“เรือรบสำคัญกว่าชีวิตคนเชียวรึ” รู้จัก มิส คอลฟิลด์ ผู้บุกเบิกการศึกษาคนตาบอดในไทย

(ซ้าย) มิส เจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้บุกเบิกโรงเรียนสอนคนตาบอดในไทย (ขวา) งานแต่งงานของอาจารย์ ออรอรา ศรีบัวพันธุ์ พ.ศ. 2510

ก่อนปี 2482 สังคมไทยไม่เคยเห็นคนตาบอดปรากฏกายบนท้องถนน บนรถโดยสารและตามสถานที่ต่างๆ เช่นปัจจุบันนี้ สมัยโน้นคนตาบอดส่วนใหญ่มักถูกเก็บไว้ในบ้าน เพราะผู้ปกครองอับอายที่มีบุตรหลานตาบอด คิดว่าเป็นเวรเป็นกรรม ทั้งของตัวเด็กเอง และของผู้ปกครอง

มีน้อยรายที่บอดแต่ตา แต่อาการอื่นๆ ยังครบบริบูรณ์เยี่ยงคนปกติ เขาไม่ยอมถูกกัก ออกซุกซนเที่ยวเล่นตามประสาแล้วก็ยังมีคนอีกพวกหนึ่งนั่งอยู่กับที่ตามท้องตลาด ตามงานหรือตามสถานที่มีงานฉลองประจำปี โดยมีภาชนะวางอยู่ข้างหน้า เมื่อคนผ่านไปมาเห็นเข้า ก็เกิดเมตตาสงสารโยนเศษสตางค์ดังแกร้ง ผู้ปกครองคนตาบอดเหล่านั้นก็พลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

แต่สภาพดังกล่าวนี้ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะได้มีสุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกัน ซึ่งยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ความก้าวหน้าในการงาน และบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เข้ามาในประเทศไทย มาปลุกปั้นคนตาบอดที่มีสภาพเพียงครึ่งคน ให้กลายเป็นคนเต็มคน มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวและประเทศชาติ

มิส เจนีวีฟ คอลฟิลด์

ท่านผู้นี้ คือ มิส เจนีวีฟ คอลฟิลด์ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2431 ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา และได้ถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2515 เป็นผู้ให้กําเนิดการศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย เพราะท่านตระหนักว่า คนตาบอดไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ก็เป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาเพื่อที่จะดํารงชีวิตอย่างเป็นสุขตามอัตภาพเยี่ยงพลเมืองทั้งหลาย

และเมื่อ มิส คอลฟิลด์ ได้ทราบจากคนไทยเมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นด้วยกันว่าในประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสําหรับคนตาบอดเลย ท่านจึงได้เดินทางเข้ามาเพื่อขออนุญาตรัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนขึ้น รัฐบาลสมัยนั้นไม่ขัดข้อง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุน

มิส คอลฟิลด์ ต้องเผชิญอุปสรรคนานับประการกว่าจะตั้งโรงเรียนได้สําเร็จ

บ้างก็ว่า “คนตาบอดฝรั่งน่ะ สอนได้ แต่คนตาบอดไทยจะสอนได้หรือเพราะมีสภาพไม่ผิดกับโต๊ะหรือเก้าอี้”

บ้างก็ว่า “แหม่มคนนี้หมดทางหากินในประเทศของตัวแล้ว จึงต้องซมซานมาหากินเอาที่นี่”

ซ้ำร้ายกว่านั้น บางรายคิดว่า มิส คอลฟิลด์ เป็นแนวที่ 5 รับจ้างรัฐบาลอเมริกันเข้ามาสืบราชการลับ เพราะเขาเห็นท่านแสดงวิธีอ่านเขียนของคนตาบอด คืออักษรเบรลล์ เป็นจุดนูนใช้ปลายนิ้วสัมผัส

มีคนไทยหลายท่านซึ่งเคยพบ และรู้จักกับมิส คอลฟิลด์ ครั้งที่ท่านเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศญี่ปุ่น ช่วยเหลือให้ความสนับสนุนในการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้น นอกจากด้วยจิตศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการให้การศึกษาแก่คนตาบอด โดยเฉพาะนายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว ได้ทุ่มเทกําลังกาย กําลังใจ และเวลา ช่วยเหลือ มิส คอลฟิลด์ อย่างแข็งขัน

คุณหมอฝน เกิดความประทับใจเมื่อครั้งพา มิส คอลฟิลด์ เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นเพื่อขอความช่วยเหลือในด้านงบประมาณสําหรับจัดตั้งโรงเรียน

