พระเจ้าอยู่หัวกับการประยุกต์ธรรม

หลังจากที่ได้รับพระราชทานพระ “สมเด็จจิตรลดา” หรือพระ “กำลังแผ่นดิน” (ชื่อหลังนี้เป็นชื่อที่ท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียก) ในเดือนเมษายน ปี ๒๕๑๐ แล้ว ผมเชิญพระที่เคยห้อยออกจากคอหมดทั้ง ๕ องค์ และห้อยแต่พระพระราชทานองค์เดียวมาตั้งแต่นั้น เวลาอาบน้ำผมเชิญพระออกจากคอเพราะไม่อยากให้พระเปียกน้ำ อาบเสร็จแล้วจึงเชิญพระกลับมาห้อยคออีก ทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย

วันหนึ่ง หลังจากที่ได้เฝ้าฯ และรับพระราชทานสติ (โปรดอ่าน ชีวิตตำรวจ (๖๑) ใน “ศิลปวัฒนธรรม” เล่มเดือนตุลาคมที่แล้ว) ขณะที่กำลังรับราชการสนาม (ที่ไหนจำไม่ได้) ผมอาบน้ำและเชิญพระออกจากคอก่อนอาบตามเคย และพออาบเสร็จแล้วก็เชิญพระกลับมาห้อยคอ ขณะนั้นเองที่ผมสังเกตเห็นอะไรเลื่อมๆ อยู่ที่ขอบองค์พระด้านหน้า ผมยกพระขึ้นดูใกล้ๆ และเห็นชัดว่ามีทองชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเกาะอยู่ตรงนั้น ที่จริงถ้าใช้เหตุผลก็น่าจะสันนิษฐานว่า ทองที่ปิดอยู่หลังพระนั้นอาจล่อนหรือหลุดออกมาเองเพราะกาวเสื่อม แต่ผมอดรำลึกมิได้ถึงกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “ปิดข้างหลังมากๆ แล้วทองก็จะล้นออกมาหน้าพระเอง” ซึ่งทำให้ผมตื่นเต้นมาก ถึงกับเที่ยวเอาพระไปอวดเพื่อนฝูงที่อยู่ใกล้ๆ ในขณะนั้น และบอกเพื่อนว่าทองที่ปิดไว้หลังพระได้ล้นออกมาข้างหน้าพระแล้ว

Advertisement

wasithที่ผมไม่ได้เที่ยวโพนทะนาบอกใคร (ยกเว้นเวลาในโอกาสที่ได้รับเชิญให้เล่า) แต่รู้อยู่ลำพังคนเดียวก็คือ ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของผมก็เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็น (ค่อยๆ) ดีมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ทั้งในด้านลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข แต่เพราะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามรอยพระยุคลบาท ผมจึงสามารถเข้าใจและเตือนตัวเองได้ตลอดเวลาว่า เมื่อมีลาภก็ย่อมมีความเสื่อมลาภ มียศก็มีความเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา และมีสุขก็ย่อมมีทุกข์เป็นของคู่กัน ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าโลกธรรม ผมจึงไม่สู้ตื่นเต้น ไม่ว่ากับความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตของตนเอง เป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้

มีผู้ชอบถามหรือสัมภาษณ์ผมบ่อยๆ ว่า อยู่ในวังกว่า ๑๐ ปี ผมได้อะไรที่ผมคิดว่ามีค่าที่สุดจากในวัง

คำตอบของผมก็คือ ได้ธรรมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทาน ทั้งโดยตรงและจากการปฏิบัติพระองค์ให้ผมเห็น

ผมเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกปัจจุบันนี้ ที่ทรงนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไปประยุกต์ในการทรงงานและการดำรงพระชนมชีพอย่างแท้จริง จริงจัง และต่อเนื่อง นอกจากพระธรรมบทใหญ่ที่เรียกว่าทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชา) และจักรวรรดิวัตร (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ) ที่ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติประจำแล้ว พระเจ้าอยู่หัวยังทรงประยุกต์ธรรมบทย่อยๆ อื่นๆ อีก ในการทรงประกอบพระราชกรณียกิจทั้งน้อยและใหญ่ ผู้สนใจหากศึกษาก็จะเห็นว่า พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ นั้น ล้วนมาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มิได้เพียงแต่ทรงคัดมาแต่ได้ทรงศึกษา ทรงปฏิบัติและทรงพิสูจน์ด้วยพระองค์เองแล้วทั้งสิ้น

โดยเฉพาะพระสมาธิอันเป็นการฝึกสติหรือพัฒนาจิตนั้น ทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นพระนิสัย เพราะเหตุนี้ เมื่อเกิดปัญหาหรือวิกฤติการณ์ในบ้านเมืองไม่ว่าครั้งใดและร้ายแรงเพียงใด จึงไม่ทรงหวั่นไหวหรือเสียพระสติ แต่ทรงรักษาพระอารมณ์และดำรงพระสติไว้ได้อย่างมั่นคงและเยือกเย็น ทรงตระหนักว่า ควรจะทรงทำอะไร เมื่อใด และอย่างใด

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะตีโพยตีพาย และรีบร้อนขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย หรือพระราชปฏิบัติ เมื่อมีปัญหาหรือเกิดวิกฤติการณ์ขึ้น สิ่งที่ผู้มีอำนาจ (หรือเคยมีอำนาจ) ควรทำก็คือ ถามตัวเองว่า ได้พยายามทำหน้าที่ของตนในการแก้ปัญหาหรือวิกฤติการณ์นั้นอย่างเต็มภาคภูมิและสมบูรณ์แล้วหรือยัง ด้วยการใช้ทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตร ตามรอยพระยุคลบาท

หรือว่าจะเอาตัวรอดด้วยการปัดสวะที่เกิดจากน้ำมือของตน ไปถวายให้เป็นพระราชภาระของฝ่าละอองธุลีพระบาท?


ที่มา: “ชีวิตตำรวจ (๖๒) พระเจ้าอยู่หัวกับการประยุกต์ธรรม”. คอลัมน์ บันทึกทรงจำ โดย วสิษฐ เดชกุญชร. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๕๓