ผู้เขียน | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนิพนธ์หลายเรื่องจนเป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาให้ข้าราชการรวมถึงสมาชิกเสือป่าได้แสดงความสามารถทางการละคร
ดังปรากฏ “จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2485” โดยเนื้อหาฉบับที่ 6 ได้กล่าวว่า
“วันพุฒ ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2458 เวลาค่ำมีละครพูดสมาชิกเสือป่า นายหมวดตรีพิน พฤกษะศรี ประจำกองร้อยที่ 4 เมืองพัทลุงเปนผู้แต่งเรื่องขึ้น ตั้งชื่อเรื่องว่า “พ่อตาใจดี” ในคำพ่อตาสอนลูกเขย มีภาษาเปนสำนวนชาวนอกคล้ายบทหนึ่งในสุภาษิตพระร่วง แสดงว่าชาวเมืองนี้เขาก็มีภาษิตเช่นเดียวกันว่า “เสือพีเพราะป่าปก ป่าที่รกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้าที่ยังเพราะดินมี”
บทละครเรื่อง “พ่อตาใจดี” นั้นจากจดหมายเหตุดังกล่าว ผู้จดบันทึกได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับผู้เขียนบทละครไว้ว่า
“บางคนจะเข้าใจว่าจะทำได้ง่าย จริงอยู่ถ้าเปนเรื่องประเภทลูกเขยฆ่าพ่อตาตายอย่างสมัยเก่าหรือเปนเรื่องรักไม่สมหมายแล้วฆ่าตัวตายอย่างสมัยใหม่ ก็พอจะว่าไม่สู้ยากนักได้ แต่การที่จะแต่งเรื่องพอให้ผู้ดีดูได้ฟังได้เปนของยากมิใช่เล่นเพราะคนที่จะแต่งเรื่องลครได้ดีๆ ย่อมนับว่าเปนจินตกะวี
หรือถ้าจะเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนเปนช่าง (Artist) อย่างพิเศษมีความรอบรู้ตัว ช่างสังเกต ช่างคิดรู้จักความขำมีบัณฑิตอยู่ในตนนายช่างเขียนทุกคน เขียนรูปที่มีแบบแล้วหรือเขียนสิ่งที่ได้ปรากฏแก่จักษุแล้วให้ดีจริงไม่ได้ทุกๆ คนฉันใด ผู้แต่งบทละครจะผูกเรื่องขึ้นแต่งให้ดีจริงๆ ก็หาได้ยากฉันนั้น มิฉะนั้นนายเชกส์เปียร์ (Shakespeare) แชริดัน (Sheridan) โมลแยร์ (Molliere) ราซิน (Racine) แล รอสตอง (Rostand) จะเปนผู้ที่มีชื่อเสียงให้มหาชนแทบทั่วโลกได้อย่างไร”
ด้วยเหตุผลที่การแต่งบทละครมิใช่ของง่ายนั้น นายหมวดตรีพิน พฤกษะศรีจึงได้พระราชทานแหนบสายนาฬิกาอักษรพระปรมาภิไธยลายทองคำเป็นพระราชบำเหน็จผู้แต่งบทละครที่ได้เล่นถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ทอดพระเนตรอีกด้วยซึ่งมีผู้ร่วมยินดีเป็นอันมาก
อ้างอิง :
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2558). จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2485. กรุงเทพมหานคร : บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563