พระอุดมปิฎก “สหายธรรม” ที่กล้าแย้ง กล้าขัด รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นภิกษุถึง 27 พรรรษานั้น (พ.ศ. 2367-94) ทำให้ทรงเชี่ยวชาญในภาษาบาลี แตกฉากในพระปริยัติธรรม และแน่นอนว่าทรงมี “สหายธรรม” ที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงข้อธรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “พระอุดมปิฎก (สอน ศิริกุล)”

ฉะนั้น พระอุดมปิฎก (สอน ศิริกุล) มรณภาพ แต่เจ้าภาพผู้จัดงานไม่ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงทรงตำหนิโทษ

สำหรับประวัติพระอุดมปิฎก สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เรียบเรียงไว้ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือน กรกฎาคม 2538 ใช้ชื่อบทความว่า “พระอุดมปิฎกแห่งวัดสนทรา”

เนื้อหาในบทความเล่าถึง เจ้าคุณอุดมปิฎก ท่านมีนามเดิมว่า “สร” (สอน) เป็นบุตรของนายศรีแก้ว และนางปาน ศิริกุล ชาวบ้าน สนทรา (อ่านว่า “สนชา”) ตําบลปันแต อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2329 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

เมื่อท่านมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ.2349 ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น นาคหลวงผู้หนึ่งของทางราชการเมืองพัทลุง โดยมีพระยาพัทลุง (ทองขาว) เจ้าเมืองพัทลุง เป็นประธานในการอุปสมบทหมู่ของนาคหลวง ก่อนเข้าพรรษา ประจําปี ณ วัดวัง ตําบลลําป่า เมืองพัทลุง อันเป็นวัดหลวงที่พระยาพัทลุง (ทองขาว ณ พัทลุง) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุง และเป็นสถานที่สําหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ ได้ฉายาทางสงฆ์ว่า “พุทธสโรภิกขุ”

เมื่อพระพุทธสโรภิกขุเข้ามาศึกษาเปรียญธรรมที่กรุงเทพฯ พระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้นำท่านไปไปฝากไว้วัดหนัง ริมคลองด่าน ตบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี  ท่านสมภารเจ้าอาวาสวัดหนังสังเกตเห็นว่า พระพุทธสโรภิกขุเป็นพระที่ขยันหมั่นเพียต่อการศึกษามา ภายหลังจึงนำไปฝากฝังให้ศึกษาพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีที่ “วัดหงสาราม” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหงส์รัตนาราม) ซึ่งอยู่ใกล้พระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ริมคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใญ่ ฝั่งธนบุรี

พระพุทธสโรภิกขุ ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถปราดเปรื่องมาก ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่สํานักวัดหงส์รัตนารามอยู่เป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เข้าสอบเปรียญธรรมเลย เพราะในสมัยนั้น พระเปรียญเป็นที่โปรดปรานของราชสํานัก และขุนนางชั้นสูงมาก พระที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าสอบและสามารถสอบผ่านเปรียญธรรมได้ นอกจากจะต้องเก่งในพระปริยัติธรรม และภาษาบาลีแล้ว ยังต้องมีรูปร่างหน้าตาที่ดูดีอกด้วย

แต่พระพุทธสโรภิกขุดี เก่งในพระปริยัติธรรมและภาษาบาลี แต่มีรูปร่างเล็ก ผิวคล้ำ หาความหล่อเหลามิได้ แถมยังเป็นพระภิกษุที่มาจากบ้านนอกอันห่างไกลปืนเที่ยงเสียด้วย จึงไม่มีพระอาจารย์องค์ใดรับรองความรู้ให้ ท่านเข้าสอบเปรียญธรรมในสนามหลวงได้

อย่างไรก็ดี ด้วยความอยากเป็น “มหาเปรียญ” พระพุทธสโรภิกขุ นอกจากจะขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ท่านยังได้พยายามเอาอกเอาใจ พระอาจารย์ที่เป็นกรรมการสอบคัดเลือกพระภิกษุ เพื่อเข้าสอบพระปริยัติธรรม ในสนามหลวงอีกด้วย (คือเข้าสอบในโบสถ์วัดพระแก้วมรกต ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน) ด้วยการไปช่วยเขาต้มน้ำร้อนและชงน้ำชาถวายพระคณะกรรมการสอบคัดเลือกเป็นประจํา

