ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2528 |
---|---|
ผู้เขียน | ลักษมี จิระนคร เรียบเรียง |
เผยแพร่ |
เมื่ออายุได้ 19 ปี หนุ่มจีนจากมณฑลกวางตุ้งโดยสารเรือญี่ปุ่นเข้ามาถึงบางกอก ต่อมาจึงเป็นลูกจ้างในบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้ ในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง— ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน และการขยายตัวของชุมชนหาดใหญ่ จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งจะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เกิดมาคล้ายคลึงกันแต่ฐานะของมนุษย์กลับแตกต่างกันไป เฉกเช่นเดียวกับวิถีชีวิตของบุคคลผู้หนึ่งที่ต้องจากแดนไกลมาอย่างเดียวดายจากดินแดนอันไกลโพ้น ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนใหม่ต่อสู้กับความยากลำบาก บุกป่าฝ่าหนาม ด้วยความขยันขันแข็งและความปรีชาสามารถเฉพาะตนบวกกับมีสายตาอันกว้างไกลบุกเบิกแหล่งรกร้างทำคุณประโยชน์แก่ชุมชนอย่างยิ่งใหญ่
เป็นประจักษ์หลักฐานว่า ท่านได้วางรากฐานอันมั่นคงทั้งในด้านการศึกษา การกีฬา สถานที่สำหรับคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างสมบูรณ์เพื่อมวลชนอย่างแท้จริง ยากนักที่จะหาบุคคลใดเสมอเหมือนในด้านการเสียสละเพื่อส่วนรวมเช่นนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มวางผังเมืองและพัฒนาเมืองหาดใหญ่จนได้กลายเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของประเทศไทย
ชีวิตที่น่าศึกษาควรแก่การยกย่องนับถือของท่านผู้นี้คือ ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร
จากจีนถึงบางกอก
ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร หรือนายเจียกีซี เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2429 ที่บ้านตำบลจูไฮ อำเภอเหมยเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายเจียซุ้นหลิ่น และนางหลิ่มคอนกู เป็นหลานปู่ของนายเจียหยุ่นฟอง และคุณย่าแซ่หย่อง
ต้นสายตระกูลเจีย เชื้อสายเจียพุ่กลุ่กของนายเจียกีซี (ขุนนิพัทธ์ฯ) เกิดขึ้นที่อำเภอเหมยเซี่ยน มณฑลกวางตุ้น ประเทศจีน ในปีพ.ศ. 1821 จากการนำของนายทหารแซ่เจีย ประจำกองของขุนพลหวุ่นเทียนเสียงซึ่งยกทัพจากมณฑลกังไสนำทหารบุกเข้าโจมตีอำเภอเหมยเซี่ยนซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของชาวมองโกลในปี พ.ศ. 1820 เป็นผลสำเร็จในปลายสมัยราชวงศ์ซ่ง ปีถัดมา (พ.ศ. 1821)
นายทหารเจียพุ่กลุ่ก หรือเจียซิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอำเภอเหมยเซี่ยนแต่นั้นมา ท่านได้สืบเชื้อสายตระกูลเจียไว้หลายรุ่นจนถึงเหลนรุ่นที่ 11 ได้แยกครอบครัวออกไปตั้งรกรากที่ตำบลจูไฮ สืบลูกหลานถึงรุ่นที่ 20 คือนายเจียซุ้นหลิ่น จึงได้ให้กำเนิดนายเจียกีซี (ขุนนิพัทธ์ฯ) พร้อมทั้งพี่น้องชายหญิงอีก 5 คน ต่อมาภายหลังบิดามารดาและพี่ชายน้องชายของนายเจียกีซีได้อพยพมาอยู่ที่แผ่นดินสยามทั้งหมด
ขุนนิพัทธ์ฯ ในวัยเยาว์ได้รับการอบรมศึกษาจากคุณปู่ซึ่งเป็นอาจารย์มาอย่างดี เมื่อคุณปู่สิ้นชีวิตลง บิดาของขุนนิพัทธ์ฯ ได้เดินทางไปประกอบอาชีพส่วนตัวที่เมืองซินปูฮี เมื่อขุนนิพัทธ์ฯ มีอายุได้ 17 ปี ได้เดินทางไปที่เมืองซินปูฮี เพื่อช่วยบิดาทำกิจการจนกระทั่งมีอายุได้ 19 ปีจึงได้ตัดสินใจอพยพถิ่นฐานมาทำมาหากินบนผืนแผ่นดินสยาม