ท่านรัฐมนตรีบอกว่า ยังไม่มีความจําเป็นเลย รัฐบาลกําลังมีความจําเป็นจะต้องใช้เงินซื้อเรือรบ เพื่อเพิ่มพลังของกองทัพเพราะสงครามใกล้จะระเบิด

คุณหมอฝน เองก็คล้อยตามความคิดเห็นของท่านรัฐมนตรีผู้นั้น แต่แล้วท่านต้องรีบเปลี่ยนความคิดและเกิดความกระตือรือร้นที่จะช่วย มิส คอลฟิลด์ ให้ถึงที่สุด เมื่อเห็นน้ำตาของหญิงชาวต่างชาติ ตาพิการก็จริง แต่ดวงใจสว่างไสวสะอาด ปราศจากความเห็นแก่ตัว ตัดพ้อทั้งน้ำตาขณะเมื่ออยู่กันตามลําพัง

“นี่เขาเห็นเรือรบสำคัญกว่าชีวิตคนเชียวรึ คนตาบอดที่นี่ไม่ใช่คนและไม่ใช่พลเมืองของประเทศหรืออย่างไร”

คนไทยอีกท่านหนึ่ง ที่จะเว้นกล่าวถึงมิได้ ท่านผู้นี้คือ คุณจิตร วัฒนเกษม ซึ่งคุ้นเคยกับมิส คอลฟิลด์ สมัยเมื่ออยู่ญี่ปุ่นด้วยกัน ได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างในการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนตาบอดขึ้นในกรุงเทพฯ และท่านผู้นี้เอง เป็นผู้ช่วยมิส คอลฟิลด์ ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยโดยอาศัยวิธีการของ หลุยส์ เบรลล์

แล้วคุณจิตรก็จัดแจงลอกตำรา “แบบเรียนไว” ลงเป็นเบรลล์ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือสำหรับคนตาบอดที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นตำราเรียนของคนตาบอดในประเทศไทย

นอกจากนั้น คุณจิตร ยังได้ชักชวน ม.ร.ว.หญิง พินธุเลขา จักรพันธุ์ ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษา ม.8 จากโรงเรียนราชินีใหม่ๆ มาเป็นครูอาสาสมัครคนแรกของโรงเรียนสอนคนตาบอด

คุณหญิงสามารถอ่านเขียนเบรลล์ได้อย่างคล่องแคล่วก่อนที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ศิษย์ที่มืดมิดทั้งนัยน์ตาและชีวิต แต่วันหนึ่งข้างหน้า แม้นัยน์ตายังคงมืดมิด แต่ชีวิตนั้นจะแจ่มใส

ในที่สุดโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทยก็ได้เปิดทำการสอน ณ บ้านเช่าในซอยค็อคเช่ ถนนศาลาแดง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2482

และเพื่อให้โรงเรียนมีกำลังทรัพย์ที่จะดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี คณะผู้ร่วมงานจึงขอจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ศกเดียวกัน (ปัจจุบัน (หมายถึงเมื่อ พ.ศ. 2525) เป็น “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์”)

โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทย

โรงเรียนสอนคนตาบอดเจริญได้ด้วยความเมตตาและศรัทธาของประชาชนไทยและเทศ สังคมไทยค่อยๆ เข้าใจและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการให้การศึกษาแก่คนตาบอด เมื่อให้โอกาสแก่เขาแล้วเขาย่อมเรียนได้ นอกจากจะเรียนวิชาสามัญทั่วไป รวมทั้งภาษาต่างประเทศแล้ว เขายังได้เรียนการฝีมือ ขับร้องและดนตรีตลอดทั้งการบ้าน การครัว

ยิ่งกว่านั้น มิส คอลฟิลด์ และคณะครูยังเน้นหนักในด้านอบรม สั่งสอนให้เขารู้จักช่วยตัวเอง และผู้อื่น รู้จักการใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ให้ได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเข้าสังคมได้อย่างงดงาม ไม่เคอะเขิน

เราได้ไปแสดงกิจกรรมต่างๆ และแสดงละครตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงและนำรายได้มาสู่โรงเรียน ให้สังคมเห็นความสามารถและเข้าใจในคนตาบอดยิ่งขึ้น เช่นที่ โรงเรียนมาแตร์ เดอี โรงเรียนราชินี โรงเรียนเขมศิริอนุสรณ์ โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง โรงละคร กรมศิลปากร และตามสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุป.ณ. สถานีวิทยุอ.ส. โทรทัศน์ช่อง 4 และช่อง 7 เดิม และงานประจำปีของวัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 นักเรียนตาบอดได้มีโอกาสเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง และได้แสดงละครต่อหน้าพระที่นั่งในรัชกาลที่ 8 และพระบรมวงศานุวงศ์ หลังจากการแสดงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เราได้เข้าเฝ้าและทรงปฏิสันถารกับเราทีละคน พวกเราปลื้มปิติเป็นล้นพ้น

