ตามเสด็จไปทรงผสมเกสร “รองเท้านารี” บนดอยขุนแม่สุริน

รองเท้านารี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงผสมเกสรรองเท้านารีพันธุ์อินทนนท์

บนยอดสูงและตามหุบห้วยของดอยขุนแม่สุริน ในตําบลแม่อุคอ อําเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้นกําเนิดของลําน้ำแม่สุริน ซึ่งจะไหลเรื่อยไปเป็นน้ำตกแม่สุริน น้ำตกที่อาจจัดได้ว่าสวยงามที่สุดของจัง หวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นสายธารหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านอีกหลายร้อยครอบครัว ที่อาศัยอยู่สองฝั่งลําน้ำนี้ ใครจะรู้บ้างว่า มันเป็นแหล่งกําเนิดของกล้วยไม้ รองเท้านารี พันธุ์อินทนนท์ ที่ยังพอจะมีหลงเหลือ กระจัดกระจายให้เห็นได้บ้างตามป่าแถบนี้ แม้ว่าจะน้อยเต็มที่ และคงจะน้อยลงๆ ทุกวันๆ

รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ป่า ที่มีความสวยงามหายาก มีแหล่งกําเนิดอยู่ในแถบภูมิภาคเอเชีย เกิดอยู่ ตามเทือกเขาสูงตั้งแต่แนวเทือกเขาหิมาลัยตอนล่าง ตามแนวประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ไทย เลยไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

รองเท้านารี กําลังเป็นที่ต้องการของตลาดกล้วยไม้ และไม้ดอกของโลกเป็นอย่างมาก ทําให้มีการ พยายามเสาะหาเอามันออกมาจากป่า เพื่อเป็นสินค้าส่งออกที่หายากและมีราคา ด้วยเหตุนี้เองที่ทําให้รองเท้านารีตามธรรมชาติร่อยหรอลงทุกวัน

รองเท้านารี หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนามของ Ladys Slipper มีชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์ว่า Paphiopedilum เป็นกล้วยไม้ที่ชอบอากาศที่ค่อนข้างจะหนาวเย็น เช่น ตามภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ ทั่วโลกค้นพบชนิดพันธุ์ต่าง ๆ แล้ว มากกว่า 55 ชนิด

ในเมืองไทยเราก็พบว่ามีรองเท้านารีชนิดต่าง ๆ เกือบ 20 ชนิด แล้วเช่นกันในเวลานี้

ชนิดที่เป็นที่นิยมกันมาก และจัดเป็นกล้วยไม้ส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น รองเท้านารีฝาหอย, รองเท้านารีคางกบ เป็นต้น

รองเท้านารีแต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ จะมีรูปร่างของกลีบ สีสัน แตกต่างกันไปบ้าง แต่ที่จะคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นรองเท้านารีพันธุ์ไหนก็คือ กลีบในกลีบล่างที่มักจะมีลักษณะเป็นอิสระ และชี้ลง สี และรูปร่างของกลีบนี้จะผิดไปจากกลีบอื่น ๆ ทั้งหมด มองเห็นเป็นรูปคล้ายกระเป๋า (labellum) หรือปาก (lip) มองเผิน ๆ แล้วจะมีลักษณะคล้ายหัวรองเท้าส้นสูงของสตรี เหตุนี้กระมังที่เป็นที่มาของชื่อ รองเท้านารี

รองเท้านารีพันธุ์อินทนนท์ พบได้ตามต้นไม้ใหญ่บนภูเขาที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร เช่นที่บริเวณดอยอินทนนท์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาสูงในเขตจังหวัดเลย และจังหวัดชัยภูมิ เช่น บริเวณภูหลวง ภูกระดึง และภูเรือ แต่ในที่เหล่านั้นเกือบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้วจากฝีมือมนุษย์

