เตียวหุย นายทหารเจ้าโทโส โมโหร้าย ที่นำภัยมาถึงตัว

ลิโป้ รบกับกวนอู, เล่าปี่ และเตียวหุย

บทบรรยายแรกที่เปิดตัว “เตียวหุย” ในสามก๊กว่า “ชายสูงประมาณ 5 ศอก ศีรษะเหมือนเสือ จักษุกลมใหญ่ คางพองโต เสียงดังฟ้าร้อง กิริยาดังม้าควบ” เป็นภาพลักษณ์ที่สร้างความแปลกใจแก่เล่าปี่จนต้องเอ่ยถามชื่อแซ่ และจบลงด้วยการเป็นพี่น้องร่วมสาบาน

เตียวหุยก็ใช้ทวนยาว 10 ศอก น้ำหนัก 80 ชั่ง เป็นอาวุธติดตัว เป็นนักรบฝีมือดี และไม่กลัวใครในสามก๊กมีบันทึกฝีมือการรบ ผลงานความสามารถของเตียวหุยอยู่หลายครั้ง

หากนั้นไม่ใช่ “สิ่งที่โลกจำ” เมื่อพูดถึงเตียวหุย

เตียวหุยมี “ข้อเสีย” ที่โดดเด่น ชัดเจน ที่สร้างความ “หายนะ” แก่พวกร้องพ้องและตนเองจนถึงชีวิต ข้อเสียของเตียวหุยคือเป็นคน “เจ้าโทโส, โมโหร้าย, ขี้เหล้า และชอบลงโทษลูกน้องรุนแรง”

ข้อเสียของเตียวหุยนำความเสียหายเดือดร้อนมาให้หมู่คณะหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด คือทำให้พี่น้องร่วมสาบานอย่างเล่าปี่ต้องเสียเมือง “ชีจิ๋ว”

ในครั้งนั้น พระเจ้าเหี้ยนเต้ ได้มีหนังสือรับสั่งให้เล่าปี่เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋วยกไปตีเมืองอ้วนสุด เมื่อเล่าปี่หารือกับบรรดาที่ปรึกษา และกวนอู, เตียวหุย ก็เห็นตรงกันว่ารับสั่งนี้ อาจเป็นอุบายของโจโฉ หากเมื่อเป็นรับสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม จึงเตรียมการรับมือไว้ โดยจัดแจงทหารซึ่งมีสติปัญญาไว้อยู่รักษาเมือง เล่าปี่ก็เห็นชอบด้วย กวนอูจึงขออยู่รักษาเมืองแต่เล่าปี่ปฏิเสธเนื่องจากจเอากวนอูเป็นที่ปรึกษาในการทัพ อยู่รักษาเมืองไม่ได้ เตียวหุยจึงอาสาอยู่รักษาเมือง

เล่าปี่ก็ว่า ตัวเจ้ามักเสพย์สุรา แล้วโบยตีทหาร ประการหนึ่งก็เป็นคนใจร้ายมิได้ฟังผู้ใดห้ามปราม จะไว้ใจให้อยู่รักษาเมืองนั้นมิได้ เตียวหุยจึงว่า แต่วันนี้ไปข้าพเจ้าไม่เสพย์สุราเลย ถ้าทำสิ่งใดก็จะปรึกษาหารือผู้มีสติปัญญาก่อนจึงจะทำ แม้นมีผู้ใดห้ามปรามจะฟังคำ

บิต้ก (ที่ปรึกษาและพี่ภรรยาของเล่าปี่) ท้วงว่า กลัวเตียวหุยจะทำไม่ได้อย่างที่พูด เตียวหุยก็โกรธว่าตนเองมีความภักดีกับเล่าปี่ เล่าปี่เองก็ไม่วางใจ สุดท้ายจึงกำหนดให้ตันเต๋งเป็นที่ปรึกษา โดยเตียวหุยซึ่งอยู่รักษาเมืองชีจิ๋ว มอบให้ตันเต๋งว่าราชการฝ่ายพลเรือน ส่วนตนเองว่าราชการข้างเหล่าทหาร

อยู่มาวันหนึ่งเตียวหุยให้แต่งโต๊ะเชิญขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวงมาพร้อมกัน เตียวหุยว่า เมื่อเล่าปี่จะยกกองทัพไปนั้น ได้กำชับเราว่าอย่าให้เสพย์สุรานัก วันนี้เราสบายใจจึงให้แต่งโต๊ะเชิญท่านทั้งปวงมากินโต๊ะเสพย์สุราเล่น แต่วันเดียวนี้ให้สนุก สืบไปท่านทั้งปวงและเราอย่าได้กินเลยเป็นอันขาด จะตั้งหน้าว่าราชการรักษาเมืองไว้ให้เป็นปรกติกว่าเล่าปี่จะยกกลับมา แล้วเตียวหุยก็รินสุราคำนับให้ขุนนางทั้งปวงกิน