แต่แล้วความโศรกเศร้าอย่างไม่มีอะไรจะเปรียบปานได้เกิดขึ้น พวกเราทุกคนร้องไห้โฮอย่างไม่อายใคร เมื่อได้ยินแถลงการณ์จากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยว่า ในหลวง สุดที่รักของเราได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว พระสุรเสียงอันอ่อนหวานขณะรับสั่งเมื่อวันก่อนยังก้องอยู่ในโสตประสาทของเราทุกคน

ระหว่างปี 2489-90 ธนาคารออมสินได้เชิญพวกเราไปหมุนวงล้อสลากออมสินในวันออกสลากทุกเดือน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสินถนนราชดำเนินสมัยนั้นเชื่อฝีมือของพวกเรามาก ท่านว่าการหมุนวงล้อของคนตาบอดบริสุทธิ์ เที่ยงตรง

สําหรับพวกเรานับว่าวันนั้นเป็นวันที่สนุกที่สุดของเรา นอกจากจะได้หยุดเรียน 1 วันแล้ว ยังได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหนําทั้ง เป็นที่สนใจของมหาชนมากหน้าหลายตา

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2488 ม.ร.ว. หญิง เสริมศรี เกษมศรี เลขาธิการของมูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทยได้พาคณะนักเรียนไปแสดงที่สโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ซึ่งมีท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นประธาน หลังรับประทานของว่างแล้ว ก็ถึงรายการการแสดง พวกเรารู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้แสดงให้ท่านผู้ใหญ่ชม

เมื่อการแสดงจบลง ท่านผู้หญิงได้เข้ามาทักทายปราศรัยกับพวกเราทีละคน เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นด้วยเสียงอันดังใสแจ๋วว่า “ท่านผู้หญิงคะ ท่านผู้นําไม่มาหรือคะ แหม ! พวกเราอยากพบท่านเหลือเกิน”

ได้ผลประมาณ 3 ทุ่ม ของคืนวันนั้น พวกเราเข้านอนกันหมดแล้ว เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นผิดเวลา พวกเราซึ่งเข้ามุ้งแล้ว แต่ยังตาค้าง นอนไม่หลับด้วยความตื่นเต้นที่ได้พบ และพูดคุยกับท่านผู้หญิงสตรีหมายเลข 1 ของเมืองไทยอยู่นั้นเกิดความรู้สึกขึ้นว่า เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นผิดเวลานั้นต้องนําข่าวดีมาให้แน่ ๆ

เสียงคุณครู เวธ อาวุธ ครูใหญ่ โต้ตอบด้วยความตื่นเต้น พลอยทําให้พวกเราลุกขึ้นนั่ง และเงี่ยหูสดับตรับฟังและเมื่อท่านวางหูโทรศัพท์ลง ก็ชะโงกหน้าเข้าไปในห้องนอนเล่าให้ฟังว่า คุณหญิงเสริมศรี โทรมาบอกว่า จะส่งรถมารับพวกเราไปยังทําเนียบสามัคคีชัย (ปัจจุบัน คือ ทําเนียบรัฐบาล) ท่านนายกรัฐมนตรีจะเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเรา

วันนั้นเป็นวันที่ตื่นเต้นที่สุด ต่างก็แต่งตัวกันอย่างประณีต ระมัดระวังการเจรจา ไม่ยอมให้ผู้ใหญ่ของโรงเรียนต้องอับอายขายหน้าเป็นอันขาด

อาหารที่ได้รับเลี้ยงเป็นโต๊ะจีน ประมาณสิบกว่าอย่าง ล้วนแต่อร่อยทั้งสิ้น ถ้าไม่ใช่เพราะได้พบกับท่านผู้หญิงละเอียดวันก่อนแล้ว เราก็คงไม่มีวาสนาได้ลิ้มรสอาหารดี ๆ อย่างนี้ แถมยังมีบรรดานายทหารตั้งแต่ชั้นร้อยเอกขึ้นไปยืนขนาบข้าง คอยบริการตักอาหารให้พร้อมกับพูดคุยด้วยอย่างอ่อนโยน และเป็นกันเอง

