บทความพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่เคยประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยา ตอนจบ พระพุทธสิหิงค์มีพุทธลักษณะเช่นไร ?

พระพุทธสิหิงค์มีพุทธลักษณะเช่นไร ?

พระพุทธสิหิงค์ที่เชิญมาจากเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์และเป็นองค์เดียวกับที่ราชทูตลังกาเคยเห็นในวัดพระศรีสรรเพชญ หากเเต่อันตรธานไปแล้วเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310

ปัญหาก็คือเราจะทราบได้อย่างไรว่าพระพุทธสิหิงค์ที่องค์ดังกล่าวมีพุทธลักษณะเช่นไร

หลักฐานประเภทคำให้การอย่างคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (2555, 40) กล่าวถึงพระพุทธรูปอันมีพุทธานุภาพเป็นหลักของกรุงศรีอยุธยา 8 องค์ หนึ่งในนั้นคือ พระพุทธสิหิงค์นั่งคัดสมาธิเพชร หน้าตัก 4 ศอก หล่อด้วยนาคชมพูนุชอยู่ในพระมหาวิหารยอดปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีสรรเพชร”

การศึกษาของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ทรงครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิพาดพระอังสะยาวจรดพระถัน พระวรกายอวบอ้วน พระอุระอูม พระศกเป็นก้นหอยใหญ่ และพระเกตุมาลาเป็นรูปบัวตูม ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละของอินเดีย ที่นิยมเรียกกันว่าพระพุทธรูปแบบเชียงแสนชั้นแรกหรือเชียงแสนสิงห์ 1 หรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่าพระสิงห์ แท้จริงแล้วคือพระพุทธสิหิงค์จำลอง โดยอนุมานจากพระพุทธรูปแบบนี้จำนวน 5 องค์ที่มีจารึกระบุว่าคือพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่เก่าที่สุดปัจจุบันประดิษฐานที่วัดพระเจ้าเม็งราย จ.เชียงใหม่ มีจารึกตรงกับ พ.ศ. 2013 (ดูรายละเอียดใน พิริยะ 2545, 212 – 217)

นอกจากพระพุทธสิหิงค์จำลองของล้านนาแล้ว บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทยที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาก็นิยมสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองเช่นกัน หรือที่นักเลงพระนิยมเรียกกันว่าพระขนมต้ม พระพุทธสิหิงค์จำลองเหล่านี้มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธสิหิงค์จำลองของล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประทับสมาธิเพชร ปางมารวิชัย และมีพระเกตุมาลารูปบัวตูม ที่น่าสนใจก็คือมีอยู่ 2 องค์ด้วยกัน มีจารึกอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่า คือพระพุทธสิหิงค์ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์จำลองที่วัดโคกขาม จ.สมุทรสาคร มีจารึกตรงกับ พ.ศ. 2232 ระบุว่าคือ “พระสิหิงคะ” (สุจิตต์ 2546, 98) และพระพุทธสิหิงค์จำลอง สมบัติส่วนบุคคลใน จ.นครศรีธรรมราช มีจารึกตรงกับ พ.ศ. 2237 ระบุว่าคือ “พระพุทธสิหิงค์” (Boribal Buribhand and Griswold 1951, 53)

สรุปความก็คือ พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ ได้รับการเชิญลงมาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากทรงทำสงครามมีชัยชนะต่อเชียงใหม่ และเมืองต่างๆในล้านนา ประดิษฐานในมณฑปหลังใดหลังหนึ่งที่วัดพระศรีสรรเพชญ ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปสำคัญศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งประจำราชธานีกรุงศรีอยุธยา และคงเป็นต้นแบบให้เกิดการจำลองอย่างแพร่หลายในอาณาจักรอยุธยา มาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ดังปรากฏพระพุทธสิหิงค์จำลองที่นิยมเรียกว่าพระขนมต้ม หรือที่เรียกกันว่า แบบนครศรีธรรมราช หลายองค์ด้วยกัน

บรรณานุกรม

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พิริยะ ไกรฤกษ์. 2545. ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). 2540. “พระพุทธสิหิงค์.” ใน พระพุทธสิหิงค์จริง’ ทุกองค์ ไม่มี ‘ปลอม’ แต่ไม่ได้มาจากลังกา. กรุงเทพฯ: มติชน.

Boribal Buribhand, Luang and Griswold, A.B. 1951. “Sculpture of Peninsular Siam in the Ayuthya Period,” Journal of Siam Society (vol.38.2): 1 – 60.

(บทความนำมาจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts ทางเว็บไซต์ขอบพระคุณแอดมินเพจดังกล่าวมา ณ ที่นี้ด้วย)