พิจารณาถ้อยคำใน “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าหรือไม่?

สำเนาสนธิสัญญาเบอร์นีย์ฉบับภาษาไทย (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวในวงการศึกษาซึ่งเป็นที่สนใจเป็นอย่างมากคือข่าวที่ว่า ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ม.6 วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีการเฉลยข้อสอบผิดถึง 5 ข้อ

หนึ่งในข้อสอบที่เป็นปัญหาคือข้อ 63 ซึ่งถามว่า ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับชาติตะวันตก โดยมีตัวเลือก 5 ข้อ คือ 1.สนธิสัญญาครอว์ฟอร์ด 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ 3.สนธิสัญญาบรุค 4.สนธิสัญญาเบาว์ ริง 5.สนธิสัญญาปาวี ซึ่ง สทศ.เฉลยว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง

คำเฉลยดังกล่าวมีหลายคนออกมาทักท้วง โดยอ้างว่า คำตอบที่ถูกต้องน่าจะเป็น สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ซึ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มากกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

อย่างไรก็ดี สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการบริหารสทศ. ยืนยันว่า คำเฉลยของทางสทศ.ถูกต้องแล้วเนื่องจาก “สนธิสัญญาเบอร์นีย์ เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งไม่มีเรื่องการค้าใดๆ และยังพบด้วยว่า นักเรียน 4 แสนคน ไม่ได้สับสนกับคำถาม เพราะมีคนตอบว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง ถึง 52% และตอบว่าสนธิสัญญาเบอร์นีย์แค่ 20%”

ได้ยินดังนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่า น่าจะนำเนื้อหาบางส่วนของสนธิสัญญาเบอร์นีย์มาเผยแพร่และให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองพิจารณาดูว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาทางการค้าหรือไม่

สนธิสัญญาของเบอร์นีย์มีทั้งสิ้น 14 มาตรา ห้ามาตราแรกเป็นการประกาศว่าทั้งสองฝ่ายจะเป็นมิตรต่อกัน ไม่รุกรานกัน และไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียหายซึ่งน่าจะเข้าลักษณะเป็น “สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี” ตามที่สุรพลอ้าง

แต่ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านได้ลองพิจารณาข้อความบางมาตราตั้งแต่มาตรา 6 เป็นต้นไป ตามที่ผู้เขียนได้แปลมาจากสนธิสัญญาฉบับภาษาอังกฤษดังนี้

“มาตรา 6 พ่อค้าในสังกัดของอังกฤษหรือสยามที่ทำการค้าในเบงกอล หรือพื้นที่ใดที่อยู่ใต้การดูแลของอังกฤษ หรือกรุงเทพฯ หรือประเทศใดๆใต้ปกครองของสยาม จะต้องจ่ายอากรการค้าตามหลักศุลกากรของดินแดนหรือประเทศนั้นๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเหล่าพ่อค้า ประชาชนในดินแดนนั้นๆจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายโดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ใดในดินแดนนั้นๆ หากพ่อค้าสยามหรืออังกฤษรายใดมีข้อพิพาทหรือคดีความจะต้องร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ หรือข้าหลวง ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม และพวกเขา(เจ้าหน้าที่หรือข้าหลวง) จะเป็นผู้สอบสวนและตัดสินคดีเสมอกัน ตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในดินแดนหรือประเทศนั้นๆไม่ว่าฝ่ายใด หากพ่อค้าสยามหรืออังกฤษซื้อหรือขายสินค้าโดยไม่รู้ถึงเจตนาของผู้ซื้อหรือผู้ขาย และคู่ค้านั้นๆกระทำทุจริตได้ไปซึ่งทรัพย์สินและหลบหนีไป ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่จะต้องทำการตามหาและพิจารณาคดีต่อผู้หลบหนีนั้นๆด้วยความสุจริต หากบุคคลดังกล่าวมีเงินหรือทรัพย์สิน อาจทำให้เขายอมชำระราคาได้ แต่หากเขาไม่มีทรัพย์สินใด หรือไม่อาจจับกุมตัวได้ ความเสียหายย่อมตกเป็นพับแก่พ่อค้านั้น”

“มาตรา 9 พ่อค้าในสังกัดของอังกฤษ ที่ต้องการทำการค้าในดินแดนใดๆของสยาม ที่ยังไม่เคยมีพิธีการทางศุลกากรเพื่อทำการค้าหรือมีปฏิสัมพันธ์มาก่อน จะต้องแจ้งไปยังข้าหลวงประจำดินแดนนั้นๆ หากดินแดนดังกล่าวไม่มีสินค้า ข้าหลวงต้องแจ้งแก่เรือสินค้าที่เดินทางมาว่าไม่มีสินค้าแลกเปลี่ยน หากดินแดนนั้นๆ มีสินค้ามากพอที่จะซื้อขาย ข้าหลวงจะต้องอนุญาตให้เรือสินค้าเข้ามาทำการค้า”

เห็นได้ว่า ทั้งสองมาตราที่ยกมาข้างต้นเป็นข้อกำหนดว่าด้วยพิธีการทางการค้า เช่นเดียวกับอีกหลายมาตรา เช่น มาตรา 7 ว่าด้วยการจัดตั้งสถานีการค้า มาตรา 10 ว่าด้วยการทำการค้าในบางดินแดนของกลุ่มคนในสังกัดของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องเป็นไปโดยไม่มีข้อจำกัด

จากเนื้อความข้างต้น สนธิสัญญาฉบับนี้จึงเป็นสนธิสัญญา “ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า” แน่ๆ แต่สุรพลกลับบอกว่า สนธิสัญญาเบอร์นีย์ “ไม่มีเรื่องการค้าใดๆ” จึงเป็นสิ่งที่น่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดสุรพลจึงได้กล่าวออกมาเช่นนั้น

ผู้เขียนได้แต่สันนิษฐานว่า การที่สุรพลบอกว่า สนธิสัญญาเบอร์นีย์ไม่ใช่ “ไม่มีเรื่องการค้าใดๆ” อาจเป็นเพราะภูมิหลังของสุรพลที่เป็นนักกฎหมาย จึงอาจมีคำจำกัดความเฉพาะของคำว่า “ทางการค้า” ตามเหตุผลของนักกฎหมายที่อาจต่างไปจากชาวบ้านธรรมดาๆ หรือเป็นไปได้ว่าเขายังมิได้อ่านเนื้อความตามสนธิสัญญาด้วยตนเอง


ข้อมูลคำสัมภาษณ์ของสุรพล นิติไกรพจน์ จาก “จบนะ!! บอร์ดสทศ.แถลงยืนยัน โอเน็ตวิชาสังคมฯไม่ผิดเพิ่ม”. มติชนออนไลน์. <http://www.matichon.co.th/news/173860>