ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2545 |
---|---|
ผู้เขียน | มนัส โอภากุล |
เผยแพร่ |
ข้าพเจ้าเกิดปีขาล พ.ศ. 2457 ปีเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น สู้รบกัน 4-5 ปี สงบเมื่อปี พ.ศ. 2461 เพิ่งลืมตาดูโลกคงไม่รู้เรื่องอะไร
ค่อย ๆ โตขึ้นพอรับรู้กลิ่นอายของสงครามนิด ๆ เห็นแต่ยายของข้าพเจ้าตัดผมสั้นแบบผู้ชาย มีจอนยาวทัดที่หู นุ่งผ้าโจงกระเบน ยายบอกว่าเมื่อเป็นเด็ก ๆ ปู่ย่าเล่าให้ฟังว่าต้องคั่วข้าวแล้วตากแห้งใส่ไถ้เตรียมไว้ พอเกิดสงครามก็คว้าถุงข้าวตากหนีเข้าป่าไป แต่ยายของข้าพเจ้ามิได้หมายความถึงสงคราม โลก หมายถึงสงครามไทยกับพม่าที่รบติดพันกันเรื่อยมา
สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น เยอรมนีเป็นฝ่ายหนึ่ง แต่แล้วเยอรมนีเป็นฝ่ายปราชัย เงินมาร์กเยอรมันตกวูบวาบ หลายหมื่นเหรียญแลกได้เพียง 1 ดอลลาร์ของอเมริกาเท่านั้น และยังตกลงทุก ๆ วัน ใครที่มีเงินมาร์กอยู่ในครอบครองต้องรีบใช้ให้หมดไปในวันหนึ่ง ๆ เพราะวันพรุ่งนี้เงินยังจะเสื่อมค่าลงไปอีก
ในที่สุดเงินมาร์กเยอรมันก็กลายเป็นเศษกระดาษ เช่นเดียวกันกับเงินกวงกิมของจีนหรือของพรรคก๊กมินตั๋ง จอมพลเจียงไคเช็ก กลายเป็นเศษกระดาษเช่นกัน
ความอยากยิ่งใหญ่ครองโลกของเยอรมนียังมีอยู่ พัฒนาประเทศอย่างเร่งรีบ ไม่ช้าเศรษฐกิจกลับเฟื่องฟูขึ้นมาอีก เพราะเป็นประเทศอุตสาหกรรม และมีคนดีมาเกิด คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มียศเพียงสิบโททหารเท่านั้น พยายามสร้างแสนยานุภาพเยอรมนีให้เกรียงไกร มีทหารประจําการ 850,000 คน และสามารถระดมพลได้ถึง 10 ล้านคน มีเครื่องบินทุกประเภท 12,000 ลํา มีโรงงานสร้างเครื่องบินได้เดือนละ 1,200 ลํา ถึงแม้กําลังทางทะเลจะน้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่มีเรือดําน้ำมาก ออกปฏิบัติการทางทะเลด้วยการปล่อยตอร์ปิโดเรือรบและเรือสินค้าเสียมากต่อมาก มีอิตาลีและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายอักษะ แต่เยอรมนีก็เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อีก (เก็บความจากมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 บุญมา เกิดสว่าง)
ญี่ปุ่นเป็นเกาะเล็กนิดเดียว มีเนื้อที่เพียง 147,890 ตารางไมล์ ประเทศไทยมีเนื้อที่ 200,148 ตารางไมล์ มากกว่าญี่ปุ่น 52,258 ตารางไมล์ พลเมืองไทยขณะนั้น (พ.ศ. 2484) ราว 54 ล้านคน ส่วนญี่ปุ่นมีพลเมืองถึง 124 ล้านคน แสนยานุภาพของญี่ปุ่นเหนือกว่าของไทยมาก ญี่ปุ่นบุกเข้าที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ พร้อม ๆ กันนั้นส่งทหารเข้าบุกประเทศไทย
วันนั้นที่ 8 ธันวาคม 2488 ทุกจังหวัดเตรียมจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเหมือนทุก ๆ ปีที่ผ่านไป ซึ่งจะเริ่มในตอนกลางคืนของวันนี้ ที่จังหวัดสุพรรณฯ จัดงานบริเวณศาลากลาง จังหวัดสุพรรณบุรีสมัยนั้น