ในปี พ.ศ. 2447 ขุนนิพัทธ์ฯ เดินทางมากับเรือของบริษัทญี่ปุ่นขนาดระวาง 1,000 ตันกร๊อส บรรทุกผู้โดยสาร 500 คน เสียค่าโดยสารคนละ 5 เหรียญ แออัดยัดเยียดรอนแรมในทะเลเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนจึงเข้าเทียบท่าบางกอก
แรกเริ่มทำงานในบางกอก
เมื่อถึงแผ่นดินสยามแล้ว ขุนนิพัทธ์ฯ ได้เข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ (ยี่ห้อเต็กเฮงไท้) ที่บางกอกของนายหย่องเฮี้ยงซิ้วผู้เคยเป็นศิษย์ของคุณปู่ขุนนิพัทธ์ฯ ขุนนิพัทธ์ฯ ทำงานอยู่ที่ร้านจำหน่ายสุราได้ระยะหนึ่งก็ลาออกไปเผชิญโชคด้วยตนเอง
บางกอกในปีพ.ศ. 2448 เป็นยุคของการปฏิรูปการปกครอจัดกระทรวงทบวงกรมใหม่ ทั้งในด้านการชลประทาน การรถไฟ การเกษตร การตั้งโรงไฟฟ้า กรมไปรษณีย์โทรเลข การประปา ฯลฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า มีพระบรมราชโองการให้สร้างทางรถไฟสายเพชรบุรีจรดชายแดนภาคใต้ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้สมัครเข้าทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายนี้โดยรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไป
งานสร้างทางรถไฟสายใต้ในสมัยนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ปักษ์ใต้ยังมีพลเมืองน้อย เป็นป่าทึบเต็มไปด้วยไข้ป่า บางแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำขึ้นสูง ขุนนิพัทธ์ฯ ต้องทำหน้าที่ควบคุมงานถางป่าให้เป็นแนวกว้างประมาณ 40 เมตรเพื่อเป็นแนวทางการลงดิน ลงหินสำหรับวางรางรถไฟ เนื่องจากงานสร้างทางรถไฟมีระยะทางยาวหลายร้อยกิโลเมตร จึงต้องแบ่งงานออกเป็นช่วงๆ ช่วงละ 30 กิโลเมตร แต่ละช่วงมีโรงงานขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง มีคนงานช่วงละ 200 คน มีนายช่างชาวอิตาลีเป็นผู้ดำเนินการทางเทคนิคพร้อมผู้ช่วยชาวเอเชียอีก 2 คน
คนงานสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นชาวจีนหลายภาษา จึงต้องแบ่งหน้าที่การงานโดยให้ชาวจีนแคะมีหน้าที่บุกเบิกถางป่า ชาวจีนแต้จิ๋วทำหน้าที่โกยดินถมทางให้สูงประมาณ 4.5 เมตร ชาวจีนกวางตุ้งทำหน้าที่โรยหินบนดินที่ถมไว้ เพื่อเป็นแนวทางรถไฟ บางครั้งงานที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วถูกน้ำป่ากัดเซาะทลายก็ต้องเริ่มต้นงานใหม่อีก ตลอดเส้นทางการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้ต้องใช้คนงานทั้งหมดหลายพันคน
ในการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้ รัฐบาลพระปิยมหาราชเจ้าได้กู้เงินจากอังกฤษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ วัสดุก่อสร้างต่างๆ กระทำสำเร็จรูปมาจากอังกฤษ การสร้างสะพานทางรถไฟก็ต้องปูนซีเมนต์มาก่อเป็นฐานสะพานแล้วจึงส่งสะพานสำเร็จรูปซึ่งทำมาจากอังกฤษมาวางให้พอดี ขนาดของสะพานเหล็กนี้มีตั้งแต่ 30 ตัน ถึง 80 ตัน การลำเลียงปูนซีเมนต์และรางเหล็กจากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ต้องลำเลียงโดยทางน้ำและทางบกเป็นทอดๆ ไป จนถึงอำเภอและจังหวัดต่างๆ
ระหว่างการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้ ได้สร้างมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า “บ้านน้ำน้อย” (อยู่ครึ่งทางระหว่างหาดใหญ่-สงขลา)
บ้านน้ำน้อยหรือตำบอลน้ำน้อยในสมัยก่อนมีความเจริญมาก การปกครองขึ้นกับเมืองสงขลา มีแหล่งแร่ดีบุกและแร่เหล็กมากมาย ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ลาออกจากงานแล้วนั่งเกวียนไปสงขลา ตั้งใจจะพำนักอยู่ที่สงขลา แต่กลับถูกขโมยขึ้นบ้านกวาดทรัพย์สินไปเกือบหมด ท่านจึงต้องเช่าเรือจากสงขลาล่องเรือย้อนกลับไปพัทลุงเพื่อไปหานายชีจื้อถิ่น ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟสายนั้น ขุนนิพัทธ์ฯ จึงได้รับมอบหมายงานจากนายชีจื้อถิ่น ให้เป็นผู้ควบคุมงานสร้างทางรถไฟสายทุ่งสงเป็นเวลา 1 ปี
