ผู้เขียน | กำพล จำปาพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
(1) ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม
ลพบุรีเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากรายงานความก้าวหน้าในการขุดค้นทางโบราณคดีตลอดช่วงกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ระยะแรกเริ่ม ลพบุรีเป็นเมืองท่าสำคัญในวัฒนธรรมแบบทวารวดีและเขมรพระนคร บางครั้งก็ปรากฏในชื่อ “ละโว้” หรือ “ลวปุระ” หรือ “ลโวทยปุระ” หรือ “นพบุรี”
ในระยะรัศมี 1 พันเส้น (40 กม.) มีชุมชนเมืองโบราณตั้งอยู่รอบทิศของเมืองลพบุรีหลายแห่ง อาทิ เมืองวังไผ่ (ในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี), เมืองคูเมือง (ในอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี), เมืองพรหมทิน (ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี), เมืองซับจำปา (ในอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี), เมืองขีดขินหรือปรันตปะ (ในอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี), เมืองอโยธยา (ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นต้น ละโว้หรือลพบุรีเดิมคือศูนย์กลางของแว่นแคว้นหนึ่งซึ่งมีอำนาจอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำบางขาม แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ชนชั้นนำเป็นเครือญาติมีสายสัมพันธ์กับเมืองศรีเทพ นครปฐมโบราณ ที่ราบสูงโคราช และเขมรพระนคร ในแง่เอกสารหลักฐานนั้นลพบุรีก็ปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ หลายชิ้นด้วยกัน ดังจะแสดงให้เห็นตามลำดับต่อไปนี้:
คำว่า “ลวปุระ” ปรากฏในเหรียญเงินทวารวดีพบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ตัว “ว” กับ “พ” แทนกันได้ ดังนั้น “ลว” จึงเท่ากับ “ลพ” ทำนองเดียวกับคำว่า “สุวรรณ” กับ “สุพรรณ” เป็นต้น) “พระราชพงศาวดารเหนือ” ระบุว่า พระยากาฬวรรณดิศ ผู้ครองนครไชยศรี (นครปฐมโบราณ) และเป็นใหญ่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นกษัตริย์ผู้สถาปนาเมือง “ละโว้” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1002 และอีกที่กล่าวถึงพระนารายณ์ราชา โอรสพระเจ้าจันทโชติ เป็นผู้สร้างพระปรางค์เมืองละโว้ เมื่อ พ.ศ.1612 (คาดว่าเอกสารหมายถึงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อแรกสร้างในต้นพศว.17 แต่พังทลายลงจนเหลือแต่ซากฐาน ต่อมาได้มีการสร้างพระปรางค์องค์ใหม่ในช่วงราวปลายพศว.18 ถึงต้นพศว.19 อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกหลังปรางค์ประธานมีซากฐานปราสาทเขมรแบบบาปวน พศว.16 แสดงว่าเคยเป็นสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมเขมรมาก่อนด้วย)
หลักฐานของล้านนา “ตำนานมูลศาสนา” กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) แล้วได้เชิญราชธิดากษัตริย์ลพบุรี คือ พระนางจามเทวี เสด็จขึ้นไปครองเมือง ขณะนั้นพระนางกำลังมีครรภ์ พระสวามีเป็นกษัตริย์ครองเมืองอโยธยา “ชินกาลมาลีปกรณ์” (เดิมชื่อ “ชินกาลมาลินี”) เป็นเอกสารอีกชิ้นกล่าวถึงพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) กับพญางำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยา เมื่อครั้งยังเยาว์วัยได้มาศึกษาศิลปวิทยาการอยู่ ณ สำนักพระสุกทันตฤาษีที่เขาสมอคอน (ในเขตอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี)
หลักฐานเขมรโบราณ เช่น “จารึกปราสาทพระขรรค์” (พศว.18) กล่าวถึงบ้านเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 6 เมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่ง “พระชัยพุทธมหานาถ” มาให้ประดิษฐานไว้ในเมือง เมืองทั้ง 6 มีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งคือ (1) “ลโวทยปุระ” (ละโว้หรือลพบุรี), (2) “สุวรรณปุระ” (สุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี), (3) “ศัมพูกปัฏฏะนะ” (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี), (4) “ชัยราชปุระ” (ราชบุรีที่วัดมหาธาตุวรวิหาร), (5) “ศรีชัยสิงหปุระ” (ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี), (6) “ศรีชัยวัชรปุระ” (พริบพรีหรือเพชรบุรีที่วัดกำแพงแลง) เป็นต้น
นอกจากนี้จารึกเขมรชิ้นสำคัญยังมี “จารึกปราสาทพิมานอากาศ” กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสนามว่า “นฤปตินทรวรมัน” มาเป็น “ละโว้ทเยศ” (ผู้เป็นใหญ่ในกรุงละโว้) แสดงว่าลพบุรีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา (ธรรมเนียมนี้สืบทอดต่อมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ก็ส่งพระราชโอรสคือสมเด็จพระราเมศวร มาครองลพบุรี ไม่แน่ว่าราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา อาจสืบเชื้อสายมาจาก “ละโว้ทเยศ” องค์นั้นก็ได้ เพราะระยะเวลาห่างกันไม่มาก) เนื่องจากว่าลพบุรีตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นรอยต่อที่สองกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ในภูมิภาค คือ กลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีนับถือพุทธเถรวาท กับเขมรพระนครนับถือพราหมณ์ฮินดู (ภายหลังเป็นพุทธมหายาน) ทั้งสองกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวซ้อนทับกัน และจากความสำคัญในทางภูมิศาสตร์ทำให้ลพบุรีตกอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจของทั้งสองกลุ่ม
ในแง่เครือญาติชาติพันธุ์ ชนชั้นปกครองเมืองลพบุรีเป็น 1 ใน 5 สายราชวงศ์สำคัญของกัมพูชา คือ (1) ราชวงศ์ยโสธรปุระ (มีอำนาจในแถบที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร), (2) ราชวงศ์มหิธรปุระ (มีอำนาจในแถบที่ราบสูงโคราช), (3) ราชวงศ์ลวปุระ (มีอำนาจในเขตลุ่มเจ้าพระยา), (4) ราชวงศ์เศรษฐปุระ (มีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออก) (5) ราชวงศ์เชยษฐปุระ (มีอำนาจในแถบตอนใต้เขาบรรทัด-แม่น้ำบางปะกง) ในช่วงก่อนพศว.19 กลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างสูงคือราชวงศ์มหิธรปุระ เป็นราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ได้รับยกย่องเป็น “มหาราช” องค์สำคัญในประวัติศาสตร์กัมพูชาสมัยพระนคร 2 พระองค์คือ พระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดในพศว.17 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนานครธมในพศว.18 ช่วงที่ราชวงศ์มหิธรปุระเป็นใหญ่ในอาณาจักรกัมพูชา มักจะเป็นช่วงที่ลพบุรีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัมพูชา เช่น ในรุ่นพศว.17 ลพบุรีเป็นเครือข่ายบ้านเมืองสำคัญหนึ่งที่ยกทัพไปช่วยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ทำสงครามกับจามปา ดังปรากฏภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัด มีภาพกองทัพละโว้ผู้นำชื่อ “กมรเตงอัญศรีชัยสิงหวรมัน” ต่อมาในรุ่นพศว.18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชาในเวลานั้น
แต่นอกเหนือจากศูนย์กลางอำนาจที่ลุ่มทะเลสาบเขมรและที่ราบสูงโคราชแล้ว ด้านลุ่มเจ้าพระยาตลอดถึงลุ่มน้ำกกตอนบน ลพบุรีก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่นกัน “ขอมสบาดโขลญลำพง” ผู้ครองสุโขทัยก่อนที่จะถูกพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวยกทัพไปยึดอำนาจแล้วประกาศตัวเป็นอิสระจากขอมนั้น “ขอมสบาดโขลญลำพง” ก็ไม่ใช่ขอมจากเมืองพระนคร หากแต่คือขอมจากลพบุรีที่ขึ้นไปเป็นใหญ่ที่สุโขทัย ขณะที่กลุ่มต่อต้านขอมที่สุโขทัยอย่างพ่อขุนบางกลางหาวก็อ้างอิงที่มาของตนกับ “พระร่วงส่งส่วยน้ำ” ในตำนาน ซึ่งก็คือชนชั้นนำที่ลี้ภัยจากลพบุรีขึ้นไปสุโขทัยอีกเช่นกัน (หากว่าตำนานพระร่วงส่งส่วยน้ำนี้จะพอมีเค้าความจริงอยู่บ้าง) เช่นเดียวกับ “ขอมอุโมงคเสลา” ตามตำนานล้านนาก็คาดว่าเป็นขอมจากลพบุรีเช่นกัน เป็นขอมที่ถูกส่งขึ้นไปปกครองในลักษณะเดียวกับพระนางจามเทวีที่ลำพูน แต่ “ขอมสบาดโขลญลำพง” กับ “ขอมอุโมงคเสลา” คือกลุ่มนับถือพราหมณ์ ต่างจากพระนางจามเทวีที่นับถือพุทธศาสนา จึงเป็นที่ยอมรับจากคนพื้นเมืองมากกว่าอีกสองกลุ่มข้างต้น เมื่อล้านนาเปลี่ยนจากถือผีมาเป็นพุทธ ในความหมายอย่างกว้าง “ขอม” ก็คือชนชั้นปกครองเขมรที่นับถือพราหมณ์
หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลพบุรีก็แปรพักตร์จากเขมรมาสู่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปรับปรุงบ้านเมืองเข้าสู่อีกยุคถัดมาหลังจากได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ช่วงนี้ลพบุรีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏและสงครามต่อต้านเขมรพระนครอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพราะเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จักรวรรดิขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการณ์ความเสื่อมถอย บ้านเมืองต่างๆ ที่เคยขึ้นกับเขมรพระนครต่างแยกตัวเป็นอิสระ เกิดแคว้นใหม่ในรุ่นถัดมา อาทิ เชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย, เวียงจัน, นครศรีธรรมราช, อโยธยา เป็นต้น
จดหมายเหตุจีน ระบุว่า “หลอฮก” (ละโว้) ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนอยู่ระหว่างพ.ศ.1832-1842 บันทึกของโจวต้ากวน (Zhou Daguan) ราชทูตจีนที่เข้ามานครธมเมื่อ พ.ศ.1839 (54 ปีก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ระบุว่า “พวกเสียน” ได้ก่อกบฏต่อเขมรพระนคร จนต้องยกทัพไปทำลายหมู่บ้านต่างๆ ทางทิศตะวันตกจนราบคาบ แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า “เสียน” ที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนและบันทึกโจวต้ากวนนี้หมายถึงกลุ่มชนในบริเวณใด สุโขทัย สุพรรณบุรี เพชรบุรี หรืออโยธยา แต่อย่างน้อยก็เชื่อได้ว่าลพบุรีต้องเกี่ยวข้องกับการกบฏดังกล่าวด้วยเป็นแน่ เพราะเป็นศูนย์กลางสำคัญของแถบลุ่มแม่น้ำทางทิศตะวันตกของเขมรพระนคร
ผลของการกบฏในรุ่นหลังสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นมาทำให้บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาตามที่เคยปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์นั้นรวมตัวกันจนนำมาสู่อาณาจักรใหม่คือ “อโยธยา” มีศูนย์กลางอยู่ที่ “ศรีรามเทพนคร” แล้วยกไปตีอาณาจักรกัมพูชาอยู่หลายครั้งตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ครั้งที่ประสบผลสำเร็จได้ชัยชนะเหนือเมืองพระนครคือ 2 ครั้งใหญ่ๆ ในพศว.19-20 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
(2) “เมืองลูกหลวง” และ “เมืองท่าหน้าด่าน” สมัยอยุธยาตอนต้น
เมื่อมีการเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่ในปลายพศว.18 ถึงพศว.19 นั้น บริเวณเมืองท่าอโยธยาค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นตามลำดับ เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่แคว้นสุพรรณภูมิกับแคว้นละโว้มาบรรจบกัน ฝ่ายสุพรรณภูมิเข้ามาตั้งชุมชนเมืองอยู่ที่ “ปท่าคูจาม” ขณะที่ฝ่ายละโว้ก็ลงไปตั้ง “นครพระราม” อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก-ปากน้ำแม่เบี้ย ตกถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ทั้งสองชุมชนเมืองก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้เพราะทรงมีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ผู้ครองลพบุรี เสด็จไปเป็นยุพราชครองเพชรบุรี ผูกสัมพันธไมตรีกับเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นเครือญาติผ่านการอภิเษกสมรสกับเจ้านายสตรีในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ดังที่มีเรื่องว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว) ผู้ครองสุพรรณภูมิเวลานั้นมีฐานะเป็นพี่เขยของพระองค์)
เมื่อเกิดโรคห่าระบาดขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ทรงย้ายไปประทับอยู่ที่ปท่าคูจาม ก่อนจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ทั้งที่ปท่าคูจามก็อยู่ในทำเลที่เหมาะสมยิ่งกว่าหนองโสน (บึงพระราม) เสียอีก แต่เนื่องจากปท่าคูจามเป็นเพียงเมืองของญาติที่ลี้ภัยโรคระบาดไปอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องแสวงหาทำเลสำหรับสร้างเมืองใหม่ หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ปท่าคูจามก็ยังคงมีฐานะเป็นเมืองท่าของฝ่ายสุพรรณภูมิอยู่ต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)
ในช่วงระยะแรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีมีสถานะเป็น “เมืองลูกหลวง” ของอาณาจักร ระยะนี้เองคำว่า “ลพบุรี” มีนัยยะสำคัญที่ใช้สืบเนื่องต่อมา เพราะเข้ากับคติรามายณะ แม้ว่าพสกนิกรในบ้านเมืองเวลานั้นจะนับถือพุทธเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ชนชั้นปกครองก็คงถือคติพราหมณ์ผสมปนเปกัน ความเป็น “นครพระราม” ได้เคลื่อนจากละโว้ลงไปที่อโยธยา แล้วละโว้ก็สลับกลับกลายเป็น “เมืองพระลพ” โอรสพระรามขึ้นแทนที่ การสลับปรับเปลี่ยนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง และอยุธยาขยายอำนาจขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือจนผนวกรวมสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรได้สำเร็จ คำว่า “นครพระราม” ตามกฎหมายตราสามดวงก็กลับไปปรากฏเป็นราชทินนามของเจ้าเมืองลพบุรีขึ้นใหม่อีก แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคำว่า “ลพบุรี” ใช้กันมาช้านานจนคุ้นชิ้นแล้ว การกลับไปใช้ “นครพระราม” ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเป็นแต่เพียงชื่อทางราชการเท่านั้น
เหตุที่เป็นเมืองตั้งอยู่ทิศเหนือก่อนถึงนครหลวงเพียง 2 วัน (ถ้าม้าเร็วก็เพียง 1 วันหรือวันครึ่ง) ลพบุรีนอกจากจะถือเป็น “เมืองลูกหลวง” หรือ “หัวเมืองชั้นเอก” แล้ว ในแง่ยุทธศาสตร์การทหารลพบุรียังมีฐานะเป็น “เมืองท่าหน้าด่าน” (ถ้าว่าตามภาษายุคปัจจุบันก็จะตรงกับ “เมืองทหาร” ก็ไม่ผิดนัก) ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตระหนักว่าการขึ้นสู่อำนาจของพระองค์นั้นเป็นผลจากการร่วมมือกันระหว่างขุนนางหัวเมืองฝ่ายเหนือกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โค่นล้มกลุ่มพระนางศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชที่มีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ละโว้ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจแก่อีกฝ่ายซึ่งสืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ผู้สถาปนากรุง ในขณะที่เวลานั้นกำลังจะมีศึกภายนอกคือพม่าสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จึงทรงให้รื้อกำแพงเมืองและยกเลิกเมืองท่าหน้าด่านเสีย เพราะเกรงว่าหากหัวเมืองก่อกบฏก็จะยากแก่การปราบปราม อีกทั้งเมื่อมีศึกภายนอกยกเข้ามาก็จะทำให้ศัตรูยึดเอาเป็นฐานโจมตีเมืองหลวงได้ หลังจากนั้นอยุธยาก็เริ่มหันมาใช้ระบบป้องกันตนเองโดยมุ่งเน้นใช้ชัยภูมิเกาะเมืองอยุธยารับมือข้าศึก
อย่างไรก็ตามแม้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงให้รื้อกำแพงเมือง แต่ก็ยังทรงให้ความสำคัญกับลพบุรีในฐานะ “เมืองทางศาสนา” ดังจะเห็นได้จากทรงให้บูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และโปรดให้ “แต่งปะขาวนางชี 200 กับข้าพระให้อยู่รักษาพระมหาธาตุ” ต่อมาในช่วงก่อนการเสียกรุงครั้ง พ.ศ.2112 เล็กน้อย สมเด็จพระมหินทราธิราชก็โปรดให้บูรณะพระมหาธาตุนี้อีกครั้ง การพลาดหวังจากที่ไม่ได้ครองเมืองพิษณุโลกตามธรรมเนียม เพราะเมืองพิษณุโลกอยู่ในข้อตกลงระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหาธรรมราชา การสร้างสายสัมพันธ์ต่อเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชก็เพื่อคานกับพิษณุโลกภายใต้พระมหาธรรมราชาซึ่งหันไปเข้าฝ่ายพระเจ้าบุเรงนอง
สมเด็จพระนเรศวรนับเป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดเสด็จประพาสลพบุรีก่อนหน้ารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งนี้เพราะความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์การทหาร คาดว่าการเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ.2145 นั้นก็เพื่อสำรวจชัยภูมิเมืองลพบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ใช้นโยบายป้องกันเมืองหลวงโดยการยกทัพออกไปทำลายข้าศึกตั้งแต่หัวเมือง ไม่ปล่อยให้ยกเข้ามาประชิดอยุธยาเหมือนดังในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราช แม้ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรจะไม่ถึงกับฟื้นเมืองท่าหน้าด่านขึ้นมาใหม่ แต่ลพบุรีก็ยังคงเป็นหัวเมืองสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในด้านกำลังคนและการคล้องช้าง ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำหรับกองทัพสมัยนั้นและยังเป็นสินค้าส่งออกได้กำไรงามอีกด้วย
(3) การพัฒนาในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
