บันทึกทหารไทยในฝรั่งเศส เมื่อ WW2 ปะทุ ฝรั่งเศสแพ้ยับเพราะ “มุ่งหาความสุขสบาย” ?

(ซ้าย) สถานที่ลงนามการสงบศึกระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส (ขวา) ร้อยเอก วิชา ฐิตวัฒน์

ร.อ.วิชา ฐิตวัฒน์ (ยศในขณะนั้น) ทหารไทยที่ได้ไปเรียนยุโรปในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เขียนบันทึกลงหนังสือ “คนไทยในกองทัพนาซี” ซึ่งเรื่องราวน่าสนใจหลายประการ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมรภูมิรบโดยตรง แต่ก็บันทึกให้เห็นสภาพของฝรั่งเศสในช่วงสงครามปะทุได้เป็นอย่างดี

ร.อ.วิชาเป็นทหารที่ได้รับทุนจากรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาสื่อสารที่ประเทศเบลเยียม โดยเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 โดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ จากนั้นโดยสารเรือฝรั่งเศสชื่อ “เชอนองโซ่” เดินทางไปยังเมืองมาร์กเซยของฝรั่งเศส เมื่อเรือเทียบท่าที่เมืองมาร์กเซยแล้วเดินทางต่อไปยังกรุงปารีสด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวในปารีสไม่นานจึงเดินทางไปยังกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม โดยได้ไปพำนักที่บ้านของบารอนเนสคนหนึ่ง

ร.อ.วิชา เรียนที่โรงเรียน “Michot Mongenast” หลังจากอยู่ในเบลเยียมไม่นานราว 1 เดือน สงครามระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ก็อุบัติขึ้น แต่ขณะนั้นเบลเยียมยังคงรักษาความเป็นกลาง ร.อ.วิชา บันทึกว่า เวลานั้นยังไม่มีสิ่งใดต้องเป็นกังวล จนกระทั่งเยอรมนีบุกนอร์เวย์ เบลเยียมจึงระดมพลครั้งใหญ่ เริ่มเตรียมการรับมือสงครามอย่างเต็มกำลัง โดยได้ปรับปรุงคลองอัลเบิร์ต (Albert Canal) และป้อมเอเบน-เอเมล (Eben Emael) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันการโจมตีของทหารเยอรมนี โดยจะปล่อยน้ำให้ท่วมคลองเพื่อยับยั้งการรุกคืบของเยอรมนี โดยกลยุทธ์นี้ทำสำเร็จมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ 1

หลังจากเยอรมนีเผด็จศึกในโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว จึงหันความสนใจมาทางแนวรบด้านอื่น ๆ โดยเยอรมนีส่งกำลังทหารเข้ายึดนอร์เวย์และยึดเดนมาร์ก โดยที่เดนมาร์กแทบจะเปิดประตูให้เยอรมนีเข้ายึดครองโดยไม่มีการต่อต้านใด ๆ

กระทั่งรุ่งอรุณของวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เยอรมนีเปิดฉากโจมตีกลุ่มประเทศต่ำ (เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก) โดยเครื่องบินเยอรมนีบุกถล่มเบลเยียม ร.อ.วิชาบันทึกว่า แม้รัฐบาลเบลเยียมจะประกาศเป็นกลาง แต่ประชาชนโดยเฉพาะพวกนักศึกษามีใจเอนเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตรมานานแล้ว ชาวเบลเยียมเกลียดชังชาวเยอรมันเป็นทุนเดิมเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งก่อน และเมื่อฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้ว ชาวเบลเยียมก็ดีใจและเข้าข้างฝรั่งเศสในทันที

สถานการณ์ดูไม่น่าไว้วางใจ วันรุ่งขึ้น ร.อ.วิชาได้รับโทรเลขให้ย้ายไปอาศัยที่กรุงปารีส ซึ่งต้องเดินทางไปอย่างทุลักทุเล เพราะประชาชนต่างก็หวาดกลัวภัยสงครามและเริ่มลี้ภัยกันแล้ว ร.อ.วิชาบันทึกเชิงตลกขบขันว่า ขามาโดยสารด้วยรถไฟชั้น 1 อย่างดี แต่ขากลับต้องโดยสารถไฟชั้น 4 ต้องนั่งกับพื้น ไม่เท่านั้นยังเป็นพื้นหน้าห้องน้ำอีกด้วย

แนวคลองอัลเบิร์ต (Albert Canal) มองจากป้อมเอเบน-เอเมล (Eben Emael)

