วิบากกรรมการเงินเจ้าลำปาง เจ้าหนี้ถึงกับยึดเครื่องประดับพระยศงานศพเจ้าหลวงไปขัดดอก!

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงนครลำปาง

เมื่อสยามได้เริ่มเข้ามาปกครองล้านนาอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นจึงส่งผลกระทบถึงเจ้านายล้านนาโดยตรง ที่แต่เดิมมีอิสระในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง แต่ภายหลังถูกลดถอนอำนาจลงเรื่อย ๆ ถูกจำกัดสิทธิทางการปกครองและเศรษฐกิจ และเมื่อไม่สามารถปรับตัวได้จึงต้องเผชิญสภาวะการเงินแทบล้มละลาย

ในด้านการปกครอง สยามยังคงตำแหน่งเจ้าหลวงและตำแหน่งผู้ปกครองท้องถิ่นอยู่ แต่เจ้านายล้านนาไม่ได้มีอำนาจในการปกครองเท่าใดนัก เพราะรัฐบาลสยามได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองในล้านนาจนลดอำนาจและบทบาทของเจ้านายล้านนาไปมาก ส่วนด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลสยามก็ดำเนินการปฏิรูปการเงิน มิให้เจ้านายล้านนามีส่วนเกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีและสัมปทานป่าไม้ แต่รัฐบาลสยามก็พยายามประนีประนอมโดยการจ่ายเงินเดือนประจำตำแหน่ง และให้กรรมสิทธิ์ป่าไม้แก่เจ้านายล้านนาอยู่

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงนครลำปาง เป็นผู้หนึ่งที่ได้เงินเดือนประจำตำแหน่งจากรัฐบาลสยาม โดยในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เดือนละ 15,000 บาท และได้รับรายได้อีกทางหนึ่งจากกรรมสิทธิ์ทำสัมปทานป่าไม้ เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้รับกรรมสิทธิ์ทำป่าไม้ที่แม่ต้าและเมืองลอง โดยได้ทำการกู้ยืมเงินจากบริษัทบอมเบย์เบอร์มา บริษัทแองโกลสยาม หลวงโยนการพิจิตร และคนอื่น ๆ ราว 1,000,000 บาท แต่ดูเหมือนว่าการค้าไม้ครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะภายหลังที่เจ้าบุญวาทย์ฯ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2465 ก็มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดกถึง 1 เท่าตัว

เจ้าหนี้ของเจ้าหลวงนครลำปางได้ยึดเครื่องประดับยศหน้าพระศพและเครื่องไทยธรรมยึดไปขัดดอกเบี้ย รวมถึงยึดคุ้มหลวงนครลำปางหมายจะนำไปประมูลขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้เช่นกัน ขณะเดียวกันพระศพเจ้าบุญวาทย์ก็ยังตั้งอยู่ในคุ้มหลวงด้วย ขณะที่เจ้าศรีนวล พระธิดาเจ้าบุญวาทย์ฯ กับพระสวามีคือเจ้าราชบุตร (บุตรเขยเจ้าบุญวาทย์ฯ) เป็นผู้รับผิดชอบมรดกแต่ไม่สามารถจัดการเรื่องหนี้สินได้ เจ้าราชบุตรได้พยายามขอยืมเงินรัฐบาลไปประมูลซื้อคุ้มหลวงคืน และยังร้องขอให้รัฐบาลสยามรับซื้อคุ้มหลวงเอง

เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาเสนาบดีโดยมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป ส่วนหนึ่งต้องการให้ขาย แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเห็นว่ารัฐบาลควรซื้อคุ้มหลวงนครลำปางไว้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเจ้านายนครลำปาง โดยกรมพระยาดำรงฯ มีดำริว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นของรัฐบาลมิใช่สมบัติส่วนตัว และมีความสำคัญเนื่องด้วยเป็นที่ประทับของเจ้าหลวงนครลำปางมาตลอดหลายสมัย และทรงกังวลว่า “…ศพเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตยังอยู่ที่คุ้มเจ้าหลวงนั้น ถ้าต้องรื้อย้ายไปที่อื่นน่าจะลุกลามกระทบกระเทือนความรู้สึกของพวกเจ้าลาว ซึ่งถ้าใครได้ขึ้นไปที่ลำปางจะทราบเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี ซึ่งไม่มีเยี่ยงอย่างที่จะยกรื้อศพเจ้าประเทศราชจากคุ้มไปไว้ที่อื่น…”

กระทั่งมีรับสั่งให้พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ รักษาราชการแทนสมุหเทศาภิบาลพายัพ ทำเรื่องขัดข้องทรัพย์ต่อศาลมิให้ขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเป็นของรัฐบาล

แต่การจัดงานพระศพเจ้าบุญวาทย์ฯ ก็ยังไม่เรียบร้อย เพราะยังขาดเงินจัดการพระศพ กระทั่งล่วงเลยมาถึงคราวที่รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นเวลากว่า 4 ปีนับแต่เจ้าหลวงนครลำปางถึงแก่พิราลัย รัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งให้เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 เป็นประธานกรรมการปลงพระศพเจ้าบุญวาทย์ฯ พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วยเหลืออีก 2,000 บาท กรมพระยาดำรงฯ ทรงช่วยหาเงินจากบริษัทป่าไม้ รวมกับเงินบริจาคจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่ง จึงจัดการงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตได้

ภายหลัง รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่า ไม่ให้รัฐบาลสยามออกเงินช่วยค่าทำพระศพของเจ้าประเทศราชอีกต่อไป

