“การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” เมืองอู่ฮั่น จุดเริ่มต้นการล่มสลายของราชวงศ์ชิง

หลัง“การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง”ทหารฝ่ายปฏิวัติยืนถ่ายภาพกับธงสัญลักษณ์การต่อสู้ ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย

ค.ศ. 1911 เป็นปีซินไฮ่ตามปฏิทินจีน เป็นปีที่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีน บันทึกถึงราชวงศ์ชิงที่กำลังเสื่อมถอย ถูกคลื่นลมการปฏิวัติโจมตีจนล่มสลายในที่สุด จุดจบของราชวงศ์สุดท้ายของจีน เริ่มขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ที่เขตหวู่ชาง เมืองอู่ฮั่น (บ้างเรียกหวู่ฮั่น) มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

ทำไม “หวู่ชาง” จึงประสบความสำเร็จ เครดิตนี้ต้องยกให้กับทำเลที่ตั้งของเมือง

หวู่ชาง เป็นเขตการปกครองหนึ่งของเมืองอู่ฮั่น ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วย 3 เขตการปกครอง คือ ฮั่นโข่ว, ฮั่นหยาง, หวู่ชาง อู่ฮั่นมีสมญานามว่า “เส้นทางผ่านของ 9 มณฑล” ตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำแยงซีเกียง (แม่น้ำฉางเจียง) กับแม่น้ำฮั่นสุ่ย ทวนแม่น้ำแยงซีเกียงทางตะวันตกเป็นปากทะเลสาบต้งถิง รุดหน้าต่อไปผ่านช่องสามผาก็จะเข้าสู่เสฉวน ทางตะวันตกออกตามแม่น้ำแยงซีเกียงก็ไปถึงเซี่ยงไฮ้ และเมื่อทางรถไฟปักกิ่ง-ฮั่นโข่ว ให้บริการได้ตลอดสาย การคมนาคมระหว่างมณฑลต่างๆ ทางเหนือก็จะยิ่งสะดวกรวดเร็ว

ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดีเช่นนี้ อิทธิพลทางเศรษฐกิจของทุนนิยมต่างชาติจึงรุกเข้าสู่อู่ฮั่น อุตสาหกรรมยุคใกล้ของจีนก็เกิดขึ้นที่นี่อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาสองมณฑลหู (หูหนานกับหูเป่ย) ที่มีชื่อเสียง คนหนุ่มสาวจำนวนมากมาศึกษาหาความรู้ที่นี่ และมณฑลหูเป่ยส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศค่อนข้างมาก

นั่นทำให้ “อู่ฮั่น” รับความคิดใหม่ของการปฏิวัติค่อนข้างเร็ว ที่นี่จึงเป็นพื้นดินดีสำหรับการต่อสู้

หากราชสำนักชิงก็ระแวดระวังอยู่เช่นกัน รัฐบาลชิงไม่ยอมให้ขุนนางตามมณฑลมีกองทัพขนาดใหญ่ อนุญาตให้จัดตั้งเพียง 1 กองพล และ 1กองพลน้อย หูเป่ยจึงมีเพียงกองพลที่ 8 และกองพลน้อยที่ 21 แต่กลับเป็นกองทหารแผนใหม่ที่มีอาวุธและการฝึกที่ดี ทหารในกองมีสัดส่วนการรู้หนังสือค่อนสูง อย่างไรก็ตาม พวกเขาส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวที่ยากจน ถูกกกดขี่จากนายทหาร ทำให้ทหารแผนใหม่เริ่มรับความคิดปฏิวัติ และกลายเป็นกำลังในการลุกขึ้นสู้

รัฐบาลชิงเองก็คิดไม่ถึงเช่นกันว่า กองกำลังที่เตรียมไว้เพื่อปราบพวกปฏิวัติกลับหันไปเข้ากับฝ่ายปฏิวัติ กำลังหลักของการลุกขึ้นสู่ที่หวู่ชางก็คือ ทหารแผนใหม่ของหู่เป่ยนี่เอง

กระแสการปฏิวัติมที่อู่ฮั่นระอุอยู่ตลอดเวลา ในมณฑลหูเป่ยมีกลุ่มปฏิวัติค่อนข้างใหญ่ 2 กลุ่มคือ สำนักวรรณคดี และสมาคมก้งจิ้นเส้อ ซึ่งผู้นำของกลุ่มดังกล่าวต่างก็เป็นสมาชิกสมาคมพันธมิตรซึ่งนำโดยซุนยัตเซ็น กลุ่มปฏิวัติทั้งสองดำเนินการเผยแพร่แนวคิดการปฏิวัติในหมู่ทหารแผนใหม่อย่างลับๆ แรกสุดใช้ทหารราบกรมที่ 14 แห่งกองพลน้อยที่ 21 เป็นฐานก่อนจะขยายไปตามหน่วยต่างๆ แบบไม่ขาดตอน จนถึงกองพันทหารช่างที่ 8 และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 8

