“ปู่กอล์ฟแห่งราชสำนัก” ขุนนางยอดนักกีฬาผู้บึกบึน ลือกันว่าร.7 ทรงชวนลงสนามเสมอ

พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี โชติกเสถียร) ภาพจาก "30 คนไทยที่ควรรู้จัก"

หากพูดถึงกีฬากอล์ฟในไทย ไม่ว่าใครย่อมต้องนึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดกีฬากอล์ฟมากเป็นพิเศษ และยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์กีฬากอล์ฟอีกด้วย ในเหล่าข้าราชการ และขุนนางก็มีผู้นิยมกอล์ฟตามไปเช่นกัน ซึ่งในหมู่ขุนนางที่ตีกอล์ฟนั้นก็มีบุคคลที่คนในวงการเรียกกันว่า “ปู่กอล์ฟแห่งสโมสรดุสิต” นั่นคือ พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี โชติกเสถียร)

ในช่วงพ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงกอล์ฟอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรงตีในสนามกอล์ฟภายในพระราชวังในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย แต่ก่อนหน้านั้น ว่ากันว่า พระองค์ทรงกีฬากอล์ฟเริ่มมาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ทรงเป็นพระบรมราชานีที่ทรงโปรดกีฬาเป็นอย่างยิ่ง มีบันทึกว่าพระองค์มักตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงกีฬาด้วย โดยเมื่อคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จไปทรงที่สนามกอล์ฟของราชกรีฑาสโมสรบ้าง แต่ละครั้งก็เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเริ่มโดยเสด็จทรงกอล์ฟไปด้วยตั้งแต่ยังมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา

ครั้นเวลาล่วงเลยมาถึงพ.ศ. 2470 สโมสรกอล์ฟดุสิตก็ถูกก่อตั้งขึ้น สมาชิกของสโมสรในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นมีจุดสนใจที่ขุนนางชั้นพระยาที่มีความช่ำชองในกีฬากอล์ฟเป็นอย่างมาก สมาชิกในสโมสรต่างเรียกกันว่า “ปู่กอล์ฟแห่งสโมสรดุสิต” ซึ่งจากการบอกเล่าของ “ไทยน้อย” (เสลา เรขะรุจิ) นักเขียนสายประวัติศาสตร์ บรรยายไว้ว่า เมื่อพระปกเกล้าฯ เสด็จมาที่สโมสร มักชวนชายชราผู้นี้ลงสนามร่วมประลองฝีมือด้วย

พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี เป็นอธิบดีกรมวังในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ด้วยบทบาทหน้าที่เมื่อครั้งรับราชการเป็นข้าหลวงใหญ่ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ซึ่งทำให้ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนจากปีนังและมลายูที่เข้าออกในไทยบ่อยครั้ง เป็นผลให้พระยาจรรยานุกูลมนตรีสนใจกีฬากลางแจ้ง ซึ่ง “ไทยน้อย” บรรยายว่า ท่านเล่นเทนนิสได้ถึงขึ้น “หาตัวจับยาก” ในไทย และยังขี่ม้าได้อย่างเชี่ยวชาญ

บรรยากาศการกีฬาในไทยช่วงสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นรูปร่างอย่างเช่นทุกวันนี้ (นอกเหนือจากการเล่นว่าว) กระทั่งเมื่อเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เสด็จกลับจากยุโรป และทรงเสนอให้ขุนนางทั้งหลายตั้งสโมสรกีฬาขึ้นกระทั่งกลายมาเป็น “กรีฑาสโมสร” ในคราวเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกรีฑาสโมสรเป็นครั้งแรก เหล่าขุนนางจึงลงคะแนนเลือกพระยาธรรมจรรยาฯ เป็นนายกสโมสรด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ส่วนอุปนายกของกรีฑาสโมสรก็มีเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ รับตำแหน่ง สโมสรยังมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภกเนื่องด้วยความสนิทสนมกับตัวนายกฯ

นอกจากนาม “ปู่กอล์ฟ” แล้ว บางทีสมาชิกก็มักเรียกขานพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี ว่า “คุณปู่กีฬา” เนื่องจากเห็นคุณปู่มาขลุกที่สโมสรเพื่อวางระเบียบ โครงการ และการตั้งแผนกีฬาใหม่ๆ หลังจากที่เลิกราชการประจำวัน

เมื่อท่านขึ้นชื่อเรื่องกีฬาเช่นนี้แล้วจึงเป็นเลื่องลือกันว่า พระยาธรรมจรรยาฯ ผู้เป็นยอดนักกีฬามีร่างกายล่ำสันสมบูรณ์ อันมาจากการฟิตกีฬาทุกประเภทอย่างจริงจัง หรือบางครั้งก็ทำอย่างเงียบๆ เมื่อตรงกับช่วงปลายสัปดาห์

หากสืบค้นต้นตระกูลของพระยาธรรมจรรยาฯ ท่านเป็นบุตรของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) เมื่อสิ้นรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาได้นำถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามธรรมเนียม ได้เป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช ทำหน้าที่ส่งเสบียงให้แก่กองทัพไทยสมัยเหตุการณ์ ร.ศ. 112 หลังจากนั้นก็ได้เป็นข้าหลวงใหญ่ดูแลฝ่ายใต้ ในช่วงพ.ศ. 2437 ยังเป็นหัวหน้าคณะทูตไปยุโรป และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเสมอใจราช

บุตรคนโตของพระยาธรรมจรรยาฯ คือพลโท พระศราภัยสฤษฎิการ เป็นสมุหราชองครักษ์ของรัชกาลที่ 8 บุตรคนโตของท่านเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุรถคว่ำขณะตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสตะวันออก


อ้างอิง:

ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ). 30 คนไทยที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : บำรุงบัณฑิต. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์

พระผู้เพิ่งจากไป. กรุงเทพฯ : มติชน, 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562