วันหนึ่ง คณะกรรมการกําลังดําเนินการสอบเพื่อคัดเลือกภิกษุเข้าสอบ ในสนามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ดําเนินการสอบมา 2 วันแล้วยังไม่สามารถคัดเลือกพระภิกษุที่มีความรู้พอที่จะส่งเข้าสอบในสนามหลวงได้ พระพุทธสโรภิกขุซึ่งคอยรับใช้ชงน้ำร้อนน้ำชาถวายพระอาจารย์ผู้สอบคัดเลือก ได้ถือโอกาสคอยเงี่ยหูฟังการสอบอยู่ตลอดเวลา

คราวหนึ่ง พระอาจารย์ท่านหนึ่งเดินลุกออกไปเพื่อเข้าห้องน้ำ พอดีเดินผ่านพระพุทธสโรภิกขุที่กําลังจัดชงน้ำร้อนน้ำชาในขณะที่กําลังมีการสอบกันอยู่ได้ยินเสียง พระพุทธสโรภิกขุรําพึงออกมาว่า “บ๊ะ ! แหม, ประโยคแค่นี้ ยังแปลไม่ได้ ก็แย่แล้ว”

พระอาจารย์กรรมการรูปนั้นก็ย้อนถามพระสรว่า “แล้วตัวท่านเองล่ะ แปลได้หรือ?”

พระพุทธสโรภิกขุตอบไปว่า “ขอรับ กระผม, แปลได้สบายมาก, แต่ถึงแปลได้ ก็ ไม่มีใครเขารับรอง”

พระกรรมการรูปนั้นจึงรับปากว่า หากพระพุทธสโรภิกขุแปลได้จริง ก็จะรับรองให้ได้เข้าสอบในสนามหลวงได้

ผลที่ออกมาก็คือ ในปีนั้นมีพระภิกษุเพียงรูปเดียวที่สามารสอบไล่ได้เปรียญ 9 ประโยค ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือ พระพุทธสโรภิกขุ แห่งวัดหนัง นั่นเอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ท่านมหาสร เปรียญ 9 ประโยค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “พระอุดมปิฎก” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม อันเป็นวัดใหญ่ นับเป็นอันดับองค์ที่ 5 ที่ศิษย์เก่าแห่งสํานักเปรียญธรรมของวัดหงส์รัตนาราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดหงส์รัตนารามเอง และโดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดปรานท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกเป็นพิเศษ ถึงกับทรงนิมนต์ไปสนทนาธรรม และฉันเพลในพระราชวังบ่อย ๆ

สมัยที่เจ้าฟ้ามงกุฏ (ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ยังทรงผนวชอยู่นั้น เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเชี่ยวชาญในภาษาบาลีและแตกฉานในพระปริยัติธรรมมากอยู่ จนหาคู่สนทนา และอภิปรายธรรมทางวิชาการแทบจะไม่ได้ คงมีแต่เจ้าคุณอุดมปิฎกท่านนี้เท่านั้นที่สามารถเป็นคู่อภิปายปัญหาธรรม และภาษาบาลีได้อย่างเผ็ดร้อนและสนุกสนานจนเป็นที่ถูกอัธยาศัยกันมาก

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพิจารณาเห็นว่า พระภิกษุแห่งคณะมหานิกายสยามที่มีอยู่เพียงนิกายเดียวในสมัยนั้น ประพฤติปฏิบัติศีลไม่ค่อยจะถูกต้องครบถ้วนตามบทบัญญัติที่มีอยู่ในพระวินัยปิฎกเท่าใดนัก ทั้งยังมีพระภิกษุเป็นอันมากที่ต้องอาบัติเป็นครโทษมากมาย จึงทรงดําริที่จะก่อตั้ง “คณะธรรมยุติกนิกาย” อันเป็นนิกายใหม่ขึ้นมา เพื่ออบรมสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ให้เคร่งครัดในศีลในธรรมตามพระวินัยปิฎก

เมื่อท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกทราบเรื่องเข้าก็ได้ไปเฝ้าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ แล้วปุจฉาและวิสัชนาไปในทางคัดค้านพระราชดําริดังกล่าวของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ

โดยอภิปรายว่า พระสงฆ์ในสยามประเทศปัจจุบันก็มีคณะมหานิกายอยู่แล้ว ทั้งมีสถานภาพเป็นคณะสงฆ์ “สยามวงศ์” อยู่แล้วด้วย ไม่สมควรที่จะก่อตั้งนิกายใหม่ขึ้นมา เมื่อเห็นว่ายังมีอะไรบกพร่องหรือผิดพลาดอยู่ ก็ควรจะช่วยกันคิดแก้ไข ปรับปรุงสิ่งที่บกพร่องให้สมบูรณ์ขึ้นมา ทําสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้มันถูกต้องเสีย ความบกพร่องเสียหายก็จะหมดไปเอง ไม่สมควรที่จะก่อตั้งนิกายใหม่ขึ้นมา อันจะกลายเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่ “คณะสงฆ์สยามวงศ์” ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อให้เกิด “สังฆเภท” ขึ้นในหมู่สงฆ์ อันเป็นการทําบาปถึงขั้น “อนันตริยกรรม” ต้องโทษตกนรกหมกไหม้อย่างไม่มีวันผุดวันเกิด

คําอภิปรายของท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกยังผลให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระพิโรธและขุ่นเคืองพระราชหฤทัยอย่างที่สุด ทําเอาเจ้าคุณอุดมปิฎกตกใจไปเหมือนกัน จนต้องรีบขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วถวายพระพรลากลับวัดไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาสิกขาแล้วขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2394 แล้ว ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎก ซึ่งรู้สํานึกดีว่า เคยอภิปรายโต้เถียงกับพระองค์ท่าน รวมทั้งเคยคัดค้านอย่างรุนแรงในการที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดําริจะก่อตั้ง “คณะธรรมยุติกนิกาย”

บังเกิดความกริ่งเกรงว่าราชภัยอาจบังเกิดขึ้น จึงได้หลบหนีออกจากวัดหงส์รัตนารามไปอย่างเงียบ ๆ แล้วไปพํานักจําพรรษาอยู่ที่วัดสนทราใกล้กับทะเลน้อย ในตําบลปันแต อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อันเป็นถิ่นบ้านเดิมของท่าน ที่ค่อนข้างจะเป็นป่าดง นับว่าเป็นถิ่นที่ปลอดภัยดีพอใช้

อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็น รัชกาลที่ 4 แล้ว พระองค์ก็ทรงหาคนขัดคอไม่ได้ จะทรงหันไปทางไหนก็มีแต่คนเห็นดีเห็นงาม ล้วนกลายเป็นลูกขุนพลอยพยัก “พะย่ะค่ะ ๆ ๆ”  ไปเสียทั้งหมด จนเป็นที่น่าเบื่อหน่าย ทําให้ทรงคิดถึงพระอุดมปิฎก นักคัดค้านคนสําคัญ จึงโปรดสั่งให้คนเที่ยวค้นหาว่า พระอุดมปิฎกหาย ไปอยู่เสียที่ไหน?

ครั้นเมื่อได้ทรงทราบที่จําพรรษาของท่าน เจ้าคุณอุดมปิฎกแล้ว ก็มีดํารัสสั่งให้อาลักษณ์มี ท้องตราไปยังพระยาพัทลุง (ทับ ณ พัทลุง) พร้อมกับมีหมายกําหนดการและสารตรานิมนต์พระอุดมปิฎกแห่งวัดสนทรา ให้เข้าไปร่วมงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวัง ในปีแรกของการเสวยราชสมบัตินั้นเอง

ฝ่ายท่านเจ้าคุณอุดมปิฎก เมื่อเห็นสารตรา มาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตกใจ นึกว่าจะเป็นสารตราเรียกตัวเพื่อเอาไปลงโทษ ฐานเคยอภิปรายโต้แย้งพระองค์ท่าน จนทรงพระพิโรธ แต่ พอได้เปิดสารออกอ่านดูแล้ว จึงหายใจยาวด้วย ความโล่งอกโล่งใจ เพราะเป็นสารตราที่นิมนต์ท่าน ไปสวดมนต์และฉันเพลเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เคยทรงเป็น “สังฆมิตตา” มาแต่อดีต

ครั้นเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แล้วตามกําหนด และเข้าไปในงานพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังแล้ว ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกก็ถูกจัดให้นั่งอยู่ที่ปลายแถวสุด เนื่องจากท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อพระราชพิธีสงฆ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงประเคนปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ตามลําดับอาวุโส จากหัวแถวไปจนถึงปลายแถว จนเผชิญหน้ากับท่านเจ้าคุณอุดมปิฎก จึงได้ทรงปฏิสันถาร และทรงกล่าว สัมโมทนียกถาตามควรแก่พระราชอัธยาศัย แล้วจึงตรัสนิมนต์ว่า