สำหรับประเด็นปัญหาที่ว่า เพราะเหตุใดทำไมสมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดเสด็จประทับที่ลพบุรีเป็นเวลานานในแต่ละปี ที่ผ่านมามีการศึกษาและอภิปรายกันหลากหลายแง่มุมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยจากศัตรูภายนอก เช่น ฮอลันดา หรือเพราะการเมืองภายในอยุธยา การขยายอำนาจของอยุธยาไปยังล้านนาและล้านช้างซึ่งทำให้ลพบุรีอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าอยุธยา หรือจะเพราะทรงโปรดการคล้องช้างเนื่องจากการขยายตัวของการค้าช้างในแถบมหาสมุทรอินเดีย หรือจะเพราะเหตุผลว่าทรงมีเชื้อสายเขมร ดังปรากฏในเอกสารคู่มือทูตตอบเมื่อออกพระวิสุทธิสุนทร (โกษาปาน) ไปฝรั่งเศส หรือแม้แต่เหตุผลอย่างการที่มีต้นแบบแรงบันดาลใจจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีพระราชวังแวร์ซายส์แยกต่างหากจากเมืองหลวงคือกรุงปารีส เป็นต้น
อีกเหตุผลสำคัญที่ไม่ค่อยพูดถึงในงานศึกษาภายหลัง แต่ปรากฏมากในเอกสารหลักฐานของต่างชาติ คือเหตุผลทางด้านสุขภาพพลานามัยส่วนพระองค์ที่มีโรคประจำพระวรกายคือวัณโรคกับหอบหืด ทำให้ต้องประทับอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ปราศจากฝุ่นที่เป็นพิษ ช่วงเวลาที่เสด็จมาประทับลพบุรีมักเป็นฤดูร้อน สภาพของกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นซึ่งจะเห็นได้จาก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ผู้คนนับแสนอยู่รวมกันภายในระยะ 12 ตร.กม. ถนนหนทางเต็มไปด้วยอิฐปูน ช้างม้า วัวควาย พาหนะคราครั่งมากมาย อยุธยาคงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นไม่เหมาะอาศัยสำหรับคนเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ สภาพดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับลพบุรีในสมัยนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 56 พรรษา (ประสูติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2175 ครองราชย์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2199 สวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231) อันที่จริงสำหรับยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีอายุเฉลี่ยเพียง 35-40 ปี ก็ถือว่าทรงมีพระชนม์ยืนนานอยู่ไม่น้อย ลพบุรีที่ทรงสร้างถึงกับปลูกต้นไม้จัดสวนอุทยานด้วยพระองค์เอง คงมีส่วนไม่น้อยในการควบคุมสภาพแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อพระพลานามัย
อย่างไรก็ตามเหตุปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่มีความเป็นไปได้ด้วยกันทั้งสิ้น สาเหตุที่ทรงเสด็จประทับลพบุรีอาจไม่ได้มาจากเหตุปัจจัยข้อใดข้อหนึ่ง จากการพิจารณาว่าแต่ละเหตุผลล้วนมีความหนักแน่นและมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ทั้งหมด อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัยที่กล่าวมานี้ทั้งหมดรวมกัน มากกว่าจะเป็นเหตุผลตามข้อใดข้อหนึ่ง ธรรมชาติมนุษย์เมื่อมีเหตุผลหลายข้อรวมกัน ก็ย่อมจะเกิดความเป็นไปได้ที่จะกระทำตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นได้มาก
ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรีได้รับการพัฒนาปรับปรุงไปอย่างมากมาย จนนับได้ว่าเป็นเมืองที่มีสิ่งอันทันสมัยและมั่งคั่งมากเป็นลำดับต้นของราชอาณาจักร สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีนอกจากบรรดาหอดูดาว ท่อน้ำประปา ลักษณะอาคารรูปทรงสถาปัตย์ต่างๆ แล้ว สำหรับผู้เขียนสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นที่สุดในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นั้นคือ “พระคลังศุภรัตน์” หรือกลุ่มอาคารที่เรียกว่า “สิบสองท้องพระคลัง” ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนการย้ายศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจการคลังของราชอาณาจักรมาอยู่ที่ลพบุรี กล่าวได้ว่าอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางก็แต่ด้านพิธีกรรม อย่างทวาทศมาส หรืออย่างการต้อนรับราชทูตครั้งแรก (ครั้งถัดมาพวกทูตและแขกบ้านแขกเมืองก็ต้องเดินทางต่อมาเพื่อเข้าเฝ้าที่ลพบุรี) โดยสรุปสิ่งปลูกสร้างที่ทำในสมัยพระนารายณ์และเหลือตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สามารถจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ ดังนี้:
1. สถานที่ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นใหม่ แบ่งย่อยได้เป็น 5 ประเภทคือ (1) สิ่งซึ่งเราจะพบเห็นได้ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์หรือ “วังพระนารายณ์” อาทิ พระที่นั่งจันทรพิศาล, พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท, พระที่นั่งสุทธาสวรรย์, ตึกพระเจ้าเหา (วัดมหาปราสาท), ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง, พระคลังศุภรัตน์หรือกลุ่มอาคารสิบสองท้องพระคลัง, หมู่ตึกพระประเทียบ, โรงช้างโรงม้าพระที่นั่ง, ซุ้มประตูและกำแพงพระราชวัง, ทิมดาบ, ท่อน้ำประปา เป็นต้น (1.2) ที่ประทับอื่นๆ อาทิ พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น), พลับพลาประทับร้อนที่อ่างซับเหล็ก, รวมทั้งพระตำหนักเจ้าปลุก ในอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระตำหนักสระยอ ในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับทรงให้สร้างขึ้นในเส้นทางเสด็จ (1.3) แนวปราการป้องกันเมือง อาทิ กำแพง ป้อม และประตูเมือง ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมท่าโพธิ์, ป้อมชนะสงคราม, ประตูชัย, ประตูเพนียดหรือประตูโคราช (1.4) สิ่งปลูกสร้างเพื่อความสะดวกในการคมนาคม อาทิ ถนน สะพาน สระน้ำ ปัจจุบันเหลือเพียงสะพานช้าง, สะพานเรือก, สระมโนราห์ (คาดว่าเป็นสระเสวย) (1.5) ศาสนสถานที่สร้างในรัชกาล อาทิ วัดบันไดหิน, วัดอินทรา อาจมีวัดอื่นๆ อีกแต่คงร้างไปหรือไม่ปรากฏซากแล้ว จึงไม่เป็นที่รับรู้
2. สถานที่ที่ทรงให้บูรณะปรับปรุงขึ้นภายในสถานที่ที่มีอยู่ก่อนเดิมก่อนหน้ารัชกาลของพระองค์ ได้แก่ ศาลสูงหรือศาลพระกาฬที่สร้างอยู่ตรงหน้าปราสาทเขมรเดิม (มีการบูรณะและทำใหม่หลายครั้งจนมีสภาพดังปัจจุบัน), วิหารหน้าปราสาทปรางค์สามยอดในคราวที่ทรงให้ปรับปรุงปราสาทเขมรเป็นวัดพุทธ (วัดใหม่ปรางค์สามยอด), อาคารวิหารและแท้งค์น้ำประปาที่ปรางค์แขก, ศาลาเปลื้องเครื่องและวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, ตึกคชสาร (โคระส่าน) และตึกปิจูที่วัดเสาธงทอง, วัดไลย์ที่อำเภอท่าวุ้ง, วัดเขาสมอคอนที่อำเภอท่าวุ้ง, วัดค้างคาว (วัดธรรมิการาม) ที่อำเภอบ้านหมี่, พระตำหนักธารเกษมและพระตำหนักสระยอที่พระพุทธบาท สระบุรี เป็นต้น
3. สถานที่ที่เหล่าขุนนางตลอดจนชาวเมืองสร้างและบูรณะขึ้นใหม่ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ วิหารหลวงวัดนครโกษา, บ้านวิชาเยนทร์หรือบ้านหลวงรับราชทูต, โบสถ์สันเปาโล (สร้างโดยคณะบาทหลวงฝรั่งเศส), วัดซาก (วัดหินสองก้อน) (มีร่องรอยการบูรณะก่ออิฐเสริมและปรับปรุงแผนผัง), วัดขวิด (ภายหลังรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะเปลี่ยนนามเป็น “วัดกวิศวราราม”), วัดเชิงท่า (วัดท่าเกวียน), วัดพรหมาสตร์ (เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นดังจะเห็นได้จากใบสีมา พระพุทธรูป และสถูปเจดีย์), วัดปืน (จากซากฐานและแผนผังเดิมเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น), วัดตองปุ, วัดชีป่าสิตาราม, วัดไก่ (ร้าง), วัดราชา (ร้าง) เป็นต้น
(4) ลพบุรีสมัยพระนารายณ์จากเอกสารต่างชาติ
ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นช่วงที่ราชอาณาจักรสยามได้มีโอกาสต้อนรับชาวต่างชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีกโลกตะวันตกเวลานั้นเริ่มเข้าสู่ยุคเรอแนสซองต์ ทำให้กลุ่มคนที่เข้ามาติดต่อกับสยามในรัชกาลเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบใหม่แตกต่างจากโลกยุคก่อนหน้าซึ่งเป็นยุคกลาง เมื่อมีโอกาสเดินทางมาสู่โลกตะวันออก พวกเขาก็ได้นำเอาวิทยาการความก้าวหน้าต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ด้วย และเนื่องจากเป็นชาวตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านเขียน เป็นยุคมีแท่นพิมพ์ ตลาดผู้อ่านหรือผู้คนทั่วไปต่างนิยมอ่านเรื่องราวแปลกๆ จากโลกตะวันออก