แม้ พระองค์เจ้าอาทิตย์ อาภากร ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และหม่อม ก็ทรงเข้ามาทักทายด้วย

หลังอาหารกลางวันแล้ว นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงให้ท่านนายกรัฐมนตรี และแขกเหรื่อฟัง เราได้รับคําชมเชยอย่างมากจากท่านผู้นํา ครูใหญ่ได้เล่าให้พวกเราฟังภายหลังว่า นอกจากท่านผู้ใหญ่ทั้งสองได้บริจาคส่วนตัวแล้วยังจะจัดให้โรงเรียนเข้าสังกัดกรมประชาสงเคราะห์พร้อมกับจะได้รับงบประมาณช่วยเหลือปีละ 20,000 บาท ข่าวนี้ทําให้พวกเราปลื้มปีติ และมีความหวังขึ้นที่รัฐบาลเริ่มสนใจ และให้ความช่วยเหลือแก่คนตาบอดขึ้นแล้ว

สถานการณ์โลกและการย้ายที่เรียน

เมื่อการศึกษาของคนตาบอดเริ่มแพร่หลาย ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานตาบอดก็ค่อย ๆ ทะยอยส่งเด็กมาเข้าเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องโยกย้ายไปเช่าสถานที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

จากค็อคเช่ ย้ายไปอยู่ตรอกพระยาภิภัตร ถนนสีลม แล้วก็ไปอยู่ที่ถนนประมวล

ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงขึ้น และโรงเรียนถูกทิ้งระเบิด มิส คอลฟิลด์ จึงให้พวกเราย้ายไปอยู่ที่ตําบลคลองบางตาล อําเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี สักระยะหนึ่ง แล้วก็อพยพต่อไปยังหัวหิน กลับเข้ามาในกรุงเทพฯ และเช่าบ้านอยู่ในซอยชิดลม แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่ซอยเทียนเซี่ยง ถนนสาธรใต้

เมื่อครั้งอยู่ที่ซอยชิดลมบังเอิญได้อยู่ตรงข้ามกับบ้านท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ท่านออกมาเดินเล่นในซอยทุกวัน และด้วยความระลึกถึงพระคุณ พวกเราจึงเข้าไปเชิญท่านเข้ามานั่งคุยกับพวกเราที่สนามหญ้า

ท่านชอบฟังพวกเราร้องเพลงภาษาอังกฤษ ทิล วี มีต อะเกน แอ็ต จี ซัส ฟิต พวกเราบอกแก่ท่านผู้หญิงว่าจะสวดมนต์ขอให้ท่านจอมพล ป.ปลอดภัยและขอให้ท่านได้กลับเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

ท่านผู้หญิงบอกว่า หากท่านทั้งสองได้เป็นใหญ่เป็นโตอีกครั้งหนึ่ง เราอยากได้อะไรก็ให้ขอ หากไม่เกินความสามารถแล้วก็เต็มใจจะให้

ไม่มีอะไรที่พวกเราอยากจะได้ยิ่งไปกว่ามีสถานที่เรียนถาวร ไม่ต้องโยกย้ายอีกต่อไป แต่ความหวังของเรากว่าจะสัมฤทธิผลก็ต้องรอถึง พ.ศ. 2492

โดย คุณสหัทยา โชติกเสถียร นักเรียนรุ่นพี่ที่ทําหนังสือถึงท่านทั้งสองขอสิ่งที่เราอยากได้ตามสัญญา และท่าน จอมพล ป. ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดที่ดินให้ถึง 7 ไร่ที่ถนนราชวิถี พญาไท พร้อมกับสร้างอาคารเรียน และหอพัก โรงอาหาร โรงครัว และอื่น ๆ

โรงเรียนได้ย้ายจากซอยเทียนเซียง มาอยู่ที่ถนนราชวิถีตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2493 มาจนกระทั่งทุกวันนี้ (พ.ศ. 2525)

ข้าพเจ้าก็เป็นนักเรียนตาบอดคนหนึ่ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483

