เผยแพร่ |
---|
ไม่น่าเชื่อว่าการก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลกในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปที่กำเนิดคำนิยามเหตุการณ์ลักษณนี้ว่า “การก่อการร้าย” มีผู้สืบค้นพบว่า น่าจะมีกำเนิดมาแล้วกว่า 2 ศตวรรษ ถิ่นกำเนิดของคำคำนี้อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คำว่า “การก่อการร้าย” มีใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่มีการนิยามความหมาย และการถกเถียงถึงนิยามความหมายในวงวิชาการมายาวนาน
จากการสืบค้นของกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้เขียนหนังสือพัฒนาการ “การก่อการร้าย” ในชื่อ “THOU SHALL FEAR เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ” กฤดิกร วงศ์สว่างพาณิช อธิบายวิวัฒนาการของคำว่า “การก่อการร้าย” ไว้อย่างน่าสนใจ และเนื้อหาส่วนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างการจัดการกับความรุนแรงในประเทศนอร์เวย์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2011
คำว่า “การก่อการร้าย” หรือ “Terrorisme” เริ่มต้นใช้ที่ประเทศฝรั่งเศสช่วงปี 1795 หรือประมาณ 6 ปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ในช่วงเวลานั้น ความหมายของคำนี้ไม่ได้มีความหมายตามความเข้าใจในปัจจุบัน เพราะครั้งแรกที่นำมาใช้ เป็นการนำมาใช้เพื่ออธิบายสภาวะความน่าหวาดกลัว (The Reign of Terror) จากการปกครองของโรเบสปิแอร์ ที่ประหารฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่เป็นอริของการปฏิวัติจำนวนมากด้วยเครื่องกิโยตีน สร้างความสยดสยองให้กับประชาชน ฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่พวกเดียวกัน
ทั้งนี้ ก่อนหน้าปี 1795 ใช่ว่าประเทศฝรั่งเศสจะไม่รู้จักความโหดร้ายมาก่อน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการปกครองของกษัตริย์ฝรั่งเศสหลายพระองค์ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศอันโหดร้าย มีทั้งการประหารชีวิตโดยการเผาทั้งเป็นในที่สาธารณะ และเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย
การที่คำว่า “การก่อการร้าย” เกิดขึ้นมาในช่วงปี 1795 เพราะการเกิดสำนึกคิดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งมองหรือเชื่อว่ารัฐชาติคือสมบัติร่วมของประชาชนทุกคนในรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อแผ่นดินที่เป็นรัฐชาติถูกกระทำจากบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะหมายถึงการทำร้ายหรือทำลายผลประโยชน์ของทุกคนในรัฐในฐานะเจ้าของแผ่นดิน ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่รัฐเป็นของผู้ปกครอง การกระทำต่อแผ่นดินจึงเป็นการกระทำต่อผู้ปกครอง ดังคำที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าคือรัฐ รัฐคือตัวข้าพเจ้า”
ในช่วงศตวรรษที่ 19 คำว่า “การก่อการร้าย” ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะ Edmund Burke ซึ่งเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ และนักพูดสายอนุรักษ์นิยมชาวไอร์แลนด์พูดถึงการลุกฮือของกลุ่มเกษตรกรในไอร์แลนด์ที่ต่อต้านเจ้าที่ดินว่าเป็น “สัตว์จากนรกที่เรียกว่าผู้ก่อการร้าย”
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า “การก่อการร้าย” เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในครั้งนี้มีการเพิ่มความเชื่อมโยงกับ “ยุทธการลอบสังหารทางการเมือง” โดยกลุ่ม Narodnaya Volya ที่ต่อต้านระบบซาร์ ใช้การ “ทำลายจุดศูนย์กลางของอำนาจ” ซึ่งก็คือการลอบสังหารพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ในเดือนมีนาคม 1881
กฤดิกร อธิบายต่อมาว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ การก่อการร้ายถูกเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวแบบอนาธิปไตย โดยกลุ่มนิยมอนาธิปไตยต่อต้านอำนาจรัฐด้วยการปาระเบิดใส่ และพร้อมกับสโลแกน “แสดงให้เห็นผ่านการกระทำ” (Propaganda by the deed) ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอย่างที่เข้าใจหรือรับรู้ในปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการตีความการก่อการร้ายในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง
ต่อมาช่วงทศวรรษที่ 1940 – 1950 คำว่า “การก่อการร้าย” ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวางและถี่ขึ้น โดยถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายความพยายามในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่พยายามต่อต้านเจ้าอาณานิคมมีความชอบธรรมสูง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “การล่าอาณานิคม” ในห้วงเวลานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอีกต่อไป จนบางครั้งมีความพยายามใช้คำอื่นแทน เช่น “กลุ่มผู้ร้าย” (Bandit)
เมื่อปี 1988 อเล็กซ์ ชมิด (Alex P. Schmid) นักวิชาการด้านการก่อการร้ายศึกษาและความมั่นคงศึกษาชื่อดังชาวเนเธอร์แลนด์แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ เขาพยายามหาองค์ประกอบหลักทั้งหมดเท่าที่จะสามารถทำได้ในการใช้คำว่า “การก่อการร้าย” จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำมาสรุปสร้างนิยามให้ครบถ้วน เขาสรุปองค์ประกอบหลักที่ใช้นิยามการก่อการร้ายออกมาได้ 22 องค์ประกอบ จากนั้นก็นำมาสร้างเป็นนิยามการก่อการร้ายให้ครอบคลุมที่สุด เขาสรุปไว้ว่า
“การก่อการร้าย คือวิธีการซึ่งได้รับอิทธิพลจากการสร้างความวิตกกังวลในการใช้ความรุนแรงซ้ำๆ ซึ่งกระทำโดยปัจเจกบุคคลที่มีลักษณะ (กึ่ง) ซ่อนเร้น เป็นกลุ่ม หรือเป็นตัวแสดงของรัฐ เพื่อเหตุผลอันมีลักษณะเฉพาะ เป็นอาชญากรรม หรือเหตุผลทางการเมืองซึ่งตรงข้ามกับการลอบสังหารเป้าหมายโดยตรงของการใช้ความรุนแรงมิใช้มีเป้าหมายหลัก มนุษย์ซึ่งตกเป็นเหยื่ออย่างกะทันหันในจุดเกิดเหตุโดยทั่วไปจะเกิดจากการเลือกแบบสุ่ม (เป้าหมายตามโอกาส) หรือเลือกอย่าง (เป็นตัวแทน หรือเป็นสัญลักษณ์) อิงตามกลุ่มประชากร ซึ่งเหยื่อเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสาร สารซึ่งวางรากฐานอยู่บนการคุกคามและความรุนแรงที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้ก่อการร้าย (หรือองค์กร) เหยื่อ (ซึ่งถูกทำให้ตกอยู่ในอันตราย) และเป้าหมายที่ถูกใช้เพื่อชักจูงเป้าหมายหลัก (ผู้ส่งสาร) เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นเป้าของความหวาดกลัว เป็นเป้าแห่งการเรียกร้อง หรือเป็นเป้าแห่งความสนใจ ขึ้นอยู่กับสิ่งใดเป็นความต้องการมูลฐานระหว่างการขู่ให้กลัว การข่มขู่ หรือการโฆษณาการ”
นิยาม “การก่อการร้าย” ของชมิดดังกล่าวนี้เป็นนิยามกระแสหลัก ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับในวงกว้างที่สุดนิยามหนึ่งในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน นิยามของชมิด ก็ถูกวิพากษ์จากนักวิชาการอีกหลายคน ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่านิยามดังกล่าวเริ่มไม่ตอบคำถามบางคำถามสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงบางส่วนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น กลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่มีแนวโน้มจะคัดเหยื่อของการก่อการร้าย ซึ่งตรงกันข้ามกับนิยามของชมิดที่ระบุว่าการก่อการร้าย คือการไม่เจาะจงเลือกเป้าหมาย หรือเป้าหมายจะมีลักษณะถูกสุ่มเป็นเหยื่อ
กฤดิกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีนักวิชาการ นักคิดสายวิพากษ์บางคนมองว่า “การก่อการร้าย” ในทางทฤษฎีไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงการสร้างคำขึ้นมาอย่างซ้ำซ้อน เพราะหากคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะไม่สามารถแยก “การก่อการร้าย” ออกจาก “ความรุนแรง” ได้เลย เมื่อไม่สามารถแยกออกมาได้ โดยหลักการมันจึงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงคำหรือสิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงชุดใหม่เท่านั้น ซึ่งนักวิชาการคนสำคัญที่มีท่าทีในลักษณะดังกล่าวคือ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซตส์ (MIT)
แม้ในปัจจุบันนี้ คำว่า “การก่อการร้าย” ยังคงมีความหมายที่เลื่อนไหลอยู่ไม่น้อย แล้วแต่การตีความของแต่ละคน อันเป็นผลจากธรรมชาติของทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่ไม่ตายตัวเหมือนกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ “การก่อการร้าย” ที่เกิดขึ้นอันเป็นลักษณะของการใช้ความรุนแรง และเกิดการสูญเสียมาหลายต่อหลายครั้งทั่วทุกทุมโลก คำถามสำคัญต่อมาคือ รัฐมีวิธีการจัดการกับผู้ก่อการอย่างไร?