ในปี พ.ศ. 2453 ท่านได้แต่งงานกับคุณเลี่ยน แซ่ฮิว ซึ่งเป็นคนอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน หญิง 1 คน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่หาดใหญ่และได้ให้กำเนิดบุตรชายหญิงอีก 7 คน รวมทั้งหมด 10 คน
แต่เดิมท่านมีภรรยาจากเมืองจีนแล้วหนึ่งคน เนื่องจากต้องเสี่ยงโชคมายังดินแดนสยามในสมัยนั้น จึงไม่ได้พาภรรยามาด้วย แต่ได้เดินทางตามมาในปี พ.ศ. 2457 มาอยู่ที่หาดใหญ่กับ ขุนนิพัทธ์ฯ จวบจนปี พ.ศ. 2459 จึงได้ให้กําเนิดบุตรชายกับนางจุงซ้อนยิน 1 คน คือ นายจิระนครที่บ้านริมคลอง อู่ตะเภาข้างที่ว่าการอําเภอหาดใหญ่
บุตรชายหญิงของขุนนิพัทธ์ฯ ทั้ง 11 คน คือ 1. นายสุกิตติ์ จิระนคร 2. นายสุธรรม จิระนคร 3. นางอัมพา จูตระกูล 4. นายกี่ จิระนคร 5. นางชูจิตร ชูจิตรบุตร 6. นาง จินตนา แซ่ฉั่ว (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2505) 7. นางจุรีย์ ตันพานิช 8. นางมาลี จิระนคร 9. นายนิพัทธ์ จิระนคร (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2521) 10. นางกรองกาญจน์ สินสกุล 11. นายกิตติ จิระนคร
รับเหมาสร้างทางรถไฟ
ในปี พ.ศ. 2453 ขุนนิพัทธ์ฯได้รับงานเหมาสร้างทางรถไฟช่วงพัทลุงถึงร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีช่องเขาอันกันดารเป็นป่าทึบ ท่านรับเหมางานขุดดินเจาะอุโมงค์ลอดเขาจากนายชีจือถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับเหมาต่อจากบริษัทต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จํากัด รับเหมาขุดดินเจาะอุโมงค์อยู่ก่อนแล้ว แต่คนงานรุ่นแล้วรุ่นเล่านับร้อย ๆ คนต้องประสบกับความตายมากมาย เนื่องจากเป็นช่องเขาอันกันดาร เมื่อขุนนิพัทธ์เข้ารับเหมางานนี้ ได้ใช้ความสุขุมรอบคอบในการควบคุมงานอย่างเต็มที่ จนสามารถขุดอุโมงค์เสร็จได้ตามกําหนดเวลา หรือที่ทราบกันในปัจจุบันนี้คือชุมทางเขาชุมทอง หลังจากนั้นท่านจึงเข้าควบคุมเส้นทางรถไฟสายฉวาง-ทุ่งสงต่ออีก 4 ปี
เมื่อเสร็จจากงานรับเหมาช่วงฉวาง-ทุ่งสงแล้ว ท่านรับเหมาสร้างทางรถไฟช่วงต่อไปอีก และได้มาสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่แถบคลองอู่ตะเภา ห่างจากที่ว่าการอําเภอหาด ใหญ่ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ชุมทางสถานีอู่ตะเภาเป็นเส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่ในสมัยก่อน ปัจจุบันใช้เป็นเพียงที่หยุดรถไฟ
ขุนนิพัทธ์ฯ รับเหมาสร้างทางรถไฟช่วงต่อไปอีกที่อําเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานีเป็นเวลาหลายปี เสร็จจากงานที่อําเภอโคกโพธิ์แล้ว ท่านกลับมารับงานซ่อมทางรถไฟสายอู่ตะเภา-สงขลา ซึ่งถูกน้ำท่วมทางขาดอีก ระหว่างการซ่อมทางรถไฟสายนี้ ท่านต้องพักอาศัยไปๆ มาๆ ระหว่างตำบลน้ำน้อย-อู่ตะเภา ยามว่างจากงานก็ออกสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกที่เขาวังพา ตำบลทุ่งตำเสาและตำบลท่าช้าง ซึ่งเป็นป่าทึบอยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ บางครั้งต้องค้างคืนในป่าเพื่อการค้นหาแหล่งแร่ เป็นอยู่เช่นนี้จนเกือบจะตลอดชีวิตของท่าน จนในบั้นปลายของชีวิต ท่านได้ทิ้งมรดกการทำเหมืองแร่ให้กับลูกหลานได้รับช่วงต่อมา
งานสร้างทางรถไฟสายใต้จากเพชรบุรีจรดสุดสายชายแดนภาคใต้ เสร็จสิ้นลงด้วยดี สถานีสุดท้ายสุดชายแดนคือ สถานีสุไหงโกลกและสถานีปาดังเบซาร์