ประกอบกับคริสตจักรเวลานั้นมีธรรมเนียมให้ผู้ที่เดินทางไปในโลกต่างศาสนา เมื่อกลับแผ่นดินเกิดให้สารภาพบาปหรือการละเมิดบัญญัติต่างๆ ที่เคยกระทำไปเพื่อเอาตัวรอดในดินแดนนอกพระคัมภีร์ ได้มีโอกาสไถ่ถอนบาปของตนผ่านการเขียนรายงานถวายแด่องค์พระสันตะปาปา ธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันนี้ก็มีในหมู่พ่อค้าและนักเดินทางชาวมุสลิมด้วย ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นยุคที่ให้กำเนิดบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามากมาย ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องในที่นี้ก็จะเห็นได้ดังลำดับถัดไปดังนี้
มุฮัมหมัด อิบรอฮีม ราบี (Muhammad Ibrahim Rabi) ลิปิกร (เสมียน) ในคณะทูตจากอิหร่านเปอร์เชียที่เดินทางเข้ามาอยุธยาและลพบุรีเมื่อ พ.ศ.2228 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับคณะทูตจากฝรั่งเศสชุดนำโดยเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ได้บันทึกเกี่ยวกับลพบุรี และเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเสด็จประทับที่ลพบุรีไว้ว่า “ลพบุรีมีอากาศดีจึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก พระองค์จะประทับอยู่ที่นั่นประมาณ 9 เดือน และจะเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อเข้าหน้าฝน”
อีกด้าน บาทหลวงติโมลีออง เดอ ชัวซีย์ (Timoléon de Choisy) ผู้ร่วมเดินทางมาอยุธยาและลพบุรีในคณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ เมื่อ พ.ศ.2228 และได้อยู่ลพบุรีสมัยนั้นเป็นเวลาราว 3 เดือน ก็ได้บันทึกเกี่ยวกับการเสด็จประทับเมืองลพบุรีในช่วงดังกล่าวว่า “สมเด็จพระนารายณ์ประทับที่ละโว้ปีละ 7-8 เดือน และทรงสร้างละโว้ขึ้นเป็นเมืองใหญ่ กล่าวกันว่าพระองค์ประทับสำราญพระราชอิริยาบถได้สะดวกสบายกว่าในเมืองหลวง พระองค์เสด็จออกประพาสล่าสัตว์ทุกวัน และประชาชนพลเมืองได้ชมพระบารมีมากกว่าในกรุง (ศรีอยุธยา-ผู้อ้าง) เสียอีก”
กีย์ ตาชาร์ด (Guy Tachard) บาทหลวงฝรั่งเศสในคณะเยซูอิตอีกผู้หนึ่งซึ่งได้เดินทางมาพร้อมกับคณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ พ.ศ.2228 ก็มีบันทึกกล่าวทำนองเดียวกันว่า “ละโว้เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างกรุงศรีอยุธยาไปทางเหนือประมาณสิบห้าหรือยี่สิบลิเออ และประทับที่เมืองนั้น เก้าหรือสิบเดือนในปีหนึ่งๆ ด้วยว่าเป็นเสรีดี ไม่ต้องทรงอุดอู้อยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง เช่นที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยกวดขันให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความจงรักภักดีและมีความเคารพนบนอบต่อพระองค์… เมืองละโว้นั้นเป็นภูมิประเทศที่น่าอยู่ และอากาศก็บริสุทธิ์มาก ตัวเมืองนั้นกว้างพอใช้ และมีประชาชนพลเมืองคับคั่ง นับแต่พระเจ้าแผ่นดินแปรพระราชฐานไปประทับอยู่นานๆ”
บันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) พ.ศ.2228-2229 นับว่าเป็นบันทึกที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลพบุรีสมัยพระนารายณ์เอาไว้มากกว่าผู้อื่น แม้เขาจะออกตัวว่างานของเขานั้นยังไม่ละเอียดพอเนื่องจากไม่ได้เห็นทุกซอกมุมภายในพระราชวังก็ตาม ดังที่เขาบรรยายไว้ว่า “ละโว้ (Louveau) ซึ่งชาวสยามเรียกกันโดยสามัญว่า นพบุรี (Noccheboury) นั้น เป็นเมืองในราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเมื่อเปรียบไปแล้ว ก็เช่นแวรซายส์ของฝรั่งเศส พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ทรงมีที่ประทับสำราญ แต่หากได้เลิกร้างไปเสียเมื่อราว 100 ปีมานี้เอง พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันได้ทรงมาจัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ราบสูงของประเทศซึ่งน้ำท่วมขึ้นไปไม่ถึง มีอาณาเขตโดยรอบยาวประมาณครึ่งลี้ บริเวณพระราชฐานนั้นเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และภายในมีอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่ในระยะห่างๆ กัน ในฤดูที่ประเทศมีน้ำท่วม มักจะมีน้ำอยู่เกือบโดยรอบด้าน ส่วนในฤดูอื่นๆ พระราชฐานส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จรดชายแม่น้ำ ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำใหญ่ไม่ลึกพอที่เรือใหญ่ๆ จะเข้ามาได้ สถานที่ตั้งนั้นเป็นชัยภูมิดีอากาศบริสุทธิ์ จนไม่มีใครอยากจะจากไป เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากนครหลวง 14 ลี้โดยทางลำแม่น้ำใหญ่ แต่โดยลำคลองที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งให้ขุดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คงทำให้ห่างกันราว 9 หรือ 10 ลี้เท่านั้น (หมายถึงขุดปรับปรุงแม่น้ำลพบุรีช่วงจากคลองบางพระครูไปตำบลเจ้าปลุก-ผู้อ้าง)พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงโปรดปรานเมืองนี้มาก ประทับอยู่ที่นั่นเกือบตลอดปี และทรงเอาพระทัยใส่สร้างให้สวยงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทรงตั้งพระทัยจะขยายอาณาเขตออกไปอีก แต่พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าน่าจะสร้างเป็นที่มั่นจะเหมาะกว่า ภายในเขตพระราชฐานนั้นสะอาดสะอ้านมากและได้รับการทำนุบำรุงอันเป็นดี ซึ่งนอกจากในพระนครหลวงแล้ว ก็ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่ มีอุทยานและทางเดินเล่นที่งดงามเท่าๆ กัน ชีวิตที่นี่มีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นอันมาก แต่โดยที่พลเมืองมาก เสบียงอาหารจึงมีราคาแพงกว่าในเมืองอื่นๆ ขาดแต่น้ำดีๆ ในชั่วระยะ 4 หรือ 5 เดือนในปีหนึ่งๆ ในฤดูน้ำลด เพราะม้าและช้างที่ลงอาบทำให้สกปรกจนใช้ดื่มไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งบ่อ หรือที่เก็บไว้เมื่อคราวน้ำท่วมในโอ่งดินใหญ่แล้วกรองเสียให้ใส”
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเมืองลพบุรี แม้ว่าจะทรงพยายามให้ช่างชาวต่างชาติทั้งฝรั่งเศส เปอร์เชีย และอิตาลี เข้ามาสร้างระบบประปาโดยวิธีผันน้ำมาจากอ่างซับเหล็ก แต่ก็พอใช้เฉพาะในเขตพระราชฐานและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างบ้านวิชาเยนทร์เท่านั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ได้มีบันทึกกล่าวถึงไว้เช่นกัน เพิ่มเติมคือลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของพระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการน้ำของเมืองลพบุรี ไม่ใช่เฉพาะที่ประทับร้อนสำราญพระราชหฤทัยดังความที่ว่า “ที่เมืองละโว้ น้ำกลับไม่น่าดื่มยิ่งกว่าที่เมืองสยาม (หมายถึงกรุงศรีอยุธยา-ผู้อ้าง) ไปเสียอีกทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้ผ่านตัวเมืองโดยตรง มีแต่เพียงลำคลองขุดไปบรรจบแม่น้ำใหญ่เพื่อนำน้ำไปใช้เท่านั้น ครั้นสิ้นหน้าฝนน้ำก็ลดลงทุกทีกระทั่งน้ำแห้งขอดไปในที่สุด พระเจ้ากรุงสยามเสวยน้ำที่ตักมาจากอ่างเก็บน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งขุดขึ้นกลางทุ่งนา (หมายถึงสระมโนราห์หรือสระเสวย-ผู้อ้าง) มีเจ้าพนักงานประจำรักษาอยู่ตลอดปี นอกจากนั้นพระเจ้ากรุงสยามยังทรงมีพลับพลาที่ประทับ (ณ ตำบล) ชื่อ ทะเลชุบศร (Tlee Poussone) อันแปลว่า ทะเลอันอุดม (Mer riche) อยู่ห่างจากเมืองละโว้หนึ่งลี้ อ่างเก็บน้ำนี้ตั้งอยู่ชายที่ลุ่มแห่งหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3 หรือ 3 ลี้ ซึ่งรับน้ำฝนขังไว้ ทะเลน้อยๆ มีลักษณะแปลกไม่มีขอบคันหรือขุดให้เป็นแนวตรงแต่ประการใด แต่น้ำในบึงนั้นสะอาดเพราะมีความลึกมาก และได้รับการกักเก็บไว้ และข้าพเจ้าได้ยินว่าพระเจ้ากรุงสยามก็เสวยน้ำในบึงนี้”
(5) พระนารายณ์ราชนิเวศน์จากเอกสารไทยและเทศ
พระนารายณ์ราชนิเวศน์หรือที่เรียกกันโดยลำลองว่า “วังนารายณ์” นั้นนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสถาปัตย์ชิ้นเยี่ยมที่เกิดจากการพัฒนาลพบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระราชวังแห่งนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีลักษณะเช่นใด ยังเหลืออะไรให้ได้ดูได้เห็นกันบ้าง ก็ต้องศึกษารายละเอียดจากเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ เอกสารของไทยนั้นมี “โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์” วรรณกรรมชิ้นยอดของสมัยอยุธยา ได้บรรยายถึงพระราชวังแห่งนี้ประกอบด้วยพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ และพระที่นั่งจันทรพิศาล ตามสำนวนคำกลอนดังนี้:
“ดุสิตปราสาทสร้อย สมพุทธ
สูงเทริดธารมารุต ช่อชั้น
พรหมพักตร์ฉัตรเฉลิมสุด เสาวภาคย์
นาคสะพานพดหลั้น เลียบเลื้อย ลงมา
……..
