ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
สุนทรภู่ มหากวีตายแถววัดเรไร เขตตลิ่งชัน ความรู้นี้มาจากไหน?
สุนทรภู่ เกิดเมื่อ 230 กว่าปีมาแล้ว-วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ต้นสมัยร.1 ตายเมื่อ พ.ศ.2398 ต้นสมัย ร.4 อายุ 70 ปี หน้าตาอย่างไรหารูปถ่ายรูปวาดไม่ได้เลย แม้ลายมือก็ยังไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน เพราะที่คัดๆ กันมา เป็นลายมือใครไม่รู้ ระบุไม่ได้ เมืองไทยยังต้องพัฒนาเรื่องเก็บของ เก็บเอกสารกันอีกมาก
ในหนังสือชื่อ พ่อค้าไทยยุค 2480-2490 โดยเอนก นาวิกมูล หน้า 166 พ่อค้าที่ชื่อสมพูน ภู่เรือหงส์ ให้ประวัติว่าตนเป็นเหลนของสุนทรภู่ต้นตระกูล ภู่เรือหงษ์ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าสืบต่อสายสกุลมาอย่างไร…. ….
สุนทรภู่ไม่ใช่คนธรรมดาแน่ เพราะคนธรรมดาคงไม่สามารถเขียนกลอนได้เป็นจำนวนมหาศาลทั้งเล่มบาง เล่มหนา
เรายุคนี้ไม่ต้องเขียนพระอภัยมณีเองทั้งเล่มหรอก แค่เอางานท่านมานั่งอ่านๆหรือลอกๆด้วยมือโดยไม่ต้องใช้สมองสิบวันสิบคืนก็น่าจะยังไม่จบ
เอาไปถ่ายเอกสารก็ยังเมื่อยมือเลย แต่นี่ท่านเล่นเขียนคนเดียว คิดโครงเรื่องเอง ใส่โวหารกินใจคนเข้าไปนับไม่ถ้วน จะไม่ว่าอัจฉริยะได้อย่างไร
ประวัติสุนทรภู่ ที่แต่งโดยคนยุคเก่า มี 3 ชิ้น
- นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนลงสยามประเภทยุค 2440 ผมเคยถ่ายไมโครฟิล์มจากหอสมุดแห่งชาติไว้นานแล้ว ไม่รู้ไปซุกไว้ในแฟ้มไหน หาไม่เจอ ต้องขอข้าม ค่อยหามาเติมกันในคราวหลัง
- พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งโดยใช้วิธีสอบถามคนเก่า เรียบเรียงไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2456 หรือร้อยกว่าปีก่อน กรมศิลปากรเพิ่งนำมาตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2529 คราวฉลอง 200 ปีสุนทรภู่เกิด
- สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2465
กระโดดรายละเอียดเรื่องผลงานต่างๆซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว (แต่งเรื่องพระอภัยมณี เรื่องลักษณวงศ์ นิราศพระพุทธบาท และอื่นๆอีกมาก) โดดไปที่ตอนชราเลย
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ไม่ระบุว่าสุนทรภู่ถึงแก่กรรมที่ไหนเมื่อไร ทรงเขียนตอนจบสั้นมากแค่ว่า
“ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เป็นที่พระสุนทรโวหาร รับราชการอยู่ 5 ปี ถึงแก่กรรมในรัชชกาลที่ 4 เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2398 มีอายุได้ 70 ปี” (จบ)
พระยาปริยัติฯ ให้ข้อมูลชีวิตสุนทรภู่ที่น่าสนใจมากในหน้า 33 กับ 80 ว่า
เมื่อสุนทรภู่ชราลงแล้ว ได้รวบรวมทุนทรัพย์ไปซื้อสวนอยู่ที่บ้านของนายจุ้ย ปู่นายกลั่นตำบลบางระมาด ริมวัดเรไร (คลองชักพระ เขตตลิ่งชัน) ติดกับสวนบ้านของ เจ้าคุณพิมลธรรม (ใย) แห่งวัดระฆัง หรือเยื้องกับวัดเชิงเลน(ที่เดียวนี้เป็นวัดป่า) สุนทรภู่อยู่ที่สวนนั้น หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวไปตามเรื่่อง จนถึงแก่กรรมที่บ้านในสวน
มีบุตรที่มีชื่อเสียงเช่นเณรหนูพัด เณรหนูพัดคนนี้โชคดีมากเพราะเมื่อหมอสมิทเอาหนังสือพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ไปพิมพ์ขายจนร่ำรวยแล้ว รู้สึกคิดถึงท่านอาจารย์สุนทรภู่เป็นอันมาก ได้เที่ยวสืบหาทายาทเพื่อจะมอบรางวัล ก็ได้ตัวท่านพัดมารับบำเหน็จบำนาญไปอย่างเต็มที่
วัดเรไรเป็นวัดที่รถเข้าไม่ถึง ต้องเดินเข้าซอยเล็กๆหรือนั่งเรือ หรือข้ามสะพานไปจากทางอื่น ผมเคยไปดูหนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว รู้สึกว่าโบสถ์เก่าดี
บ้านที่สุนทรภู่ถึงแก่กรรมคือบ้านหลังไหน?
ข้อมูลที่บอกว่าอยู่ในสวน “นายจุ้ย ปู่ของนายกลั่น” เป็นลายแทงที่พึงใช้ในการสอบหา ใครจะสละเวลาไปขอดูโฉนดคนแถวนั้นบ้าง ขยันๆ กันหน่อย เจ้าหน้าที่ที่ดินก็กรุณาช่วยด้วย
บ้านของเช็คสเปียร์มหากวีอังกฤษ (พ.ศ. 2107-2159) มีชีวิตเมื่อ 400 กว่าปีก่อน เขายังเก็บไว้ให้คนดูได้
เอนก นาวิกมูล เขียน 14.10 น. วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้นำมาเผยแพร่ต่อได้