บ้านหาดใหญ่และ “ถนนเจียกีซี”
พ.ศ. 2455 เสร็จจากงานรับเหมาสร้างทางรถไฟแล้ว ขุนนิพัทธ์ฯได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่
เนื่องจากแถบสถานีรถไฟอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ ขุนนิพัทธ์ฯ ผู้มีนิสัยชอบบุกป่าฝ่าดงจึงทำการออกสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสร้างบ้านเรือน จนพบป่าต้นเสม็ดแห่งหนึ่ง มีผู้คนอาศัยอยู่บ้าง เป็นป่าบริเวณโดยรอบหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านหาดใหญ่ และบ้านโคกเสม็ดชุน
ป่าต้นเสม็ดแห่งนี้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟอู่ตะเภาประมาณ 3 กม. ขุนนิพัทธ์ฯ จึงได้ทำการซื้อที่ป่าต้นเสม็ดจำนวน 50 ไร่ ตามที่ตั้งใจไว้เป็นเงินจำนวน 175 บาทจากชาวบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนั้น โดยการผ่านนายหน้าช่วยติดต่อซื้อขายคือ ผู้ใหญ่บ้านหนู (เปียก) จันทร์ประทีป และผู้ใหญ่บ้านพรหมแก้ว คชรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเก่าแก่มีมาช้านานแห่งหนึ่งเรียกว่า “บ้านหาดใหญ่”
“บ้านหาดใหญ่” มีบ้านเรือนตั้งอยู่สองฟากทางรถไฟสายใต้อยู่ทางทิศใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่เลียบริมฝั่งคลองเตยไปทางด้านตะวันออก เป็นหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอเหนือ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอหาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2460) ลูกหลานของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านหาดใหญ่ ได้ทำการสำรวจและทำหลักฐานขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในปีพ.ศ. 2457 พบว่าเฉพาะฝั่งถนนศรีภูวนารถเลียบริมฝั่งคลองเตยไปทางด้านตะวันออก มีบ้านเรือน 9 หลัง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านหาดใหญ่ อำเภอเหนือ
ส่วนบริเวณทางตอนเหนือของสถานีรถไฟหาดใหญ่ ตั้งแต่บริเวณถนนนิยมรัฐ (หรือที่ตั้งของโรงแรมโฆษิต) เรื่อยไปจนถึงที่ทำการตำรวจรถไฟถึงบริเวณวัดโคกสมานคุณ ตลอดจนริมถนนเพชรเกษมจนถึงวงเวียนน้ำพุ เรียกว่า “บ้านโคกเสม็ดชุน”
ป่าโคกเสม็ดชุนในปี พ.ศ. 2455 มีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่น้อยมาก มีชาวบ้านจากแหล่งใกล้เคียงเข้าไปทำไร่บ้างเท่านั้น
หลังจากที่ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ซื้อป่าต้นเสม็ดแล้ว ก็ทำการถางป่าจนเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ และได้ลงทุนสร้างห้องแถวห้าห้องในปี พ.ศ. 2459 โดยใช้ไม้กลมมาทำเป็นเสาสร้างบ้าน และมีหลังคามุงจาก ท่านตัดถนนเป็นดินสายแรกขึ้นเรียกว่า “ถนนเจียกีซี” ห้องแถวห้าห้องแรกนี้ท่านสร้างอยู่ใกล้กับเขตรถไฟ
เขตรถไฟนี้ทางการได้ขอซื้อที่ดินจากท่านในราวปี พ.ศ. 2458 กินเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ตลอดริมถนนทั้งสองฟากของถนนธรรมนูญวิถีจรดร้านถ่ายรูปโปจินและธนาคารนครหลวงไทย จํากัด ตลอดจนบริเวณสนามฟุตบอลด้านข้างธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์
บ้านสามหลังแรกในจํานวนห้าห้องของท่าน ท่านนํามาใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวหลังหนึ่ง เป็นร้านขายของชําหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งทําเป็นโรงแรมชื่อว่า โรงแรมซีฟัด ส่วนอีก สองหลังได้เช่าให้ผู้อื่นทําเป็นโรงแรมเช่นกัน เรียกว่า โรงแรมเดี๋ยนไห้และโรงแรมหยี่กี
