ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ธีระวัฒน์ แสนคำ |
เผยแพร่ |
“บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า” วัดพระแท่นศิลาอาสน์ : วันนี้ที่ถูกลืม
วัดพระแท่นศิลาอาสน์หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “วัดพระแท่น” เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาย่อมๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขาทอง” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชนโบราณเมืองทุ่งยั้ง ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ในบริเวณวัดมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงปัจจุบัน
เชื่อกันว่าพระแท่นที่วัดนี้ เป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งบำเพ็ญพระบารมีเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระแท่นเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 ฟุต ยาว 9 ฟุต 8 นิ้ว สูง 3 ฟุต [1] มีมณฑปครอบอยู่เบื้องบน ที่ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว อยู่ภายในวิหาร ซึ่งบูรณะขึ้นใหม่หลังจากที่ถูกไฟไหม้ ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้บานประตูไม้แกะสลักที่สวยงามต้องโดนไหม้ไปด้วย นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีวิหารหลวงพ่อธรรมจักร วิหารรอยพระพุทธบาทจำลองและเจดีย์เก่าอีกหลายองค์ด้วย ปัจจุบันวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2549
ฐานะและบทบาทของวัดพระแท่นศิลาอาสน์เท่าที่ปรากฏหลักฐานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดในเขตอรัญญิกของชุมชนโบราณเมืองทุ่งยั้ง เป็นที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ซึ่งเป็นแท่นศิลาแลงสี่เหลี่ยม เชื่อกันมาแต่เดิมว่า พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ได้ประทับนั่งบำเพ็ญพระบารมีเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งบัดนี้ตรัสรู้แล้ว 4 พระองค์ จึงทำให้พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนิกชนต่างก็มุ่งหน้ามาแสวงบุญเป็นประจำทุกปี
โดยเฉพาะในเทศกาลช่วงวันเพ็ญเดือน 3 (ช่วงวันมาฆบูชา) มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงภาพความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนหัวเมืองฝ่ายเหนือที่มีต่อพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งถือกันว่าเป็นปูชนียสถานสำคัญที่ชาวหัวเมืองฝ่ายเหนือเคารพบูชา และต้องไปนมัสการอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตหรือปีละครั้งในวันเพ็ญเดือน 3 นับถือว่าการไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองทุ่งยั้ง เป็นการจาริกแสวงบุญที่ได้กุศลมาก [2]
ปัจจุบันนอกจากพระแท่นศิลาอาสน์จะเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของหัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว ยังกลายเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในไทยด้วย ความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพระแท่นศิลาอาสน์ได้ทำให้วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โปรแกรมนำเที่ยวของบริษัทนำเที่ยวแทบทุกบริษัทจะต้องบรรจุในรายการหากว่าเส้นทางท่องเที่ยวนั้นผ่านมาในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดีจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั้งในลักษณะของสถานที่ท่องเที่ยวและงานเทศกาลประเพณี และทางราชการได้นำภาพมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งแสดงถึงความเลื่อมใสและความสำคัญของพระแท่นศิลาอาสน์ได้เป็นอย่างดี [3]
ภายในบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ วิหารหลวงพ่อธรรมจักร วิหารพระพุทธบาทสี่รอย อุโบสถ กำแพงแก้ว และเจดีย์รายที่กระจายอยู่อย่างไม่ค่อยเป็นไปตามระเบียบแบบแผนเท่าใดนัก ทั้งนี้ คงเป็นเพราะแต่เดิมนั้นบริเวณวัดอาจมีเพียงแค่วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญและใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกันของพระสงฆ์เท่านั้น ด้วยบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นเขตอรัญญิกซึ่งมักไม่นิยมสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อยู่แล้ว ส่วนวิหารอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาคารขนาดเล็กนั้น น่าจะมีการสร้างขึ้นด้วยมีผู้ศรัทธาสร้างขึ้นถวายในระยะหลัง จึงทำให้บริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญไม่มีอาคาร เจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างมากมายเหมือนที่ปรากฏในบริเวณปูชนียสถานสำคัญที่ร่วมสมัยกันในบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่นวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
