เปิดตัวและฉากสุดท้าย “รถอัศวิน” รถนำขบวนเสด็จฯ ร.9 ถึงบทบาทฮาร์เลย์-เดวิดสันในไทย

"รถอัศวิน" รถนำขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553)

…คำว่า “รถอัศวิน” นี้ ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นรถของพระเอกขี่ม้าขาวหรืออะไรทำนองนั้น แต่เป็นคำเรียกขาน “รถนำขบวนเสด็จ” ซึ่งในที่นี้หมายถึง รถนำขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ที่มาของคำว่า “รถอัศวิน” มาจากชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9 – กองบก.ออนไลน์) ตรัสเรียกกองกำกับการอารักขา 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ในนามกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งตํารวจแต่ละนายจะมีรหัสเรียกขานว่า “อัศวิน” ต่อจากนั้นมาจึงได้เรียกยานพาหนะที่ใช้ปฏิบัติภารกิจภายในกองกำกับการอารักขาว่า “รถอัศวิน” ด้วย

แต่ด้วยเพราะ รถอัศวิน-มอเตอร์ไซค์รุ่นแรกของกองกำกับการอารักขาเป็นรถฮาร์เลย์-เดวิดสัน รุ่น Electra Glide Police ปี 1968 ทั้งหมด 14 คัน สีขาว ขนาด 1200 ซีซี

ว่ากันว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นที่ผลิตและออกแบบมาเพื่อใช้นำขบวนเสด็จให้กับประมุขและผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงใช้นำขบวนองค์พระประมุขของประเทศไทยด้วย เพราะถือว่าเป็นรถแข็งแรงสมรรถนะดีเยี่ยม

“รถอัศวิน” รถนำขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553)

มองย้อนหลังไปในอดีต ฮาร์เลย์ เดวิดสัน รุ่นนี้นำเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก และนำมาใช้ในงานราชการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2516 และสุดท้ายได้ใช้ในการถวายอารักขาในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระราชพิธีสุดท้ายก่อนรถอัศวินฮาร์เลย์-เดวิดสัน จะชำรุดเสื่อมสภาพถูกเก็บเข้าไว้ในโกดัง

ในบทบาทของฮาร์เลย์ในเมืองไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของชญานิน เทพาคำ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “ชมรมอิมมอร์ทัล เอ็มซี” ซึ่งเป็นชมรมฮาร์เลย์ชมรมแรกในประเทศไทย บอกว่าถอยหลังไปเมื่อสัก 20 ปีก่อน เห็นฮาร์เลย์…คันแรก เป็นของกรมวังอาวุโสท่านหนึ่ง ชื่อ “บุญธรรม” เป็นรถฮาร์เลย์ที่เรียกกันว่า รุ่นเสื้อเหล็ก หลังจากนั้นแล้วก็ไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฮาร์เลย์อีกเลย

กระทั่งช่วงปี 2534 เริ่มมีคนนิยมฮาร์เลย์มากขึ้น รวมทั้งตัวเองที่ได้เป็นเจ้าของรุ่น Dyna จากนั้นเริ่มสังเกตเห็นว่ากลุ่มคนขับขี่ฮาร์เลย์ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนนั้นกลุ่มผมมีอยู่ 3 คน คือ ผม คุณพิมล ศรีวิกรม์ และ คุณเปี๊ยก – ตรีดนัย สิกวานิช มักจะนัดรวมตัวกันขี่ฮาร์เลย์ตระเวนไปตามที่ต่างๆ ตอนนั้น ผมว่า ในเมืองไทยมีอย่างมากไม่เกิน 100 คัน”

ชญานินบอกว่า ตลาดฮาร์เลย์ในอดีตไม่ใช่เป็นตลาดของคนมีสตางค์ เพราะรถพวกนี้โบราณมาก เป็นรถที่เก็บสะสมกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ หรือรถสมัยสงครามโลกที่ยังใช้เกียร์มือ บางคันก็ตกทอดจากบรรพบุรุษ ที่สุดจึงคิดจัดตั้งเป็นชมรมขึ้น โดยใช้ชื่อ “อิมมอร์ทัล เอ็มซี” หมายถึงเป็นรถที่เป็นอมตะ

แต่ก็เป็นการรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แค่ 10 คน มีป้ายชมรมติดหลังเสื้อ ซึ่งออกแบบโดยสันธยา โพธิ์เกตุ กิจกรรมเป็นเพียงการนัดกันขับขี่ออกไปต่างจังหวัด จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มมาเป็น 30 คน และมีการประชุมอย่างเป็นจริงเป็นจังมาเมื่อไม่นานนี้เอง โดยมีประธานชมรมคนแรกชื่อ พิมล ศรีวิกรม์

ส่วนปัจจุบัน (พ.ศ. 2553-กองบก.ออนไลน์) มีสันธยา โพธิ์เกตุ เป็นประธาน สมาชิกทั้งหมดประมาณ 200 คน และยังมีชมรมฮาร์เลย์ย่อยๆ ในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกตามภูมิภาคราว 10-20 ชมรม อาทิ X-Bone, Commander City, Highway Oxide, North Comet เป็นต้น