หุบดอยขุนแม่สุริน อําเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใกล้แนวเขตติดต่อกับอําเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งกําเนิดแหล่งสุดท้ายของรองเท้านารีอินทนนท์ที่ยังเหลืออยู่ แต่หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ และการเอาใจใส่ที่ดีพอ อีกไม่นานรองเท้านารีอินทนนท์ก็คงจะเหลือแต่ชื่อ รูปภาพ และความงามที่เล่าสู่ให้คนรุ่นหลังฟังเท่านั้น

ประมาณต้นปี พ.ศ. 2536 ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตําหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และเสด็จเยี่ยมราษฎรใน ภาคเหนือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดําริที่จะให้พยายามอนุรักษ์ และขณะเดียวกันก็หาทางขยายพันธุ์รองเท้านารีอินทนนท์เพื่อมิให้สูญพันธุ์ และยังสามารถเป็นการส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านตามหุบดอยแห่งนี้และอีกหลายแห่งในภาคเหนือ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้กองทัพภาคที่ 3 เป็นแกนนําในการดําเนินงานพิจารณาหาทางอนุรักษ์รองเท้านารีอินทนนท์นี้ไว้

และตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2536 กองทัพภาคที่ 3 จึงได้มอบหมายให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 เป็นหัวหน้าคณะในการดําเนินงานนี้ โดยทํางานร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเอกชนผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้

คณะทํางานได้แยกต้นรองเท้านารีอินทนนท์จากคาคบไม้ในป่าจํานวน 400 ต้น มาเพาะชําในเรือนเพาะชําชั่วคราว และทดลองผสมเกสรเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2537 ได้ฝักรองเท้านารีอินทนนท์จํานวน 200 ฝัก แบ่งฝักเหล่านั้นไปเพาะเลี้ยงที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 150 ฝัก ที่เหลือให้ภาคเอกชนรับไปทดลองเพาะเลี้ยง ในห้องทดลองธุรกิจภาคเอกชนที่กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าในที่สุดจะได้กล้ารองเท้านารีอินทนนท์ในชุดแรกนี้ประมาณสองแสนต้น และนํากลับมาเพาะปลูกขยายพันธุ์บนหุบดอยขุนแม่สุรินถิ่นกําเนิดเดิมต่อไป

บ่ายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ณ โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีตามพระราชดําริบนยอดดอยสูงกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศวันนั้น หนาวเย็น ท้องฟ้าจ้าแจ่มใส ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามยอดดอยใกล้เคียง และชาวบ้านสองฝังลําห้วยแม่สุริน แต่งตัวด้วยสีสดใสเป็นพิเศษ เพื่อรอรับเสด็จ “แม่หลวง”

กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์จํานวนหลายร้อยต้นดารดาษอยู่ในโรงเพาะชําบนยอดดอยขุนแม่สุริน โรงเพาะชําที่มีอากาศเย็นตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ แทบทุกต้นกําลังชูดอกออกช่อเบ่ง บานสะพรั่งดูสวยงามยิ่งนัก

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารและผู้ติดตามทอดพระเนตรผลงานของโครงการในพระราชดําริเพื่อการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี โดยมีผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 และนักวิชาการจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามเสด็จถวายรายงานอยู่ไม่ห่าง

หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงผสมเกสรดอกกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ด้วยพระองค์เองเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อเป็นการเริ่มต้นของการคืนรองเท้านารีอินทนนท์สู่ถิ่นกําเนิดเดิม

นับจากวันนี้เป็นต้นไป รองเท้านารีอินทนนท์จะบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอยและหุบดอยขุนแม่สุริน อีกครั้งหนึ่ง

นับจากนี้ไปชาวบ้านในละแวกลําห้วยแม่สุริน จะสามารถมีอาชีพเสริมจากการเลี้ยงกล้วยไม้ป่ารองเท้านารีอินทนนท์เพื่อการจําหน่าย ไม่ต้องทําลายป่าทําไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป เพราะรองเท้านารีอินทนนท์ เป็นกล้วยไม้ป่าที่มีราคาและเป็นที่ ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