พระมนเทียรเท่าเทิด แถวทงัน
ขวาสุธาสวรรค์พรรณ เพริดแพร้ว
ซ้ายจันทรพิศาลวรรณ เวจมาศ
พรายแพร่งสุริยแล้ว ส่องสู้แสงจันทร์”
จะเห็นได้ว่า ในการวางแผนผังพระราชวังสมัยพระนารายณ์ยังคงยึดถือคติของลพบุรีที่มีมาแต่สมัยเขมรโบราณ ซึ่งมักจะกำหนดให้สถาปัตย์หลักของสถานที่มีอยู่ 3 หลัง ดังจะเห็นได้จากปราสาทปรางค์แขก ปราสาทปรางค์สามยอด ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่มี่ปีกสองข้างซ้ายขวา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบันทึกต่างชาติ อาทิ นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) ซึ่งเคยเดินทางมาพบเห็นพระราชวังนี้ด้วยตนเอง โดยมีออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) และออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้นำมาเข้าเฝ้า จัดเลี้ยงต้อนรับ และนำชมอุทยานในพระราชฐาน เมื่อ พ.ศ.2228 ก็ได้บรรยายถึงลักษณะของพระราชวังแห่งนี้ไว้อย่างละเอียดดังความต่อไปนี้:
“พระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ที่ชายน้ำและประดับประดาเสียหรู แต่ไม่งดงามเท่าที่กรุงศรีอยุธยา หากมีลางสิ่งที่เจริญตากว่า มีกำแพงที่แข็งแรงพอใช้ แผนผังพระราชวังมีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง ด้านที่หันเข้าสู่ตัวเมืองนั้นแบ่งออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นมีความงดงามแตกต่างกันออกไป ทางด้านขวาทางเข้ามีศาลาลูกขุนในสำหรับชำระคดีที่ผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ กับทิมดาบสองหลังขนาดไล่เลี่ยกัน เป็นที่คุมขังผู้ต้องหาอยู่จนกว่าจะได้สอบสวนเสร็จ และพิจารณาพิพากษาแล้ว ทางด้านซ้ายมือเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ ซึ่งจ่ายน้ำไปทั่วพระราชฐานเป็นผลงานของช่างชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งกับชาวอิตาเลี่ยนคนหนึ่งมีความรู้ในการจ่ายทดน้ำ เหนือกว่าชาวต่างประเทศหลายคนที่ได้ร่วมมือกันกับคนสยามที่เก่งๆ มาเป็นเวลาตั้งสิบปีแล้วยังทำไม่สำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานรางวัลให้คุ้มแก่ที่เขาทั้งสองได้ทำงานสนองพระกรุณาธิคุณ ตามพระราชประสงค์ของในหลวงที่ทรงต้องการให้มีน้ำใช้ในพระตำหนัก ห่างออกไปสักสามสิบก้าว มีอุทยานแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่องหรือแปลง อยู่ตรงหน้าพระตำหนักอันงดงามหลังหนึ่ง มีสายน้ำพุพุ่งโดยรอบ อยู่ใกล้ๆ วัดๆ หนึ่งซึ่งแม้จะไม่งดงามมากนัก ก็ยังน่าดูอยู่ไม่น้อย มีสวนรุกขชาติเล็กๆ เป็นสัดส่วน พระราชฐานชั้นนอกนี้ เป็นทางเข้าไปสู่ชั้นที่สอง ซึ่งมีความงดงามกว่าชั้นนอกอย่างเปรียบกันไม่ได้เลย ประตูทางเข้านั้นตั้งอยู่ระหว่างศาลาสองหลังเป็นโรงที่อาศัยของช้างชั้นสองสี่เชือก พระราชฐานนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงสีขาว สลักภาพทำนองของแขกมัวร์ ฝีมือประณีต และแบ่งออกเป็นคูหาเล็กๆ ซึ่งในวันงานพระราชพิธีเป็นที่ตั้งเครื่องกระเบื้องจีนเป็นอันมาก มีห้องโถงเล็กๆ สองห้องเพดานต่ำมาก เป็นทางเข้าไปสู่อาคารหลังใหญ่ อันมีศาลาสองหลังตั้งอยู่ทางขวามือ เป็นที่อยู่อย่างภูมิฐานของช้างชั้นหนึ่งหลายเชือก ทางซ้ายมือมีพระตำหนักงดงามหลังหนึ่ง บนหลังคามีรูปฉัตรเหมือนที่ประทับในพระนครหลวง มีพระบัญชรช่องหนึ่ง ตรงส่วนกลางของพระตำหนักหลังนี้ ซึ่งกว่าและสูงกว่าช่องอื่นๆ เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินยามเสด็จออกปฏิสันถารราชทูตเจ้านายประเทศราชใกล้เคียง ตลอดเวลาที่เข้าเฝ้าคณะทูตต้องอยู่ในห้องโถงเล็กๆ สองห้อง ก้มหน้าดูพื้นอยู่ตลอดเวลา ร่วมกับเจ้านายผู้มีเกียรติแห่งราชสำนักที่นำเข้าเฝ้า ส่วนสำหรับราชทูตของพระเจ้ากรุงจีนกับราชทูตของประเทศใหญ่ๆ นั้น โปรดให้ได้รับการแห่แหนไปสู่ท้องพระโรงภายใต้มหาเศวตฉัตร ห้องนี้มีความยาว 3-4 ต๊วซ กว้าง 2 ต๊วซ มีประตู 3 ประตู ช่องใหญ่อยู่ตรงกลาง อีกสองช่องขนาบช่องใหญ่อยู่ตามผนังประดับกระจกเงาบานใหญ่ ซึ่งมีรับสั่งให้ขุนนางสองคนที่ไปประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้นำมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วมานี้ เพดานนั้นแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่อง ประดับลายดอกไม้ทองคำทำด้วยฝีมืออันเยี่ยม ประดับแก้วผลึกลางชนิดที่ได้มาจากประเทศจีน ดูงดงามที่สุดในโลก ตอนในของท้องพระโรงนี้ มีพระแท่นหรือบัลลังก์ที่ประทับงดงามมากตั้งขึ้นสูงจากระดับพื้น 4 หรือ 5 กูเด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นสู่พระบัลลังก์ทางด้านหลังโดยไม่มีใครได้เห็นพระองค์ก่อน โดยทางบันไดจากห้องลับซึ่งพระบัลลังก์นั้นตั้งแนบอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับของพระราชธิดา โดยที่ไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปได้ แม้ท่านราชทูตฝรั่งเศสเองก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเห็นภายใน ข้าพเจ้าจำจะต้องงดให้รายละเอียด ณ ที่นี้ ไกลออกไปจากที่นั่นหน่อย เมื่อลงบันไดไปสัก 15 หรือ 20 ขั้นก็ถึงพระราชฐานชั้นที่สาม อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระราชฐานส่วนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ทองคำแพรวพราวไปทั่วทุกหนทุกแห่งเช่นในพระราชฐานชั้นที่สอง หลังคาประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง คล้ายกับทองคำมาก ยามเมื่อต้องแสงตะวัน ต้องมีสายตาดีมากจึงจะทนแสงสะท้อนได้ พระตำหนักหลังนี้มีกำแพงปีกกาล้อมรอบ ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่สระ บรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน ภายในกระโจมซึ่งคลุมกั้นสระน้ำที่อยู่ทางขวามือมีลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ มีพรรณไม้เล็กๆ ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่เสมอ และพรรณไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา มีธารน้ำใสจ่ายน้ำให้แก่สระทั้งสี่นี้
ทางเข้าพระราชฐานชั้นนี้อนุญาตให้เฉพาะแต่เหล่ามหาดเล็กในพระองค์ กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ลางคนอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น ส่วนขุนนางอื่นๆ หมอบอยู่บนกำแพงแก้วบนพรหมผืนใหญ่ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง ก็มีพระราชดำรัสจากบัญชรพอได้ยิน ขุนนางชั้นผู้น้อยหมอบอยู่บนเสื่อเบื้องล่างกำแพงแก้ว ก้มหน้ามองพื้น ลางทีก็อยู่ห่างจากองค์พระเจ้าแผ่นดินตั้งร้อยก้าว
โดยรอบกำแพงแก้วนี้ สร้างเป็นห้องเล็กๆ ค่อนข้างสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดามหาดเล็กและทหารยาม ไกลออกไปทางซ้ายมือเป็นแปลงพรรณไม้ดอกที่หายาก และที่น่าดูพิเศษสุดในมัธยมประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงปลูกด้วยพระหัตถ์เอง ครั้นแล้วก็ถึงอุทยานใหญ่ตรงหน้าพระตำหนัก ปลูกต้นส้มใหญ่ มะนาวและพรรณไม้ในประเทศอย่างอื่นอีก มีใบดกหนาทึบ แม้ยามแดดร้อนตะวันเที่ยงก็ร่มรื่นอยู่เสมอ ตามสองข้างทางเดินมีกำแพงอิฐเตี้ยๆ มีโคมทองเหลืองติดตั้งไว้เป็นระยะ และตามไฟขึ้นในระยะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับอยู่ ระหว่างหลักโคมสองหลัก มีสิ่งก่อสร้างคล้ายเตาหรือแท่น สำหรับใช้เผาไม้หอมส่งกลิ่นไปไกลๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุไฉนพระเจ้ากรุงสยามจึงได้ทรงโปรดพระที่นั่งสำราญของพระองค์นัก เหล่าสนมกำนัลก็มีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถวยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชธิดาตั้งแต่มุมโน้นจรดมุมนี้ และการเข้าออกก็ยากมาก ห้ามแม้แต่กระทั่งพระราชโอรส มีแต่พวกขันธี (eunuque) เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนนิบัติได้ จึงบรรยายให้เห็นแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ส่วนภายในก็พอร่างให้เห็นแผนผังหยาบๆ เพราะข้าพเจ้าร่วมคณะมาในกลุ่มบุคคลที่ไม่ค่อยให้ความสะดวกแก่ข้าพเจ้าในอันที่จะบรรยายให้ถูกต้องกว่านี้ได้”
