เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีการจัดงาน 72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายในงานมีการปาฐกถาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์สอนอะไร : ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย” โดย ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อ. ธเนศ กล่าวในช่วงหนึ่งว่าใคร ๆ ก็ล้วนแต่เรียนประวัติศาสตร์กันมาตั้งแต่เด็ก และมองว่าเป็นวิชาที่ไม่สนุก ในมุมมองของตัวเองคิดว่า หากคนที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาแล้วไปศึกษาต่อทางด้านนี้ “ผมคิดว่าเป็นคนประหลาดมาก” พร้อมเล่าต่อว่าไม่เคยมองถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์อีกเลยนับตั้งแต่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ แต่การเรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์คือจุดสำคัญที่ไม่อาจละทิ้งประวัติศาสตร์ได้ กระทั่งเข้าทำงานร่วมกับวารสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ภายหลังปิดตัวลงจึงกลายเป็นคนตกงาน กระทั่งได้รับการทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ตัว อ. ธเนศ เองเพราะคิดว่าตนไม่ได้จบสายตรงประวัติศาสตร์ “ผมสอนประวัติศาสตร์ ก่อนเรียนประวัติศาสตร์” อ. ธเนศกล่าว
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อันเป็นเหตุการณ์ที่ อ. ธเนศนิยามว่า “เป็นการปฏิวัติในประเทศไทยครั้งสำคัญ” ส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลมาถึงวิชาประวัติศาสตร์ที่มีไว้เพื่อตอบคำถามและอธิบายความสงสัยต่อปัญหาต่าง ๆ ในสังคมโดยเฉพาะปัญหาการเมืองสมัยนั้น การตื่นตัวนี้ อ. ธเนศ มองว่า สาขาวิชาประวัติศาสตร์เป็นอันดับ 1 ในช่วง พ.ศ. 2516-2519 เลยก็ว่าได้
การตื่นตัวทางประวัติศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงการเสนอข้อมูลหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะซ้าย ขวา หน้า หรือหลัง แต่เป็นการปะทะกันที่สร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนกันอย่างกัลยาณมิตร อ. ธเนศ มองว่า ในช่วงเวลานั้นมีความแปลกใหม่เกิดขึ้นในการศึกษาสาขาวิชานี้ และเป็นเหตุสำคัญที่ตัดสินใจเป็นอาจารย์สอนวิชานี้
การตื่นตัวประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้เกิดการวิพากษ์ประวัติศาสตร์แนวชาตินิยม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ “สกุล” ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำไปสู่การวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดย “จิตร ภูมิศักดิ์” จากหนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย”
อ. ธเนศ กล่าวว่า งานชิ้นนี้เป็นงานที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างหนักหน่วงมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกสั่งเก็บตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 แต่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งอ. ธเนศ ตั้งคำถามว่า เหตุใดงานเขียนชิ้นนี้ถึงมีอิทธิพลมากขนาดนั้น
ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ การเขียนชิ้นงานวิพากษ์ประวัติศาสตร์ชนชั้นเช่นนี้เป็นงานเขียนที่ทำกันทั่วโลก โดยใช้ทฤษฎีมาร์กซมาอธิบายและวิพากษ์ระบอบเก่า แต่งานเขียนของจิตรนั้นแตกต่างออกไป เพราะเป็นการวิพากษ์ที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่กว้างและครอบคลุมแนวคิดของการวิพากษ์ของจิตรได้ครบถ้วน และไม่มีงานเขียนชิ้นไหนจะมาวิพากษ์งานชิ้นนี้ได้ครอบคลุมกว่าที่จิตรเขียนไว้ อ. ธเนศ ยกย่องจิตรว่า การที่เขาเป็นคนอ่านได้หลายภาษา ทั้งไทย จีน เขมร ทำให้เข้าถึงข้อมูลหรือหลักฐานได้มาก จึงสามารถช่วยให้จิตรอธิบายงานเขียนชิ้นต่าง ๆ อย่างมีน้ำหนักมากขึ้น
วิธีคิดและวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของจิตรจึงเป็นแนวทางของ อ. ธเนศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาหลักฐานชั้นต้น โดยกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์ที่ไม่ค้นคว้าหลักฐานชั้นต้น ไม่มีทางทำงานประวัติศาสตร์ได้… งานประวัติศาสตร์ต้องคู่กับงานค้นคว้า โดยเฉพาะหลักฐานชั้นต้น”