บ้านหลังแรกที่ท่านเริ่มสร้างนั้น ปัจจุบัน (หมายถึงในพ.ศ. 2528 – กองบก.ออนไลน์) คือที่ตั้งของธนาคารนครหลวงไทย จํากัด ถนนเจียกีซีสายแรกของท่านนั้น ปัจจุบัน (หมายถึงในพ.ศ. 2528 – กองบก.ออนไลน์) ได้เปลี่ยนเป็นถนนธรรมนูญวิถี
ในระหว่างที่ขุนนิพัทธ์ฯและครอบครัว ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวที่ท่านสร้างขึ้นใหม่นั้น ท่านมีการติดต่อจดหมายกับชาวมลายูเสมอ แต่บริเวณที่ท่านพักอาศัยพร้อมเพื่อนบ้านนี้เคย เป็นป่าต้นเสม็ด ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพื่อเป็นการสะดวกในการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ท่านได้ใช้ชื่อ “บ้านหาดใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นสถานที่ติดต่อส่งจดหมายมายังจุดหมายปลายทางก็ปรากฏว่าส่งได้ถูกต้อง
ประมาณอีก 2 ปีถัดมา ขุนนิพัทธ์ฯ ได้สร้างห้องแถวหลังคามุงจากเพิ่มขึ้นอีกหลายห้อง โดยการสร้างต่อจากห้องแถวห้าห้องแรกไปทางตะวันออก ปัจจุบัน (หมายถึงในพ.ศ. 2528 – กองบก.ออนไลน์) คือร้านขายหนังสือ หนานหยาง ร้านรอแยล ร้านสวนสน (สี่แยกนิพัทธ์อุทิศ 2 ตัดกับถนนธรรมนูญวิถี) ภายหลังต่อมาห้องแถวช่วงหลังนี้ท่านได้ขายให้กับเจ้าคุณอรรถกวีสุนทร
ห้องแถวที่ขุนนิพัทธ์ฯสร้างขึ้นนี้ ได้กลายเป็นที่คึกคักมีผู้คนสัญจรไปมามากมาย ประจวบกับสมัยนั้นกรรมกรสวนยางและกรรมกรเหมืองแร่เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีชื่อเรียกห้องแถวของขุนนิพัทธ์ฯว่า “ตลาดโคกเสม็ดชุน”
ท่านเริ่มสร้างห้องแถวสองห้องแรกที่ เป็นห้องแถวสองชั้นหลังคามุงกระเบื้อง โดยสร้างอยู่ฝั่งตรงข้ามกับห้องแถวห้าห้องแรก ไว้ใช้เป็นสํานักงานส่วนตัวคือ สํานักงาน ยี้ซุ้นชอง (ปัจจุบันในพ.ศ. 2528 คือที่ตั้งของร้านถ่ายรูปโปจิน) หลังติดกันเป็นโรงแรมของท่านเอง ชื่อว่า โรงแรมวั้นออนฝ่อ
ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง คุณพระเสน่หามนตรี นายอําเภอคนแรกของอําเภอหาดใหญ่ก็ได้ให้คนมาเช่าที่ของท่านไว้ปลูกร้านค้าหรือที่พักอาศัย โดยการใช้เสาไม้กลมมาสร้างพร้อมทั้งใช้หลังคามุงจากเช่นกัน คือด้านทิศเหนือถนนธรรมนูญวิถี ระหว่างนิพัทธ์อุทิศ 1 ถึงนิพัทธ์อุทิศ 3 ปัจจุบัน
หลังจากที่ทางการได้ซื้อที่ดินจากขุนนิพัทธ์ ไว้เป็นย่านรถไฟแล้ว อีก 3 ปีต่อมา ได้มีการโยกย้ายสถานีอู่ตะเภามายังบริเวณเขตรถไฟ ข้าราชการหลายท่าน พร้อมทั้งปลัดเทศา ภิบาล นายไปรษณีย์ได้เชิญขุนนิพัทธ์ฯไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตั้งชื่อสถานีรถไฟแห่งใหม่นี้ ขุนนิพัทธ์ฯได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงการที่ท่านมีการติดต่อจดหมายกับชาวมลายูโดยการใช้ชื่อ หาดใหญ่ เป็นสถานที่ติดต่อ ที่ประชุมเห็นชอบด้วยจึงได้เสนอให้ใช้ชื่อว่า “สถานีหาดใหญ่”
ในปี พ.ศ. 2467 ได้มีการทําพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่ขุนนิพัทธ์ฯ เป็นผู้เริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองขึ้นเองด้วย
เมื่อมีผู้คนมาอาศัยอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกสามสาย พร้อม ๆ กันคือ ถนนเจียกีซี 1 ถนนเจียกีซี 2 และถนนเจียกีซี 3 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ตามลําดับ (ชื่อ “นิพัทธ์” เป็นชื่อราชทินนามของขุนนิพัทธ์ฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อปี พ.ศ. 2472)
