ไม่ได้ “เล่นสกี” โอลิมปิกฤดูหนาว แต่นี่คือ “พาหนะ” ในสงครามฤดูหนาว

ทหารฟินแลนด์สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ สะพายปืนไรเฟิล สวมชุดพรางสีขาว และใช้สกีเป็นพาหนะในการบ

สกี กีฬาชนิดหนึ่งในฤดูหนาวที่นิยมในชาติตะวันตก และมีการบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว แต่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ “สกี” กลายเป็น 1 ใน 100 ของสิ่งของสำคัญระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้ฟินแลนด์ที่ขณะนั้นด้อยกว่าโซเวียตในเรื่องแสนยานุภาพ เป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิ

ซึ่ง พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร. แอลแลน อาร์.มิลเลตต์ เขียนอธิบายไว้

Advertisement

สหภาพโซเวียตบุกฟินแลนด์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 1939 หลังจากฟินแลนด์ปฏิเสธที่จะส่งมอบดินแดนให้ตามที่รัสเซียต้องการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแนวป้องกันของหน่วยทหารเลนินกราด กองทัพบกฟินแลนด์มีทหารทั้งหมด 10 กองพล ซึ่งขาดแคลนยุทธภัณฑ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ ปืนครก วิทยุสื่อสาร ไปจนถึงลูกปืนใหญ่

แต่พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องอิสรภาพของฟินแลนด์ที่เพิ่งได้รับจากรัสเชียหลังการปฏิวัติบอลเชวิก เมื่อปี 1917 ทหารฟินแลนด์ได้รับการฝึกอย่างดีในการใช้อุปกรณ์ที่พวกเขาประดิษฐ์ขึ้นเอง และรู้สึกคุ้นชินกับภูมิประเทศที่ปกคลุมด้วยป่าทั้งในหน้าหนาวและฤดูร้อน อย่างเช่นพวกเขาสามารถใช้สกีเคลื่อนที่บนหิมะได้ เป็นต้น

ลีลาเลี้ยวโค้งบริเวณทางลาด ของทหารฟินแลนด์ ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยหิมะ

ฟินแลนด์ใช้ช่วงเวลาระหว่างการเจรจาก่อนที่รัสเซียจะบุก เพื่อย้ายตำแหน่งแนวป้องกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของแนวพรมแดนยาว 1,000 กิโลเมตร (620 ไมล์) เป็นป่ารกทึบและทะเลสาบปกคลุมด้วยหิมะ ที่ไม่มีทางเดินเท้า ซึ่งกองทัพสมัยใหม่ไม่สามารถผ่านไปได้ ช่วยให้คาร์ล กุสตาฟ เอมิล มานเนไฮม์ จอมพลซึ่งทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองทัพฟินแลนด์มุ่งสมาธิไปยังทหาร 6 กองพลที่วางกำลังอยู่ตามแนวมานเนไฮม์ ความยาว 65 กิโลเมตร (40 ไมล์) ที่คอคอดกาเรเลียน ซึ่งอยู่ระหว่างทะลสาบลาโกดาและอ่าวฟินแลนด์ รวมทั้งทหารอีก 2 กองพล ซึ่งวางกำลังอยู่ตามแนวพรมแดนฟินแลนด์ยาว 80 กิโลเมตร (50 ไมล์) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบลาโกดา

กองทัพบกโซเวียตส่งทหาร 26 กองพล จำนวน 1.2 ล้านนาย พร้อมรถบรรทุกปืนใหญ่จำนวนมาก รถถัง 1,500 คัน และเครื่องบินอีก 3,000 ลำ เพื่อบดขยี้ฟินแลนด์ แต่กองทัพโซเวียตเต็มไปด้วยข้อบกพร่องจากการที่สตาลินได้กวาดล้างและปลดนายพลระดับสูงฝีมือดีจำนวนมากในกองทัพไปเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ การจัดทีมผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่แล้วก็ขึ้นอยู่กับบรรดา “ที่ปรึกษาทางการเมือง” (ซึ่งก็คือผู้ดูแล) ขี้ประจบประแจงในพรรคคอมมิวนิสต์ บรรดาผู้บังคับบัญชากองทัพของโซเวียตต่างก็ชะงักงัน เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเมืองเหล่านี้ ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะถูกประหารโดยทันทีหรือถ้าโชคดีก็แค่ต้องติดคุกขังนักโทษการเมืองหรือกูลัก (Gulag) หากพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความริเริ่มใดๆ ก็ตามที่แปลกแยกไปจากหลักการทหารของโซเวียต

บรรดาทหารโซเวียตประหลาดใจกับการเตรียมตัวที่แย่มากสำหรับการทำสงครามในหน้าหนาว พวกเขาไม่มีชุดพรางสีขาว ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ยานพาหนะและอุปกรณ์ต่างๆ กลายเป็นน้ำแข็ง อีกทั้งไม่มีหน่วยทหารสกี ยิ่งเพิ่มความเสียเปรียบในการต่อสู้ในสภาพภูมิอากาศกึ่งขั้วโลก

