พบหลักฐานกลเลี่ยงภาษียุคกลาง หลังขุดพบเหรียญโบราณจำนวนมากสุดจากยุค 1066

ภาพตัวอย่างของเหรียญยุคกลางที่พบในอังกฤษ ภาพจาก The Trustees of the British Musuem, 2019 โดย Pippa Pearce

เรื่องการเงินใกล้ตัวกว่าที่คิด แม้แต่คนยุคกลางก็ยังต้องมีกรรมวิธีในการ “บริหารจัดการ” ทรัพย์สินแบบเฉพาะทางหรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “กลเม็ด” ที่เชื่อกันว่าอาจมีมาตั้งแต่พันปีก่อนแล้วหลังจากการค้นพบเหรียญโบราณจำนวนมากอันเป็นหลักฐานที่นักวิชาการเชื่อว่า บ่งชี้ถึง “กลเม็ด” ด้านภาษีในยุคกลางหลังจากการเข้าปกครองอังกฤษของราชวงศ์นอร์มัน

พิพิธภัณฑ์บริติชในกรุงลอนดอนแถลงข่าวผลการศึกษาเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2019 ที่ผ่านมา ภายหลังจากค้นพบเหรียญโบราณเมื่อช่วงต้นปี จากการตรวจสอบ เชื่อว่า เหรียญที่ค้นพบนับพันเหรียญเป็นเหรียญโบราณจากยุคสมัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อประวัติศาสตร์อังกฤษ

Advertisement

เหรียญส่วนหนึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 (Harold II, ครองราชย์แค่ในปี 1066) กษัตริย์แองโกล-แซกซัน องค์สุดท้ายที่นั่งบัลลังก์อังกฤษ เหรียญอีกส่วนหนึ่งมีภาพใบหน้าของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 (William the Conqueror ครองราชย์ระหว่าง 1066-1087) กษัตริย์แห่งราชวงศ์นอร์มันพระองค์แรกที่ปกครองอังกฤษ พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 ภายหลังจากการรบเมื่อปี ค.ศ. 1066

แกเร็ธ วิลเลียมส์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บริติชในส่วนเหรียญช่วงแรกของยุคกลางเปิดเผยต่อสำนักข่าวต่างประเทศว่า เหรียญที่พบรวม 2,058 เหรียญนั้น ถือเป็นการค้นพบเหรียญในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากจะเป็นกลุ่มสิ่งของขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบจากช่วงยุคหลังจากนอร์มันพิชิตอังกฤษแล้ว ยังสามารถสะท้อนบริบทในช่วงยุคนั้นได้ โดยเฉพาะข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ที่ปกครองอังกฤษ ซึ่งหัวข้อที่ยังถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ก็คือ หลังจากเปลี่ยนบัลลังก์แล้วมีอะไรบ้างที่สืบเนื่องต่อมา หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังจากราชวงศ์นอร์มันขึ้นปกครองแล้วหรือไม่

การค้นพบเหรียญครั้งล่าสุด นักวิชาการทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า เหรียญเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ช่วยทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในภาพรวมช่วงหลังจากราชวงศ์นอร์มันขึ้นปกครอง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเหรียญ 3 เหรียญจากกลุ่มเหรียญที่ค้นพบทั้งหมด จะเห็นได้ว่า 3 เหรียญนี้มีลักษณะ “ลูกผสม” (Mule – เหรียญที่มีลักษณะด้านหน้ากับด้านหลังคนละวาระหรือคนละสมัย ซึ่งไม่น่าจะมาอยู่ในเหรียญเดียวกันได้ มีทั้งแบบที่ผิดพลาดหรือจงใจทำขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ)

สำหรับกรณีนี้เชื่อว่าเป็นแบบจงใจทำขึ้น กล่าวคือ มีลักษณะของเหรียญ 2 ประเภทจากต่างสมัยกันรวมอยู่ในเหรียญเดียวกัน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า เป็นกลเม็ดในการหลบเลี่ยงภาษี (ค่าธรรมเนียม) ยุคแรกๆ โดยผู้ผลิตเหรียญนำแม่พิมพ์เดิมกลับมาใช้อีกรอบ หลีกเลี่ยงระเบียบที่ระบุให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อเกิดแม่พิมพ์ใหม่

เหรียญตัวอย่างต้องสงสัยนี้มีลักษณะการออกแบบและสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนพื้นผิวซึ่งสามารถสื่อถึงเหรียญจากสมัยพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ผสมกัน ในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า เหรียญถูกผลิตโดยมีลักษณะของสมัยพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 หลังจากที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ขึ้นปกครองประเทศและเริ่มผลิตเหรียญใหม่ใช้ในสมัยของพระองค์เอง