ผู้เขียน : ออรอรา ศรีบัวพันธุ์

ข้าพเจ้าเสียตาเนื่องจากขาดไวตามิน เอ. และมีโรคริดสีดวงตาแทรกซ้อน โดยเริ่มเสียตามาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และบอดสนิทเมื่อ 9 ขวบ ลูกตาทั้งสอง จําเป็นต้องเอาออก และใส่ตาปลอมแทน มารดาได้ถึงแก่กรรมเมื่อข้าพเจ้าอายุ 7 ขวบ หมอตาประจําครอบครัว (เจ.กอบสัน ถนนสุริวงศ์) ซึ่งรู้จักกับมิส คอลฟิลด์ ได้แนะนําทางบ้านให้ส่งข้าพเจ้าไปเข้าโรงเรียน มิส คอลฟิลด์ เนื่องจากจะรับข้าพเจ้าเป็นศิษย์แล้วยังทําหน้าที่เป็นแม่ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ฯ แล้ว ได้เดินทางไปเรียนต่อไฮสกูล (4 ปี) ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด โอเวอร์บรุค เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนการศึกษาของโรงเรียนโอเวอร์บรุค และทุนเดินทางของมูลนิธิ ฟูลไบรท์

เมื่อจบไฮสกูลแล้ว ได้กลับมาเป็นครูสอนภาษาที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ฯ และสอนภาษาแก่คนตาดีในยามว่างด้วย

และในปี 2503 ได้ถูกส่งไปช่วยตั้งและบริหารโรงเรียนสอนคนตาบอดชั้นประถมที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้น มิสคอลฟิลด์ได้ชักชวนพ่อค้า ประชาชนที่นั้นช่วยกันตั้งมูลนิธิคนตาบอดภาคเหนือขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดโรงเรียนสอนคนตาบอดอีกแห่งหนึ่ง

ข้าพเจ้าไม่มีวุฒิครู ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหาร แต่ก็ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่โดยยึดแบบฉบับของ มิส คอลฟิลด์ ข้าพเจ้าต้องเผชิญกับอุปสรรค นานับประการทั้งในด้านการสอน การบริหาร การถือนโยบายของคณะกรรมการมูลนิธิ และการออกหาเด็กตาบอดตามทุ่งนา ป่าเขา ของจังหวัดต่าง ๆ ในทางภาคเหนือมาเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองบางคนเข้าใจง่าย บางคนไม่ยอมฟังเอาเสียเลย แม้ว่าจะใช้เวลาอธิบายเป็นชั่วโมงๆ ถึงคุณประโยชน์ของการส่งเด็กไปโรงเรียน แสดงวิธีอ่านเขียนหนังสือเบรลล์ให้ดู

เขาก็ยืนกระต่ายขาเดียวอ้างว่า ลูกหลานตาบอดคนเดียว เขาเลี้ยงได้ทําไมจะต้องส่งไปให้อยู่กับคนอื่น

หลังจากได้ปฏิบัติหน้าที่ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดเชียงใหม่ได้ 4 ปี ข้าพเจ้าก็ลาออกเพื่อเตรียมตัวไปช่วย มิส คอลฟิลด์ เปิดโรงเรียนที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านได้ถากถางไว้บ้างแล้ว

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ความหวังของเราต้องล้มเหลว เพราะสงครามในเวียดนามและลาวเข้มข้นขึ้นทุกที กระทบกระเทือนมาถึงชายแดนของไทย ดังนั้น ข้าพเจ้ายังคงใช้ชีวิต อยู่ที่เชียงใหม่โดยเข้าเป็นครูพิเศษ สอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียน เรยีนา เชลี สาขาโรงเรียนมาแตร์ เดอี

สอนอยู่ที่นี่ 3 ปี จึงได้มีโอกาสกลับเข้ามาสอน ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง

ขอย้อนกลับไปถึงการศึกษาของคนตาบอดอีกสักนิด ก่อนที่จะคุยเรื่องของตัวเองอีกต่อไป

เมื่อรัฐบาล เห็นประโยชน์ของการให้การศึกษา และฝึกอบรมคนตาพิการแล้ว จึงได้ให้กระทรวงศึกษาธิการเฝ้าติดตาม ดูผลงานเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. 2503 กระทรวงจึงยอมรับวิทยฐานะ การศึกษาของคนตาบอด ดังนั้น ระหว่างปี 2503-2509 ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตจากคุรุสภา เข้าสอบวิชาชุดครู พ.ก.ศ. (พิเศษการศึกษา) และ พ.ม. (พิเศษมัธยม) เช่นเดียวกับคนตาดีเป็นคนแรก

สมัยนั้น ตำราหนังสือเบรลล์ยังไม่มี เครื่องบันทึกเทปมี ยังไม่แพร่หลาย ข้าพเจ้าจึงต้องซื้อตำราปกติมาให้คนตาดีอ่านให้ฟัง (โดยให้ค่าบริการเขาบ้าง) พร้อมกับถอดเป็นภาษาเบรลล์ เข้าเป็นเล่มด้วยกันเอาไว้เรียนและเมื่อสอบวิชาชุดได้แล้วก็ส่งต่อให้น้องๆ รุ่นหลังได้ใช้กัน

