ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งทรงพระเยาว์ ในความทรงจำของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภาพจากหนังสือเรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์”

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของปวงชนชาวไทย คือเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ครั้งเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2530 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์พิมพ์หนังสือเรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” ขึ้นในโอกาสมหามงคล

ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเล่าถึงการพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โรงพยาบาลในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2470 เวลา 08.45 น. ว่า หลังจากพระราชสมภพได้ 3 ชั่วโมง พระราชบิดาหรือที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเรียกว่า “ทูลหม่อมฯ” ทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ เพื่อขอพระราชทานนาม

ทั้งนี้รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานนามให้ว่า ภูมิพล อดุลเดช ซึ่งสะกดไม่เหมือนกับปัจจุบันที่เขียน “อดุลยเดช” พระยศเมื่อพระราชสมภพเป็นพระองค์เจ้า โดยทั่วไปคนจะเรียกรัชกาลที่ 8 ว่า “พระองค์ชาย” และ เรียกรัชกาลที่ 9 ว่า “พระองค์เล็ก”

พระหัตถเลขาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภาพจากหนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2471 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ได้พาครอบครัวเสด็จนิวัติประเทศไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ได้ทรงงานที่โรงพยาบาลศิริราช และย้ายไปที่โรงพยาบาลแมกคอมมิคที่เชียงใหม่ ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีหน้าที่อภิบาลพระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ พระองค์ชายจะชอบแหย่คนและมักจะโดนทำโทษโดยการถูกพระราชมารดาตี

การเล่นต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเล่าว่า

“…แม่อยากให้ลูก ๆ ได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างขึ้นคือที่เล่นทราย ซึ่งแบบเดียวกันกับที่เห็นในสวนสาธารณะในต่างประเทศ คือเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมซึ่งมีทรายอยู่ข้างใน”

เมื่อเบื่อจากการเล่นทราย จึงย้ายไปเล่นขุดคลองในดิน ใส่น้ำเพื่อให้เหมือนคลอง และหากิ่งไม้ พุ่มไม้ มาปักริมคลองเหมือนเป็นการปลูกป่า เป็นครั้งแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้สัมผัสกับงานชลประทานและการปลูกป่าที่เกิดจากการเล่น นอกจากนี้ทั้ง 3 พระองค์ได้เลี้ยงสัตว์กันหลายชนิดมีทั้ง สุนัข ลิง กระต่าย และนก

ทั้ง 3 พระองค์ ได้ทรงม้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเล่าว่า

“…พระองค์ชายและข้าพระเจ้าขี่ได้เอง แต่พระองค์เล็กซึ่งขี่ตัวที่ใหญ่ที่สุดแต่เชื่องที่สุด เวลาม้าเดินต้องมีทหารจูงคนหนึ่งและมหาดเล็กเดินคอยระวังข้าง ๆ อีกคนหนึ่ง”

นอกจากได้ทรงม้าแล้ว ทั้ง 3 พระองค์ยังได้ทรงควาย นอกจากนี้พระราชมารดายังพาพระองค์ชาย และ พระองค์เล็กไปขึ้นรถไฟ พระราชมารดายังพาทั้ง 3 พระองค์ขึ้นรถรางที่ป้ายพระราม 1 ไปสุดสายทางด้านเพลินจิตและกลับโดยรถยนต์

เมื่ออยู่ประเทศไทยได้ประมาณหนึ่งปี พระองค์ชายมีพระชนมายุ 5 พระชันษา และพระองค์เล็กมีพระชนมายุ 3 พระชันษา ทั้งสองพระองค์พระประชวรเป็นโรคบิด ในการรักษานั้นต้องฉีดยา “เอ็มมิติน” (Emetine) และสวนด้วย “ยาเทรน” (Yatren) 2–3 ครั้งถึงจะหาย ก่อนที่จะฉีดยาพระราชมารดาได้อธิบายว่าจะเจ็บหน่อย ทำให้พระองค์เล็กถามพระมารดาว่า “ร้องไห้ได้ไหม”

เมื่อถึงปี 2474 พระองค์เล็กได้เข้าโรงเรียนอนุบาลที่ครูพิเศษภาษาอังกฤษชื่อ มิสซิสเดวิส (Mrs. Davidis) เปิดที่บ้านสามี ในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ส่วนพระองค์ชายเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ทำให้ทั้ง 3 พระองค์ไม่ค่อยได้เล่นและไปไหนด้วยกันอย่างแต่ก่อน

ชีวิตในวัยเยาว์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเล่นและทรงได้เที่ยวอย่างสนุกสนาน ภายใต้การอภิบาลของพระราชมารดา และได้อยู่ใกล้ชิดกับพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ จนถึงครั้งเมื่อพระองค์ต้องเข้าโรงเรียนจึงทำให้ทั้ง 3 พระองค์ไม่ค่อยได้เล่นด้วยกันเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์


ที่มา :

หนังสือ เจ้านายเล็กๆ–ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2562