ร.อ.วิชา บันทึกว่าส่วนในด้านการรบเล่า ไม่เคยปรากฏข่าวดีสำหรับชาวฝรั่งเศสในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเลย ตลอดฤดูหนาวที่ผ่านมา ฝรั่งเศสกับเยอรมันต่างยันกันอยู่ โดยไม่มีฝ่ายใดเข้าตี การที่เยอรมันตรึงกำลังฝรั่งเศสไว้ก็เพราะเตรียมกำลังไว้ใช้ในด้านอื่น ส่วนฝรั่งเศสที่นั่งเฉย ๆ ก็เพราะหาได้พร้อมที่จะรบไม่ ทั้งในตอนต้นสงคราม ทหารฝรั่งเศสก็ไม่มีจิตใจที่จะรบ เพราะไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องมาตากแดดกรำฝนทนความหนาวหาวิมานอะไร ในเมื่อพลเมืองส่วนมากคอยแต่เสวยสุขอยู่เบื้องหลัง ที่เป็นนิสัยของฝรั่งเศสในศตวรรษนี้ ส่วนมากกลายเป็นนักปรัชญากันไปหมด ยิ่งหลังจากชนะเยอรมันในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสยิ่งนอนใจ ส่วนมากไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น สำนวนที่ใช้กันจนชินก็คือ ‘Je ménfiche’ แปลว่า ‘ช่างหัวมัน’ แล้วต่างก็มุ่งหาความสุขสบายในทางโลกีย์ ไม่ต่างกับสมัยจักรวรรดิโรมันในยามเสื่อมเท่าใดนัก

นอกจากนี้ชาวฝรั่งเศสทั้งชาติยังถูกรัฐสภาต้มเสียสุกโดยโฆษณาว่า ฝรั่งเศสอยู่ในฐานะปลอดภัยยิ่ง ถูกวาทศิลป์ของผู้นำโฆษณาให้ลงทุนสร้างแนวมาจีโนต์อันมหึมาเพื่อจะได้นอนตาหลับ นอกจากนายพลเดอโกลของฝรั่งเศสแล้ว ไม่มีใครสนใจในแง่ของเทคนิคใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะแปรรูปยุทธวิธีในสงครามอนาคต แต่แล้วก็ยังกล้าตะโกนกึกก้องในวันสวนสนาม เมื่อวันชาติก่อนสงครามเกิดเพียง 1 ปีว่า ‘La France est plus forte que jamais’ แปลว่า ‘ฝรั่งเศสกําลังเข้มแข็งยิ่งกว่ากาลใด ๆ’ 

ร.อ.วิชายังอธิบายถึงความสำราญของชาวฝรั่งเศสในช่วงสงครามว่า “พอมีศึกเยอรมันก็ประกาศห้ามเต้นรำตามสาธารณสถานโดยสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้ทหารในแนวรบท้อใจว่า ชาวเมืองเอาแต่ความสุข ส่วนฝรั่งเศสยังเต้นรำกันสนุกสนานจนปารีสแตก หรืออีก 3 วันจะแพ้ จึงหยุดเต้นรำ”

เนเธอร์แลนด์พยายามต้านเยอรมนีด้วยการเปิดทำนบให้น้ำท่วม แต่เยอรมนีใช้ทหารพลร่มลงในแนวหลัง ยึดสถานที่สำคัญทั้งสนามบินและท่าเรือ สู้รบกันได้เพียง 4 วันเท่านั้น เนเธอร์แลนด์จึงยอมพ่ายแพ้

ในการรบที่เบลเยียม ที่คลองอัลเบิร์ตและป้อมเอเบน-เอเมล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเบลเยียมที่ใช้ป้องกันการโจมตีของทหารเยอรมนี จุดนี้อยู่บริเวณพรมแดนติดกับเยอรมนี หากพ่ายแพ้ หนทางก็จะเปิดโล่งสู่กรุงบรัสเซลและพื้นที่อื่น ๆ ง่ายมากขึ้น

ร.อ.วิชา อธิบายว่า ในตอนค่ำ เยอรมนีส่งทหารพลร่มลงบริเวณจุดสำคัญ ๆ เมื่อถึงเวลาเช้าจึงเริ่มทำการโจมตี ทหารเยอรมันเข้าขัดขวางการทำลายสะพานของเบลเยียมที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว จากนั้นจึงส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีป้อมอย่างหนัก จากนั้นทหารเยอรมันก็เข้าปิดล้อมป้อม ทหารพลร่มก็ตามมาอีกเป็นระลอกที่ 2 แล้วร่วมกันโจมตีฝ่ายเบลเยียมอย่างหนักจนทำลายยุทโธปกรณ์ของทหารเบลเยียมไปได้อย่างมาก ทำให้อำนาจการป้องกันของเบลเยียมเริ่มลดลง จนกระทั่งยอมแพ้ในที่สุด

