“ห้องลับ” หลังรูปแกะสลักประธานาธิบดีสหรัฐฯ บน “เมาต์รัชมอร์” มีอยู่จริงรึ?

เมาต์รัชมอร์ รูปแกะสลัก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(ซ้าย) แบบร่าง Hall of Records ของ กัตซอน บอร์กลัม, (ขวา) การก่อสร้างรูปสัลกของ จอร์จ วอชิงตัน ในปี 1932

จริงรึ? ที่ว่า มี “ห้องลับ” ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง รูปแกะสลัก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ “เมาต์รัชมอร์” แน่ใจรึว่านั้นไม่ได้เป็นเพียงพล็อตเรื่องของหนังฮอลลีวูด ที่พระเอกตามแกะรอยปริศนาตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อหาขุมทรัพย์ที่บรรพชนซ่อนเร้นเอาไว้?

ถ้า “ห้องลับ” หมายถึงห้องที่ผู้สร้างตั้งใจจะ “ไม่ให้ใครรู้” คงบอกได้เลยว่าไม่มี แต่ถ้าเป็นห้อง “ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก” ละก็มีอยู่ห้องหนึ่ง เพียงแต่ว่าห้องดังกล่าวผู้สร้างมิได้เจตนาจะสร้างให้มันเป็น “ห้องลับ” อะไร ติดตรงที่ห้องที่ว่านี้ถูกสร้างค้างคาเอาไว้ไม่สำเร็จ ภายหลังจึงถูกหลงลืมไป จนบางคนเรียกห้องดังกล่าวว่าเป็น “ห้องลับ”

Advertisement
ภาพถ่าย เมาต์รัชมอร์ ในปี 2012 โดย Pjuskline, via Wikimedia Commons รูป หน้า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ภาพถ่าย เมาต์รัชมอร์ ในปี 2012 โดย Pjuskline, via Wikimedia Commons

ที่มาที่ไปของห้องลับแห่งนี้มีอยู่ว่า กัตซอน บอร์กลัม (Gutzon Borglum) ประติมากรผู้ออกแบบวางแผนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ “เมาต์รัชมอร์” ต้องการที่จะสร้างจารึกขนาดใหญ่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐฯ ประกบคู่กับรูปแกะสลักของเขา เพื่อบอกเรื่องราวให้กับคนรุ่นหลัง

ภาพจำลองแนวคิดในการสลักจารึกเหตุการณ์สำคัญของ บอร์กลัม (National Park Service)
ภาพจำลองแนวคิดในการสลักจารึกเหตุการณ์สำคัญของ บอร์กลัม (National Park Service)

น่าเสียดายว่าไอเดียบรรเจิดของ บอร์กลัม เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากไม่อาจสลักตัวอักษรได้ใหญ่พอที่จะสามารถอ่านเห็นได้จากระยะไกล ประกอบกับต้องกันพื้นที่ให้กับรูปสลักของ อับราฮัม ลินคอล์น จึงทำให้แผนที่จะสร้างจารึกขนาดใหญ่ต้องล้มพับไป

บอร์กลัม จึงเปลี่ยนใจหันมาสร้างห้องขนาดใหญ่ด้วยการเจาะภูเขาแห่งนี้ เพื่อเป็นที่เก็บรักษาเอกสาร และวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศแทน

ร่างแบบ Hall of Records
แบบร่าง Hall of Records

ตามแบบที่เขาวางเอาไว้ ห้องแห่งนี้จะมีขนาดราว 24.38 เมตร คูณ 30.48 เมตร มีทางเข้าอยู่ด้านหลังรูปสลักของลินคอล์น บนประตูทางเข้าประดับด้วยรูปปั้นนกอินทรีสัมฤทธิ์ และเหนือนกอินทรีขึ้นไปมีจารึกระบุว่าเป็น “The Hall of Records”

แผนการก่อสร้างดังกล่าวอย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่า มิใช่ “เรื่องลับ” และมีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนในรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างเมาต์รัชมอร์ ปี 1938 เพียงแต่ใช้ชื่อต่างออกไปว่า “หอพิพิธภัณฑ์” (museum hall)

แต่เมื่อเข้าปี 1939 หลังการก่อสร้างดำเนินไปได้เพียงไม่ถึงหนึ่งปี ทางรัฐบาลก็สั่งให้ยุติการก่อสร้างห้องดังกล่าว และสั่งให้บอร์กลัมมุ่งทำการสลักหน้าของประธานาธิบดีทั้ง 4 ให้สำเร็จเท่านั้น

ห้องที่บอร์กลัมตั้งใจจะให้เป็นหอเก็บบันทึกสำคัญ จึงถูกทิ้งร้างไปนานหลายสิบปี ทำให้หลายคนไม่รู้มาก่อนว่ามีห้องที่ว่านี้อยู่บนเมาต์รัชมอร์ แต่เจตนารมณ์ของ บอร์กลัม ก็ได้รับการสานต่อ แม้จะไม่ได้เป็นไปตามแผนเดิมที่เขาวางไว้

ทางเข้า Hall of Records
ทางเข้า Hall of Records ตรงกลางจะเห็นแท่นสีดำซึ่งเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญ ครอบด้วยแผ่นหินแกรนิต (National Park Service)

โดยในปี 1998 เอกสารสำคัญซึ่งจารึกลงบนเครื่องเคลือบ 16 ชิ้น ก็ได้ถูกบรรจุลงในกล่องไม้สัก ก่อนนำไปใส่ในตู้เซฟไทเทเนียมอีกชั้นหนึ่ง แล้วครอบทับด้วยแผ่นหินแกรนิต ติดตั้งไว้ที่ทางเข้าของห้องที่เขาตั้งใจจะให้เป็นหอเก็บบันทึกสำคัญ

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า สถานที่แห่งนี้เข้าถึงได้ลำบาก และการเดินทางก็ค่อนข้างอันตราย ทางการจึงมิได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชม เราจึงได้แต่ชมภาพจากสำนักงานอุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯ นำมาเผยแพร่เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Hall of Records”. National Park Service. <https://www.nps.gov/moru/learn/historyculture/hall-of-records.htm>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2560