นอกจากนี้แชรแวสยังได้บรรยายถึงลักษณะ “พระคลังศุภรัตน์” หรือกลุ่มอาคาร “สิบสองท้องพระคลัง” ถึงแม้ข้อมูลของเขาจะแย้งกับของไทยในแง่ที่เขาระบุว่ากลุ่มอาคารดังกล่าวนี้มีเพียง “แปดหรือสิบท้องพระคลัง” เท่านั้น แต่ภาพที่เขาบรรยายถึงสถานที่นี้ตามที่ได้พบเห็นด้วยตาตนเองนั้น ทำให้บันทึกของถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับลักษณะและประโยชน์ใช้สอยของอาคารเหล่านี้ ดังตัวอย่างเช่น “พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชทรัพย์อยู่แปดหรือสิบท้องพระคลัง ที่มีทรัพย์สินอันล้ำค่ายิ่งกล่าวท้องพระคลังอื่นๆ ในห้องหรือท้องพระคลังแห่งหนึ่ง มีไหเป็นอันมากตั้งเรียงสลับซับซ้อนอยู่จนถึงหลังคา เต็มไปด้วยเงินเหรียญบาทและทองคำแท่ง ส่วนใหญ่เป็น…? (tambac) (ฉบับแปลของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ระบุว่า “นาก”-ผู้อ้าง) อันเป็นส่วนผสมของโลหะหลายชนิดถลุงให้บริสุทธิ์ขึ้น ซึ่งในประเทศสยามถือกันว่ามีค่ากว่าทองคำเสียอีก แม้จะไม่สุกใสก็ตาม ท้องพระคลังอีกแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยดาบญี่ปุ่น ตีด้วยเหล็กเนื้อดี อาจฟันแท่งเหล็กให้ขาดสะบั้นได้โดยง่าย แล้วก็ไม่กฤษณา, กะลำพัก, ชะมดเชียงและเครื่องกระเบื้องชุดลายครามจากเมืองจีนเป็นอันมาก กับผ้าแพรพรรณอย่างดี ทำในชมพูทวีปและในยุโรป และเครื่องกระเบื้องเคลือบชนิดบางลางชนิด ซึ่งเมื่อใส่ยาพิษลงไปแล้วก็จะแตกทันที สรุปแล้วเราไม่อาจที่จะบอกได้ถูกต้องว่ามีสิ่งอันล้ำค่า, ได้ยากและน่าเห็นน่าชมมากมายสักเท่าไรในท้องพระคลังอื่นๆ อีก”
ขณะที่ลาลูแบร์ก็ได้กล่าวบรรยายถึงลักษณะ “ตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง” ซึ่งเขาก็อยู่ในฐานะ “แขกบ้านแขกเมือง” คนหนึ่งในสมัยพระนารายณ์ ซึ่งเข้ามาพร้อมคณะทูตชุดเดอ โชมองต์ พ.ศ.2228 กล่าวคือ “ในพระบรมมหาราชวังที่เมืองละโว้ พวกเราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระราชอุทยาน ภายในห้องโถงแห่งหนึ่งซึ่งผนังสูงขึ้นไปจรดหลังคา และรองรับตัวหลังคาไว้ ผนังนี้ได้รับการโบกปูนสีขาวผ่อง เรียบและเป็นมันวับ… ห้องนี้มีประตูด้านสกัดด้านละช่อง และมีคูน้ำ 2 ถึง 3 ตัวซ์กับลึกประมาณ 1 ตัวซ์ล้อมโดยรอบ ภายในคูมีน้ำพุสายเล็กๆ เรียงรายได้ระยะกันติดตั้งอยู่ราว 20 แห่ง สายน้ำพุนั้นพุ่งขึ้นมาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ กล่าวคือที่หัวท่อนั้นเจาะเป็นรูเล็กๆ ไว้หลายรูด้วยกัน และน้ำนั้นพุ่งขึ้นมาสูงเสมอระดับขอบคูหรือราวๆ นั้นเท่านั้น เพราะแทนที่จะยกระดับอ่างจ่ายน้ำให้สูง เขากลับขุดดินลงไปให้อ่างจ่ายน้ำอยู่ในระดับต่ำ”
(6) ลพบุรีสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์
ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์สิ้นสุดลงจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์เมื่อ พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในบันทึกต่างชาตินิยามเรียกว่า “การปฏิวัติ ค.ศ.1688” (1688 Revolution of Siam) เพราะนำมาซึ่งการเปลี่ยนนโยบายการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาชาติ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ก็ได้ย้ายศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินกลับสู่กรุงศรีอยุธยา แต่ลพบุรีก็ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไป เพราะจากการพัฒนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทำให้เป็นเมืองใหญ่มีผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมาก ดังที่บาทหลวงตาชาร์ดระบุว่า “มีประชาชนพลเมืองคับคั่ง นับแต่พระเจ้าแผ่นดินแปรพระราชฐานไปประทับอยู่นานๆ” นอกจากนี้ยังปรากฏการเสด็จประพาสคล้องช้างในบางรัชกาล เช่น สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้มีการบูรณะพระราชวัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี และสถานที่อื่นๆ ในย่านตัวเมือง
อย่างไรก็ตามแม้นโยบายการค้าและความสัมพันธ์กับนานาชาติในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะแตกต่างไปจากสมัยพระนารายณ์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแบบแผนการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมที่ริเริ่มในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เห็นได้ว่าส่งอิทธิพลต่อรูปแบบศิลปกรรมในช่วงหลังต่อมา อาทิ กรณีวัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ที่พระนครศรีอยุธยา สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา วัดโพธิ์ประทับช้างที่เมืองพิจิตร สร้างในรัชกาลพระเจ้าเสือ วัดมเหยงค์และวัดกุฎีดาว อยุธยา หลังจากบูรณะในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น
แน่นอนว่าในเรื่องนี้ยังต้องนับปรางค์ที่อ้างอิงรูปแบบหรือดัดแปลงไปจากปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ในช่วงอยุธยาตอนปลายตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ร่นลงมา อาทิ ปรางค์วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก, ปรางค์วัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) สิงห์บุรี, ปรางค์ประธานวัดเชิงท่า อยุธยา, ปรางค์ประธานวัดวรเชตเทพบำรุง อยุธยา เป็นต้น อาคารตำหนักสองชั้นรูปสำเภาท้องโค้งและมีซุ้มประตูหน้าต่างแบบโค้งยอดแหลม ซึ่งสะท้อนอิทธิพลช่างเปอร์เชียในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็พบเห็นได้หลายแห่ง อาทิ ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์วัดพุทไธสวรรย์, ตำหนักทรงธรรมวัดใหม่ประชุมพล, ตำหนักเจ้าปลุก (วัดหน้าวัว), ตำหนักวัดตะเว็ดปท่าคูจาม เป็นต้น กำแพงเมืองและป้อมปราการตามหัวเมือง อาทิ ป้อมเพชรที่อยุธยาซึ่งบูรณะในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จนรูปแบบผิดไปจากเมื่อแรกสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชา ประตูชุมพลเมืองนครราชสีมา, ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ธนบุรี, กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช, กำแพงเมืองจันทบุรีเก่า เป็นต้น
นอกจากนี้กรณีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสในพระบรมมหาราชวังอยุธยา ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับชำระต้นรัตนโกสินทร์ระบุว่า สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา แต่มีหลักฐานจากบันทึกของแชรแวสและลาลูแบร์ ทำให้ทราบว่าพระที่นั่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้ว ดังจะเห็นได้จากที่แชรแวสได้เล่าบรรยายถึงพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวังอยุธยา ซึ่งไม่ตรงกับพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาส เช่นว่า “พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุด เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิดประดับไว้ให้รุ่งระยับอยู่ในที่ตั้งพันแห่งนั้น เป็นที่สังเกตได้โดยง่ายจากพระที่นั่งองค์อื่นๆ สร้างเป็นรูปกากบาท หลังคาพระที่นั่งประดับฉัตรหลายชั้นอันเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน กระเบื้องที่ใช้มุงนั้นทำด้วยดีบุก งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ทุกด้านทุกมุมนั้นงดงามมาก”
ขณะที่ลาลูแบร์ก็กล่าวถึงสถานที่ที่มีการจัดเลี้ยงต้อนรับคณะทูตในพระบรมมหาราชวังอยุธยา สถานที่ตั้งตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสเช่นเดียวกับในบันทึกแชรแวสดังตัวอย่างเช่น “สถานที่ที่เราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) นั้นเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ภายใต้ต้นไม้ใหญ่และใกล้ขอบสระ ในสระนั้นกล่าวกันว่ามีปลาหลายพรรณ ที่รูปร่างเหมือนกับคน ก็มีทั้งชายและหญิง แต่ข้าพเจ้าแลไม่เห็นสักอย่างหนึ่งเลย”
สภาพปรักหักพังของอาคารพระนารายณ์ราชนิเวศน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะสงครามกับพม่าเมื่อ พ.ศ.2310 หากแต่เป็นผลจากการพังทลายเพราะกาลเวลาบวกกับไม่ได้บูรณะทั้งวังให้คงเดิม “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ซึ่งเป็นหลักฐานจากบันทึกความทรงจำของคนกรุงศรีที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังเสียกรุง พ.ศ.2310 ก็ยังกล่าวถึงลพบุรีในฐานะเมืองที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเสด็จประทับอยู่เช่นว่า “ที่เมืองลพบุรีนั้นมีพระมหาปราสาทสององค์ แลพระที่นั่งใหญ่น้อยไม่มียอดหลายองค์ พระมหาปราสาททั้งสองนั้นชื่อพระที่นั่งสุทไธยสวริย์มหาปราสาท 1 พระที่นั่งดุสิตสวริยธัญมหาปราสาท 1 ทั้งสององค์นี้เปนยอดมณฑปยอดเดียวมีมุขซ้อนสี่ชั้นมีฝาทั้งสี่ด้าน มีพระตำหนักใหญ่น้อยเปนอันมาก มีกำแพงล้อมพระราชวังด้วย มีหอคลังแลตึกกว้านตลาดพร้อมทุกสิ่ง เปนพระราชนิเวศทรงประทับ ในพระบาทสมเดจพระนารายณ์มหาราชในระดูร้อนแลระดูหนาว หกเดือนเสมอเปนเนืองนิจ จนสิ้นแผ่นดินสมเดจพระนารายณ์มหาราช แล้วภายหลังต่อมาก็เปนที่ประทับบ้าง เปนครั้งเปนคราวเนืองเนือง”