ทหารเบลเยียมจึงล่าถอยออกจากแนวคลองอัลเบิร์ต ทว่าการการโจมตีหลักของทหารเยอรมนีไม่ใช่แนวคลองอัลเบิร์ตและป้อมเอเบน-เอเมล แต่อยู่ที่ด้านป่าอาร์เดน ถัดลงมาทางตอนใต้ของเบลเยียม ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรไม่คาดคิดว่าการบุกโจมตีหลักจะมาจากป่าแห่งนี้ เนื่องจากภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าทึบ จึงวางกำลังทหารไว้ป้องกันไม่มาก แต่เยอรมนีใช้รถถัง Panzer เป็นหัวหอกในบุกตะลุยโจมตีอย่างรวดเร็ว เป็นการเปิดทางให้ทหารบกและกำลังเสริมผ่านทางป่านี้ได้อย่างสะดวก ดังนั้นจึงแทบจะไร้การต่อต้านจากฝ่ายสัมพันธมิตร

ถึงตอนนี้ ร.อ.วิชา กล่าวว่า “บรรดาคนไทยในปารีสชักหนาว ๆ ร้อน ๆ” จับกลุ่มพูดคุยเรื่องสงครามกันอย่างใจจดใจจ่อ บางคนก็เริ่มเดินทางกลับประเทศหรือหาลู่ทางไปยังประเทศอื่นบ้างแล้ว จากนั้นได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยที่ติดต่อกับรัฐบาลฝรั่งเศสว่า เห็นควรจะให้ ร.อ.วิชาและพรรคพวก ไปพักที่เมืองปัวตีเย (Poitiers) อยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของฝรั่งเศส

กระทั่งกองทัพเยอรมนีทะลวงป่าอาร์เดนมาได้ และในยุทธการที่เซอด็อง (Sedan) ฝ่ายสัมพันธมิตรเสียหายอย่างหนัก ขณะที่ทหารเยอรมนีสามารถยึดสะพานข้ามแม่น้ำเมิซได้ ซึ่งนั่นทำให้การสงครามเปลี่ยนแปลงให้เยอรมนีได้เปรียบมากขึ้นและสามารถรุกคืบไปได้อย่างรวดเร็ว ร.อ.วิชา นิยามถึงแนวมาจีโนต์ที่ฝรั่งเศสมั่นอกมั่นใจว่า “…เงินทองและเวลาที่ชาติฝรั่งเศสทุ่มเทเพื่อสร้างให้เป็นรั้วของประเทศก็ไม่ได้ผลตอบแทนเลย ในที่สุดมาจีโนต์ก็มีค่าเท่ากับกำแพงเมืองจีน…”

ทหารเยอรมนีขนย้ายกำลังและยุทโธปกรณ์ข้ามแม่น้ำเมิซ หลังยุทธการที่เซอด็อง (Sedan)

แนวมาจีโนต์ (The Majinot Line) นี้คือแนวป้องกันของฝรั่งเศสในส่วนที่ติดต่อกับดินแดนเยอรมนีมาถึงทางตอนใต้ของเบลเยียม แต่แนวสำคัญจะอยู่ด้านตะวันออก บริเวณแม่น้ำไรน์ ซึ่งมีป้อมปราการใต้ดินขนาดใหญ่ 22 แห่งและป้อมปราการขนาดเล็กอีก 36 แห่ง รวมถึงแนวป้องกันอื่น ๆ เช่น เครื่องขัดขวางรถถัง กับดักระเบิด ฯลฯ ฝรั่งเศสมุ่งมั่นว่า แนวมาจีโนต์จะช่วยต้านทานการรุกคืบของเยอรมนีได้นานพอที่จะให้ฝรั่งเศสรวมกำลังพลสำเร็จ ทว่านั่นเป็นแนวคิดก่อนสงครามจะเกิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสงคราม เยอรมนีทุ่มกำลังบุกแนวมาจีโนต์เพื่อหลอกล่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตายใจ แต่กำลังสำคัญที่ใช้ทะลวงก็คือกองทหารในป่าอาร์เดนนั่นเอง