คนตาบอดเรียนร่วมกับคนตาดีมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 โรงเรียนแรกที่รับนักเรียนตาบอดเข้าเรียนร่วมคือ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อมาก็มีทั้งโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนหลวง ตลอดจนวิทยาลัยครูต่างๆ และมหาวิทยาลัย

ข้าพเจ้าเองเมื่อครั้งจบ “ไฮสคูล” มีความปรารถนาที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่ในโอกาสไม่อำนวยจะว่าดวงจู๋ในเรื่องนี้ก็ไม่เชิง มาได้เข้าเรียนเอาตอนแก่นี่เอง มีโอกาสได้เข้าสอบเอ็นทรานซ์กับเขาบ้าง ที่มศว. ประสานมิตร เมื่อต้นปี 2518 เรียนภาคค่ำอยู่ถึง 3 ปี จึงได้รับพระราชทานปริญญาบัตร กศ.บ. (การศึกษาบัณฑิต) เมื่อเดือนมิถุนาย พ.ศ. 2521

อุปสรรคในการเรียนร่วมกับคนตาดีไม่ต้องพูดถึงกันละ มีมากเอาทีเดียว เบื้องต้นก็คือ ตำราเบรลล์ไม่มีทุกคนต้องช่วยตนเอง เมื่อได้ชีทหรือหนังสือมาก็ต้องหาคนอ่านให้ฟัง ซึ่งไม่ใช่หาได้ง่ายๆ เพราะอาสาสมัครสำหรับงานอย่างนี้ ยังไม่มีกว้างขวาง และเป็นกลุ่มก้อนกันมานานแล้ว คือมักจะทำบุญด้วยปัจจัยมากกว่าเวลา ดังนั้น จึงขอถือโอกาสฝากมายังท่านทั้งหลายว่า อาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง จะด้วยกับตัวหรืออ่านลงเทปก็ตามเป็นสิ่งที่คนตาบอดต้องการมากเหลือเกินในยุคนี้

นอกจากอุปสรรคเกี่ยวกับการอ่านหนังสือแล้ว ก็ยังมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินทาง สถานที่ เพื่อนร่วมชั้น และอาจารย์ผู้สอน เป็นต้น

การฟังแลคเชอร์ สมัยนี้ไม่สู้กระไร เพราะขณะฟังไป ก็ใช้เทปบันทึกเสียงของอาจารย์ไปด้วย และนําไปฟังซ้ำ หรือถอดเนื้อหาเป็นเบรลล์ได้ภายหลัง แต่ถ้าได้อาจารย์ที่พูดน้อยและช่างเขียนบนกระดานดํา เราก็ขาดทุน ต้องอาศัยโน้ตของเพื่อนร่วมชั้นกันละคราวนี้ นี่คืออุปสรรคทั่ว ๆ ไปของนักเรียน นักศึกษาตาบอดที่ไปเรียนร่วมกับคนตาดี

สําหรับข้าพเจ้าก็มีสภาพเช่นเดียวกับคนตาบอดอื่น ๆ แต่ปัญหานั้นมีมากกว่าเพราะเป็นนิสิตตาบอดคนแรกของมศว. ประสานมิตร เป็นของใหม่แก่สถาบัน ความสะดวกสบาย และความคล่องตัวก็ย่อมไม่เหมือนกับเป็นคนรุ่นหลัง

นอกจากข้อนี้แล้ว ปัญหาอื่น ๆ ก็คือ กลางวันสอนหนังสือ ตกเย็นก็เป็นนักเรียน เดินทางโดยสารรถโดยสาร สองต่อบ้าง สามต่อบ้าง ต้องเผชิญกับฝนตก หรือน้ำท่วมเป็นบางครั้ง

นอกจากนี้ ยังต้องมีภาระปฏิบัติหน้าที่ของแม่บ้าน และแม่ของลูก ๆ เรื่องเศรษฐกิจของครอบครัวต้องอาศัยวิธีรัดเข็มขัด เพราะทั้งแม่ทั้งลูก ๆ เรียนกันทั้งนั้น ภาระหนักตกอยู่กับพ่อบ้าน ซึ่งนัยน์ตาพิการเช่นกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่รําพันมานี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว มีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งสนุกและหนักใจระคนกัน

เมื่อพูดถึงการศึกษาของคนตาบอดแล้ว ก็ต้องขอพูดถึงเรื่องอาชีพบ้าง มิฉะนั้นก็จะไม่ครบเครื่อง ขอเวลาคุยต่ออีกสักหน่อยเถอะ อย่าเพิ่งเบื่อเลย ถ้าไม่พูดท่านก็จะไม่รู้