น่าสังเกตว่า “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” กล่าวถึงพระที่นั่งหลักเพียง 2 องค์คือ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์กับพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญปราสาท ไม่ได้กล่าวถึงพระที่นั่งจันทรพิศาล อาจจะชำรุดทรุดโทรมไปในช่วงอยุธยาปลาย ก่อนจะมาบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นได้ คำว่า “นครพระราม” ซึ่งเป็นราชทินนามเจ้าเมืองลพบุรี ตกถึงสมัยรัชกาลที่ 3 กร่อนเหลือ “นครพราม” ต่อมาในช่วงหลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงทำพิธีชุบพระแสงและให้ตักน้ำจากสระตรวนตรีสิน ทะเลชุบศร และสระเสวย ส่งไปใช้ในการพระราชพิธีตรุษสารทที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2403 คำว่า “นครพราม” ก็เริ่มเพี้ยนเป็น “นครพราหมณ์” ในที่สุด
รัชกาลที่ 4 ก็โปรดเสด็จประทับลพบุรีตั้งแต่เมื่อยังผนวชเป็น “พระวชิรญาณภิกขุ” โดยมักจะเสด็จมาประทับแรมที่วัดเกาะแก้ว (วัดมณีชลขันธ์) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วใน พ.ศ.2397 ทรงให้พระยาลพบุรีซ่อมแซมโบสถ์ วิหาร และศาลาวัด พ.ศ.2399 ทรงเสด็จทอดพระเนตรพระราชวังและกำแพงเมืองลพบุรี ต่อมาเมื่อพ.ศ.2408 ทรงพระราชทานกฐินแก่วัดเสาธงทองและวัดกวิศวราราม และให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมแซมกำแพง ป้อม ประตูพระราชวัง ครั้งนั้นยังได้สร้าง “พระที่นั่งพิมานมงกุฎ” ขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับ ทรงพระราชทานนามวังแห่งนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนารายณ์
เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงเชี่ยวชาญพระราชพงศาวดาร ตามที่มีเรื่องว่าในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมายกวังเป็นวัดเพื่อให้จัดพิธีอุปสมบทแก่เหล่าขุนนางได้พ้นภัยจากการยึดอำนาจของพระเพทราชา ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้บูรณะพระราชวังนั้น ก็จึงทรงทำผาติกรรมไถ่ถอนวัดกลับเป็นวังดังเดิม โดยซื้อที่นากว่า 150 ไร่ ถวายเป็นที่สงฆ์ บริจาคเงิน 600 ชั่ง ซึ่งเป็นราคาเท่ากับอิฐปูนที่ใช้สร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎและซ่อมวัง นอกจากนี้ยังได้ให้ปฏิสังขรณ์วัดในเขตพระราชฐาน 3 แห่ง คือ วัดชุมพลนิกายาราม บางปะอิน, วัดเสนาสนาราม อยุธยา, วัดกวิศวราราม ลพบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องการอุทิศวังเป็นวัดในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นี้ปรากฏอยู่เพียงในพระราชพงศาวดารฉบับชำระเมื่อต้นรัตนโกสินทร์
สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ลพบุรีขึ้นกับมณฑลกรุงเก่า พ.ศ.2438 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระที่นั่งพิมานมงกุฏเป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ที่สำคัญได้มีการสร้างทางรถไฟตัดผ่านตัวเมืองลพบุรี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับลพบุรีสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน เกิดชุมชนการค้าเป็นเมืองใหญ่ขยายมาที่ทางรถไฟบริเวณปราสาทศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด อย่างไรก็ตามสภาพการขยายตัวจากบริเวณวงเวียนสระแก้วไปจนถึงอำเภอพระพุทธบาท สระบุรี เป็นผลจากนโยบาย “นิคมสร้างตนเอง” ตามแผนงานพัฒนาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องอภิปรายในรายละเอียดแยกออกไปเป็นอีกยุคหนึ่งต่างหาก
(7) บทสรุปและส่งท้าย: ลพบุรีในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม
สำหรับมิติทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ลพบุรีมีส่วนสำคัญต่อการแยกตัวออกจากเขมรพระนครมายังอยุธยา และเป็นเมืองที่ส่งผ่านแบบแผนจารีตทางสังคมวัฒนธรรมไปยังดินแดนข้างเคียง จนเป็นจุดกำเนิดของรัฐเมืองท่าตอนในอันจะพัฒนาสู่อาณาจักรสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย อาทิ หริภุญไชย, พะเยา, สุโขทัย, อโยธยา เป็นต้น แต่ประวัติศาสตร์ไทยตลอดช่วงที่ผ่านมามักบดบังความสำคัญของลพบุรี โดยการสร้างมุมมองและความเชื่อผิดๆ ผ่านแบบเรียนว่า ประวัติศาสตร์ไทยมีจุดเริ่มต้นที่สุโขทัย เมืองอื่นเช่น ลพบุรี, นครไชยศรี, อู่ทอง, เพชรบุรี, อโยธยา, นครศรีธรรมราช ฯลฯ ถูกตัดออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้การเกิดราชอาณาจักรสำคัญอย่างอยุธยาในภาคกลางถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากการขยายตัวของรัฐในเขตภาคเหนือตอนล่าง ไม่มีพัฒนาการสืบทอดหรือปรับเปลี่ยนมาจากภายในเขตที่ราบภาคกลาง
ในขณะที่คำว่า “ศิลปะลพบุรี” นั้นเกิดจากแนวคิดทางชาตินิยมที่ไม่ยอมรับอิทธิพลเขมร หรือไม่เชื่อว่าเขมรเคยมีอำนาจปกครองเหนือบ้านเมืองในสยามประเทศมาก่อน ปัญหาก็ซับซ้อนขึ้นมาอีก ครั้นจะอ้างย้อนไปถึงพระเจ้าติโลกราชว่าเป็นคนแรกที่กำหนดให้มีศิลปะลพบุรีจากที่ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้างพระพุทธรูปแบบลวปุระ ซึ่งคาดว่าคือ “พระเจ้าแข้งคม” พระประธานวัดศรีเกิด เชียงใหม่ ก็หาใช่ที่ เพราะพระเจ้าแข้งคมมีพุทธลักษณะตรงกับศิลปะอู่ทองหรืออโยธยามากกว่าลพบุรี แต่ก็เข้าใจได้ในแง่ที่ว่าเอกสารล้านนามักนิยมเรียกภาคกลางว่า “ลวปุระ” หรือ “กัมโพช” มาจนรุ่นอยุธยาตอนต้น ทั้งนี้เพราะมองว่าอโยธยาเป็นพวกเดียวกันสืบสายมาจากลพบุรีนั่นเอง จึงไม่แปลกจะสร้างพระลวปุระออกมาเหมือนพระพุทธรูปแบบอยุธยาต้น
ส่วนหลักฐานของทางฝั่งเขมรโบราณ ระบุเต็มๆ ว่าลพบุรีเคยอยู่ในอำนาจปกครองมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยบายน แถมยังมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงอีกด้วย แต่ไม่ใช่ว่าถูกปกครองอยู่ตลอด ขึ้นกับว่ากษัตริย์พระองค์ใดมีเครือข่ายสายสัมพันธ์หรือมีอานุภาพมากน้อย หากพิจารณาว่าพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งมีฐานกำลังอยู่แถบที่ราบสูงโคราช ก่อนจะมีบารมีพอที่จะลงไปครองเมืองพระนครได้ ก็ต้องผนึกกำลังกับอีกสองราชวงศ์ด้วยคือราชวงศ์ลวปุระ เศรษฐปุระ และเชยษฐปุระ จดหมายเหตุจีนมักระบุถึงความพยายามที่จะเป็นอิสระของ “หลอฮก” นั่นก็ยอมรับอยู่กลายๆ ว่าเคยอยู่ใต้การปกครองของเขมรพระนคร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะยังเป็นยุคที่ “พวกเสียม” ยังเป็นพวกบ้านนอกป่าเถื่อนหรือไม่ก็ไพร่ทาส กว่าจะเป็นที่ยอมรับก็เมื่อเขมรพระนครเสื่อมสลายไปแล้ว
เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีกับเขมรพระนคร ช่วงเวลาใดก็ตามที่ลพบุรีเอนเอียงไปสัมพันธ์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะถูกคุกคามจากอีกฝ่าย เช่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ที่ผู้คนชาวเมืองหันไปนับถือพุทธแบบทวากันมาก ก็เผชิญสงครามกับเมืองพระนคร เช่นในสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 มีจารึกระบุว่าทรงยกทัพมาทำลายเมืองลวปุระ ปราบปรามฝ่ายผู้เห็นต่างทางศาสนาเสียราบคาบ เมื่อฝ่ายใดชนะก็มักจะทำลายศาสนสถานตลอดจนรูปเคารพในศาสนาของอีกฝ่าย หรือไม่ก็ดัดแปลงมาสู่ศาสนาของผู้ชนะ ฝ่ายเขมรพระนครเมื่อได้ชัยชนะเหนือฝ่ายทวารวดีก็ทุบทำลายสถูปหรือไม่ก็สร้างปราสาทลงทับสถูปเดิมของทวา ครั้นถึงช่วงที่ฝ่ายทวารวดีชนะบ้าง ก็กระทำในทำนองเดียวกัน คือทุบทำลายปราสาทเขมรแล้วสร้างวัดสร้างสถูปสวมทับลงไปแทน วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ กว่าที่ทั้งสองจะผสมกลมกลืนจนอยู่ร่วมกันได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร เป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะสากลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างพุทธกับพราหมณ์ที่อินเดียและลังกามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การพัฒนาเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตย์อันทรงคุณค่าไว้มากมาย ทำให้ลพบุรีเป็นมหานครที่มีความโดดเด่นในแง่สะท้อนความก้าวหน้าในศิลปวิทยาการแบบเรอแนสซองต์ในสมัยอยุธยา กล่าวเฉพาะสำหรับสมัยอยุธยาแล้ว กล่าวได้ว่าลพบุรีสมัยพระนารายณ์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่ “ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย” โดยเฉพาะรูปแบบซุ้มโค้งยอดแหลมที่สะท้อนอิทธิพลเปอร์เชียนั้นเป็นสิ่งที่นิยมทำสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งนี้เป็นเพราะการรู้จักคบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการ นำเอามาปรับประยุกต์ใช้ในสังคมของตนเอง ด้วยความที่ชาวต่างชาติที่พระนารายณ์ติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการอยู่นั้นเป็นคนในช่วงที่เรียกว่า “ยุคแรกเริ่มสมัยใหม่” (Early Modern) การพัฒนาจึงมีลักษณะก้าวกระโดดไปไกลกว่าที่สังคมจารีตแบบไทยจะรับได้หรือปรับตัวได้ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวลือว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนศาสนาไปแล้ว ดังนั้นควบคู่กับการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วไม่กี่ปีในรัชกาลนั้น แรงเหวี่ยงจากลูกตุ้มของพลังทางสังคมแบบจารีตของไทยก็ถาโถมโหมซัดจนนำมาซึ่งการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าว