“ภันเต, ท่านเจ้าคุณ ! หายหน้าไปอยู่เสียห่างไกล ไม่ได้พบหน้ากันมาเสียนาน วันนี้ เป็นวันพระราชสมภพของโยม ขอท่านเจ้าคุณผู้เป็นสังฆมิตตา ได้ให้พรแก่โยมให้เป็นที่ชื่นใจของโยมเถิด”

ได้ฟังดังนั้น ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกก็ยิ้มด้วย ความปีติ ตั้งพัดยศขึ้น แล้วถวายพระพรด้วย ปฏิภาณโวหารเป็นภาษาบาลีว่า

       อดิเรก วสุสต์ ชีว (ตุ)  

       อดิเรก วสสต์ ชีว (ตุ)  

       อดิเรก วสุสต์ ชีว (ตุ);

ทีฆายุโก โหตุ, อโรโค โหตุ  

ทีฆายุโก โหตุ, อโรโค โหตุ

สุขิโต โหตุ, ปรมินุท มหาราชา

      สิทธิ กิจฺจํ, สิทธิ กมฺมํ

      สิทธิ ลาโภ, ชโย นิจฺจํ

      ปรมินุท มหาราช วรสุสํ;

ภวตุ สพุพ ทา,

ขอถวายพระพร ฯ

(สืบพงศ์ ธรรมชาติ : วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ สุทธิกรรม ฉบับภาคใต้” ภาควิชาภาษาไทย, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2526, หน้า 144)

ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎก กล่าวถวายพระพรแบบกลอนสด จึงกล่าวซ้ำ วรรคแรก 3 ครั้ง กล่าวซ้ำวรรคสอง 2 ครั้ง เพื่อทอดจังหวะให้สามารถคิดคําในประโยคต่อๆ ไปได้ อย่างไม่ขัดเขิน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พอพระทัยคําถวายพระพรนี้มาก จึงรับสั่งให้ถือเอาไว้เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในการกล่าวคําถวายพระพรแก่พระเจ้าแผ่นดินในงานพระราชพิธีทั้งปวงตลอดมา จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้แต่คําที่ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกกล่าวซ้ำ 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ก็ให้คงไว้ตามเดิม ทรงเพิ่มเติมเฉพาะคําว่า “ตุ” ต่อท้ายคํา “ชีว” (ในวรรคแรก) เป็น “ชีว ตุ” เท่านั้น นอกนั้น ให้คงเดิม ซึ่งใช้กันอยู่ต่อมาจนถึงในปัจจุบันนี้

ในระหว่างที่ท่านเจ้าคุณอุดมปิฎกหลบซ่อนราชภัยอยู่ที่วัดสนทรา ใกล้ทะเลน้อยในตําบลปันแต อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ท่านได้เทศนาเผยแผ่คําสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่ชาวบ้านปันแตโดยตลอดมา ในแบบการเทศน์ชักจูงให้เข้าใจเนื้อหาสาระของพระพุทธศาสนาสําหรับชาวบ้านธรรมดาๆ นอกจากนั้น ยังได้นิพนธ์หนังสือสอนพุทธศาสนาสําหรับชาวบ้านขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “สุทธิกรรมชาดก ฉบับปักษ์ใต้” ซึ่งได้มีผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ และยังเป็นที่นิยมอ่านกันอยู่ในหมู่ชาวบ้านปันแตเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เมื่อท่านเจ้าคุณ “พระอุดมปิฎก” พระราชาคณะผู้ใหญ่ เจ้าอาวาสวัดสนทรา มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2401 ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 72 ปี 52 พรรษา พระยาพัทลุง (ทับ บุตรพระยาพัทลุง ทองขาว ณ พัทลุง) จัดให้มีงานฌาปนกิจเป็นงานใหญ่โตที่วัดวัง ตําบลลําป๋า กลางเมืองพัทลุง โดยมิได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเสียก่อน เพื่อพระราชทานผ้าไตรมาถวายบังสุกุล สําหรับชักหน้าศพตามพระราชประเพณี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตําหนิ โทษแก่พระยาพัทลุง (ทับ ณ พัทลุง) คงเนื่องด้วยทำให้พระองค์ทรงพลาดงานสุดท้ายของ “สหายธรรม”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2562