ถึงแม้ว่ารัฐบาล และสังคมยอมรับว่าคนตาบอดมีความสามารถในด้านการศึกษา และช่วยเหลือตนเองได้เกี่ยวกับชีวิตประจําวันในสถานที่ ๆ เขาเคยชิน แต่ครั้นถึงเรื่องของงานให้คนตาบอดทํา ทั้งรัฐบาลและเอกชนยากที่จะยอมรับสภาพนี้ เหตุผลก็คือ คนปกติเป็นจํานวนมาก ยังตกงานอยู่เลย ทําไมจะต้องไปห่วงใยกับคนพิการ ซึ่งมีเปอร์เซนต์เพียงน้อยนิด

มีเจ้าของงานบางรายอยากจะจ้างคนตาบอดเหมือนกัน แต่มีความลังเลใจ เกรงว่าคนตาบอดจะทําให้ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างปกติ เกรงคนตาบอดจะไปมาลำบาก ไม่ก็เกรงว่าคนตาบอดจะเข้ากับคนงานตาดีได้หรือ เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนหน่วยงานของรัฐบาลนั้น แต่ไหนแต่ไรมา กฎหมายก็ไม่ให้สิทธิ์อยู่แล้ว

วงการตาบอดและคนพิการประเภทอื่นๆ ต่างก็วิงวอนขอสิทธิ์ในการเข้าทำงานทั้งของเอกชนและของรัฐ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชนต่างก็เข้าใจดี และค่อยๆ ยอมรับคนพิการเข้าทำงานตามความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก

งานส่วนใหญ่ที่รัฐหรือเอกชนให้แก่คนตาบอดนั้นคือ เป็นพนักงานรับโทรศัพท์ และครู ส่วนงานที่เกี่ยวกับกายภาคบำบัดและในโรงงานต่างๆ ซึ่งคนตาบอดทำได้นั้น มีคนตาบอดไม่กี่รายได้รับโอกาสอย่างนี้

แต่ก็มีคนตาบอดอีกไม่ต่ำกว่า 80% ทั้งจบและไม่จบการศึกษา ครั้นออกจากโรงเรียนไปแล้ว ไม่มีงานทำ เขาจึงต้องขวนขวาย หาอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเอาเอง โดยการเที่ยวเร่ขายของ เช่น ล็อตเตอรี่ หรือหมากฝรั่ง หรืองานมีฝีมือซึ่งเขาผลิตขึ้นมาเอง หรือรับมาจากที่อื่น

แต่การขายของที่ต้องเร่ขายไปนั้น มีแต่ภัยรอบด้าน ทั้งภัยบนท้องถนน และภัยจากสังคม

ภัยบนท้องถนน ได้แก่ รถราที่วิ่งขวักไขว่ สิ่งกีดขวางทางเดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ และขรุขระ ที่้ร้ายกว่านั้นคือ ฝาท่อระบายน้ำที่เปิดทิ้งไว้ เป็นต้น

ส่วนภัยของสังคม ก็มาจากมนุษย์ที่เห็นแต่ตัว โดยเฉพาะผู้ค้าสลากกินแบ่งตาบอด มักจะเจอะเจอกันบ่อย เช่น ฉกกระเป๋าใส่สลากไปดื้อๆ หรือไม่ก็ขอซื้อสลากแล้วเดินหนีโดยไม่จ่ายเงิน บางรายขอเลือกเลขและฉีกเองแบบฉีกมากกว่า 1 ฉบับ และจ่ายเงินเพียงใบเดียวก็มี บ้างก็ให้ใบละ 10 บอกว่า 20 หรือ 100 ก็ยังมี และทวงค่าทอน ผู้ค้าสลากตาบอดจึงจำต้องหามาตรการต่างๆ ช่วยเหลือตัวเองให้ดีที่สุดจากภัยดังกล่าว

