คลี่ปริศนากระดูกคนนับร้อยในทะเลสาบกลางเทือกเขาหิมาลัย จากผลศึกษา DNA

ภาพประกอบเนื้อหา - เทือกเขาหิมาลัย (ภาพจาก pixabay)

ในบรรดาพื้นที่ทางโบราณคดีซึ่งเป็นที่สนใจสืบเนื่องมาจากปรากฎการณ์หรือหลักฐานที่ยังไม่สามารถบ่งชี้ความเป็นมาได้ มีชื่อทะเลสาบ Roopkund แถบเทือกเขาหิมาลัยในดินแดนของอินเดียรวมอยู่ด้วย ทะเลสาบแห่งนี้คือจุดที่พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากลอยขึ้นมา เชื่อกันว่าอาจมีชิ้นส่วนจากมนุษย์มากถึง 800 ร่างอยู่ในน้ำ จนถูกขนานนามว่า “ทะเลสาบโครงกระดูก”

แหล่งน้ำดังกล่าวอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 5,029 เมตร ตั้งอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัย รายล้อมด้วยหิมะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เมตร น้ำตื้น นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาค้นหาที่มาของโครงกระดูกเหล่านี้ว่าไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร ผลการศึกษาทาง DNA ในช่วงต้นยุค 2000s พอจะบ่งชี้แนวโน้มว่า ผู้เสียชีวิตที่พบในทะเลสาบมีชาวเอเชียทางตอนใต้เป็นบรรพบุรุษ การวัดอายุทางคาร์บอนฯ รอบพื้นที่ได้ค่าย้อนกลับไปอยู่ที่ประมาณ ค.ศ. 800 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พวกเขาเสียชีวิตจากปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ อาจเป็นภัยพิบัติบางอย่างที่ส่งผลรุนแรง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิเคราะห์ทาง DNA แบบเชิงลึก (Genome-wide DNA) จากนักวิจัยครั้งล่าสุดออกมาตรงข้ามกับข้อสันนิษฐานข้างต้น รายงานชื่อ “Ancient DNA from the skeletons of Roopkund Lake reveals Mediterranean migrants in India” ที่เผยแพร่ใน Nature เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2019 เผยว่า การศึกษา DNA ของชุดโครงกระดูก 38 ชุด จากทะเลสาบไปเปรียบเทียบกับยีโนม (genome) ของมนุษย์โบราณ 1,521 ตัวอย่าง และ 7,985 ตัวอย่างที่เป็นคนในยุคปัจจุบันจากทั่วโลก ผลการศึกษาพบความแตกต่างในกลุ่มตัวอย่างและสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกประกอบด้วยชิ้นส่วนของมนุษย์ 23 รายที่มีบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกับกลุ่มชนในเอเชียใต้ในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้เสียชีวิตพร้อมกันในเหตุการณ์หนึ่ง หรืออาจเสียชีวิตจากปรากฏการณ์ที่เกิดหลายครั้งระหว่างศตวรรษที่ 7-10 รายงานเผยว่า DNA ของกลุ่มนี้คล้ายกับคนอินเดียในปัจจุบัน

ขณะที่อีกกลุ่มเป็นชิ้นส่วนของร่าง 14 รายที่มีบรรพบุรุษอยู่ในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก กลุ่มนี้มีความเป็นไปได้ว่าเสียชีวิตพร้อมกันจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในอีกกว่าพันปีต่อมา และน่าสนใจที่ DNA ของกลุ่มนี้เหมือนกับประชากรในกรีซ และเกาะคริต (Crete)

และชิ้นส่วนกระดูกอีกชิ้นที่เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทีมวิจัยไม่พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ศึกษา

ลักษณะของ DNA ที่แตกต่างกันนี้บ่งชี้ว่า ทะเลสาบแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ซึ่งเป็นจุดสนใจของคนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้สนใจจากที่อื่นในโลกด้วย โดยเฉพาะลักษณะทาง DNA ที่มีความเชื่อมโยงทางบรรพบุรุษกับกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก

การวิเคราะห์ทางไอโซโทป (isotopes) ของชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้สอดคล้องกับผลการศึกษาข้างต้น โดยไอโซโทปที่อยู่ในดินสามารถถูกพืชดูดซับเข้าไปได้ซึ่งพืชเหล่านี้ก็จะถูกมนุษย์บริโภคเข้าไปในภายหลัง ไอโซโทปจะเข้าไปแทนที่แคลเซียมบางส่วนในฟันและกระดูก ซึ่งหลักฐานส่วนนี้ยังถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับจุดทางภูมิศาสตร์ได้ด้วย ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ไอโซโทปยังยืนยันได้ว่ากลุ่มตัวอย่างจากเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชียใต้ มีลักษณะการรับประทานอาหารแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่กลุ่มชนเมดิเตอร์เรเนียนเดินทางมาที่ทะเลสาบ และยังไม่สามารถระบุปรากฏการณ์ที่เป็นเหตุให้พวกเขาจบชีวิตอย่างแน่ชัดได้

ที่ผ่านมา มีนักวิชาการพยายามศึกษาหาสาเหตุการเสียชีวิตของกลุ่มเหล่านี้ มีข้อสันนิษฐานหลากหลายออกไป แต่อย่างน้อย เหตุผลเรื่องการเสียชีวิตจากการต่อสู้มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด ชิ้นส่วนที่พบมีทั้งผู้หญิงและชาย ไม่พบร่องรอยของการต่อสู้ ไม่พบอาวุธ ที่สำคัญคือ พวกเขายังมีสุขภาพดีขณะเสียชีวิต นั่นยังเป็นหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานเรื่องโรคระบาดมีแนวโน้มเป็นไปได้น้อยเช่นกัน

ในบทเพลงที่ขับร้องในเทศกาล Nanda Devi Raj การจาริกแสวงบุญที่จัดขึ้นทุก 12 ปีเพื่อบูชาเทพเจ้า Nanda Devi เอ่ยถึงกลุ่มผู้แสวงบุญที่ทำให้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์มัวหมองด้วยการเต้นรำของหญิงสาว เป็นเหตุให้เทพเจ้าพิโรธ ส่ง “ลูกบอลเหล็ก” จากท้องฟ้าลงมากำจัดกลุ่มดังกล่าว

หากอ้างอิงตามบทเพลง อาจเป็นไปได้ว่า เหยื่อที่เสียชีวิตคือกลุ่มผู้แสวงบุญที่เสียชีวิตระหว่างเทศกาลเนื่องจากพายุลูกเห็บ รายงานข่าวจาก National Geographic เผยว่า ในบริเวณนั้นก็พบร่มขนาดเล็กที่ใช้ประกอบพิธีในละแวกใกล้เคียง ขณะที่กะโหลกศีรษะของบางรายก็พบรอยร้าวที่สาหัส

อย่างไรก็ตาม วิลเลียม แซ็กซ์ (William Sax) หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Heidelberg ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการแสวงบุญโต้แย้งแนวคิดเกี่ยวกับการแสวงบุญข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า นักแสวงบุญยุคโมเดิร์นไม่ค่อยให้ความสนใจทะเลสาบ และเชื่อว่าเมื่อนักแสวงบุญปีนขึ้นไปถึงทะเลสาบ พวกเขาน่าจะเร่งเดินทางมากกว่า เพราะยังเหลือระยะทางอีกยาวไกล เชื่อว่า พวกเขาหยุดพักชั่วคราวและทำความเคารพตามมารยาท หากมีเวลาทำได้ แต่ทะเลสาบไม่เคยเป็นส่วนสำคัญในการแสวงบุญ

จนถึงปัจจุบัน ยังมีนักวิจัยและนักวิชาการสนใจคลี่คลายปมปริศนาโครงกระดูกในทะเลสาบอย่างต่อเนื่อง Niraj Rai หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยล่าสุดเผยว่า คณะศึกษาจะไปสำรวจทะเลสาบเพื่อศึกษาโบราณวัตถุที่อาจเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนกระดูกในปีหน้า (2020)

 


อ้างอิง :

“Ancient DNA from the skeletons of Roopkund Lake reveals Mediterranean migrants in India”. Nature. Online. Published 20 AUG 2019. Access 26 AUG 2019. <https://www.nature.com/articles/s41467-019-11357-9>

ROMEY, KRISTIN. “DNA study deepens mystery of lake full of skeletons”. National Geographic. Online. Published 20 AUG 2019. Access 26 AUG 2019. <https://www.nationalgeographic.com/culture/2019/08/dna-study-deepens-mystery-lake-skeletons-roopkund/>

STARR, MICHELLE. “DNA Analysis Just Made The Eerie Mystery of Himalayan ‘Skeleton Lake’ Even Stranger”. Science Alert. Online. Published 21 AUG 2019. Access 26 AUG 2019. <https://www.sciencealert.com/the-mystery-of-skeleton-lake-in-the-himalayas-has-just-deepened>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2562