การโจมตีของโซเวียตด้วยทหารเพียงกองพลเดียวที่เมืองเปตซาโมทางตอนเหนือของฟินแลนด์ต้องหยุดชะงักระหว่างทาง การโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกที่เฮลซิงกิ ฮานโกและตูรกู ถูกฟินแลนด์ต้านทานเอาไว้และขับไล่ออกไปได้ กองทหารหลักของรัสเซียจำนวน 12 กองพล ซึ่งตะลุยผ่านคอคอดกาเรเลียน โดยได้รับการสนับสนุนจากรถหุ้มเกราะ ก็ตกอยู่ในสภาพคุมเชิงกันโดยที่ไม่มีใครเอาชนะอีกฝ่ายได้ โดยความเสียหายส่วนมากตกอยู่กับฝ่ายรัสเซียเอง

ในเบื้องต้นนั้นทหารฟินแลนด์ซึ่งไม่มีประสบการณ์การทำสงครามด้วยรถหุ้มเกราะและไม่มีอาวุธต่อสู้รถถัง จึงรู้สึกใจฝ่อเมื่อเห็นรถถังของโซเวียต แต่พวกเขาก็เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่ารถถังเหล่านี้สามารถจัดการได้ระหว่างคืนหน้าหนาวอันยาวนานโดยใช้ “ระเบิดเพลิง” (Molotov cocktail) โดยเฉพาะในขณะที่รถหุ้มเกราะรัสเซียกำลังปฏิบัติการโดยไม่มีทหารราบสนับสนุน

ปลายเดือนธันวาคม ทหารฟินแลนด์ที่โต้กลับโซเวียตตามแนวรบด้านตะวันออก ฝ่ายฟินแลนด์ตีโอบขบวนทหารของรัสเซียที่กำลังมุ่งหน้าสู่ถนนโดยใช้หน่วยทหารสกีเคลื่อนที่ในป่า โซเวียตจึงคิดหาทางแก้ด้วยการสร้างหน่วย “เม่น” แยกออกมาต่างหาก ซึ่งถึงแม้หน่วยเม่นจะทำหน้าที่ป้องกันได้ดี แต่ก็มีขนาดเล็กและอาจถูกกำจัดได้ทีละคน…

ระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม ปี 1939 ถึง 8 มกราคม ปี 1940 ทหารโซเวียต 2 กองพล ซึ่งมีจำนวนมากกว่าฝ่ายฟินแลนด์ประมาณ 4 หรือ 5 ต่อ 1 กลับถูกเล่นงานตลอดระยะทางหลายไมล์ พวกโซเวียตอุ้ยอ้ายเกินกว่าจะโต้กลับการโจมตีอันดุเดือดของหน่วยทหารสกีฟินแลนด์ ซึ่งตัดกองทหารรัสเซียออกเป็นชิ้นๆ

ในที่สุดฝ่ายฟินแลนด์ยึดรถถังรัสเซียได้ 65 คัน รถ บรรทุก 437 คัน จักรยานยนต์ 10 คัน ปืนใหญ่เคลื่อนที่ 92 กระบอก ปืนต่อสู้รถถัง 78 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 13 กระบอก ปืนไรเฟิล 6,000 กระบอก ปืนกล 290 กระบอก และวิทยุสื่อสารอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทำให้ทหารโซเวียตเสียชีวิต 27,500 นาย รถถัง 43 คัน ถูกทำให้ใช้การไม่ได้ และยานพาหนะอื่นๆ อีก 270 คันถูกทำลาย ส่วนทหารฟินแลนด์เสียชีวิต 900 นาย บาดเจ็บ 1,770 นาย

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1940 กองทัพบกโซเวียตซึ่งจัดทัพใหม่ภายใต้บัญชาการของพลเอกเซมโยน ทีโมเชนโก ได้เพิ่มทหารขึ้นมาอีก 9 กองพลเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และเข้าตีแนวป้องกันของฟินแลนด์ขนานใหญ่หลายครั้ง โดยไม่สนใจว่ารัสเซียจะเกิดความสูญเสียมากเพียงใด

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ กองทัพแดงก็ทะลวงแนวป้องกันของฟินแลนด์ที่ซัมมาได้ และเริ่มกวาดล้างกองกำลังป้องกันของฟินแลนด์ วันที่ 12 มีนาคม ฟินแลนด์จึงตกลงยอมรับเงื่อนไขสงบศึก

การสู้รบกันครั้งนี้ ทหารรัสเซียตาย 200,000 นาย รวมทั้งสูญเสียอุปกรณ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก ส่วนทหารฟินแลนด์เสียชีวิต 25,000 นาย และสูญเสียดินแดน 1 ส่วน 10 ของทั้งหมด หนึ่งในผลกระทบใหญ่ที่ตามมาจากการที่รัสเซียขาดความสามารถในการสู้รบซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “สงครามฤดูหนาว” ก็คืออังกฤษ อเมริกา และโดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งประเมินศักยภาพทางทหารของรัสเซียต่ำไปอย่างมาก เดือนมิถุนายน ปี 1941 ในช่วงเริ่มต้นยุทธการบาร์บารอสซา ฮิตเลอร์คิดว่ารัสเซียจะเป็นประเทศที่เอาชนะได้ง่าย และหลายเดือนหลังจากฮิตเลอร์บุกรัสเซีย ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาก็มีแนวโน้มจะคิดแบบเดียวกับฮิตเลอร์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2562