เรื่องจริงเบื้องหลังหนัง 1917 ภารกิจในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของทหารกล้าลุยในแดนศัตรู

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอังกฤษสองนายชื่อ Schofield และ Blake ได้รับภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ พวกเขาต้องแข่งขันกับเวลา ต้องข้ามอาณาเขตของศัตรู นำสาส์นไปส่งให้ถึงจุดหมายเพื่อจะยับยั้งการโจมตีที่รุนแรงซึ่งอาจสังหารทหารนับร้อยนาย หนึ่งในนั้นมีพี่ชายของ Blake เอง

เรื่องราวข้างต้นนี้คือเรื่องย่อจากภาพยนตร์เรื่อง “1917” ที่เข้าฉายไปแล้วในต่างประเทศช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยแซม เมสเดส (Sam Mendes) ผู้กำกับซึ่งมีวิสัยทัศน์และต้องการสร้างภาพยนตร์สงครามให้ “แตกต่าง” จากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ

ภาพยนตร์สงครามของฮอลลีวูด (ที่แพร่หลายและเป็นที่นิยม) หลายเรื่องมักบอกเล่าเรื่องราวในสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่าสงครามโลกครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan (1998), Pearl Harbor (2001) Fury (2014), Dunkirk (2017) เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเต็มไปด้วยเทคโนโลยีการสงครามซึ่งนำมาสู่การประหัดประหารทหารทั้งสองฝ่ายอย่างที่สุด จึงเต็มไปด้วยฉากต่อสู้และยุทธการที่น่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าทั้งบนสมรภูมิรบและเบื้องหลังการสงคราม

ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือสิ่งที่ “1917” พยายามฉายให้เห็นภาพของความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม จากภารกิจของทหารสองนายที่ต้องหลบหนีจากความกดดันและความโหดร้ายของสมรภูมิ

Sam Mendes ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงบางส่วนของปู่ของเขาคือ อัลเฟรด เมนเดส (Alfred Mendes) ซึ่งเคยผ่านสมรภูมิรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาแล้ว ซึ่ง Alfred Mendes เมื่อครั้งเป็นทหารวัยหนุ่มที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาส์นในแนวรบด้านตะวันตก เขาต้องตะลุยผ่านสมรภูมิอันดุเดือดเพื่อนำสาส์นไปแจ้งยังกองทัพที่ขาดการติดต่อและกำลังมุ่งสู่กับดักของศัตรู

อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์ของ Sam Mendes นำเสนอโดยสมมติตัวละครขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ดำเนินเรื่องราวในภาพยนตร์จากประวัติของปู่ของเขาโดยตรง ขณะที่เมนเดส ให้สัมภาษณ์กับสื่อบันเทิงชื่อดังว่า เขาจำเรื่องราวที่ปู่ของเขาเล่าให้ฟังได้แบบลางเลือนว่า เกี่ยวข้องกับ “ผู้นำสารไปส่ง” ซึ่งชิ้นส่วนโครงเรื่องหลวมๆ นี้ยังอยู่ในความทรงจำของเขามาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อเขาประยุกต์ดัดแปลงมาเป็นชิ้นงาน แน่นอนว่า เขานำมันมาขยายความ และปรับเปลี่ยนโครงนี้ไปมากพอสมควร

สำหรับ Alfred Mendes เป็นผู้อพยพชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่บนเกาะแคริบเบียนในประเทศตรินิแดด ก่อนจะเข้าเกณฑ์ทหารในกองทัพอังกฤษเมื่อตอนอายุ 19 ปี เขาใช้เวลาราว 2 ปี ในแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้กองพันปืนไรเฟิล และถูกส่งกลับบ้านหลังจากสูดดมก๊าซพิษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918

Alfred Mendes อาสาเป็นทหารที่ต้องนำสาส์นไปติดต่อยังกองร้อย A B และ D ที่ขาดการติดต่อกับกองร้อยของเขาคือกองร้อย C ซ้ำยังไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดอีกด้วย

Alfred Mendes บรรยายถึงเขตสนามเพลาะว่า เต็มไปด้วยหมอกทึบปกคลุมเสมือนดินแดนลึกลับดึกดำบรรพ์ พื้นที่ขรุขระเสมือนพื้นผิวของดวงจันทร์ และยังเต็มไปด้วยหนองและโคลน ดินแดนเหล่านี้คือทุ่งสังหารมนุษย์ที่กลืนกินชีวิตทหารของทั้งสองฝ่าย และเขาผจญไปในเขตแดนนั้นเพียงลำพัง

