ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
คำว่า “ดิงโก” (Dingo) ท่านผู้รู้เขาว่ามาจากภาษาดารุก (Dharug) ภาษาของคนพื้นเมืองในแถบซิดนีย์ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งใช้เรียก “สุนัขป่าที่ทำให้เชื่อง” แต่เมื่อฝรั่งเข้าไปตั้งรกรากในออสเตรเลียแล้ว ก็ยืมคำนี้มาใช้เรียกสุนัขป่าของออสเตรเลียว่า “ดิงโก” ไปหมด ไม่ได้แยกว่าตัวไหนเป็นสุนัขป่าจริงๆ ตัวไหนถูกนำมาเลี้ยงให้เชื่อง ขณะที่คนพื้นเมืองยังเรียกสุนัขป่าในภาษาของเขาว่า “วอร์ริกอล” (warrigal)
ดิงโก เป็นหมาป่าที่มีความคล้ายหมาบ้านมากๆ บางครั้งจึงถูกจัดให้อยู่ในสายพันธุ์ย่อยของหมาบ้าน (Canis lupus familiaris dingo) แต่บางทีก็มีคนจัดให้พวกมันอยู่สายพันธุ์ย่อยของหมาป่า (Canis lupus dingo) เหมือนกัน และเมื่อหาความเห็นที่ตรงกันไม่ได้บางคนก็จัดให้มันเป็นสายพันธุ์เฉพาะไปเลย (Canis dingo)
แล้วเจ้าดิงโกพวกนี้มาอยู่ที่ออสเตรเลียตั้งแต่เมื่อไหร่? ตามหลักฐานที่พบเป็นซากฟอสซิล รวมถึงภาพวาดผนังถ้ำ สันนิษฐานว่า พวกมันน่าจะมาอยู่ในทวีปออสเตรเลียอย่างช้าที่สุดก็เมื่อ 3,500 ปี ก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็เสนอว่า จริงๆ แล้วพวกมันอาจจะมาอยู่ที่ดินแดนดาวน์อันเดอร์ตั้งแต่ 4,600-18,300 ปีก่อนก็เป็นได้ โดยอาศัยข้อยืนยันเป็นการศึกษาดีเอ็นเอของพวกมันในไมโตรคอนเดรีย
ส่วนใครเป็นคนพาพวกมันข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาก็ยังเป็นเรื่องที่ยังสรุปไม่ได้ บ้างก็ว่าน่าจะเป็นนักท่องทะเลชาวอินเดีย บ้างก็บอกว่าเป็นชาวละปิตา (Lapita) ซึ่งตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ด้านตะวันออกของทวีปเอเชีย ไปจนถึงหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก บ้างก็ว่าน่าจะเป็นพ่อค้าจากติมอร์หรือไต้หวันหรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆ ผู้เชี่ยวชาญไม่คิดว่าพวกมันจะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรมาจากแผ่นดินใหญ่ได้เอง
และก่อนที่ชาวยุโรปจะพากันมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย ดิงโกถือเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพวกมันจะชอบจับพวกจิงโจ้และวัลลาบีกินเป็นหลัก แต่พอชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานราวศตวรรษที่ 19 พวกเขาได้พาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์เอเลี่ยนเข้ามาด้วยมากมาย โดยเฉพาะพวกกระต่ายและสัตว์ฟันแทะต่างๆ เจ้าดิงโกเลยเปลี่ยนพฤติกรรมไปล่าพวกสัตว์ฟันแทะที่จับได้ง่ายกว่า ผู้เชี่ยวชาญเลยคิดว่า สาเหตุที่แทสมาเนียนวูล์ฟ และแทสมาเนียนเดวิล สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินใหญ่ก็น่าจะเป็นเพราะพวกมันแย่งอาหารสู้พวกดิงโกไม่ไหวก็เป็นได้
แต่การมาถึงของคนขาวก็กลายเป็นข่าวร้ายของเจ้าดิงโกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหมือนกัน เพราะพวกมันก็ออกหากินไปตามธรรมชาติ เมื่อเห็นฝูงปศุสัตว์ของนักล่าอาณานิคมเข้าก็จับกินตามปกติ ทำให้มนุษย์กลุ่มใหม่ที่เข้ามาทีหลังเห็นพวกมันเป็นสัตว์รังควานจึงออกตามล่าพวกมันกันยกใหญ่