ตอนเช้าวันนั้นเอง วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กระจายเสียงว่าทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกตามจังหวัดชายทะเลทางภาคใต้ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา มาจนถึงบางปู จังหวัดสมุทรปราการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สั่งสู้ตาย
พอตกค่ำวิทยุประเทศไทยประกาศให้ทหารไทยวางอาวุธ เพราะรัฐบาลได้ตกลงกับญี่ปุ่นว่าไม่ประสงค์จะยึดประเทศไทย เพียงแต่จะขอเป็นทางผ่านไปตีมลายูและสิงคโปร์กับพม่าและอินเดียเท่านั้น
ข้าพเจ้าพอทราบสถานภาพของประเทศไทยได้บ้างพอสมควร ก่อนญี่ปุ่นจะเข้ายึดประเทศไทย พ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าในเมืองไทย ตั้งร้านถ่ายรูป หมอทําฟัน และอื่น ๆ อีกหลายอาชีพ ว่าง ๆ พ่อค้าเหล่านี้ออกตกปลาตามชายทะเล และออกจับผีเสื้อเพื่อศึกษาภูมิประเทศ พอทหารญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย พ่อค้าเหล่านี้แปลงร่างเป็นนายทหารญี่ปุ่น สะพายดาบซามูไร หน่วยสืบราชการลับของไทยไม่มีใครรู้ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อย บางคนมีภรรยาเป็นคนไทย มีบุตรส่งไปเรียนที่ญี่ปุ่น
ประเทศไทยขณะนั้นมีความอยู่ดีกินดี ราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท ทองคําหนัก 1 บาท 20 บาท ข้าวสวยใส่ชามตราไก่ 1 สตางค์ มี 3 สตางค์รับประทานข้าวต้มได้หนึ่งอิ่ม ข้าวแกงราดหน้าจานละ 5 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวน้ำชามละ 3 สตางค์ บะหมี่ต้มยําใส่หมูบะช่อโปะหน้า พร้อมตังฉ่ายและหนวดปลาหมึกชามละ 5 สตางค์ น้ำแข็งกดราดน้ำหวานสีแดง-เขียว 1 สตางค์ ยาขัดกีวีตลับละ 5 สตางค์ สูทเสื้อนอก กางเกงผ้าปาล์มบีชอย่างดีในสมัยโน้นชุดละ 4.50 สตางค์ เสื้อเชิ้ตตัวละ 35 สตางค์ น้ำมันใส่ผมยี่ห้อยาร์ดเล่ย์และน้ำหอมของฝรั่งเศส คนไทยสมัยโน้นใช้ของนอกทั้งนั้น เพราะพระคุณของชาวนาที่ส่งข้าวออกไปขายต่างประเทศ
พอสงครามเกิดขึ้นเมืองไทยไม่มีสิ่งของเหล่านั้นใช้เลย เพราะเป็นฝ่ายอักษะโดยจําใจ ญี่ปุ่นหมดเงิน ขอยืมประเทศไทย ไม่ยอมให้ ญี่ปุ่นจึงพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองเรียกว่าแบงก์ “กงเต็ก” ทันใดนั้นค่าเงินของไทยตกฮวบฮาบอย่างทันตาเห็น ยาแอสไพรินเม็ดละ 1 สตางค์ กลายเป็นเม็ดละ 1 บาท ข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาทขึ้นไป 4-5 ร้อยบาท ทองคํา 20 บาทก็ขึ้นไป 4-5 ร้อยบาทเช่นกัน คนจนก็จนลงไปอีก คนมีเงินพันบาทแทนที่จะซื้อทองคําได้หนัก 25 บาท ซื้อได้เพียง 2-3 บาทเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. 2449 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ต่อ 3 บาท ปัจจุบัน (พ.ศ. 2545) 1 ดอลลาร์ต่อ 43-45 บาท
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น ติดต่อกับอังกฤษและอเมริกาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น
