‘เจ้าหญิงสะลิน’ อดีตว่าที่ราชินีคู่บัลลังก์กษัตริย์พม่า ที่ถูกพระนาง ‘ศุภยาลัต’ ขัดขวาง

พระนางศุภยาจี พระนางศุภยาลัต และ พระเจ้าธีบอ ของ พม่า
(จากซ้าย) พระนางศุภยาจี พระนางศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ ของพม่า

เจ้าหญิงสะลิน (บ้างเรียกสะลินพญา บ้างเรียกสลีน) เป็นพระราชธิดาใน “พระเจ้ามินดง” กษัตริย์พม่า แห่งราชวงศ์คองบอง ประสูติแต่มเหสีลินบิน (บ้างเรียกสะลินบิน บ้างเรียกลินบินพญา) ซึ่งเป็นพระมเหสีขั้นต่ำที่สุด

เจ้าหญิงสะลิน เป็นคนโปรดของ พระเจ้ามินดง เป็นพระราชธิดาที่ทรงรักใคร่มากที่สุดในบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาทั้งปวง โดยทรงมีพระราชโองการรับสั่งไว้ว่า รัชทายาทที่จะรับราชสมบัติเป็นกษัตริย์ภายภาคหน้าต่อจากพระองค์ จะต้องรับเจ้าหญิงสะลินเป็นพระมเหสีเอก

Advertisement

ชาวต่างชาติที่รับราชการในราชสำนักพม่ากล่าวชื่นชมถึงพระสิริโฉมอันงดงามของเจ้าหญิง ที่พรั่งพร้อมด้วยมารยาทเรียบร้อย และมีการศึกษาดีกว่าพระราชธิดาองค์ใด ๆ ของพระเจ้ามินดง พวกฝรั่งพากันเรียกขานเจ้าหญิงว่า “เซลินา โซเฟีย”

ในหนังสือ ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน ได้บันทึกถึงเจ้าหญิงสะลินว่า

“…มีเรื่องประหลาดเล่าขานถึงเจ้าหญิงองค์นี้อธิบายเหตุผลที่พระเจ้ามินโดงรักพระธิดาผู้นี้มากกว่าลูกคนอื่น ๆ ว่ากันว่าเจ้าหญิงคือพระราชมารดาของพระองค์กลับชาติมาเกิด ตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ องค์หญิงจะพูดและแสดงท่าทางราวกับเป็นเช่นนั้น ทรงรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่มีแต่พระมารดาของพระเจ้ามินโดงเท่านั้นที่สามารถรู้ได้

เจ้าหญิงจดจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีแต่พระมารดาของพระเจ้ามินโดงเท่านั้นสามารถจดจำได้ และเมื่อมีอายุราว 4 ขวบ เจ้าหญิงถูกพาไปที่ตำหนักต่าง ๆ ของสมเด็จย่าผู้ล่วงลับเพื่อทดสอบความจริง นับแต่พระมารดาของพระเจ้ามินโดงสิ้นพระชนม์ ตำหนักเหล่านี้ถูกปิดตายไว้อย่างระแวดระวัง ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไป ข้าวของทุกอย่างยังคงจัดวางไว้เหมือนยามที่ยังมีผู้พำนักอยู่

เมื่อองค์หญิงถูกนำตัวเข้าไปในห้อง ทรงกวาดตามองไปรอบ ๆ ห้องและจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ‘นั่นไงที่ที่ข้านั่ง นั่นไงที่ที่ข้านอน บนหิ้งนั้นคือชุดผ้าไหมที่ข้าชอบที่สุด ในกล่องนั้นมีเครื่องประดับของข้าอยู่ เป็นแบบนั้นแบบนี้’ องค์หญิงน้อยบอกกล่าวและพบของตามที่บอกจริง ๆ เสียงที่พูดออกมาย่อมเป็นเสียงของพระราชชนนีอย่างไม่ต้องสงสัย

องค์หญิงน้อยจึงได้รับการเทิดพระเกียรติเหนือโอรสธิดาทั้งปวง เจ้าหญิงได้รับการเรียกขานว่า ‘ราชินี’ ขณะที่องค์อื่น ๆ เป็นเพียงเจ้าหญิง และได้ถูกกำหนดให้เป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป เล่ากันว่าเจ้าหญิงสลีนมีพระรูปพระโฉมธรรมดา ๆ นัยน์ตาเล็ก นิสัยเงียบ ๆ สงบเสงี่ยม มิใช่สตรีที่ดึงดูดบุรุษ แต่พระราชบิดาทรงรักองค์หญิงมากกว่าลูกทุกคนของพระองค์…

ในช่วงเวลาที่ พระเจ้ามินดง ประชวรจวนเจียนสวรรคต สิ่งเดียวที่พระองค์ทรงห่วงใยคือ เจ้าหญิงสะลิน ไม่ว่าใครก็ตามจะได้ขึ้นเป็น “กษัตริย์พม่า” เจ้าหญิงสะลินจะต้องได้เป็นพระมเหสีเอก นั่นคือสิ่งเดียวที่พระเจ้ามินดงทรงปรารถนา