ยุทธการที่เซอด็องทำให้เกิดความระส่ำระสายต่อฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพเยอรมนีใช้เซอด็องเป็นช่องทางสำคัญในการเคลื่อนทัพขนาดใหญ่เข้าสู่ฝรั่งเศสและตลบหลังกองทัพพันธมิตรในเบลเยียม กองทัพเบลเยียมโดยพระเจ้าเลโอโปลจึงสั่งให้ทหารวางอาวุธและเจรจาสงบศึก เรื่องนี้ทำให้ฝรั่งเศสแค้นเคืองเบลเยียมไม่น้อย เพราะตนก็ช่วยเหลือเบลเยียมในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยกัน แต่เมื่อเบลเยียมยอมแพ้เช่นนี้ยิ่งทำให้ฝรั่งเศสทรุดหนักขึ้นไปอีก

เมื่อเยอรมนีทะลวงเข้ามาในฝรั่งเศสได้ก็ตีโอบกลับขึ้นไปทางเหนือ ถึงตรงนี้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรก็ถูกล้อมไว้หมดทุกด้าน ก่อนจะถูกบีบจนมุมที่ดันเคิร์ก ร.อ.วิชา อธิบายว่า เยอรมนีผสานการรบจากกองทัพบกและกองทัพอากาศอย่างดี คือให้เครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มเปิดทางให้รถถังและทหารบก โดยการทิ้งระเบิดแต่ละครั้งก็มักติดไซเรนที่หางลูกระเบิด เมื่อระเบิดถูกปล่อยลงมาก็มีเสียงครวญครางทำการข่มขวัญศัตรู จากนั้นจึงตามด้วยเสียงระเบิดดังสนั่น ทหารเยอรมนีและแผนการรบนี้ได้รับการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ประกอบกับอาวุธที่แข็งแกร่งก็ยิ่งทำให้กองทัพเยอรมนีเอาชนะฝ่ายพันธมิตรได้รวดเร็ว

ร.อ.วิชาบันทึกว่า “รอบ ๆ เมืองปัวติเอ้และเมืองอื่น ๆ แทบทั้งสิ้นของฝรั่งเศสจะหาปตอ. สักกระบอกก็ไม่ได้ นี่แหละผลของการไม่เตรียมตัวไว้แต่ยามสงบ เมื่อเยอรมันเข้ายึดปารีสได้ ขวัญของชาวฝรั่งเศสก็นับว่าไม่เหลือหรอแล้ว ยึดปารีสได้ก็เหมือนยึดฝรั่งเศสได้…”

“จอมพลเปแตง เสือเก่าครั้งมหาสงครามครั้งที่ 1 ตระหนักว่าหากขืนสู้ต่อไปก็จะถึงแก่หายนะทั้งประเทศ จึงเจรจาขอสงบศึกกับเยอรมัน แบ่งประเทศฝรั่งเศสให้อยู่ในความยึดครองของเยอรมันส่วนหนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสเองไปตั้งที่วิชีในเขตอิสระ เนื่องจากฮิตเลอร์ต้องการล้างแค้นที่ปราชัยในสงครามครั้งก่อน จึงให้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกกันที่ป่ากองเปียน (Compiegne) ในรถบรรทุกคนโดยสาร ซึ่งเป็นที่เยอรมันเคยเซ็นสัญญาขอสงบศึกต่อสัมพันธมิตรคราวมหาสงครามครั้งแรก เสร็จแล้วฮิตเลอร์จึงสั่งให้ลากรถคันที่เซ็นสัญญานั้นไปไว้ให้ประชาชนชาวเยอรมันดูที่สวนสัตว์กลางเมืองเบอรดิน”

การสงบศึก 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 (Armistice of 22 June 1940) ลงนามในรถไฟโดยสารในป่ากงเปียญ รถไฟโดยสารคันดังกล่าวเป็นของเฟอร์ดินานด์ ฟอค

ต่อมาเมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบ รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งต่อนักเรียนไทยในฝรั่งเศสแตกต่างกันไป บ้างกลับเมืองไทย บ้างไปเรียนต่อที่อเมริกา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี หรือเยอรมนี ซึ่ง ร.อ.วิชาได้ไปเรียนต่อที่เยอรมนี

เรื่องราวของ ร.อ.วิชาที่ได้ร่ำเรียนวิชาทหารในยุคนาซีจะเป็นอย่างไรต่อนั้น ติดตามในตอนต่อ ๆ ไป

 


อ้างอิง :

หนังสือ คนไทยในกองทัพนาซี เขียนโดย ร.อ.วิชา ฐิตวัฒน์ พิมพ์ครั้งที่ 3

https://www.britannica.com/event/World-War-II/The-invasion-of-the-Low-Countries-and-France

https://www.history.com/topics/world-war-ii/maginot-line


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563