ตามแผนที่วางไว้ กำหนดการลุกขึ้นสู้คือวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับวันไหว้พระจันทร์ (15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน) แต่เนื่องจากเตรียมการไม่พร้อม ประกอบกับมีข่าวลือหนาหูว่าฝ่ายปฏิวัติจะก่อการในวันไหว้พระจันทร์ ทางการถึงกับออกคำสั่งให้ทหารและหน่วยงานต่างๆ จัดงานไหว้พระจันทร์ล่วงหน้าในวัน 14 ค่ำ ฝ่ายปฏิวัติเองก็เลื่อนวันก่อการในวันที่ 6 ตุลาคม ออกไปเป็นวันที่  9 ตุลาคม

แต่การเตรียมระเบิดของฝ่ายปฏิวัติดเกิดข้อผิดพลาด ทำให้เกิดระเบิดขึ้นระหว่างการประกอบ ฝ่ายปฏิวัติ 3 คน ได้แก่ เผิงฉู่พาน, หลิวฟู่จี และหยางหงเซิ่ง ถูกจับกุม ขณะที่ถูกคุมตัวออกไปนอกห้องโถง หลิวฟู่จีเห็นด้านนอกมีฝูงชนยืนออกันแน่น จึงตะโกนว่า “พี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย! ทุกคนพยายามต่อไปเถอะ สงสารแต่พี่น้องร่วมชาติที่ทุกข์ยากลำเค็ญ”

สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดถูกตัดสินโทษประหารในเช้าวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ข่าวการเสียชีวิตแพร่ไปทั่ว 3 เขตของอู่ฮั่น วันนั้นประตูเมืองอู่ฮั่นถูกปิด ทางการตรวจตราอย่างเข้มงวด ข้าหลวงใหญ่มีคำสั่งให้กวาดล้างครั้งใหญ่ แต่ค่ำวันนั้น “การลุกขึ้นสู้” ก็เกิดขึ้น เริ่มจากกองพันทหารช่างที่ 8 ในกองพลที่ 8 แห่งกองทหารแผนใหม่ในเมือหวู่ชาง  

การสู้รบดำเนินไปตลอดคืนอย่างดุเดือด กำลังของรัฐบาลชิงในหวู่ชางค่อยๆ ถูกกำจัดลง ในที่สุดกองทหารปฏิวัติก็ยึดหวู่ชางได้ทั้งเมือง วันที่ 11 ตุลาคม ยึดเขตฮั่นหยางได้ วันที่ 12 ยึดเขตฮั่นโข่วได้ ในที่สุดทั้ง 3 เขตของเมืองอู่ฮั่นก็ยึดได้ทั้งหมด

ชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง ทำให้เมืองอู่ฮั่นคึกคักขึ้นทันที ด้วยเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชน ความรู้สึกเก็บกดภายใต้การกดขี่อย่างยาวนานของระบอบศักดินาในที่สุดก็ปะทุออกมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด ประชาชนต่างเฉลิมฉลองชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชางราวกับฉลองเทศกาล

ขณะที่เกิดการลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชางอันเป็นจุดเริ่มการปฏิวัติที่รียกว่า “ซินไฮ่” ซุนยัตเซ็นกำลังโฆษณาระดมทุนอยู่ที่โคโลราโด สหรัฐอเมริกา เขารู้ข่าวด้วยความตื้นเต้นจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

หลังชัยชนะของหวู่ชาง พื้นที่อื่นๆ ของจีนต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลชิงต่อเนื่องเหมือนโดมิโน เริ่มจากมณฑลหูหนาน, ซ่านซี, เจียงซี และซานซี ปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มี 14 มณฑลจาก 24 มณฑลทั่วประเทศแยกตัวเป็นอิสระ การปกครองของรัฐบาลชิงก็ถึงคราวล่มสลายลงเป็นลำดับ

 


ข้อมูลจาก

หลิวเสี่ยวฮุ่ย เขียน, เรืองชัย รักศรีอักษร แปล. ซุนยัตเซ็น มหาบุรุษผู้ผลิกแผ่นดินจีน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2556

เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจซุนยัตเซ็น, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2562


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2563