สำหรับเรื่องราวของมอเตอร์ไซค์ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 วิลเลียม ฮาร์เลย์ เด็กชาย วัย 15 ปี ชาวอังกฤษที่ย้ายมาจากเมืองแมนเชสเตอร์เข้ามาทำงานในโรงงานผลิตรถจักรยานในเมืองมิลวอกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฮาร์เลย์เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในงานด้านช่างเครื่องกลและการเขียนแบบ จนกระทั่งเขาอายุได้ 21 ปี จึงเริ่มฝึกงานเป็นลูกมือช่างเขียนแบบในโรงงานเหล็กเป็นที่ที่อาร์เธอร์ เดวิดสัน เพื่อนนักเรียนที่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันได้ทำงานอยู่ที่แผนกช่างทำแพตเทิร์น ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งสองกลายเป็นเพื่อนรักกัน

ชายหนุ่มทั้งสองเป็นคนที่มีความรักในธรรมชาติและอะไรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกลเหมือนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาทุ่มเทกับการศึกษาบทความของยานพาหนะตั้งแต่จักรยานจนไปถึงรถยนต์

แต่สิ่งที่พวกเขาสนใจที่สุดคือ มอเตอร์ไซค์ จนกระทั่งฝันใฝ่ว่าจะผลิตมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ซึ่งความฝันนี้ไม่มีใครคิดว่าชายหนุ่มทั้งคู่จะทำได้สำเร็จ

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1901 วิลเลียม ฮาร์เลย์ เด็กหนุ่มอายุ 21 ปี ได้ทำภาพร่างต้นแบบของเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถจักรยานได้สำเร็จ และปี ค.ศ. 1903 ทั้งวิลเลียม ฮาร์เลย์ และอาร์เธอร์ เดวิดสัน ได้สร้างรถจากสายการผลิตคันแรกสำเร็จ โดยโรงงานที่ผลิตรถเป็นเพียงโรงไม้หลังเล็กๆ พ่นสีหน้าประตูว่า “Harley-Davidson Motor Company”

ต่อมาปี ค.ศ. 1904 ดีลเลอร์ รายแรกของฮาร์เลย์-เดวิดสัน คือ C.H. Lang แห่ง Chicago ได้เปิดตัวขึ้น และขายรถคันแรกในจำนวน 3 คัน ที่ได้ผลิตออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

จากนั้นฮาร์เลย์-เดวิดสันได้จดทะเบียนบริษัทขึ้นมา และเริ่มพัฒนาตั้งโรงงานใหม่ เพิ่มจำนวนลูกจ้าง กระทั่งปี ค.ศ. 1918 รถที่ผลิตขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งถูกขายให้กับกองทัพสหรัฐเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามยุติลงได้มีการประมาณไว้ว่ารถที่ใช้ในสงครามมีอยู่ราว 20,000 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถฮาร์เลย์-เดวิดสัน

ค.ศ. 1920 ฮาร์เลย์-เดวิดสัน จัดได้ว่าเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้จัดจำหน่ายกว่า 2,000 รายใน 67 ประเทศทั่วโลก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1931 บริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอเมริกันที่เป็นคู่แข่งของฮาร์เลย์-เดวิดสันได้ปิดตัวลงไปหมด ยกเว้นแต่เพียง Indian โดย Hendee Manufacturing ซึ่งยังคงเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์สัญชาติอเมริกันมาจนถึงปี ค.ศ. 1953 ทำให้ฮาร์เลย์เป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของสหรัฐอเมริกาเพียงยี่ห้อเดียวที่ยังคงจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง

ค.ศ. 1933 มีการตกแต่งลวดลายบนตัวถังด้วยลาย “นกอินทรี” บนถังน้ำมันของรถทุกคัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตกแต่งลวดลายบนถังน้ำมันของฮาร์เลย์-เดวิดสัน ซึ่งการเพิ่มลวดลายบนถังน้ำมันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นยอดขายอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงอีกด้วย

ค.ศ. 1934 กำเนิดอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากการให้ลิขสิทธิ์ในแบบพิมพ์เขียว เครื่องมือ แม่พิมพ์ และเครื่องจักรในการผลิตจากฮาร์เลย์ เดวิดสัน แก่ Sankyo Company of Japan ซึ่งก่อเกิดรถจักรยานยนต์ Rikuo

ต่อมา ค.ศ. 1938 กลุ่ม Jack Pine Gypsies Motorcycle Club ได้จัดงานพบปะและขี่รถในเขต Black Hill, Sturgis รัฐ South Dakota ขึ้นเป็นครั้งแรก และนี่คือจุดกำเนิดของงาน Sturgis งานพบปะของชาวสองล้อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกงานหนึ่งจนถึงทุกวันนี้

ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สายการผลิตรถสำหรับพลเรือนแทบจะหยุดนิ่ง โดยเปลี่ยนมาเป็นการผลิตรถให้กับกองทัพแทน และโรงเรียนสอนการซ่อมบำรุงได้เปลี่ยนกลับมาเป็นโรงเรียนสอนการซ่อมบำรุงให้กับช่างเครื่องของกองทัพ

ค.ศ. 1943 Harley-Davidson ได้รับรางวัลแรกใน 4 รางวัลจาก Amy-Navy “E” Awards ในเรื่องความเที่ยงตรงของระยะเวลาการส่งมอบรถในช่วงสงคราม และในต่างแดนได้มีการแนะนำตัวรถ Harley ที่จะนำมาใช้ในกิจการของกองทัพให้กับเหล่าทหารเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่เคย ลืมแม้จะได้กลับมายังบ้านเกิดแล้ว

จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮาร์เลย์-เดวิดสันจึงได้กลับมาผลิตรถสำหรับพลเรือนอีกครั้ง และมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2562