แต่จงป้ามิได้รับจอกสุรา จึงว่าแก่เตียวหุยว่า ข้าพเจ้าได้สาบานไว้ต่อเทพยดาว่ามิได้กินเลย

เตียวหุยจึงว่าตัวเป็นทหารเหตุใดจึงว่าไม่เสพย์สุรา เราจะให้กินสักจอกหนึ่ง ถ้ามิกินเราไม่ฟัง จงป้าคิดกลัวเตียวหุยจึง คำนับรับจอกสุรามากินเข้าไป เตียวหุยจึงในสุรากินเข้าไปประมาณยี่สิบจอกใหญ่ เตียวหุยเมาแล้วจึงในสุราให้ขุนนางทั้งปวงกินอีก

แต่จงป้านั้นว่าข้าพเจ้ากินไม่ได้ เตียวหุยจึงหัวเราะแล้วว่า เมื่อนั้นตัวว่ากินไม่ได้ ก็เห็นว่าตัวแกล้งบิดพลิ้วลวงเราๆ ไม่ฟัง จะให้ตัวกินอีกจงได้ จงป้าก็มิได้กิน เตียวหุยโกรธจึงว่า ตัวเป็นผู้น้อยกว่าเราบังอาจขัดไม่เสพย์สุราด้วยเรานั้น ก็เห็นว่าตัวมิได้เกรงเรา แล้วก็ตั้งให้คนใช้เอาตัวจงป้าไปตีร้อยหนึ่ง

ตันเต๋งเห็นเตียวหุยจะทำวุ่นวาย จึงว่าเมื่อเล่าปี่จะยกกองทัพไปนั้น ได้สั่งไว้แก่ท่านประการใดบ้าง เตียวหุยจึงตอบว่าเราได้แบ่งให้ท่านว่าราชการข้างพลเรือน ตัวเราบังคับบัญชาฝ่ายทหาร และจงป้านี้เป็นทหาร ท่านอย่าได้มาล่วงว่าเลย ฝ่ายคนใช้จะคร่าเอาตัวจงป้าไปตี

จงป้าจึงอ้อนวอนเดียวหุยว่า ข้าพเจ้าขอโทษเสียครั้งหนึ่งเถิด ถึงแม้ไม่เห็นแก่ข้าพเจ้าจงเห็นแก่หน้าบุตรเขยข้าพเจ้าบ้าง เตียวหุยจึงถามว่าผู้ใดเป็นบุตรเขยของตัว จงป้าจึงบอกว่าลิโป้

เตียวหุยได้ยินดังนั้นก็ยิ่งโกรธ [เพราะเตียวหุยไม่ชอบลิโป้อยู่เดิม] จึงว่า เราทำทั้งนี้หวังจะหยอกเล่น ตัวเอาชื่ออ้ายลิโบ้มาข่มจะให้เราเกรง เราหาเกรงมันไม่ เราจะให้ตีในบัดนี้จริงๆ ให้กระทบถึงอ้ายลิโป้ผู้เป็นบุตรเขย ซึ่งตัวนับถือว่าดี ก็สั่งให้คนใช้เร่งเอาตัวจงป้าลงไปที่ได้ประมาณห้าสิบที ขุนนางทั้งปวงก็ชวนกันเข้าขอเตียวหุยก็ให้งดไว้

จงป้าก็กลับมาบ้าน คิดแค้นเดียวหุยเป็นอันมาก จึงแต่งหนังสือให้คนใช้ถือไปให้ลิโป้ ณ เมืองเสียวพ่ายเป็นใจความว่า บัดนี้เล่าปียกกองทัพไปตีเมืองลำหยง เตียวหุยเสพย์สุราเมาให้ตีเรา แล้วว่ากล่าวหยาบช้ากระทบมาถึงลิโป้ด้วย ขอให้คุมทหารยกมาตีเมืองชีจิ๋วในเวลากลางคืนวันนี้เห็นจะได้โดยง่ายด้วย เตียวหุยกำลังเมาสุราอยู่

เมืองชีจิ๋วที่เล่าปี่ฝากให้เตียวหุยรักษาก็ตกเป็นของลิโป้ในคืนนั้น

นอกจากนี้เมื่อกวนอูถูกซุนกวนฆ่าตาย เตียวหุยก็เดือดโมโหแทนพี่น้องร่าวมสาบานที่เสียชีวิตไป เมา โมโห และโบยตีลูกน้อง แล้วเตียวหุยก็ต้องเสียชีวิตขณะยกทัพไปหมายจะล้างแค้นให้กวนอู เพราะถูกลอบฆ่าตัดหัวโดยฮอมเกียงและเตียวตัด ผู้เป็นลูกน้องตนเอง


ข้อมูลจาก

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1-21 สภาการค้า หอการค้าไทย สมคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาจุลินทร์ ล่ำซำ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริทราวาส วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2509

หลี่อันสื่อ (เขียน) นวรัตน์ ภักดีคำ, จันทรัตน์ สิงห์โตงาม (แปล). วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2560


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรก 26 กรกฎาคม 2562