(ขวา) เหรียญที่มีพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 (ซ้าย) เหรียญที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ภาพจาก The Trustees of the British Musuem, 2019 โดย Pippa Pearce

ส่วนอีกเหรียญยังมีลักษณะของเหรียญสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นลักษณะสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (ครองราชย์ 1042-1066) บรรพบุรุษของพระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีหายาก โดยลักษณะการนำแม่พิมพ์ที่ตกยุคแล้วกลับมาทำใหม่ช่วยให้ผู้ทำเหรียญ หรือผู้ที่ออกแบบเหรียญหลีกเลี่ยงการเสียค่าใช้จ่ายกรณีใช้แม่พิมพ์ใหม่ดังที่กล่าวไว้แล้ว

เหรียญที่เรียกว่า “Mule” ผสมระหว่างลักษณะสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด กับลักษณะสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ภาพจาก ภาพจาก The Trustees of the British Musuem, 2019 โดย Pippa Pearce

มาร์ก บราวน์ คอลัมนิสต์จากเดอะ การ์เดียน ระบุว่า เหรียญสองด้านที่มีลักษณะเหรียญจากพระเจ้าแผ่นดินจากต่างยุคกันในแต่ละด้านในสมัยนั้นสามารถผ่านตาได้ง่ายดาย และถูกพิจารณาว่าเป็นเหรียญที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างสบาย เนื่องจากชาวแองโกล-แซกซอนส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ และรายละเอียดบนเหรียญ เมื่อดูผิวเผินก็แทบไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ได้

เหรียญเหล่านี้ถูกค้นพบในที่ทำการเกษตรในโซเมอร์เซ็ตโดยชายหญิงคู่หนึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เหรียญถูกพบขณะที่ทั้งคู่กำลังสอนเพื่อนใช้งานเครื่องตรวจจับโลหะในละแวกฟาร์ม

รายงานข่าวเผยว่า ขณะที่ทดลองใช้งานพวกเขาตรวจพบเหรียญเงินที่มีพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 อยู่บนเหรียญก่อน และเริ่มค้นหาบริเวณใกล้เคียงกัน ห่างออกไปไม่กี่ก้าว เครื่องตรวจจับส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเผยว่าใช้เวลาขุดถึง 4-5 ชั่วโมงถึงเก็บรวบรวมเหรียญได้ทั้งหมด เมื่อเทียบมูลค่าเหรียญแล้ว ทอม ไลเซนส์ จากมหาวิทยาลัย East Anglia ประเมินมูลค่าเทียบกับค่าเงินในยุค 1067-68 ว่าเงินเหล่านี้น่าจะใช้แลกฝูงแกะได้ถึง 500 ตัว หรือใช้เป็นค่าแรงเลี้ยงกองทัพได้เลยทีเดียว ในปัจจุบันเชื่อว่ามีมูลค่ารวมแตะหลักล้านปอนด์

เหรียญทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้โดยพิพิธภัณฑ์บริติช ขณะเดียวกันก็มีกระบวนการตรวจสอบและพิจารณาทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เข้าข่าย “ขุมทรัพย์” หรือไม่ หากเข้าข่าย จะมีการประเมินมูลค่าโดยคณะกรรมการและพิพิธภัณฑ์ หลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์จะต้องระดมทุนหากต้องการจับจองโบราณวัตถุเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งแสดงความสนใจแล้ว ส่วนเงินรางวัลจะถูกแบ่งระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้ค้นพบเหรียญด้วยเครื่องตรวจจับโลหะ

คำถามที่น่าสนใจอีกประการจากการค้นพบครั้งนี้คือ ใครคือผู้ฝังเงินจำนวนมากเอาไว้ และฝังด้วยเหตุผลอะไร

แกเร็ธ วิลเลียมส์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แสดงความคิดเห็นว่า พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษในเวลานั้นค่อนข้างมีลักษณะเต็มไปด้วยความรุนแรงจากผลกระทบของสถานการณ์ในปีค.ศ. 1066 ขณะที่ไลเซนส์ มองว่า ผู้ที่ฝังน่าจะมีสถานะเป็นชนชั้นสูงระดับขุนนาง พวกเขาอาจพยายามปกป้องทรัพย์สินของตัวเองในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างไม่น่าไว้ใจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนั้นพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งนอร์มังดี ก็ขึ้นครองราชย์

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2562