แม้เราไม่อาจจินตนาการที่แจ่มชัดนักได้ว่า หากสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีรัชทายาทที่สืบทอดและพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ทรงริเริ่มไว้ที่ลพบุรีต่อจากพระองค์ ราชอาณาจักรสยามจะเป็นเช่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญสงครามกับพม่าอย่างใน พ.ศ.2310 อย่างน้อยที่แน่ๆ ก็คาดได้ว่า ด้วยชัยภูมิตลอดจนระบบป้องกันโดยกำแพงป้อมปราการต่างๆ ที่สร้างขึ้นไว้ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้น พม่าคงยากที่จะเอาชนะได้เบ็ดเสร็จด้วยยุทธศาสตร์แบบเดียวกับที่กระทำต่ออยุธยา อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับอยุธยา ลพบุรีเป็นเมืองประวัติศาสตร์ การพัฒนาใดๆ จึงต้องคำนึงถึงมิติความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แต่เฉพาะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ปัญหาสำคัญของเมืองลพบุรีก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่อื่นๆ คือเป็นปัญหาว่าทำอย่างไรคนกับโบราณสถานจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ไม่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีลพบุรีนั้น มิติความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ขยายนัยยะไปเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย เพราะลิงได้อยู่คู่แหล่งประวัติศาสตร์มาจนกลายเป็นอัตลักษณ์พิเศษของเมือง (มหาพิภพวานรของจริง) ลิงก็มีสิทธิจะอยู่ของมันต่อไป ทั้งนี้ขอให้ระลึกว่าลพบุรีก็เป็นบ้านของพวกมันเช่นกัน การที่ลิงสามารถอยู่ร่วมในชุมชนเมืองประวัติศาสตร์ได้ย่อมเป็นสิ่งสะท้อนจิตใจที่งดงามในฐานะมนุษย์
สิ่งนี้ก่อเกิดเป็นนิยามความหมายที่มีคุณค่ายิ่งต่อคำว่า “ความเป็นลพบุรี” และ “คนลพบุรี” สามารถเป็นแบบอย่างเรียนรู้แก่ที่อื่นหรือในอนาคตต่อไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง
หมายเหตุ : เนื่องจากบทความนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนในขณะที่ผู้เขียนติดภาระหน้าที่ในต่างจังหวัด จึงใช้วิธีเรียบเรียงจากความจดจำรำลึกตามที่เคยอ่านผ่านตามาเป็นส่วนใหญ่ และใช้เอกสารหลักฐานได้เพียงบางชิ้นที่ติดตัวมาและเท่าที่พอจะหาได้ในห้องสมุดต่างจังหวัดสำหรับการอ้างอิง อีกทั้งผู้เขียนยังปรารถนาจะให้ผู้อ่านได้อรรถรสต่อเนื่องราบรื่น ตามลักษณะของงานอันเปรียบเสมือนคู่มือท่องเที่ยวในเชิงลึกได้บ้าง จึงไม่ใช่วิธีการอ้างอิงที่ทำให้รกรุงรังในเนื้อหาเหมือนอย่างงานเขียนวิชาการทั่วไป แต่อย่างไรเสียหากผิดพลาดประการใดผู้เขียนขอน้อมรับไว้ ณ ที่นี้ด้วย เอกสารที่ใช้อ้างอิงในที่นี้แบ่งเป็น 2 หมวดมีรายการดังนี้
เอกสารหมวดแรก (หลักฐานชั้นต้น) :
กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
การปฏิวัติปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา. แปลโดย แม้นมาส ชวลิต, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548.
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.
คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.
คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.
ชัวซีย์, บาทหลวง. จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550.
แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. เที่ยวตามทางรถไฟ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557.
ต้ากวน, โจว. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
ตาร์ชารด์, กวีย์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2551.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2505.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2507.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2553.
พุทธพุกาม, พระ และ พุทธญาณ, พระ. ตำนานมูลศาสนา. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2557.
รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย แสง มนวิฑูร, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2518.
ลาลูแบร์, มงซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2552.
ศิลปากร, กรม. “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ใน เรื่องเมืองนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมการทหารสื่อสาร, 2510.
ศิลปากร, กรม. “พระราชพงศาวดารเหนือ” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539.
ศิลปากร, กรม. จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ดำรงธรรม, 2511.
ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.
ศิลปากร, กรม. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: แผนกงานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527.
ศิลปากร, กรม. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 2 จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. แปลและชำระโดย ยอร์ช เซเดส์, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2504.
อิบรอฮีม, อิบนิ มูหัมมัด. สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. แปลโดย ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
เอกสารหมวดที่สอง (ผลงานวิชาการ) แนะนำให้อ่านเพิ่ม :
กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ.2421. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนกร, 2470.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. เที่ยวตามทางรถไฟ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมโบราณในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2524.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.
ปรีดี พิศภูมิวิถี. สังคมอยุธยาในสายตาฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ลพบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, 2558.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
ภูธร ภูมะธน. (บก.). ภาพเก่าเล่าอดีตลพบุรี. ลพบุรี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี, 2540.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
ไรท์, ไมเคิล. ฝรั่งอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2542.
วินัย พงศ์ศรีเพียร และตรงใจ หุตางกูร. (บก.). มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2558.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ลพบุรีหลังวัฒนธรรมเขมร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2559.
หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2559.
Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia: Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia. Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project, 1999.
Continuing Education Center and the Translation Center and Faculty of Arts Chulalongkorn University. A Survey of Thai Arts and Architectural Attractions: a Manual for Tourist Guides. Bangkok: Chulalongkorn University, 1987.
Cruysse, Dirk Van der. Siam and the West 1500-1700. Translated by Michael Smithies, Chiangmai: Silkworm Books, 2002.
Garnier, Derick. Ayutthaya: Venice of the East. Bangkok: Riverbooks, 2004.
Hauser, Arnold. The Social History of Art. London: Routledge, 1989.
Smithies, Michael. Seventeenth Century Siamese Exploration. Bangkok: The Siam Society, 2012.
The Office of the Basic Education Commission. Lop Buri: the City of Civilization. Bangkok: Ministry of Education Thailand, 2005.
Vickery, Michael. Society, Economics, and Politics in Pre-Angkor Combodia. Tokyo: Centre for Southeast Asian Cultural Studies for Unessco, 1998.
Woodward, H.W. Jr. Studies in the Art of Central Siam 950-1350 A.D. Ph.D. Thesis Yale University, 1975.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2563