ถนนทั้งสามสายที่ตัดขึ้นใหม่นี้ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้สร้างห้องแถวเพิ่มขึ้นทั้งสองฟากถนนด้วย มีที่ดินว่างเปล่าบางส่วนที่ท่านได้แบ่งขายให้กับผู้อื่นเช่นกัน พร้อมกันนั้น นายชีกิมหยง ก็ได้ช่วยสร้างสรรค์ความเจริญให้กับหาดใหญ่ โดยการสร้างตลาดชีกิมหยง ท่านผู้นี้มีที่ดินว่างเปล่าอยู่ทางด้านตะวันออกของทางรถไฟ (หรือฝั่งถนนเพชรเกษม) ท่านได้อุทิศที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนศรีนคร และได้ตัดถนนหลายสาย เช่น ถนนละม้ายประดิษฐ์ ถนนชีวานุสรณ์ ถนนฉัยยากุล และถนนเชื่อมรัฐ เป็นต้น
ตลาดหาดใหญ่ได้เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทําการค้ากับชาวมลายูมากขึ้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล ขุนนิพัทธ์ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2478 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตําบลหาดใหญ่ และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2492 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่
“ขุนนิพัทธ์จีนนคร”
ในราวปี พ.ศ. 2470 ขุนนิพัทธ์ฯได้ ย้ายครอบครัวจากห้องแถวริมถนนเจียกีซี หรือ ถนนธรรมนูญวิถีในปัจจุบันไปอยู่ที่ฝั่งถนนเพชรเกษม แต่ท่านมิได้หยุดพัฒนาเมืองเพียงเท่านี้ ท่านยังได้ลงทุนสร้างห้องแถวบนที่ดินซึ่งอยู่ปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 (พ.ศ. 2528 คือที่ตั้งของบริษัท ซูซูกิ จํากัด) สมัยนั้นถนนสายนี้ยังเป็นสถานที่ค่อนข้างเงียบเหงา ท่านจึงขายห้องแถวเหล่านั้นในราคาต่ำกว่าต้นทุน เพื่อเป็นการชักจูงให้ผู้คนขยายแหล่งทํากินออกไปให้กว้างขึ้นอีก
ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก เสด็จประพาสภาคใต้ได้พิจารณาถึงคุณงามความดีและกิตติศัพท์อันเลื่องลือถึงความขยันขันแข็งของท่านในการสร้างตนเองและพัฒนาตลาดหาดใหญ่จากป่าต้นเสม็ดชุนมาเป็นเมืองใหญ่ของภาคใต้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็น “ขุนนิพัทธ์จีนนคร” และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ในปีพ.ศ. 2472
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้กราบทูลขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นสามแก่ท่าน จนกระทั่งมาสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้กราบทูลขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเหรียญตราและเข็มกว่า 30 ชนิด
ขุนนิพัทธ์ฯ ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ท่านได้รับอนุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัว คือ “นิพัทธ์” จากกระทรวงมหาดไทยและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนนามสกุล “จิระนคร” จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ตามลำดับ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา ขุนนิพัทธ์ฯ ได้พยายามทำความเจริญให้กับท้องถิ่นและเพื่อที่จะทำให้หาดใหญ่เป็นชุมทางคมนาคม ท่านได้อุทิศที่ดินและวางผังเมืองด้วยตนเองจากการตัดถนนสายแรกขึ้นคือ
1. ถนนเจียกีซี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนธรรมนูญวิถี) และได้ตัดถนนสายต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ดังนี้
2. ถนนเจียกีซี สาย 1 (ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 1)
3. ถนนเจียกีซี สาย 2 (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ถนนไทยอิสระ แล้วเปลี่ยนอีกเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 2)