ครั้งหนึ่งขบวนการเสรีไทยระดมครูประชาบาลจังหวัดสุพรรณบุรีนับเป็นร้อย ๆ คนเข้าป่าเมืองกาญจน์ ฝึกอาวุธยิงปืน และหมอบคลาน ทุกคนไม่รู้ว่าจะฝึกเอาไปทําไม กําหนดจะเข้าโจมตีกองทหารญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์อยู่รอมร่อ พอดีอเมริกาเอาลูกระเบิดปรมาณูไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาในราวเดือนสิงหาคม 2488 และเมืองนางาซากิ ญี่ปุ่นจึงยอมแพ้สงคราม
ลูกระเบิดปรมาณูช่วยชีวิตครูประชาบาลเมืองสุพรรณฯ ไว้เป็นร้อย ๆ คน
ทหารอเมริกันเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย ทหารญี่ปุ่นบางคนกระทําฮาราคีรีเอามีดคว้านท้องตัวเองตาย บางคนหนีเข้าไปอยู่ในป่าทางภาคเหนือเป็นเวลา 10-20 ปี โดยไม่ยอมกลับประเทศญี่ปุ่นก็มี
ทหารอเมริกันเข้ามาเมืองไทยพร้อมด้วยยุทธปัจจัยต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรค เสื้อกางเกงทหารสีกากีนวลที่ใช้แล้วเรียกว่า “ผ้าเวสป๊อยต์” ผ้าขนหนูเช็ดตัวสีกากีแกมเขียวหรือสีขี้ม้า ย่ามทหาร กระติกน้ำ มีดโบวี่ หีบเหล็กสนามสีเขียวใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ และของอื่น ๆ อีกมาก ฯลฯ เอาเข้ามาขายทิ้งไว้ในเมืองไทยหมด คนไทยไม่มีอะไรจะใช้จึงซื้อเอาไว้ อเมริกาขนเงินกลับประเทศ
ขณะนั้นเมืองไทยกําลังขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง กางเกงขาดก้นเอาไปปะเป็นรูปใบโพธิ์ เสื้อเชิ้ตคอเปื่อยจ้างร้านตัดเสื้อกลับคอเสื้อเสียใหม่ พลิกเอาด้านเปื่อยเข้าไปไว้ข้างใน ใช้ไปได้อีกนาน รองเท้าหนังพื้นทะลุให้ช่างปะพื้นใหม่ รองเท้าทุกอย่างขาดแคลน เอายางรถยนต์มาตัดเป็นรองเท้าแตะ ใส่ทนมาก ไม่มีสึกนอกจากหูขาด ทุกคนสมัยโน้นสวมรองเท้าแตะยางรถยนต์แทนใส่เกี๊ยะและรองเท้าหนัง เสื้อกางเกงทหารอเมริกันผ้าเวสป๊อยต์ ทุกคนใส่โก้ไปเลย
รถยนต์บรรทุกทั้งจี๊ปเล็ก กลาง ใหญ่ อเมริกาขายทิ้งไว้ในเมืองไทยเช่นกัน เพราะรถจี๊ปเหล่านี้เองทําให้เมืองไทยน้ำท่วมมาจนปัจจุบัน
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ป่าไม้เมืองไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทุกภาค พอคนไทยซื้อรถจี๊ปของทหารอเมริกัน ขับเข้าป่าตัดไม้ในป่าเหี้ยนเตียนทุก ๆ ภาค รัฐบาลสมัยโน้นก็ไม่เฉลียวใจและห้ามปราม ใครขออนุญาตตัดไม้ป่าไม้จังหวัดก็อนุญาต เพียงไม่กี่ปีป่าไม้ทุกภาค เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้เหี้ยนเตียนหมด สร้างความร่ำรวยให้แก่พ่อค้า แต่สร้างความล่มจมให้แก่ประเทศ ทุกรัฐบาลไม่มีคนมีปัญญาคิด พอฝนตกบนภูเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้เป็นกําแพงกั้นน้ำฝนจึงไหลลงที่ต่ำอย่างรวดเร็ว ท่วมบ้านท่วมเรือน ท่วมจนกระทั่งตัวตึกในเขตชุมชนแทบจะทุกปี
คิดให้ลึกอเมริกามีส่วนทําให้ประเทศไทยประสบกับความหายนะน้ำท่วมเมืองไทยทุก ๆ ปี มาจนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนคิดที่จะปลูกป่าขึ้นทดแทน ปล่อยไปเลยตามเลย น้ำก็คงท่วมเช่นนี้ไปตลอดกาลกระมัง