แน่นอนว่าสไนเปอร์ของเยอรมนีพบ Alfred Mendes อย่างแน่นอน แต่เขาบันทึกว่า คาดว่าทหารเยอรมันคงสับสนที่เห็นเขาเดินเป็นวงกลมในเขตแดนนี้เพียงลำพัง จึงตัดสินใจว่าทหารอังกฤษผู้นี้ไม่น่าจะมีภารกิจทางทหารที่สำคัญอะไรจึงเพิกเฉยเสีย และในที่สุด Alfred Mendes ก็สามารถติดต่อกับกองร้อย A B และ D ได้โดยที่เขากลับมากองร้อย C อย่างปลอดภัย ไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วน

ส่วนเรื่องราวในภาพยนตร์จะเล่าเหตุการณ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ค.ศ. 1917 ภายหลังจากกองทัพเยอรมนีกำลังเคลื่อนทัพกลับเข้าสู่แนวสนามรบที่เรียกว่า “Hindenburg Line” ตามแนวแม่น้ำ Aisne ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ฝ่ายเยอรมนีมองว่าการเคลื่อนย้ายครั้งนี้เป็น “การปรับเปลี่ยน” หรือ “การเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่จำเป็นไปยังสถานที่ที่ดีที่สุด” ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรเรียกว่า “การถอยหนี” หรือ “การถอนตัว”

“การเคลื่อนทัพ” ครั้งนี้เป็นกลยุทธของฝ่ายเยอรมนีเพื่อกลับมาสู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่พวกเขาได้เร่งสร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ขึ้นตามแนวรบ “Hindenburg Line” ทว่ากองทัพพันธมิตรที่กำลังรุกไล่ติดตามกองทัพของเยอรมนีไปนั้นหมายจะทำลายกองทัพเยอรมนีให้สิ้นซาก แต่ฝ่ายเยอรมนีกำลังล่อพวกเขาเข้ามาติดกับดัก

สำหรับสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามสนามเพลาะ สนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตกนั้นมีหลายชั้น ทอดยาวจากช่องแคบอังกฤษถึงเทือกเขาแอลป์ในสวิสเซอร์แลนด์ ความยาวกว่า 430 ไมล์ และสนามเพลาะแต่ละช่วงยังมีมากกว่า 1 แนว

แนวสนามเพลาะทั้งหมดรวมระยะทางยาวกว่า 35,000 ไมล์ เขตพื้นที่ระหว่างสนามเพลาะเรียกว่า “No Man’s Land,” หรือดินแดนไร้ผู้คน ซึ่งทหารผู้ส่งสาส์นต้องวิ่งผ่านเขตนี้ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม กับดัก ระเบิด และแก๊สพิษ

เหตุใดจึงต้องใช้คนส่งสาส์น ไม่มีวิธีการอื่นอย่างนั้นหรือ?

ในสมัยนั้นมีวิธีการติดต่อสื่อสายหลายวิธี ที่เห็นจะสะดวกและรวดเร็วมากที่สุดคงเป็นโทรเลขและโทรศัพท์ หรือหากใช้การไม่ได้ก็ยังมี นกพิราบ สัญญาณธง สัญญาณไฟ ทว่าการส่งสาส์นโดยวิธีที่ใช้ทหารวิ่งส่งสาส์นเช่นในภาพยนตร์นี้เป็นวิธีที่จะใช้ก็ต่อเมื่อถึงตาจนที่สุด

สำหรับความกล้าหาญของอัลเฟรด ส่งผลให้เขาได้รับเหรียญรางวัล และสิ่งที่ตกทอดต่อมาคือเรื่องราวที่แค่ได้ยินคำบรรยายสภาพพื้นที่ก็ชวนขนลุกแล้ว แต่ก็แฝงไปด้วยภาพสะท้อนความมุ่งมั่นของมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนอันสำคัญที่สุดอีกชนิดหนึ่ง


อ้างอิง :

<https://time.com/5751665/1917-movie-history>

<https://www.smithsonianmag.com/history/true-history-behind-1917-movie-180973800>

<https://www.hollywoodreporter.com/review/1917-review-1257818>

<https://www.historynet.com/alfred-mendes-and-the-story-that-inspired-the-upcoming-film-1917.htm>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2563