สภาพ “ไม่มีระเบียบอันใด” ในราชการสายบูรณะก่อสร้างสมัยร. 5 ทุจริต-ประสานงานย่ำแย่

การก่อสร้างอัฒจันทร์บันได

ปัญหาในการทำงานของระบบราชการไม่เพียงปรากฏในหลักฐานอันเป็นบันทึกของทางการเท่านั้น ในสมัยนี้ก็อาจกลายเป็นภาพคุ้นเคยที่ปรากฏในความทรงจำของใครหลายคน เรื่องบันทึกปัญหาสภาพการทำงานในระบบกระทรวงสำคัญเมื่อร้อยกว่าปีก่อนสามารถแสดงให้เห็นสภาพการทำงานได้ในระดับหนึ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ มากมาย ช่วงเวลานั้นมีบุคลากรจากต่างชาติเข้ามาทำงานด้วยจำนวนหนึ่ง มีทั้งกลุ่มศิลปิน สถาปนิก หรือวิศวกร ในบรรดากลุ่มคนเหล่านี้ก็เข้ามาในช่วงที่ระบบการทำงานยังคงไม่เข้าที่ สภาพนี้รับรู้ได้จากหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระยาสุริยานุวัตร รักษาการเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

“…ในกรมโยธา ไม่มีระเบียบอันใดเลย เจ้าพนักงานฝรั่งทุกคนถือตัวว่า เปนแต่ผู้รับคำสั่งของเจ้ากรมให้เขียนคิดแปลนเท่านั้น เขียนขึ้นแล้วเปนหมดหน้าที่ ส่งไปยังเจ้าพนักงานไทยให้ไปก่อสร้างขึ้น แม้แต่จะทำผิดแบบในการก่อก็ดี การประสมปูนก็ดี การตัดไม้ก็ดี พวกอินยิเนียว่ากล่าว ก็หามีใครทำตามไม่”

พระยาสุริยานุวัตร ยังวิจารณ์กรมโยธาอีกหลายข้อ อาทิ การทุจริตหากำไรจากการซื้อวัสดุก่อสร้างของเจ้าพนักงานไทยในกรม ฝีมือสถาปนิกต่างชาติยังไม่น่าพอใจ ปราศจากการประสานงานกัน ไม่มีตรวจสอบงานขั้นสุดท้าย พระยาสุริยานุวัตร ยังทูลเกล้าเสนอขอพระราชวินิจฉัยปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงดังกล่าว และปรับหน้าที่ความรับผิดชอบให้เหมาะสม นำมาสู่การปรับปรุงระบบการทำงานในกระทรวงในเวลาต่อมา

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจพอสะท้อนได้คือ ในช่วง พ.ศ. 2442 นายอี. โจวันนิ กอลโล ชาวอิตาเลียน จากเมืองซิซาโน ซุล เนวา เข้าเป็นวิศวกรในกระทรวงโยธาธิการ ผลงานของนายกอลโล มีมากมาย แต่สิ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือเป็นวิศวกรผู้ช่วยนายตามาโญ่ สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และทำงานจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

เอกสารกระทรวงนครบาล เมื่อ พ.ศ. 2466 ระบุว่า นายกอลโล ได้รับเสนอชื่อรับเบี้ยบำนาญจากรัฐบาลไทยระหว่างช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2442 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 ขณะที่เขาอายุ 50 ปี จึงมีสิทธิรับเงินบำนาญ ตามพระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ ร.ศ. 120

นายกอลโล มีส่วนในการแก้ปัญหาพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่ทรุดตัวระหว่างก่อสร้าง ในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2452 การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นมีการวางแผนอย่างดี ทำฐานด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในยุคนั้นอย่างการตอกเสาเข็มคอนกรีตลงในดินลึก “6 ศอกถึง 3 วา” ตามแบบของบริษัทกอมแบร็คโซล (Compressol) อันเป็นกลุ่มที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่นิยมในสมัยนั้น

หนึ่งฤดี โลหผล ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับผลงานของนายกอลโล บรรยายว่า หลังทำผนังเสร็จแล้ว ขณะเริ่มทำหลังคาพระที่นั่ง ปรากฏว่า ฐานพระที่นั่งทรุดลงไป 60 เซนติเมตร เนื่องจากรับน้ำหนักไม่ไหว และดินบริเวณนั้นก็เป็นดินอ่อน มีน้ำท่วมขัง พระที่นั่งเสี่ยงได้รับความเสียหาย

นายกอลโล เสนอให้สร้างฐานใหม่เพื่อให้รับน้ำหนักพระที่นั่งได้ และเลี่ยงปัญหาการทรุดตัว เสนอให้สร้างห้องใต้พระที่นั่ง อันเป็นที่ว่างซึ่งจะช่วยให้ผ่อนน้ำหนักและยังช่วยลดปัญหาความชื้น โดยให้มีผนังรับน้ำหนักของตัวอาคารทุกด้านก่อน ประกอบกับเสนอให้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กทรงคล้ายถ้วยคว่ำสำหรับรับน้ำหนักพระที่นั่ง ซึ่งความสำเร็จจากการทำงานอย่างเต็มที่ทำให้การก่อสร้างและการตกแต่งดำเนินต่ออย่างราบรื่น สืบเนื่องมาจากการลดน้ำหนักพระที่นั่งได้หลายพันตัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนึ่งฤดี โลหผล. “วิศวกร อี. โจวันนี กอลโล กับผลงานที่ได้อุทิศแด่วงการศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตกในสยาม”. เอกสารเรื่อง พันเอก ยี. อี. เยรินี และวิศวกร กอลโล : ข้าราชการไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร, เมืองชิซาโน ซุล เนวา ประเทศอิตาลี, สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย, 2543

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. รัชกาลที่ 5 กับการปฏิรูปเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : กู๊ดมอร์นิ่ง, 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2562