ทำไม ร.9 ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกขณะสรงพระมุรธาภิเษก ความหมายที่กินใจ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชประเพณีว่าการที่พระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษก และทรงรับน้ำอภิเษกเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการพระราชพิธี เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

คำว่า “มุรธาภิเษก” แปลโดยรูปศัพท์ก็คือการรดน้ำเหนือศีรษะนั่นเอง ในการนี้พระมหากษัตริย์จะประทับบนตั่งไม้อุทุมพร หรือไม้มะเดื่อภายในพระมณฑปพระกระยาสนาน จากนั้นจะทรงวักน้ำจากพระครอบพระมุรธาภิเษก สรงพระเจ้าเป็นปฐม เมื่อถึงมหาอุดมมงคลฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้ไขสหัสธาราโปรยน้ำพระมุรธาภิเษกจากเพดานพระมณฑปถวายพระมุรธาภิเษก อันประกอบด้วย น้ำจากปัญจมหานที น้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระทั้ง 4 สระ (กรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี 2493, หน้า 71-72)

ขณะสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ดนตรี ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองแก้วจินดา หรือในรัชกาลที่ 9 เปลี่ยนเป็นทหารปืนใหญ่ ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค เฉลิมพระเกียรติยศตามกำลังวันระหว่างนั้น เจ้าพนักงานจะได้ยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งองค์ต่างๆ ขึ้นพร้อมกันทุกแห่งด้วย (จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระรามาธิบดีฯ 2466, หน้า 29; ประกาศอักษรกิจ 2468, หน้า 23)

การสรงพระมุรธาภิเษกยังเป็นวินาทีของการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นการย้ำเตือนถึงพระราชภาระของความเป็นพระมหากษัตริย์ในภายภาคหน้า…

ในคืนวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 เพียงคืนเดียวก่อนวันแรกของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 จะเริ่มขึ้น

พระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล) สมุหพระราชพิธีในขณะนั้น และผู้อำนวยการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้พูดกระจายเสียงทางวิทยุที่กรมโฆษณาการ ถึงลำดับขั้นตอนของพระราชพิธีดังกล่าว มีอยู่ตอนหนึ่งท่านได้กล่าวถึงพระราชประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการสรงพระมุรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่น่าสนใจยิ่ง และยังสะท้อนถึงพระราชจริยาวัตร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ มาตั้งแต่เริ่มครองสิริราชสมบัติด้วย ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวเราพระองค์นี้เท่าที่เป็นที่ประจักษ์แก่ข้าพเจ้า สังเกตว่าทรงปฏิบัติอะไรมักจะทรงพระราชดำริถึงปวงชนเป็นส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าจะซักตัวอย่างให้ฟัง เช่น ราชประเพณีสรงพระมุรธาภิเษกมี 2 อย่าง อย่าง 1 ถ้าวันไหนทิศไหนเป็นสิริมงคลแล้วเวลาสรงสมเด็จพระมหากษัตริย์ก็ทรงแปรพระพักตรสู่ทิศนั้น เพื่อสิริมงคลแด่พระองค์ อีกอย่าง 1 วันสรงจะเป็นวันใดก็ตาม เวลาสรงแปรพระพักตรสู่ทิศบูรพา คือ ทิศตะวันออก

พระราชปฏิบัติเช่นนี้ เป็นพระราชปฏิบัติเพื่อสวัสดิสุขแด่ปวงชน ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ท่านทราบ สรงพระมุรธาภิเษกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแปรพระพักตรสู่ทิศบูรพา” (กรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี 2493, หน้า 13)

สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงแปรพระพักตร์ ยังทิศตะวันออกเมื่อสรงพระมุรธาภิเษก
อีกพระองค์หนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นทรงเลือกแปรพระพักตร์ ยังทิศอันเป็นสิริมงคล (ทิศศรี) ต่างกันตามแต่ละรัชสมัย ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศเหนือ
(ทิพากรวงศ์ 2539, หน้า 57)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (รวมเรื่องราชาภิเษกฯ 2541, หน้า 20)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
(รวมเรื่องราชาภิเษกฯ 2541, หน้า 35)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกเฉียงใต้
(จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีฯ 2466, หน้า 26)

และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระพักตร์ยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(ประกาศอักษรกิจ 2468, หน้า 22)

 

(ขอบพระคุณเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่อนุญาตให้เผยแพร่ต่อ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts

หมายเหตุ: กองบรรณาธิการเรียบเรียงใหม่ในช่วง 2562)


 

บรรณานุกรม

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 2493. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พ.ศ. 2493. พระนคร: กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2466. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. 2466).

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์วิชาการ.

ประกาศอักษรกิจ(เสงี่ยม รามนันทน์), พระยา. 2492. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม. (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึก ในการเชิฐพระบรมอัสถิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พ.ศ. 2492).

รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า. 2541. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2541. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายเสริม กรวิทยาศิลปะ เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2541).

ราม. วชิราวุธ (นามแฝง). 2550. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: มติชน.