พระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทยต่อนักโทษประหารชีวิต แม้ต้องโทษกบฏก็ตาม

พระบรมรูป พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระแก้ว
พระบรมรูปพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานภายในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถือเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตเหนือประชาราษฎรทั้งปวง มีสิทธิ์เด็ดขาดเป็นพระราชอำนาจโดยชอบธรรมในสมัยนั้น หากแต่พระมหากษัตริย์ไทยดำรงด้วยคติธรรมแห่งพระศาสนาและสถิตด้วยพระเมตตาบารมี จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทำนุบำรุงประชาราษฎรทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นักโทษที่กระทำผิดต่อแผ่นดิน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องการประหารนักโทษให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาฟังว่า ในรัสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หากพระองค์จำต้องทรงเซ็นประหารชีวิตนักโทษ จะทรงตรวจคดีโดยละเอียดทุกครั้ง เพื่อจะหาทางแก้ไขช่วยให้รอดชีวิตใดได้บ้าง แต่ “มีคนเดียวที่ได้ทรงเซ็นไปอย่างไม่คิดช่วย เพราะความผิดนั้นคือฆ่าพ่อและแม่ของตัวเอง” 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ไม่โปรดเรื่องการประหารชีวิตเช่นกัน หม่อมเจ้าพูนพิศมัยบันทึกว่า “พระองค์เจ้าธานีฯ ราชเลขาฯ ทรงเล่าว่า ถ้าวันใดถวายคำพิพากษาประหารชีวิตให้ทรงเซ็นแล้ว เป็นได้มีเรื่องถูกกริ้วแรง ๆ เสมอ ๆ บางคราวก็ไม่ทรงเซ็นเสียหลาย ๆ วัน”

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ร้ายแรงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงไม่ถือโทษผู้กระทำผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต เหตุการณ์นั้นคือ “กบฏ ร.ศ. 130” ที่มีทหารกลุ่มหนึ่งหมายจะทำการปฏิวัติประเทศ แต่รัฐบาลทราบเรื่องเสียก่อนจนถูกจับกุมและแผนการจึงล้มเหลว บรรดาผู้เตรียมการปฏิวัติก็ถูกเอาตัวขึ้นศาล

เมื่อเป็นอันว่ามีความผิด บ้างก็ถูกตัดสินโทษถึงประหารชีวิตตามกฎหมาย บ้างก็จำคุกตลอดชีวิต บ้างก็จำคุกเท่านั้นเท่านี้ปี แต่เพราะพระราชหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระมงกุฎเกล้าฯ โปรดยกโทษประหารชีวิตเสียทั้งสิ้น (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, 2236)

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ทรงมีพระราชดำริเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ “…และยิ่งจะสั่งฆ่าคนที่ทรงคุ้นเคยมาด้วยแล้ว ท่านก็ยิ่งดื้อหนักขึ้นถึงไม่ยอมเซ็น” 

ต่อมามีการตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 7 รัฐบาลก็นำคำพิพากษาของศาลไปให้เซ็นประหารชีวิตนักโทษอีก เจ้าหน้าที่หยิบปากกาถวาย ทำทีเหมือนจะบังคับให้ทรงเซ็นแต่โดยดี แต่กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงไม่ยอมเซ็นและมีรับสั่งว่า “ก็นี่มันมือของฉัน ๆ ไม่เซ็นจะทำอะไร?” 

เจ้าหน้าที่ก็หมดปัญญาก็ทูลลากลับ สุดท้ายแล้วนักโทษก็เป็นอันติดคุกตลอดชีวิต “เพราะไม่มีคนเซ็นให้ตาย”


อ้างอิง :

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2536). เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2552). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562