ร.6 ทรง “เคือง” เจ้าเมืองสิงคโปร์ประพฤติบกพร่องต่อพระอนุชา “วางตัวจัดราวนาย”

ย่าเหล รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” เป็นบันทึกบอกเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชสมัยของพระองค์ เนื้อหาตอนหนึ่งว่าด้วยเรื่องราวช่วงต้นรัชกาลเมื่อครั้งพระอนุชาของพระองค์ เสด็จฯ กลับมาจากยุโรปเพื่อถวายเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพบว่าการรับรองของเจ้าเมืองสิงคโปร์ในช่วงเวลานั้นขาดตกบกพร่องไป เรื่องราวนี้ทำให้ทรงขัดข้องพระทัยมากทีเดียว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2453-2468 และทรงพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” เมื่อพ.ศ. 2466 ก่อนเสด็จสวรรคตประมาณ 2 ปี ทรงใช้นามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” ต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดอยู่ในความครอบครองของ พระมหาเทพกษัตรสมุห หรือขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) มีรูป และลายมือชื่ออยู่ด้านหลังปกแข็งที่หุ้มต้นฉบับไว้ ต่อมาจึงมีการพิมพ์เผยแพร่จากต้นฉบับนี้

Advertisement

เนื้อหาในหนังสือตอนหนึ่งบอกเล่าเหตุการณ์ช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 (นับตามปฏิทินไทย) เมื่อครั้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรเพชรบูรณอินทราไชย และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จฯมาโดยเรือมหาจักร (ลำเก่า) จากสิงคโปร์ มาถึงท่าราชวรดิษฐ์เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระองค์ทรงตรัสถามเรื่องราวต่างๆ จึงได้ความว่า เจ้าเมืองสิงคโปร์ในเวลานั้นรับรองพระอนุชาบกพร่องไป

“เมื่อพวกน้องๆ ไปถึงสิงคโปร์ กงสุลเจเนราลของเรา (ชื่อเส้อร์จอน แอนเดอร์สัน เหมือนกัน, แต่ไม่ใช่ญาติกับเจ้าเมือง) ได้ลงไปรับในเรือเมลพร้อมด้วยองค์รักษ์และเลขานุการของเจ้าเมืองสิงคโปร์. กงสุลของเราจะได้ไปพูดกับพวกเขาไว้อย่างไรไม่ปรากฏ. คงไม่ความแต่ว่าเจ้าเมืองสิงคโปร์นัดให้ไปหาเวลาเช้า 9 นาฬิกากึ่ง. ครั้นเมื่อน้องๆ ของฉันไปตามเวลานั้น ก็หาได้มีใครลงไปรับรองที่รถไม่.

คอยอยู่สักครู่ 1 จึ่งได้มีเสมียนคนหนึ่งลงไปรับ, บอกว่าท่านเจ้าเมืองยังไม่ออกจากห้องกินอาหาร, ขอให้เขียนชื่อไว้ในสมุดเยี่ยม, แต่น้องๆ ของฉันไม่ยอมทำเช่นนั้น ตกลงคอยโตงเตงที่หัวบรรได, และเสมียนนั้นก็ไม่เชิญเข้าไปในห้องรับแขก. คอยอยู่ประมาณ 10 นาทีจึ่งได้มีผู้ลงไปตามว่าเจ้าเมืองจะพบ. พาขึ้นไปพบกับเจ้าเมืองในห้องทำงาน, พูดกันครู่เดียวแล้วก็กลับ, และเมื่อกลับเจ้าเมืองก็มิได้ลงไปส่งข้างล่าง. ออกจะวางตัวภูมจัดราวกับเปนนาย, และพวกเราเปนพวกตนกูมลายูเมืองขึ้นของอังกฤษ. ฉันได้ฟังเรื่องแล้วก็เคืองจัดเต็มที ทูลกรมหลวงเทววงศ์ให้ทรงต่อว่ากับอัครราชทูตอังกฤษ. เส้อร์อาร์เทอร์ (เวลานั้นยังเปนมิสเตอร์ปีล, อัครราชทูตอังกฤษได้ทราบเรื่องก็โกรธ, และขอโทษในการที่เจ้าเมืองสิงคโปร์ประพฤติไม่สมควรอย่างนั้น, และรับรองว่าจะฟ้องไปที่รัฐบาลของเขา ต่อมามิสเตอร์ปีลบอกว่าได้รับคำสั่งจากเสนาบดีว่าการต่างประเทศของเขาให้แสดงความเสียใจและขอโทษ, และว่าเสนาบดีว่าการประเทศราชของเขาได้มีท้องตราติโทษมายังเสอร์จอน แอนเดอร์สัน”

อย่างไรก็ตาม พระราชนิพนธ์ทรงบันทึกเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ยุติธรรม กงสุลเองก็บกพร่องด้วย จากที่ทรงคาดการณ์ว่า อาจตะเกียกตะกายขอให้เขารับรอง อีกฝ่ายก็คงไม่ได้ตั้งใจจะรับรอง แต่ต้องตกลงรับคำ อีกประการคือเมื่อฝ่ายกงสุลตะเกียกตะกายเอง ย่อมทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเป็นการประจบประแจงเขา จึงเป็นผลให้ “วางท่า” กลายเป็นฝ่ายกงสุลเสียเหลี่ยม

ขณะที่กงสุลแอนเดอร์สันที่รบเร้าให้รับรองก็ยังไม่ได้มาเอื้อเฟื้อหรือตามเสด็จเจ้านายไปเยี่ยมเจ้าเมืองด้วย

“เส้อร์จอน แอนเดอร์สัน, กงสุลเจเนราลของเราเวลานั้น, เปนคนที่เมื่อหนุ่มๆ ประจบประแจงไทยเราดี, เปนที่ถูกพระราชอัธยาศัยของทูลกระหม่อม, และชอบกับกรมดำรงมาก, ทั้งได้เปนขุนนางไทย มีราชทินนามเปน ‘พระพิเทศพาณิช’ ครั้นเมื่ออายุมากแล้วได้รับตราอังกฤษเสนต์ไมเค็ลแอนด์เสนต์ยอร์ชชั้นที่ 2 มีบรรดาศักดิ์อังกฤษเปน ‘เสอร์’ ขึ้น, ก็ดูออกจะจองหองขึ้นสักหน่อย.”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. หน้า 250-251


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2561