ทั้งนี้ ในหนังสือของ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศนอร์เวย์ และการจัดการกับเหตุการณ์ความรุนแรงนี้โดยรัฐและประชาชน ซึ่งกฤดิกร นิยามว่าเป็น “ก้าวที่สำคัญมาก (และอาจจะเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด) ในประวัติศาสตร์การตอบโต้การก่อการร้าย”
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 ที่ประเทศนอร์เวย์ พวกเขาต้องเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ เมื่อนายแอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก (Anders Behring Breivik) ก่อเหตุสะเทือนขวัญสังหารประชาชนมากถึง 77 ชีวิต จากเหตุการณ์ต่อเนื่อง 2 เหตุการณ์คือ ระเบิดรถยนต์บริเวณอาคารที่ทำการรัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บ 200 ราย สาหัส 12 ราย หลังจากผ่านไปได้ 2 ชั่วโมงเขาก่อเหตุอีกครั้งที่เกาะอูเตอย่า เกาะที่เป็นที่ตั้งแคมป์ฤดูร้อนของสภาพแรงงานระดับเยาว์ชนที่ใหญ่ที่สุดของนอว์เวย์
ในการก่อเหตุครั้งที่สอง เขาได้แต่งกายด้วยชุดตำรวจพร้อมกับตราตำรวจปลอมที่เขาทำขึ้น และนั่งเรือข้ามฟากไปที่เกาะอูเตอย่า และกราดยิงสมาชิกที่เข้าค่ายฤดูร้อนจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 68 รายส่วนรายที่ 69 ไปเสียที่ชีวิตที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บ 110 ราย สาหัส 55 ราย
ต่อมา เขาถูกจับกุมที่เกาะอูเตอย่าและถูกนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ศาลใช้เวลาไต่สวนระหว่าง 16 เมษายน – 22 มิถุนายน 2012 ตัดสินคดีวันที่ 24 สิงหาคม 2012 โดยเขาถูกจำคุก 21 ปี สามารถเพิ่มโทษได้ครั้งละ 5 ปี กรณีที่เขาใกล้พ้นโทษแต่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
กฤดิกร เล่าต่อมาว่า สิ่งที่สร้างความตื่นตกใจให้คนทั่วโลกคือ สังคมนอร์เวย์เลือกจัดการกับความรุนแรงครั้งนี้ด้วยความคิดแบบผู้ใหญ่ (วุฒิภาวะ) ใช้เรื่องของเหตุผลอยู่เหนือความรู้สึก กล่าวคือหลังจากเกิดเหตุ สิ่งที่สังคมนอร์เวย์ทำคือการให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีตากฎหมายบ้านเมือง ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่สามารถตรวจสอบได้
อีกทั้งยังมีการตรวจสอบความวิกลจริตซึ่งพิสูจน์ออกมาแล้วก็พบว่าเป็นปกติ หลังจากนั้นจึงดำเนินคดีตามกฎหมาย สังคมไม่ได้เรียกร้องให้ใช้อำนาจพิเศษหรืออำนาจนอกกฎหมายตัดสินคดีแต่อย่างใด กำหนดบทลงโทษตามกฎหมาย จำคุก 21 ปีในเรือนจำ
กฤดิกร แสดงความคิดเห็นว่า วิธีการแก้ปัญหานี้อาจดูเหมือนแนวทางในอุดมคติและชวนฝัน แต่นอร์เวย์ทำได้จริง โดยต้องอาศัยความเข้าใจ ขันติ และวุฒิภาวะทางสังคมสูงมาก ที่สำคัญคือแนวทางแก้ลักษณะนี้ต้องใช้เวลาเป็นปี หรืออาจหลายสิบปี กฤดิกรชี้ว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรงยิ่งกว่าค่อนข้างห่างไกลจากโมเดลของนอร์เวย์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เรียบเรียงเนื้อหาจาก
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช. THOUSHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการ้าย ความรุนแรง และการครอบงำ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2563