ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ความกลัวของมนุษย์บางครั้งก็เป็นเรื่องจริง บางครั้งก็เป็นเรื่องเกินจริง ยิ่งในภาวะ “วิกฤติ” เรื่องน่ากลัวธรรมดาก็จะมีความรุนแรง และทำให้เรากลัวมากกว่าปกติ ดังเช่นความกลัว “ก๊าซพิษ” ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน สังกัดนาวิกโยธินอังกฤษ และดร.แอลแลน อาร. มิลเลตต์ นายทหารยศนาวาเอกที่เกษียณอายุแล้วของกองหนุนนาวิกโยธินสหรัฐ เขียนไว้ในหนังสือ 100 สิ่งของสำคัญ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (สำนักพิมพ์มติชน, 2556) ดังนี้
ทั้งก่อนและระหว่าง 2 ปีแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อกันว่าการโจมตีใดๆ ต่อสหราชอาณาจักรน่าจะรวมถึงการใช้ก๊าซพิษ ด้วยเหตุที่เชื่ออย่างนั้น ก็เพราะมีการใช้ก๊าซกับทหารระหว่างการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 บ่อยครั้ง แม้ว่าจะยังไม่เคยมีการใช้ก๊าซพิษกับพลเรือนเลยก็ตาม
นอกจากนั้น ผู้สนับสนุนการใช้กําลังทางอากาศ เช่น พลเอกจูลิโอ ดูเฮต์ แห่งอิตาลี ได้คาดการณ์ว่า จะมี การใช้ก๊าซพิษกับเมืองต่างๆ เขาและคนอื่นๆ มีส่วนรับผิดชอบต่อการคาดการณ์ส่วนใหญ่ที่ว่า การโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศจะทําให้พลเรือนบาดเจ็บรุนแรงฉับพลัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเฮต์คาดการณ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเกินจริง
แต่ในกลุ่มคนที่เชื่อคําทํานายของเขา มีผู้นําทางการเมืองของอังกฤษรวมอยู่ด้วย ความกลัวของพวกเขาถูกเสริมด้วยการยืนกรานของกองทัพอากาศอังกฤษที่ว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดจะผ่านเข้ามาแน่ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ช่วยให้กองทัพอากาศที่กําลังแข่งกับหน่วยงานอื่นยื้อแย่งงบประมาณ ได้รับงบประมาณสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ทั้งดูเฮต์และฝ่ายที่เชื่อคําทํานายของดูเฮต์ได้รับการพิสูจน์ว่าผิดพลาด
เดือนกันยายน 1939 กองกําลังที่มีขีดความสามารถในการใช้ก๊าซโจมตีคือกองทัพของสหภาพโซเวียต เยอรมนีมีก๊าซประมาณ 2,900 ตัน แต่ไม่มีทางจะนํามาใช้อย่างแน่นอน เพราะฮิตเลอร์สั่งห้าม แต่เมื่อสงครามคืบหน้าไป พวกเขาได้พัฒนาก๊าซทําลายประสาทร้ายแรงถึงตายหลายชนิด แต่ไม่เคยนํามาใช้ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว
แต่ฝ่ายอังกฤษเชื่อว่า จะมีการนําก๊าซพิษมาใช้กับประชากรของตน และความรับรู้นั้นก็กลายเป็นทุกๆ อย่าง อุปกรณ์ป้องกัน ตรวจจับและขจัดพิษของอังกฤษได้รับการจัดอันดับว่าดีที่สุดในโลก พอถึงปี 1938 หน้ากากป้องกันก๊าซพิษสําหรับพลเรือนถูกผลิตออกมาจํานวนมาก โดย ณ เดือนกันยายน 1939 หน้ากากจํานวน 38 ล้านชิ้นถูกแจกจ่ายให้กับครัวเรือนทั่วประเทศ
ทุกคนถูกกําหนดให้พกหน้ากาก ซึ่งบรรจุในกล่องกระดาษติดตัวไปด้วยตลอดเวลา โปสเตอร์กระตุ้นและคะยั้นคะยอประชาชนให้ปฏิบัติตาม รวมทั้งคําแนะนําในการสวมหน้ากากแพร่กระจายอยู่ทั่วไป หน้ากากดังกล่าวยังมีชนิดพิเศษสําหรับเด็กและทารก
ยามหรือเจ้าหน้าที่เตือนภัยจะถือเกราะไม้เพื่อเคาะส่งสัญญาณเตือนว่า การโจมตีด้วยก๊าซพิษใกล้เข้ามาแล้ว ส่วนกระดิ่งจะใช้เป็น สัญญาณบอกว่า “AIl Clear” ซึ่งหมายถึงการโจมตีผ่านพ้นไปแล้ว
พลเรือนไม่ได้รับการแจกเสื้อผ้าใดๆ สําหรับป้องกันก๊าซพิษ ดังนั้น หากมีการใช้ก๊าซพิษอย่างก๊าซมัสตาร์ด ผิวหนังของพวกเขาจะพุพองขั้นรุนแรง ดังนั้น แม้จะมีการแจกจ่ายหน้ากากให้กับทุกคน และกําหนดบทลงโทษสําหรับใครก็ตามที่ไม่พกหน้ากากติดตัว มาตรการป้องกันที่มีขึ้นในอังกฤษจึงไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อสงครามคืบหน้าไป ประชาชนก็เลิกพกหน้ากากติดตัว ทหารซึ่งมีหน้ากากประจํากายเมื่อปี 1940 ตลอดเวลาก็เลิกพกติดตัวเช่นกัน และช่างขัดแย้งกันในตัวเอง เพราะชาวอังกฤษและทหารอังกฤษเลิกพกหน้ากากติดตัว ในช่วงเวลาที่เยอรมนีกําลังเริ่มพัฒนา “ทาบุน” ซึ่งเป็นสารเคมีทําลายประสาท
และในช่วงปลายสงคราม เยอรมนีได้พัฒนาก๊าซพิษร้ายแรงถึงตายยิ่งกว่านั้นอีกคือซาริน ซึ่งพร้อมที่จะผลิต ส่วนสารเคมีโซมันยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งนี้ประชากรและทหารของชาติสัมพันธมิตรต่างไม่มีเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันก๊าซทําลายประสาทได้เลย
ในความเป็นจริง หน้ากากป้องกันก๊าซพิษที่แจกจ่ายให้กับประชาชนอังกฤษไม่มีความจําเป็นเลย และความกลัวว่าจะถูกตอบโต้ก็ทําให้เยอรมนีไม่กล้าใช้ก๊าซทําลายประสาทเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2562