เผยแพร่ |
---|
พระนามพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากจะมีความไพเราะและวิตรแล้ว ยังแฝงไปด้วยคติทางศาสนาทั้งพราหมณ์ ฮินดู พุทธ เป็นต้น รวมถึงสะท้อนให้เห็นความสามารถด้านอักษรศาสตร์ของคนในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำฯ ทรงมีพระวินิจฉัยสรุปการเรียกพระนามพระมหากษัตริย์ในอดีตแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบคือ
1. พระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏ
2. พระนามพิเศษเพิ่มพระเกียรติยศ
3. พระนามที่เรียกเมื่อดำรงพระชนม์
4. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
5. พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
หนึ่ง พระนามตามจารึกพระสุพรรณบัฏ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่าเป็นประเพณีมาแต่โบราณ กระทำเมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “มักเปนพระนามมีสร้อยยืดยาวมาก”
ลักษณะเรียกพระนามอีกประการหนึ่งที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงตั้งข้อสังเกตว่า มีการใช้คำเรียกคล้ายกัน ในครั้งกรุงศรีอยุธยาก็มักจะปรากฏคำว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เสียเป็นส่วนมาก ในสมัยต่อ ๆ มาก็ปรากฏทั้ง “สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์” บ้าง “สมเด็จพระเอกาทศรถ” บ้าง ยกตัวอย่างศุภอักษรเจ้าประเทศราชถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ใช้ว่า “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร” ส่วนคำกราบบังคมทูลในสมัยรัชกาลที่ 1-3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏว่าใช้ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี”
สอง พระนามพิเศษเพิ่มเกียรติยศนั้น จะเป็นพระนามที่ปรากฏเมื่อมีเหตุการณ์อันพิเศษ ทรงอธิบายว่าพระมหากษัตริย์ที่มีพระนามพิเศษพระองค์แรกคือ พระมหาธรรมราชาลิไทยด้วยเหตุที่ทรงสละราชสมบัติลาผนวชครั้งหนึ่ง พระมหาสวามี พระสังฆราช ซึ่งมาแต่ลังกาได้ถวายพระนามว่า “พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิตสุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช”
อีกกรณีหนึ่งคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการเรียกพระนาม “พระเจ้าช้างเผือก” แด่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ อันมีเหตุจากการพบช้างเผือกแห่งพระบุญาบารมีมากถึง 7 ช้าง และยังทรงวิเคราะห์ว่าพระนามพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ก็เป็นพระนามพิเศษเพิ่มพระเกียรติยศ ทั้ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากพระมหาสวามี พระสังฆราช ถวายพระนาม, สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถวายพระนามเนื่องในเหตุพบรอยพระพุทธบาท, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถวายพระนามเมื่อมีการสร้างวิหารสมเด็จเป็นปราสาทปิดทอง ยกหลักฐานจากจดหมายเหตุวัน วลิต โดยกรมพระยาดำรงฯ ทรงไม่เห็นด้วยกับพงศาวดารคำให้การชาวกรุงเก่าที่ว่าถวายพระนามนี้เนื่องจากขุดพบปราสาททองในจอมปลวก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการถวายพระนามพิเศษ “ปิยมหาราชาธิราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศที่มีพระชนมายุยืนยาวมากที่สุด
สาม พระนามที่เรียกเมื่อดำรงพระชนม์อยู่นั้น กรมพระยาดำรงฯ ระบุว่า คนทั่วไปจะเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “ขุนหลวง” “พระเปนเจ้า” “พระเจ้าอยู่หัว” หรืออาจเรียกชื่อพระมหากษัตริย์ตามเมืองที่ปกครอง เช่น “พระเจ้าอู่ทอง” “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” “พระเจ้าหงสาวดี” “พระเจ้าอังวะ” หรืออาจเรียกตามพระนามเดิมของพระมหากษัตริย์เช่น “พระร่วง” “พระยาอู่” “พระเจ้ามังลอง” เป็นต้น กรมพระยาดำรงฯ อธิบายว่า พระนามที่เรียกตามชื่อเมืองที่ปกครองและเรียกตามพระนามเดิมนี้ ล้วนแต่เป็นคำเรียกจากคนต่างเมือง
สี่ พระนามที่ “ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกัน” อันเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือ เรียก “ขุนหลวงเสือ” ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินนั้นร้ายกาจ เรียก “ขุนหลวงท้ายสระ” ก็เพราะเสด็จฯ พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียก “ขุนหลวงทรงปลา” เพราะพระเจ้าแผ่นดินโปรดตกปลา รวมถึง “ขุนหลวงบรมโกษฐ์” “ขุนหลวงหาวัด” “ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์” “ขุนหลวงตาก” กรมพระยาดำรงฯ ระบุว่า พระนามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตาม “ปากตลาด” ทั้งสิ้น
ห้า พระนามที่เรียกเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้วนั้นปรากฏชัดในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเกิดจากเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีผู้เรียกรัชกาลก่อนหน้าว่า “แผ่นดินต้น” หมายถึงในสมัยรัชกาลที่ 1 และ “แผ่นดินกลาง” หมายถึงในสมัยรัชกาลที่ 2 เรื่องนี้ทำให้รัชกาลที่ 3 “…ไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ 1 เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ 2 เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ 3 ก็จะกลายเปนแผ่นดินสุดท้าย เปนอัปมงคล…” ดังนั้นจึงมีพระราชโองการประกาศให้เรียกพระนามรัชกาลที่ 1 และ 2 ตามพระนามพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระบรมราชูทิศ จึงเรียกพระนามพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตามลำดับว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”
กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริเห็นว่าควรจะกำหนดเรื่องพระนามพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ยุติเสียแต่ทีแรก อันจะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาในภายหลัง จึงถวายพระนามรัชกาลที่ 3 ว่า “พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และให้เรียกพระนามพระองค์ว่า “พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และนับแต่นั้นมาจึงกลายเป็นทำเนียมสืบต่อมาอย่างเป็นแบบแผน
กรมพระยาดำรงฯ ทรงสรุปในตอนท้ายว่า “ข้อวินิจฉัยในเรื่องลักษณะพระนามต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดินในชั้นกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ ว่าตามความเห็นของข้าพเจ้าเอง จะผิดชอบอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีจะตัดสินเทอญ”
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2468). อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทองย้อย เสรีณรงค์ฤทธิ์. ม.ป.ท. : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2562