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ทรงนุ่งซิ่นเมื่อประทับอยู่ในพระราชฐานฝ่ายใน

อย่างไรก็ตาม กรรมสิทธิ์ป่าไม้ที่แม่ต้าและเมืองลองตกทอดจากเจ้าบุญวาทย์ฯ มาเป็นของเจ้าราชบุตรและได้ขอขยายสัญญาออกไปอีก 15 ปี แต่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าเจ้าราชบุตรคงจะยกให้บริษัทตะวันตกทำต่ออีกทอดหนึ่ง ขณะที่เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเห็นต่างออกไปว่า รัฐบาลสยามควรช่วยเหลือเจ้าราชบุตรให้ทำป่าไม้ต่อไปเพื่อรักษาตระกูล ณ ลำปาง อีกทั้งทางรัฐบาลสยามก็หมายตั้งเจ้าราชบุตรเป็นเจ้าหลวงนครลำปางต่อจากเจ้าบุญวาทย์ฯ จึงต้องช่วยเหลือเพื่อไม่ให้สายสกุล ณ ลำปางล้มละลาย รัชกาลที่ 6 จึงทรงให้กรรมสิทธิ์ป่าไม้แก่เจ้าราชบุตร

ต่อมา เจ้าราชบุตรได้ขอพระบรมราชานุญาตเพิ่มชื่อนายวงศ์เกษม ณ ลำปาง บุตรชายคนโตอายุ 21 ปีให้มีส่วนร่วมในกรรมสิทธิ์ป่าผืนนี้ด้วย เนื่องจากเจ้าราชบุตรป่วยและเกรงว่ากรรมสิทธิ์ป่าผืนนี้จะตกไปอยู่ในมือผู้อื่นที่มิใช่สายสกุล ณ ลำปาง ซึ่งรัชกาลที่ 6 ก็ทรงอนุญาตตามที่ร้องขอ

ภายหลังเจ้าราชบุตรถึงแก่พิราลัย นายวงศ์เกษมได้ยื่นหนังสือถึงกรมป่าไม้ว่าจะยกกรรมสิทธิ์ป่าไม้ให้บริษัทแองโกลสยาม แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเจ้าหนี้ร้องขัดทรัพย์ รัฐบาลสยามได้ยึดผืนป่าคืนเพื่อตัดปัญหาทั้งหมด เนื่องจากรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นด้วยกับเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและกรมพระยาดำรงฯ ว่านายวงศ์เกษมมีอายุน้อยเกินไปที่จะจัดการเรื่องกิจการป่าไม้ได้ และเห็นควรอุ้มชูสายสกุล ณ ลำปางไม่ให้สิ้นเนื้อประดาตัว

รัชกาลที่ 7 มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับนายวงศ์เกษมเข้าทำงานในกระทรวงเกษตราธิการ และทรงรับอุปการะเจ้าบุญส่ง บุตรคนเล็กของเจ้าบุญวาทย์ฯ มาเลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวังเพื่อฝึกหัดอ่านหนังสือก่อนจะส่งไปเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพฯ อีกทั้งยังทรงมอบหมายให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินรับหน้าที่ดูแลเจ้าบุญสารเสวตร์ บุตรชายคนโตของเจ้าบุญวาทย์ฯ ที่พึ่งกลับมาจากประเทศอังกฤษ เนื่องจากไม่มีเงินศึกษาต่อ โดยให้นำไปฝึกหัดราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

เจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) บุตรเขยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงนครลำปาง (ภาพจาก wikipedia)

ดังจะเห็นได้ว่า เจ้านายสายสกุล ณ ลำปาง ไม่สามารถปรับตัวได้ เมื่อสูญเสียอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจ ภายหลังจากรัฐบาลสยามรวบอำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เจ้านายล้านนาองค์อื่นก็ปรากฏว่ามีการทำสัมปทานป่าไม้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนได้รับผลลบมากกว่า กรมพระยาดำรงฯ ทรงสรุปสถานภาพของบรรดาเจ้านายล้านนาหลังจากสยามเข้าควบคุมการปกครองไว้ว่า

“…ครั้นจำเนียรกาลนานมาให้ราษฎรมีอิสระแก่ตัวไม่จำเปนต้องพึ่งพาผู้อื่น พวกสมพลบ่าวไพร่ของเจ้านายก็น้อยลงทุกที ยังการป่าไม้เมื่อจัดรวมเปนของหลวง และให้เปนตัวเงินทดแทนผลประโยชน์ที่ขาดแก่เจ้านาย ก็ได้เพียงเจ้านายที่ขาดผลประโยชน์ พวกเจ้านายที่เกิดภายหลังได้รับมรดกแต่ความนิยมการใช้สอยฟุ่มเฟือยต่าง ๆ แต่ไม่มีกำลังและทุนทรัพย์ เมื่อเกิดร้อนเงินก็ได้แต่เที่ยววิ่งหาสินบล หรือวิงวอนต่อรัฐบาล

…พวกเจ้านายในชั้นนี้ที่ทิ้งความฟุ่มเฟือยไม่ได้ และที่ไม่แสวงหาการงานทำเปนอาชีพ ก็ตกเปนลูกหนี้ผู้อื่นไปตามกัน บางทีถึงต้องเอาทรัพย์สมบัติสำหรับตระกูลออกจำหน่ายขายเปนตัวเงินหมดไปทุกที เปนเช่นนี้แทบทุกเมืองในมณฑลพายัพ…”

 


อ้างอิง :

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2559). เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2562