“โกไลแอท” รถถังมินิแบบใช้แล้วทิ้ง ที่ใช้เคลียร์ทุ่นระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2

รถถังโกไลแอท ที่แนวรบด้านตะวันออก เมื่อเดือนมีนาคม 1944

เมื่อนึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนส่วนมากอาจนึกถึงความยิ่งใหญ่ของระเบิดปรมาณู, ความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก ฯลฯ แต่สงครามก็ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาก กล่าวเช่นนี้มิได้เป็นการสนับสนุนสงครามแต่อย่างใด แน่นอนว่าไม่มีสงครามก็ย่อมเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หากในช่วงวิกฤติเช่นนี้ทุกอย่างจะรอช้าไม่ได้เพราะมันหมายถึงการสูญเสียพ่ายแพ้

วิกฤติเช่นสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ “โกไลแอท” รถถังขนาดเล็กสำหรับเคลียร์ทุ่นระเบิด

รถถังขนาดเล็กที่ควบคุมจากระยะไกลคันแรกแม้จะไม่ใช่ขนาดมินิของเยอรมนีก็คือ มิเนินรอมวาเกน (Sd Kfz 300) BI ซึ่งเป็นรถถังเคลียร์ทุ่นระเบิดชนิดที่ใช้แล้วโยนทิ้งได้โดยไม่ต้องเสียดาย ได้รับการออกแบบ เมื่อปี 1939 มันหนัก 1.5 ตัน ควบคุมด้วยวิทยุและพ่วงลูกกลิ้งสําหรับตรวจหาทุ่นระเบิด จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1940 มีการผลิตรถถังมิเนินรอมวาเกน BI จํานวน 50 คัน และต่อมาถูกแทนที่ด้วยรุ่น Bll ที่หนักกว่า แต่ก็สร้างเสร็จเพียงรถต้นแบบเท่านั้น ทั้งสองชนิดถูกแทนที่ด้วยรถถังขนาดเล็กกว่า ซึ่งควบคุมด้วยสายเคเบิลชื่อโกไลแอท (Goliath) หรือโกลิอาท ในภาษาเยอรมัน

ระหว่างการสู้รบในฝรั่งเศสเมื่อปี 1940 กองทัพเยอรมนีได้ยึดรถถังมินิของฝรั่งเศส และใช้พื้นฐานของรถถังฝรั่งเศสในการออกแบบรถถังมินิโกไลแอทให้ตรงกับคุณสมบัติที่กําหนดไว้เมื่อปลายปี 1940 เพื่อให้ได้รถถังขนาดเล็กที่สามารถใช้งานได้ นอกเหนือไปจากการเคลียร์ทุ่นระเบิด

ระหว่างเดือนเมษายน ปี 1942 ถึงมกราคม ปี 1944 มีการผลิตรถถังโกไลแอททั้งสิ้น 2,650 คัน ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือไลชเทอ ลาดุงสเทรเกอร์ Sd Kfz 302 (E-มอเตอร์), เกดเรต 67 “โกไลแอท” หรือ ระเบิดทําลายติดล้อควมคุมจากระยะไกลที่โยนทิ้งได้ มันมีล้อ 4 ล้อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโซ่ฟันเฟืองบริเวณด้านหน้าและหลัง น้ำหนัก 0.37 ตัน ยาว 1.2 เมตร (4 ฟุต) กว้าง 0.82 เมตร (2.7 ฟุต) สูง 0.55 เมตร (1.8 ฟุต)

พลังงานขับเคลื่อนมาจากเครื่องยนต์ไฟฟ้าบอช 2.5 กิโลวัตต์ มีเกียร์เดินหน้า 1 เกียร์ ถอยหลัง 1 เกียร์ ความเร็ว 9 โลเมตร (6 ไมค์) ต่อชั่วโมง พิสัยต่ำกว่า 1.5 กิโลเมตร (1 ไมล์) การควบคุมการนำทางกระทําผ่านสายเคเบิล 3 เส้น โดย 2 สายทําหน้าที่ควบคุมทิศทาง และอีก 1 สาย ทำหน้าที่จุดระเบิด

ตัวถังภายนอกประกอบด้วย 3 ส่วน ด้านหน้าบรรจุวัตถุระเบิด ตรงกลางเป็นส่วนควบคุม และส่วนของสายเคเบิลอยู่ด้านหลัง แบตเตอรีขนาด 12 โวลต์ 2 ก้อนและมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละก้อนที่ขับเคลื่อน แต่ละล้อจะถูกพับเก็บไว้ตรงส่วนที่ยื่นออกมาจากด้านข้างของรถถึง