อ. ธเนศ สนใจการวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดยใช้แนวคิดจากลัทธิมาร์กซ เพราะสามารถอธิบายและตอบคำถามของสังคมได้ อ. ธเนศ กล่าวถึงวิชาประวัติศาสตร์ว่างานประวัติศาสตร์เป็นงานที่ “ตอบ” เหตุและผล หากตอบได้ ก็อธิบายประวัติศาสตร์ได้ เช่น คำถามที่ว่าทำไมพระเจ้าตากถูกประหารชีวิต มีงานเขียนอธิบายของนักวิชาการหลาย ๆ คน เช่นงานของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่สามารถตอบคำถามของข้อสงสัยดังกล่าวได้ จึงไม่แปลกใจที่งานของ อ. นิธิ จะได้รับความนิยมมาตลอดหลายสิบปี
อ. ธเนศ ยังเล่าย้อนถึงช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ต้องลี้ภัยไปต่างจังหวัดเนื่องจากงานเขียนที่มีรูปแบบต่อต้านอำนาจรัฐมากเกินไป แต่เมื่อเหตุการณ์สงบลง จึงได้ไปเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์อเมริกา
แม้จะดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์อเมริกาจะห่างไกลจากประวัติศาสตร์ไทย แต่ในแง่ทฤษฎีแล้ว อ. ธเนศ สามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในเรื่องของทาสและไพร่ ซึ่งใช้ทฤษฎี “ระบบพ่อปกครองลูก” ในระบอบทาสและไพร่ในประวัติศาสตร์อเมริกา มาอธิบายประวัติศาสตร์ทาสและไพร่ในสังคมไทยได้
นอกจากนี้ อ. ธเนศ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติว่า ประวัติศาสตร์อเมริกาเป็นของประชาชนทุกคน เพราะคนจากทุกชนชั้นมีการบันทึกและเขียนเรื่องราวของตนเองจำนวนมากนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศ ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นของผู้คนที่อยู่ในตำราประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านั้นเอง แม้จะมีผลกระทบจากแนวคิดฝ่ายซ้ายมาบ้างแต่ไม่ได้ส่งผลกระเทือนต่อประวัติศาสตร์ไทยมากนัก และยังคงดำรงแนวทางเช่นเดิมมาตั้งแต่สมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อยมา นั่นคือประวัติศาสตร์กระแสหลัก-ประวัติศาสตร์ชาตินิยม
การชำระประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ อ. ธเนศ แสดงความเห็นว่า กระทำขึ้นเพื่อให้ถูกต้องตามคติที่ชนชั้นรัตนโกสินทร์รับได้ เช่นกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทำการชำระประวัติศาสตร์ โดยการขีดออก-เปลี่ยนประวัติศาสตร์ แม้แต่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการชำระประวัติศาสตร์
อ. ธเนศกล่าวว่า “ถ้าหากคุณต้องชำระประวัติศาสตร์ แสดงว่าประวัติศาสตร์คุณไม่โต คือมันสกปรกไม่ได้ ไม่มีใครมาแปดเปื้อน ประวัติศาสตร์ต้องเปื้อน เปื้อนถึงจะได้โต” โดยเปรียบเทียบกับการเลี้ยงเด็กแบบทะนุถนอม ไม่ให้ออกไปเล่นดินเล่นทราย คอยแต่อาบน้ำ เลี้ยงอยู่ในห้องแอร์ ไม่เจอสิ่งแปดเปื้อนเลย จะไม่ทำให้เด็กเติบโตแบบมีสติปัญญาได้อย่างไร?
“ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ไทย คือประวัติศาสตร์อยู่ในห้อง ICU” อ. ธเนศกล่าว
อ. ธเนศ กล่าวในตอนท้ายว่า “การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสอนบทเรียน แต่ว่าเป็นการซึมซับถึงความจริงในประวัติศาสตร์” ความเป็นจริงนั้นทำให้เกิดการเรียนรู้ค้นคว้า และในตัวประวัติศาสตร์คือความเปลี่ยนแปลง ไม่มีหยุด จึงต้องเปิดให้มีการวิพากษ์ โต้เถียง ประวัติศาสตร์เพื่อให้ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่แนวทางเดียว สำนักเดียว หรือสกุลเดียว อ. ธเนศ ย้ำว่า “ประวัติศาสตร์ต้องทำให้คนเขียนและคนอ่านรู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่ใช่รู้ว่าเพื่อแค่รู้ไปเท่านั้น แล้วก็เล่ากันต่อ ๆ ไป เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งคือประวัติศาสตร์ที่สอนความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง… นี่คือเหวลึกของประวัติศาสตร์ไทย”
คลิกชมคลิปเต็ม “ประวัติศาสตร์สอนอะไร : ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ.2562