เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ได้จัดบรรยายวิชาการเรื่อง “รัฐประหาร ความชอบธรรม พิธีกรรม ศิลปะ” ณ ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากรโดย ผศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ช่วงหนึ่งในการบรรยาย ผศ.พิชญาได้เสนอข้อมูลใหม่ว่า “เศียรใหญ่” ของพระพุทธรูปสำริด ที่เชื่อกันว่ามาจากวัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หากเศียรใหญ่นี้พบที่วัดพระศรีสรเพชญจริง น่าจะเป็นเศียรของพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้น
หนังสือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รัฐประหาร ความชอบธรรม พิธีกรรม ศิลปะ” งานเขียนเล่มใหม่ของ ผศ.พิชญา สุ่มจินดา ที่พิมพ์เสร็จออกจากโรงพิมพ์มาเพื่อการบรรยายครั้งนี้ ให้ข้อมูลถึงข้อเสนอใหม่ของ “เศียรใหญ่” จากวัดพระศรีสรรเพชญ ว่า
…“เศียรใหญ่”ของพระพุทธรูปสำริด ที่เอกสารของทางการระบุว่าได้มาจากวัดพระศรีสรรเพชญ และปัจจุบันประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เศียรดังกล่าวเคยได้รับการวิเคราะห์จาก ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญซึ่งสร้างในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราวพุทธศักราช 2043 แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้เขียนว่าแบบพระพักตร์มีความแตกต่างจากพระพุทธรูปร่วมสมัยที่มีจารึกหรือเอกสารระบุปีที่สร้างค่อนข้างแน่นอนจึงอาจไม่ใช่เศียรพระศรีสรรเพชญนั้น
ในที่นี้เสนอเพิ่มเติมว่าหาก “เศียรใหญ่” ดังกล่าวพบที่วัดพระศรีสรรเพชญจริง น่าจะเป็นเศียรของพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้นประดิษฐานในพระมณฑปที่ซ่อมแปลงเป็นพระวิหารของวัดพระศรีสรรเพชญมากกว่า เพราะมีรายละเอียดของพระพักตร์ไปในทางเดียวกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 และบรรดาพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์หลายองค์ที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันดังได้กล่าวมาแล้ว หรือในทางกลับกันบรรดาพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์เหล่านี้น่าจะจำลองแบบมาจาก “เศียรใหญ่” อันเป็นเศียรของพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์สำริดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างประดิษฐานไว้ในพระมณฑปที่วัดพระศรีสรรเพชญนั่นเอง
อนึ่ง เมื่อคำนวณเทียบสัดส่วนของ “เศียรใหญ่” กับขนาดเศียรของพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์สำริดจากวัดช่องลม ที่มีลักษณะพระพักตร์คล้ายคลึงกัน และอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อม “เศียรใหญ่” ดังกล่าวเมื่อรวมกับพระวรกายจนถึงพระบาทจะมีความสูงราว 10-11 เมตร ขนาดพอจะประดิษฐานในพระมณฑปหรือพระวิหารพระปาลิไลยก์ที่เสาร่วมในของพระวิหารมีความสูงใกล้เคียงกับเสาพะไลของพระวิหารหลวงพระศรีสรรเพชญที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญซึ่งมีความสูงราว 13-14 เมตรจากการคำนวณของ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล…
หนังสือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รัฐประหาร ความชอบธรรม พิธีกรรม ศิลปะ” สนใจสอบถามได้ที่ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์