พระราชปนัดดาพระเจ้าตาก เจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จดูงานต่างประเทศ

กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ภอ.001 หวญ. 7/17

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เริ่มมีเจ้านายเสด็จไปต่างประเทศสืบเนื่องจากผู้นำของเราทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติโดยเฉพาะในตะวันตก เป็นผลให้มีเจ้านายหลายพระองค์ได้เสด็จไปต่างประเทศ สำหรับเจ้านายชั้นพระราชโอรสนั้น มีกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร พระราชปนัดดา (เหลน) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถือเป็นเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จไปดูงานต่างประเทศในสิงคโปร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์มีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน อีกทั้งยังทรงเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดประเทศเชื่อมรับกับการเข้ามาของตะวันตก พระองค์ยังทรงเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไม่เพียงแค่พระองค์เท่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีเจ้านายที่เสด็จไปดูงานในต่างประเทศด้วย

สืบเนื่องจากสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษ ผลสืบเนื่องต่อมาก็ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นอีกประเทศที่มีบทบาทในฐานะศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของนิคมช่องแคบ หรือ Straits Settlements อันเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติชในแถบเอเชีย พ่อค้าของสิงคโปร์และสยามต่างขยายการค้า การลงทุนมากขึ้น

เมื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญในการแลกเปลี่ยนวิทยาการตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร (บางแห่งสะกด “กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร”) เสด็จไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์

กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร เมื่อแรกประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีหม่อมเจ้าชายลูกเธอกับเจ้าจอมมารดาน้อย 2 องค์ คือ หม่อมเจ้านพวงศ์ (ภายหลังได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2365 และยังเป็นองค์ต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า เป็นกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร)

สำหรับกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ยังไม่ได้รับราชการใดๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเป็นผู้กำกับกองทหารล้อมวัง

คลิกอ่านเพิ่มเติมทำไมเจ้าจอมมารดาน้อย หม่อมเชื้อสายพระเจ้าตากห้าวจนร.4ทรงเกือบสั่งยิง-ตัดหัวตามพ่อ

เล็ก พงษ์สมัครไทย อธิบายไว้ว่า กรมหมื่นวิศณุฯ ทรงกำกับราชการกรมพระคลังสมบัติ เมื่อเสด็จไปสิงคโปร์ในพ.ศ. 2404 พระองค์ร่วมกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ศึกษาแนวทางที่อังกฤษใช้ปกครองสิงคโปร์ และนำมาแบบอย่างการทำนุบำรุงบ้านเมืองของอังกฤษมาประยุกต์ปรับปรุงใช้ในไทย ซึ่งการเสด็จไปสิงคโปร์ครั้งนั้น เล็ก พงษ์สมัครไทย อธิบายไว้ว่า ถือเป็นเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ

การเสด็จดูงานในครั้งนี้ มีบันทึกไว้ว่า แบบอย่างที่นำกลับมาใช้ในไทยมีเช่น การสร้างถนน หรือสร้างสะพาน

สำหรับความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ในระดับผู้นำรัฐนั้นยังมีสืบเนื่องต่อมาในหลายรัชสมัย เนื่องด้วยสิงคโปร์มีภูมิประเทศเหมาะแก่การเป็นเมืองท่าเชื่อมโยงการค้าของสยามเข้ากับภูมิภาคอื่นๆ

แต่หากเอ่ยถึงความสัมพันธ์ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนอย่างเอกสารจดหมายเหตุทั้งในไทยและสิงคโปร์เอง ก็คงต้องกล่าวถึงการเดินทางของเจ้านายไปสิงคโปร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ในรัชกาลที่ 5 สิงคโปร์ก็ถือเป็นประเทศแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เมื่อพ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระราชทานช้างสัมฤทธิ์แก่สิงคโปร์ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นยังเสด็จฯ อีกหลายครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ก็สานต่อความสัมพันธ์ทางสัมพันธไมตรีกับสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม พระราชนิพนธ์ของพระองค์ยังทรงบันทึกเรื่องความขัดข้องพระทัยเอาไว้ด้วย แต่โดยรวมแล้ว พระองค์สนพระทัยในการศึกษาและเรียนรู้ด้านต่างๆ ของสิงคโปร์ที่เริ่มปรากฏความเจริญแบบตะวันตกแล้ว

อ่านเพิ่มเติมร.6 ทรง “เคือง” เจ้าเมืองสิงคโปร์ประพฤติบกพร่องต่อพระอนุชา “วางตัวจัดราวนาย”


อ้างอิง :

เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง, 2549

สายสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สิงคโปร์, 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562