ทหารหน่วยแรกที่ได้รับแจกจ่ายโกไลแอทคือกองร้อยยานเกราะนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองพันทหารช่างยานยนต์ และกองพลน้อยยานเกราะจู่โจม โกไลแอทถูกนํามาใช้งานอย่างมากในแนวรบด้านโซเวียต และใช้ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างเพื่อเคลียร์เขตทุ่นระเบิดที่คูร์สค์ และยังถูกนํามาใช้ในคราวที่เกิดการลุกฮือขึ้นในกรุงวอร์ซอเพื่อต่อต้านกองทัพป้องกันภายในของโปแลนด์เมื่อปี 1944

เนื่องจากกองทัพป้องกันภายในของโปแลนด์มีอาวุธต่อสู้รถถังเพียงเล็กน้อย อาสาสมัครที่แสดงออกถึงความกล้าหาญอันยิ่งใหญ่จึงถูกส่งไปตัดสายเคเบิลควบคุมก่อน ที่มันจะถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ โกไลแอทเพียงไม่กี่คันถูกใช้ต่อต้านการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี เมื่อเดือนมิถุนายน 1944 แต่ทหารสัมพันธมิตรพบว่า โกไลแอทส่วนใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้แล้วตั้งแต่ก่อนการยกพลขึ้นบกจริง ๆ โกไลแอทเหล่านี้มาอยู่ในโซนที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถล่มอย่างหนักในเบื้องต้นไปแล้ว ดังนั้น สายเคเบิลที่ควบคุมมันจึงถูกตัดขาด ทั้งที่การทิ้งระเบิดไม่ได้วางแผนเพื่อโจมตีโกไลแอทแต่ประการใด

ในปี 1942 มีคําสั่งให้ปรับปรุงโกไลแอทให้ดีขึ้น ซึ่งออกมาเป็น Sd Kfz 303 (V-มอเตอร์) เพื่อให้มันสามารถบรรทุกระเบิดได้หนักมากกว่าและมีพิสัยไกลกว่าเดิม มีการสร้างออกมา 2 รุ่น คือ 303a และ 303b โดย รุ่น 303a นั้นเล็กกว่าและเบากว่ารุ่น 303b ซึ่งรุ่น 303b หนัก 0.43 ดัน เครื่องยนต์เบนซินขนาด 703 ซีซี ช่วยให้ มันวิ่งได้เร็วสุด 12 กิโลเมตร (7.5 ไมล์) ต่อชั่วโมง พิสัย 12 กิโลเมตร (7.5 ไมล์) ทว่าพิสัยทําการรบของมันถูกจํากัด ด้วยสายเคเบิลที่ควบคุมมัน ซึ่งทําให้มันมีพิสัยทำการรบได้เพียง 640 เมตร (700 หลา) สำหรับการขนส่งไปยังพื้นที่สู้รบนั้นใช้วิธีบรรทุกไปบนรถพ่วง 2 ล้อ

มีการผลิตโกไลแอทไปจนถึงเดือนมกราคม ปี 1945 แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ยานพาหนะทำลายที่ควบคุมจากระยะไกลเพียงชนิดเดียวที่เยอรมนีสร้างขึ้น โดยมีการสร้างรถถังลักษณะเดียวกันนี้อีกคือ ชแวร์เรอร์ ลาดุงสเทรเกอร์ Sd Kfz 301 เอาส์ หนัก 3.6 ตัน ประกอบด้วยโมเดล A และ B ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 1942 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 1943

ทั้งนี้ มันสามารถทิ้งระเบิดทำลายหนักใส่เป้าหมายหรือใกล้เป้าหมายเพื่อทำลายป้อมปราการ รวมทั้งใช้เพื่อเคลียร์ทุ่นระเบิด หลังจากระเบิดถูกทิ้งด้วยการควบคุมผ่านวิทยุ รถถังจะถอยออกมาด้วยการควบคุมผ่านวิทยุอีกครั้ง ด้วยเหตุที่มันวิ่งได้เร็ว 37 กิโลเมตร (23 ไมล์) ต่อชั่วโมง และมีพิสัย 211 กิโลเมตร (131 ไมล์) มันจึงถูกใช้ในภารกิจเคลียร์ทุ่นระเบิดอย่างได้ผลมากในแนวรบด้านโซเวียต


ข้อมูลจาก

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562