คนขาวผู้เกรี้ยวกราดจึงมักเปรียบดิงโกว่าเป็นปีศาจที่ชั่วร้าย นักล่าที่ขี้ขลาด ชอบลอบโจมตีแล้วหลบหนี บ้างก็กล่าวหาว่าพวกมันชอบล่าเหยื่อตามใจชอบไม่ใช่ล่าเพื่อยังชีพ คำว่า “ดิงโก” จึงถูกนำมาใช้เป็นคำด่าคนว่าเป็นพวกขี้ขลาด ขี้โกง มาจนถึงทุกวันนี้
แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ปัญหาจริงๆ มันไม่ได้มาจากดิงโกพันธุ์แท้หรอก เพราะพวกมันเป็นสัตว์ที่มักอยู่เป็นฝูงแล้วก็ไม่ค่อยได้มายุ่งกับฝูงปศุสัตว์ของมนุษย์เท่าไหร่นัก แต่เป็นหมาบ้านที่ผู้อพยพจากยุโรปนำเข้ามาเพื่อเอามาใช้ช่วยในการล่าสัตว์นี่แหละที่เป็นตัวปัญหา เพราะหมาพวกนี้จำนวนมากถูกทอดทิ้ง กลายเป็นหมาจรจัด แล้วบางส่วนก็ไปผสมพันธุ์กับดิงโกพันธุ์แท้ กลายเป็นหมาป่าข้ามสายพันธุ์ไป
แบร์รี โอกแมน (Barry Oakman) ประธานสมาคมอนุรักษ์ดิงโกแห่งออสเตรเลียบอกว่า เจ้าพวกดิงโกข้ามสายพันธุ์มีขนาดใหญ่กว่าดิงโกพันธุ์แท้มาก ครั้งหนึ่งเคยมีคนยิงดิงโกข้ามสายพันธุ์ที่มีน้ำหนักถึง 70 กิโลกรัมได้ ขณะที่ดิงโกพันธุ์แท้ปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยแค่ 15 กิโลกรัมเท่านั้น
แล้วเจ้าหมาป่าข้ามสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ผิดปกตินี่แหละคือตัวปัญหา เพราะธรรมชาติของมันต่างจากดิงโกพันธุ์แท้ที่ชอบอยู่เป็นฝูงมีจ่าฝูงควบคุม แต่พวกข้ามสายพันธุ์มักจะออกเพ่นพ่านรังควานฝูงปศุสัตว์ และสัตว์พื้นถิ่น ต่างจากดิงโกพันธุ์แท้ที่นักอนุรักษ์อ้างว่า พวกมันคือตัวที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ของออสเตรเลีย
โอกแมนให้เหตุผลว่า นอกเหนือไปจากพวกหมาป่าข้ามสายพันธุ์แล้ว สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อฝูงปศุสัตว์และสัตว์พื้นเมืองยิ่งกว่าดิงโกก็คือ แมวจรจัดและหมาจิ้งจอกที่มาพร้อมกับผู้อพยพชาวยุโรป และดิงโกก็คือสัตว์ที่จะช่วยกันสัตว์พวกนี้ไม่ให้เข้ามารบกวนชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์ได้ เพราะเมื่อดิงโกแสดงอาณาเขตของมันแล้ว สัตว์นักล่าชนิดอื่นก็ไม่ค่อยกล้าเข้าใกล้พื้นที่ของพวกมัน
แต่ดิงโกพันธุ์แท้ตอนนี้กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย นักวิจัยเคยสำรวจประชากรดิงโกทั่วออสเตรเลียแล้วพบว่ากว่า 80 เปอร์เซนต์ของหมาป่าพวกนี้ได้กลายเป็นพวกสายพันธุ์ผสมไปแล้ว และดิงโกพันธุ์แท้ก็อาจจะสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ก็เป็นได้
อ้างอิง :
“Dingo”. Serge Lariviere. Encyclopedia Brittanica. <https://global.britannica.com/animal/dingo-mammal>
“Does Extinction Loom for Australia’s Wild Dingoes?”. National Geographic. <http://news.nationalgeographic.com/news/2004/12/1210_041210_australia_dingoes.html>
“How did the dingo get to Australia”. Science Mag. <http://www.sciencemag.org/news/2016/04/how-did-dingo-get-australia>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559