจแม่น้ำโขงที่ตัดผ่านสยาม ลาว กัมพูชา และญวน โดยคาดว่าอาจเป็นเส้นทางการค้าใหม่ที่เจาะเข้าเมืองจีน พระเจ้านโปเลียนที่ 3 สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มตัว
สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าแม่น้ำโขงคดเคี้ยว และเต็มไปด้วยเกาะแก่งกลางแม่น้ำ เรือเล็กเท่านั้นที่สามารถจะผ่านไปได้ และยังแห้งขอดในฤดูแล้งจนสามารถเดินข้ามไปมาได้เป็นเวลาหลายเดือน ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเลิกล้มความคิดเรื่องแม่น้ำโขง และเลือกแม่น้ำแดงในตังเกี๋ยเป็นเส้นทางใหม่เข้าสู่ยูนนานแทน
ผลงานของนักสำรวจทั้ง 3 ทำให้ได้ขึ้นทำเนียบ “หอประวัติศาสตร์” ของสมาคม ส่วนประเทศต่างๆ ที่พวกไปสำรวจได้ขึ้นทำเนียบอาณานิคมของอังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง เช่นกัน
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563