ครั้งอดีต วิหารพระแท่นศิลาอาสน์จะมีลักษณะแผนผังของอาคารแตกต่างไปจากปัจจุบัน เนื่องจากว่าเกิดไฟป่าลุกลามมาไหม้วิหารพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2451 [4] วิหารพระแท่นศิลาอาสน์จึงถูกบูรณะใหม่ โดยพระยาวโรดมภักดี เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งได้เรี่ยรายเงินสร้างและซ่อมแซมวิหารหลังจากที่ถูกไฟไหม้ [5] แต่ก็น่าจะเป็นไปตามรูปแบบเดิมเพราะยังคงเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมอยู่หลายประการ เนื่องจากพิจารณาจากภาพถ่ายวิหารพระแท่นหลังเก่าหลังจากถูกไฟไหม้กับรูปแบบวิหารพระแท่นหลังปัจจุบันแล้วไม่แตกต่างกันมากนัก
ยกเว้นเสียแต่มีการตัดส่วนที่เป็นห้องหรือมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า (กระโถนพระพุทธเจ้า) ที่อยู่เชื่อมกับผนังวิหารทางทิศเหนือออกไป เพราะมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าปรากฏทั้งในพระนิพนธ์และภาพวาดแผนผังวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ.2444 [6]
และภาพถ่ายเก่าก่อน พ.ศ.2451 แต่ไม่ปรากฏในวิหารหลังปัจจุบัน ทำให้วิหารพระแท่นศิลาอาสน์หลังปัจจุบันไม่มีส่วนมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า มีเพียงการก่ออิฐทรงฐานปัทม์เตี้ยๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีปูนปั้นคล้ายรูปกระโถนทำเป็นสัญลักษณ์หรือสร้างจำลองว่าเคยเป็นส่วนของมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าเท่านั้น ซึ่งปูนปั้นรูปกระโถนนี้ก็ไม่น่าจะใช่บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าของเดิมตามที่เคยมีวางอยู่ในมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าก่อนที่จะถูกรื้อทิ้งหลังจากไฟไหม้วิหารพระแท่นศิลาอาสน์
ในพระนิพนธ์เรื่อง “จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก” ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ.2444 [7] ซึ่งได้เสด็จไปทอดพระเนตรโบราณสถานวัดพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2444 ก่อนที่วิหารพระแท่นศิลาอาสน์จะถูกไฟไหม้ ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าไว้ว่า “…ภายนอกวิหารด้านข้างซ้าย ทำเปนมุขเล็กยื่นออกไป อย่างปอติโคของเรือนฝรั่ง ในนั้นมีกะโถนหินตั้งไว้ใบหนึ่ง ปากกว้างประมาณศอกหนึ่ง ว่าเปนบ้วนพระโอฐพระพุทธเจ้า…” [8]
จากข้อความในพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้แสดงให้เห็นว่า บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้ามีลักษณะเป็นกระโถนหิน ปากกระโถนหินกว้างประมาณ 1 ศอก ซึ่งไม่ใช่กระโถนปูนปั้นที่วางอยู่ข้างๆ วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ทางทิศเหนือในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยและคำถามตามมาว่า ถ้ากระโถนปูนปั้นที่วางอยู่ข้างๆ วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ทางทิศเหนือในปัจจุบันนี้ไม่ใช่บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าตามที่เคยเชื่อถือกันมาในอดีต แล้วบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าในอดีตที่เป็นกระโถนหิน ปัจจุบันถูกนำไปไว้บริเวณใด?
ผู้เขียนเคยถามครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ นักวิชาการและผู้รู้ท้องถิ่นหลายท่านเกี่ยวกับบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่หายไปจากตำแหน่งเดิม แต่ก็ไม่ได้คำตอบอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าของเดิมอยู่ที่ใด
จากการสำรวจรอบๆ บริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ของผู้เขียนพบว่า ที่ข้างๆ ซุ้มประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ มีชิ้นศิลาแลงอยู่ 2 ชิ้น สลักเป็นรูปทรงแปลกตากว่าก้อนศิลาแลงทั่วไปที่พบในบริเวณโบราณสถานในเขตนี้ ชิ้นแรกมีลักษณะคล้ายกระถางรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 40 เซนติเมตร ส่วนด้านบนมีลักษณะบานออกเล็กน้อย มีการแกะสลักเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ขนาดเล็กคั่นกลางชิ้นศิลาแลง ขอบด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร และทำเป็นหลุมเว้าลงไปในก้อนศิลาแลง ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร
ชิ้นที่สองจะวางอยู่ด้านบนชิ้นศิลาแลงชิ้นแรก มีลักษณะคล้ายฝาหม้อทรงสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 40 x 40 เซนติเมตร มีสันจากทั้งสี่มุมนูนสูงขึ้นไปบรรจบกันตรงกลางชิ้นศิลาแลง มีการแกะเป็นร่องขนาดเล็กคาดเป็นเส้นตรงรอบส่วนล่างของชิ้นศิลาแลง ด้านใต้ของชิ้นศิลามีการเซาะเว้าเข้าไปในก้อนศิลาแลงเล็กน้อย หากมองจากรูปทรงด้านนอกก้อนศิลาแลงทั้งสองชิ้นจะมีลักษณะคล้ายกระถางสี่เหลี่ยมที่มีฝาปิด
เมื่อพิจารณาจากลักษณะของก้อนศิลาแลงทั้งสองชิ้นที่วางประกอบกัน กับข้อความเกี่ยวกับลักษณะของบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าในพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ก็จะพบว่าก้อนศิลาแลงทั้งสองชิ้นมีลักษณะคล้ายกับบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่เคยวางอยู่ในมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าข้างๆ วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ตามข้อความในพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อย่างมาก ทั้งขนาดและวัสดุที่นำมาสร้าง ทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าก้อนศิลาแลงทั้งสองชิ้นนี้คือ “บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า” ที่เคยวางอยู่ในมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าข้างๆ วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ก่อนวิหารจะถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ.2451
หลังจากวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ถูกไฟไหม้แล้ว ช่างผู้ทำการบูรณะซ่อมแซมวิหารคงเห็นว่าวิหารมีแผนผังต่างจากวิหารทั่วไป จึงได้ตัดส่วนที่เป็นมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่ด้านข้างทางทิศเหนือออก เพื่อให้ผังวิหารเกิดความสมดุลกันของด้านข้างวิหารทั้งสองด้าน ทำให้ก้อนศิลาแลงที่เชื่อว่าเป็นบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าถูกเคลื่อนย้ายออกไปยังนอกเขตวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จนในที่สุดถูกนำมาวางเป็นส่วนหนึ่งของสวนหย่อมข้างซุ้มประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ร่วมกับก้อนศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงประมาณ 1 เมตร และแท่งหินทรายอีกหลายชิ้น
จากลักษณะทั่วไปของบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์คงไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นเก่าแก่จนถึงสมัยพุทธกาล แต่น่าจะสร้างขึ้นตามตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งกล่าวถึงการเสด็จมาของพระสมณโคดมหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น ที่กล่าวย้อนไปถึงครั้งพุทธกาลว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับยับยั้งที่เนินเขานอกเมืองแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกว่า “เมืองทุ่งยั้ง” ทรงประทับฉันภัตตาหารบนแท่นศิลาที่โพธิสัตว์ทุกองค์เคยนั่งบำเพ็ญบารมีซึ่งต่อมาคือ “พระแท่นศิลาอาสน์” พระองค์โปรดให้พระอานนท์นำบาตรไปแขวนไว้ที่ต้นพุทราต้นหนึ่งใกล้กับแท่นศิลาเรียกกันว่า “ต้นพุทราแขวนบาตร” แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ลงในกระโถนศิลาแลงข้างพระแท่น เรียกกันภายหลังว่า “บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า”
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงลุกจากแท่นศิลามาประทับยืนเหนือแท่นศิลาบนเนินเขาอีกยอดหนึ่ง ทรงทอดพระเนตรไปยังทิศต่างๆ เป็นปริมณฑล ทรงทอดพระเนตรหนองน้ำใหญ่เรียกชื่อในภายหลังว่า “หนองพระแล” พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนแท่นศิลานั้น เรียกว่า “พระยืนพุทธบาทยุคล” แล้วพระองค์เสด็จลงจากเนินเขาไปทางทิศเหนือเพื่อเดินจงกรม จากนั้นก็เสด็จมาบรรทมบนแท่นศิลาเหนือเนินเขาอีกยอดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “พระแท่นพุทธไสยาสน์” ก่อนที่จะเสด็จไปยังเมืองอื่นต่อไป [9]
ตำนานที่กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าแล้วทรงทำนายหรือเกิดเป็นสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระพุทธองค์นั้น ตำนานที่มีลักษณะโครงเรื่องเช่นนี้ปรากฏอยู่ในตำนานความเป็นมาของพระธาตุหรือปูชนียสถานสำคัญและบ้านเมืองในท้องถิ่นล้านนา ซึ่งเรียกกันว่า “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” [10] มีความเป็นไปได้ว่าตำนานพระแท่นศิลาอาสน์จะได้รับอิทธิพลจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งก็อยู่ติดกับเขตล้านนา
นอกจากนี้ในตำนานเมืองและตำนานพระธาตุของล้านนาบางตำนาน เช่น ตำนานเมืองเถิน [11] และตำนานพระธาตุดอยปูภูทับ เมืองลองและแหลมรี่ [12] เป็นต้น ก็ได้กล่าวถึงเมืองทุ่งยั้งไว้ในตำนานด้วย ผู้เขียนสันนิษฐานว่าตำนานพระแท่นศิลาอาสน์คงถูกเขียนขึ้นไม่เก่าไปกว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-24 และอายุของบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าก็คงถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับตำนานพระแท่นศิลาอาสน์
ไม่ว่าตำนานที่ไปที่มาของบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าจะเก่าแก่มากน้อยอย่างไรก็ตาม แต่บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่ทำด้วยศิลาแลงซึ่งเคยวางอยู่ในมุขบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าข้างวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ บรรพชนในอดีตก็ได้บรรจงสร้างขึ้นตามความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้า และคงเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนในอดีตคู่กับพระแท่นศิลาอาสน์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากมีการสร้างมุขยื่นมาครอบบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าต่างหาก ซึ่งก็แตกต่างไปจากวิหารหรืออุโบสถที่มีการสร้างในรุ่นราวคราวเดียวกัน