ยังจําได้ติดตามาจนปัจจุบัน เมื่อไทยถูกญี่ปุ่นบังคับให้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น เป็นธรรมดาอยู่เองอังกฤษและอเมริกาจะต้องโจมตีเมืองไทย เพราะทหารญี่ปุ่นยังอยู่ในเมืองไทยอีกเป็นจํานวนมาก เวลากลางคืนราว 3-4 ทุ่ม เครื่องบิน บี.52 (อ้างอิงรุ่นเครื่องบินตามต้นฉบับที่เขียนว่า “บี.๕๒” แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลปัจจุบันคาดว่าเป็นรุ่นอิื่น – กองบก.ออนไลน์) บินทแยงมาจากตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดสุพรรณฯ เข้ากรุงเทพฯ เหมือนตึก 10 ชั้น ลอยอยู่กลางเวหา มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ก็คือกรุงเทพฯ นั้นเอง ปีกทั้งสองข้างแสงไฟแวบ ๆ
มีเรื่องน่าขัน ขอนําเอามาเล่าสู่กันฟัง ด้านหลังที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขสุพรรณฯ (ธนาคารนครหลวงปัจจุบัน) ตั้งหอคอยระวังภัยสูงราว 10-15 เมตร มีหวอคอยให้สัญญาณ เมื่อเครื่องบินผ่าน คืนวันหนึ่ง บี.52 บินผ่านตัวตลาดจังหวัดสุพรรณฯ ไม่ได้ยินเสียงหวอ พอเครื่องบินเลยไปชั่วครู่จึงได้ยินเสียงหวอดังขึ้น ชาวตลาดที่เห็นเหตุการณ์หัวเราะ เชื่อว่ายามที่อยู่บนหอคงหลับอย่างไม่มีปัญหา
ทางราชการให้ทุกบ้านทําผ้า “มาตรฐาน” คลุมดวงไฟฟ้า โดยเอาผ้าฝ้ายทอหยาบ ๆ สีม่อฮ่อม (สีกรมท่าปนเทา) มาทํา เพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟลอดออกไปข้างนอก สมัยโน้นยังไม่มีหลอดไฟนีออน (ฟลูออเรสเซนต์)
ที่ตัวตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี พอค่ำทุกบ้านปิดประตูบ้านหมด พวกเราหนุ่ม ๆ ออกไปนั่งเล่นที่สะพานข้ามคลอง (ขณะนี้คือร้านประชาโอสถ) บนถนนพระพันวษา มืดและเงียบไม่มีผู้คนออกมาเดินเล่นแม้แต่สักคนเดียว
ไม่มีรถยนต์วิ่ง เพราะไม่มีน้ำมันเบนซิน ข้าพเจ้ามีรถโดยสารประจําทางอยู่คันหนึ่ง ใช้ควันของเตาถ่าน โดยต่อถังด้วยสังกะสีเป็นรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 ฟุตเศษ สูง 1.5 เมตร ติดอยู่ท้ายรถ เอาเตาเผาถ่านวางอยู่ที่ก้นถัง มีพัดลมหมุนด้วยมือ เสียงดังว้อ ๆ ๆ เพื่อให้ควันเดินไปตามท่อเข้าเครื่องยนต์ซึ่งอยู่ด้านหน้า พอเต็มที่สตาร์ทเครื่องยนต์ติด เดินทางระยะ 90 ก.ม.สบาย จากจังหวัดไปอําเภอบางปลาม้า หรือจากจังหวัดไปโพธิ์พระยา ซึ่งก็แปลกที่ทําให้เครื่องยนต์เดินได้ โดย “ไทยประดิษฐ์”
ต่อมาข้าพเจ้าเอาเข้าไปวิ่งในกรุงเทพฯ วิ่งได้ไม่นานมีคนมาขอซื้อ ขายต่อให้เขาไป
ส่วนเรือแท็กซี่ หรือเรือเครื่องฉุดระหัด เอามาดัดแปลงเป็นเรือรับส่งคนโดยสาร ใช้น้ำมันดีเซล ไม่มีน้ำมันเช่นกัน เอาน้ำมันจากต้นเหียงมาใช้แทน ก็ใช้ได้เช่นกัน
เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488 หลวงวุฒิราชรักษา ข้าหลวงประจําจังหวัดสุพรรณบุรี จัดงานบวงสรวงเจดีย์กลางป่า คืออนุสรณ์ดอนเจดีย์ปัจจุบัน ข้าราชการทั้ง 7 อําเภอเดินทางโดยขี่ม้าไป ตั้งแคมป์ล้อมรอบองค์พระเจดีย์
ข้าพเจ้าเดินทางโดยเรือยนต์จากจังหวัด 08.00 น. ไป นั่งเกวียนต่อที่บ้านกล้วย อําเภอศรีประจันต์ เกวียนโคลงไปโคลงมา แหงนหน้าขึ้นดูบนต้นไม้เห็นกล้วยไม้ป่าไปตลอดทาง กว่าจะถึงดอนเจดีย์เป็นเวลาบ่าย 4 โมง บัดนี้ป่าดังกล่าวกลายเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว
ม้าไม่น้อยกว่า 4-5 ร้อยตัวเต็มบริเวณดอนเจดีย์ บ้างจูง บ้างขี่เดินเล่นขวักไขว่ไปมา ตอนบ่ายตั้งเป็นสนามแข่งม้าเป็นที่สนุกสนาน ทุกคนพกปืนสั้นที่เอวอย่างเปิดเผยคล้ายกับคาวบอยในภาพยนตร์
ตอนบ่ายวันนั้นซึ่งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2488 (จําวันที่ไม่ได้) หลวงวุฒิราชรักษาตั้งศาลเพียงตาทางด้านตะวันตกขององค์พระเจดีย์ เท่ากับหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลวงวุฒิราชรักษายืนห่างจากศาลเพียงตาราว 1 เมตร ข้าราชการทั้งหมดที่ไปยืนอยู่ด้านหลัง ข้าพเจ้าก็ยืนอยู่ในกลุ่มของข้าราชการ ขณะที่หลวงวุฒิราชรักษาอ่านโองการอัญเชิญดวงวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทันใดนั้นมีพายุพัดตึงมาทางทิศตะวันออก มองเห็นพายุพัดมาเป็นทาง ต้นไม้เอนลู่มาตามกําลังพัดของพายุ ฝุ่นคลุ้งตลบ เพียงชั่วไม่ถึงครึ่งนาทีพายุก็หยุดพัดสงบนิ่ง เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นที่ประหลาดและมหัศจรรย์ซึ่งไม่น่าจะมีพายุพัดกระโชกแรงในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นที่เล่าขานกันเรื่อยมา
คณะของเรากําหนดเดินทางกลับ ไม่มียานพาหนะอะไรที่จะบรรทุกเรากลับ จึงต้องเดินเท้ากลับ โดยจะไม่เดินเข้าอําเภอศรีประจันต์ เดินตัดเข้าอําเภอเมืองสุพรรณบุรี ด้วยความเป็นหนุ่มไม่กลัวอะไร ถามคนรู้ทางบอกให้เดินตัดเฉียงลงต่ำ ซึ่งเป็นป่าต่ำ ๆ แต่อย่าเลี้ยวขวาจะเข้าป่าสูง บ้านระฆัง มีสัตว์ร้ายนานาชนิด พวกเรา 4-5 คนเดินไปตามทางคนเดินแคบ ๆ เรื่อยไปด้วยแสงจันทร์ส่องสลัว ๆ ออกเดินทางดอนเจดีย์ที่ 5 ไปถึงหลังโรงสีบ้านคอยราว 6 โมงเช้า ท้องฟ้ายังมืดอยู่ เราหยุดอยู่ที่กองฟางด้านหลังของ โรงสีซึ่งมีรั้วไม้ทึบ ยังไม่กล้าเรียกคนที่โรงสี
พอสว่างจึงเรียก ปรากฏว่าเป็นโรงสีของคนรู้จักกัน จึงได้รับการต้อนรับด้วยข้าวต้มมื้อเช้าหนึ่งมื้อ ขอบคุณเจ้าของโรงสีแล้วข้ามฟากเดินทางต่อไป เริ่มค่อย ๆ มีบ้าน ถามเขาเรื่อยไปว่าทางไปประตูน้ำโพธิ์พระยาไปทางไหน ถือว่า “ทางอยู่ปาก” ราว 4 โมงเย็น วันนั้นถึงตลาดโพธิ์พระยา นั่งเรือแท็กซี่มาตลาดจังหวัดสุพรรณฯ กว่าจะถึงบ้านราว 5 โมงเย็นเศษ
ระหว่างสงครามการพนันที่เมืองสุพรรณฯ เกลื่อนเมือง ออกหวย ก.ข.กันกลางเมืองเวลาตอนเที่ยง และตั้งวงพนัน ถั่ว โป ไฮโล จับยี่กี
ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ เจ้าหน้าที่ก็เอากับเขาด้วย เพราะทุกคนไม่รู้จะทําอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน จึงหันมาเล่นการพนันให้ชีวิตผ่านไปเพียงวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
เราไม่อยากเห็นสงครามเกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เพราะว่าสงครามทําลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตมนุษย์ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเศรษฐกิจ ข้าพเจ้ามีชีวิตตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาอย่างเต็มที่ ย่อมรู้รสชาติผลกระทบของสงครามเป็นอย่างดี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2562