4. ถนนเจียกีซี สาย 3 (ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนน 24 มิถุนาฯ แล้วเปลี่ยนอีกเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 3)
หลังจากที่ท่านได้ย้ายไปอยู่ฝั่งถนนเพชรเกษมแล้ว ท่านยังได้พัฒนาที่ดินแถบนั้นอีก โดยการอุทิศที่ดินให้กับเทศบาลเมืองหาดใหญ่เพื่อตัดถนนอีก 30 สาย เช่น
5. ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 1
6. ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 2
7. ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 3
8. ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 4
9. ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 5
10. ถนนซอยนิพัทธ์สงเคราะห์ รวม 24 สาย
11. ถนนจิระนคร
และยังอุทิศที่ดิน 14 ไร่ให้กับเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เพื่อสร้างเป็นสนามกีฬาจิระนคร อุทิศที่ดิน 4 ไร่ครึ่งให้กับเทศบาลเพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลหาดใหญ่ อุทิศที่ดินส่วนหนึ่งและขายอีกส่วนหนึ่งให้กับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2528 – กองบก. ออนไลน์) สถานที่ตั้ง สามแห่ง เช่น สนามกีฬาจิระนคร โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เป็นสถานที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในภาคใต้
ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร ถึงแก่กรรมที่บ้านพักเลขที่ 428 ถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ มีอายุได้ 87 ปี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2515
…
เมืองหาดใหญ่เป็นเพียงตำบลในอำเภอหาดใหญ่ แต่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้จังหวัดสงขลาเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โครงการต่างๆ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สะพานข้ามเกาะยอ โครงการขุดแก๊สในทะเลสาบ ซึ่งหมายถึงการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ซึ่งจะทำกำไรให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาลในอนาคต
หาดใหญ่ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ผู้บุกเบิกพัฒนาและวางผังเมืองหาดใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459
เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานชาวหาดใหญ่ได้ศึกษาและจารึกถึงคุณงามความดีในด้านการเสียสละเพื่อส่วนรวมและความมีระเบียบแบบแผนในการพัฒนาและวางผังเมืองของ ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร เทศบาลเมืองหาดใหญ่ภายใต้การนําของนายกเทศมนตรีหาดใหญ่ นายเคร่ง สุวรรณวงศ์ โดยการอนุมัติจากสภาเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ได้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านขุนนิพัทธ์จีนนครขึ้นที่สนามกีฬาจิระนคร และให้ทําพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันเปิดตลาดหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2467 เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างถึง :
1. หนังสือชีวประวัติขุนนิพัทธ์จีนนคร จากบันทึกคําบอกเล่าของขุนนิพัทธ์ฯ พิมพ์ในปี พ.ศ. 2507
2. ชีวประวัติขุนนิพัทธ์จีนนคร จากทําเนียบกระทรวงมหาดไทย
3. ตามประกาศในราชกิจจานุบกษา เล่ม 66 15 มีนาคม 2492 เรื่องการยกฐานะตลาดหาดใหญ่
4. จากบันทึกความทรงจําของคุณพลับ ไชยะวงศ์ เรื่อง “บ้านหาดใหญ่”
เผยแพร่นระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2562