ทุกวันนี้ พระแท่นศิลาอาสน์ได้กลายเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ไปแล้ว ในขณะที่ “บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า” ซึ่งมีความสำคัญคู่กับพระแท่นศิลาอาสน์ดังปรากฏในตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีกลับถูกลืมเลือน สิ่งศักดิ์สิทธิ์และควรแก่การสักการบูชาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าที่บรรพชนได้สร้างขึ้นเพื่อเป็น “อุเทสิกเจดีย์” อันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ปัจจุบันถูกอนุชนรุ่นหลังเคลื่อนย้ายมาวางไว้ในตำแหน่งที่ไม่ควรจะเป็น เมื่อได้ทราบข้อมูลการสันนิษฐานเช่นนี้แล้ว
หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เราท่านทั้งหลายโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนชาวอุตรดิตถ์ควรทำอย่างไร ? เพื่อนำความสำคัญของบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้ากลับมา ก่อนที่ในอนาคตอันใกล้นี้บ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าอันควรแก่การสักการะ จะถูกนำมาใช้เป็นกระถางปลูกต้นไม้เพื่อประดับพระอารามหลวงแห่งนี้เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าพระฝาง” ผู้ร้ายในคราบอลัชชี กับ “พระอาจารย์ธรรมโชติ” พระดีในผ้าเหลือง
- เจดีย์ที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็น “เจดีย์ยุทธหัตถี” เพราะ “รีบสรุป” ก่อนศึกษา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์, (กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2544), หน้า 73.
[2] สมชาย เดือนเพ็ญ, “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองบางขลัง สุโขทัย”, ใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ 31 : พุทธศักราช 2552, (กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี จำกัด, 2552), หน้า 82.
[3] จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ, รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2444 (ร.ศ.120), (พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3, 2551), หน้า 73.
[4] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์, หน้า 74.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[6] สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก, (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506), หน้า 45.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[9] หวน พินธุพันธ์, อุตรดิตถ์ของเรา, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก, 2521), หน้า 46-48.
[10] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกเพิ่มเติมใน เธียรชาย อักษรดิษฐ์, ตำนานพระเจ้าเลียบโลก : การศึกษาพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ภูมินาม ตำนาน ผู้คน. (เชียงใหม่ : โครงการวิจัยเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน, 2552.
[11] ดูรายละเอียดใน ภูเดช แสนสา, “วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง 10 เรื่อง”, ใน ประวัติ-ตำนานลำปางในชื่อเขลางค์นคร ลัมภกัปปะนคร กุกกุฏนคร นครลำปางในหนังสือต่างๆ ที่พอหาได้, (ลำปาง : ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพมงคลมุนี (จิ่น ฐานทตฺตมหาเถระ) 18 ธันวาคม 2553, 2553), หน้า 134.
[12] ดูรายละเอียดใน กรมศิลปากร, “ตำนานพระธาตุดอยปูภูทับ เมืองลองและแหลมรี่”, ใน ประชุมตำนานพระธาตุภาคที่ 1 และภาคที่ 2, (ธนบุรี : โรงพิมพ์เจริญสิน, 2513), หน้า 86.
บรรณานุกรม :
กรมศิลปากร. “ตำนานพระธาตุดอยปูภูทับ เมืองลองและแหลมรี่”. ใน ประชุมตำนานพระธาตุภาคที่ 1 และ ภาคที่ 2. ธนบุรี : โรงพิมพ์เจริญสิน, 2513.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. อุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : กองผลิตอุปกรณ์เผยแพร่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2550.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะและคณะ. รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2444 (ร.ศ.120). พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3, 2551.
เธียรชาย อักษรดิษฐ์. ตำนานพระเจ้าเลียบโลก : การศึกษาพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ภูมินาม ตำนาน ผู้คน. เชียงใหม่ : โครงการวิจัยเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน, 2552.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2526.
ภูเดช แสนสา. “วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง 10 เรื่อง”. ใน ประวัติ-ตำนานลำปางในชื่อเขลางค์นคร ลัมภกัปปะนคร กุกกุฏนคร นครลำปางในหนังสือต่างๆ ที่พอหาได้. ลำปาง : ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพมงคลมุนี (จิ่น ฐานทตฺตมหาเถระ) 18 ธันวาคม 2553, 2553.
ศรีศักร วัลลิโภดม. ความหมายพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2546.
สมชาย เดือนเพ็ญ. “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองบางขลัง สุโขทัย”. ใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ 31 : พุทธศักราช 2552. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506.
หวน พินธุพันธ์. อุตรดิตถ์ของเรา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก, 2521.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2562