หนังสือ ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน ระบุว่า เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว เจ้าหญิงสะลินก็ถูกลืมไปโดยปริยาย ไม่มีใครคอยช่วยเหลือเจ้าหญิง คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ก็ถูกเพิกเฉยแทบจะทันทีเมื่อไม่มีเหตุผลสมควรที่จะรักษาเอาไว้ และอธิบายว่าไม่มีผู้ใดกล่าวถึงเจ้าหญิงสะลินอีกเลย อย่างไรก็ตาม ในส่วนถัดมาของหนังสือได้ทิ้งข้อความเป็นประเด็นไว้เพียงว่า “…เจ้าหญิงสลีนถูกผลักให้พ้นทาง…” 

พระเจ้าธีบอ พระราชโอรสในพระเจ้ามินดงก้าวขึ้นสู่พระราชบังลังก์ ด้วยการสนับสนุนจาก พระนางอเลนันดอ (ซินผิ่วมะฉิ่น) หนึ่งในพระมเหสีในพระเจ้ามินดง ผู้เป็นพระราชมารดาของ พระนางศุภยาลัต ในหนังสือ พม่ารบอังกฤษ ได้บรรยายชะตากรรมของเจ้าหญิงสะลินต่อไปว่า พระเจ้าธีบอทรงมีพระราชประสงค์รับเจ้าหญิงสะลินเป็นพระมเหสีเอก เพราะพระเจ้าธีบอทรงรักใคร่และมั่นหมายในตัวเจ้าหญิงสะลินมาแต่เดิมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงสะลินมิได้เสน่หาพระเจ้าธีบอ เพราะทรงทราบดีว่า พระนางศุภยาลัตเป็นสตรีคู่พระทัยพระเจ้าธีบออยู่แล้ว แม้จะยังมิได้ราชาภิเษกสมรสก็ตาม และทรงทราบถึงกิตติศัพท์ความโหดเหี้ยมของพระนางอเลนันดอเป็นอย่างดี

เจ้าหญิงสะลิน ทรงพยายามอิดเอื้อนปฏิเสธไม่ยอมเป็นพระมเหสีเด็ดขาด และทรงทราบดีว่าหากปล่อยให้การณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะเป็นการขัดพระราชกระแสรับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน มิหนำซ้ำยังเป็นการขัดแย้งกับพระนางอเลนันดอและพระนางศุภยาลัต ซึ่งอาจนำภัยถึงแก่ชีวิตมาสู่พระองค์ได้ เจ้าหญิงสะลินจึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวชชีเสีย หวังเอาร่มพระธรรมเป็นเครื่องป้องกันภัย

พระเจ้าธีบอเมื่อทราบว่าเจ้าหญิงสะลินเสด็จออกบวชชีจึงบันดาลพระโทสะ รับสั่งให้จับนางกำนัลของเจ้าหญิงสองคนมาขังไว้ ต้องพระราชอาญาว่ายุยงเสี้ยมสอนให้เจ้าหญิงสะลินเสด็จออกบวชชี นางกำนัลทั้งสองไม่ยอมรับเป็นสัตย์จึงถูกลงพระราชอาญาตัดข้อมือ

ความรู้ถึงเจ้าหญิงสะลินก็ทรงเสียพระทัย แต่พระเจ้าธีบอทรงไม่ลดละความพยายามจะให้เจ้าหญิงมาเป็นพระมเหสีให้ได้ แต่เจ้าหญิงสะลินก็ทรงปฏิเสธเช่นเดิม ความทราบถึงพระนางศุภยาลัต ด้วยความหึงหวงและไม่พอพระทัย จึงรับสั่งให้ขุนนางกุข่าวว่า เมื่อครั้งที่เจ้าหญิงสะลินอยู่ในพระราชวัง เคยออกอุบายจะวางยาพิษพระเจ้าแผ่นดินจึงหลบหนีมาบวชชี เจ้าหญิงสะลินจึงถูกจับสึกและต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ทั้งที่มิได้ทรงกระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้นแม้แต่น้อย

เมื่อมีการแต่งตั้งพระมเหสี พระนางศุภยาลัตก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างที่ไม่มีผู้ใดฉุดรั้งพระองค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมโบราณ ขุนนาง พระเชษฐภคินี หรือแม้แต่พระมารดาของพระองค์เองก็ตาม พระนางศุภยาลัตจึงได้เป็นพระมเหสีเอกเคียงคู่พระเจ้าธีบอบนราชบัลลังก์พม่าจวบจนกาลอวสาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์. (2558). ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ. กรุงเทพฯ : มติชน.

สถาปัตย์ สหเทวกาล. (2558). พม่ารบอังกฤษ. กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563