การขายสลากแต่ละใบ ใช่ได้กำไรอักโข ครั้นขอเกินบ้าง ผู้ซื้อที่เข้าใจและใจถึงก็ยินดีให้แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เอาเรื่องอยู่แสดงกิริยาวาจาให้ช้ำใจ หรือไม่ก็บอกให้ตำรวจจับ ถูกฟ้อง ถูกปรับในข้อหาว่าค้ากำไรเกินควร ข้าวของแพงขึ้นไม่รู้กี่พันเท่าในระยะ 20 ปีกว่ามานี้ แต่ราคาของสลากก็ยังราคาเดิม ไม่ซื้อก็ไม่ว่ากระไร โปรดเมตตาอย่าว่าให้ช้ำชอก คนตาบอด “ก็มีหัวใจ” คนปกติเขามีร้านมีแผงอยู่กับที่นอกจากจะขายสลากแล้ว ยังขายของอื่นๆ ด้วยช่วยจุนเจือกำไร หรือถ้าขายสลากอย่างเดียว เขาก็มีเงินพอที่จะขายงวดละร้อยๆ เล่ม แต่คนตาบอดเวลาขายต้องหิ้วต้องสะพายเดินหรือยืนขายกันทั้งวัน ทุนก็มีน้อย งวดๆ หนึ่ง ขายได้ ห้าหกสิบ ก็ดีเหลือหลายแล้ว เพราะพวกเรามันแค่ซาปั๊ว สี่ปั๊ว ก็ยังมีถึงฤดูล็อตเตอรี่ ขายดีก็ยังต้องแถม % ให้พวกยี่ปั๊วก็มีบ่อยครั้ง

เพื่อปากเพื่อท้องและครอบครัวเขาก็ไม่ย่อท้อ แม้นัยน์ตาจะมืดก็ไม่ยอมให้ชีวิตมืดไปด้วย

ดนตรีก็เป็นอาชีพอีกแขนงหนึ่งที่คนตาบอดใช้เลี้ยงชีพได้ ที่มีฝีมือเลิศก็พอเข้าไปนั่งเล่นกับเขาได้บ้าง ตามห้องอาหาร ไนท์คลับ หรือโรงแรม แต่สถานบริการเหล่านี้มีไม่กี่แห่ง ที่ยอมรับนักดนตรีตาบอด

ส่วนพวกที่มีฝีมือพอไปวัดไปวาได้ ก็ตั้งวงหากิน ขึ้นเหนือล่องใต้ไปทั่วประเทศ แล้วแต่เทศกาลเล่นตามสถานที่ศึกษาบ้าง ตามวิด ตามโรงหนัง ตลอดทั้งงานวัด ทั้งนี้ ก็เพราะเพื่อความอยู่รอดของตัว และครอบครัว

สำหรับข้าพเจ้านั้น รู้สึกว่าดวงดีพอสมควร ได้งานที่มีเงินเดือนประจำและเหมาะกับความถนัดนั่นก็คืออาชีพครูซึ่งสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498-2513 โดยเป็นลูกจ้างมูลนิธิ จาก 2514-2522 (8 ปี) ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา โดยรับเงินเดือนจากกระทรวง แต่สอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

ที่จริงตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา รัฐบาลก็ได้อะลุ้มอล่วยคนตาบอดเข้าทำงานตามหน่วยราชการบ้างแล้ว โดยเริ่มบรรจุให้เป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้วก็ลูกจ้างประจำเป็นลำดับ เช่น กรมตำรวจ (กองสันติบาลและกองทะเบียน) กรมแรงงาน กรมประชาสงเคราะห์ การเคหะแห่งชาติ และรวมทั้งสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ซึ่งรับคนตาบอดเป็นพนักงานรับโทรศัพท์

สำหรับกรมการแพทย์รับคนตาบอดเป็นนักกายภาคบำบัด และล้างฟิล์มเอ็กซ์เรย์ในห้องมืดตามโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกรมสามัญศึกษานั้นก็บรรจุเป็นครูส่งไปสอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดในกรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลก็ได้แก้ไขระเบียบราชการพลเรือนมาตรา 24 บ่งว่า

“บุคคลพิการโดยร่างกายไม่สมประกอบแต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่บกพร่องมีสิทธิ์สอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการได้”

นี่คือยอดปรารถนาของมิส คอลฟิลด์ ผู้ให้กำเนิดการศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย ท่านต้องการเห็นศิษย์ของท่านได้เป็นข้าราชการ มีความเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลปกติ มีความเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลปกติ สมัยเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้พยายามขอร้องบุคคลในวงการต่างๆ ช่วยพูดกับรัฐบาลในสิทธิของข้อนี้ ข้าพเจ้าก็ช่วยท่านรณรงค์ในเรื่องนี้เช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กฎบังคับข้อนี้มีผลออกมาสามปีหลัง หลังจากท่านได้ถึงแก่กรรมลง หากระเบียบนี้ได้ออกมาก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตข้าพเจ้ารับรองได้ว่า มิส คอลฟิลด์ จะปีติท่วมท้นหัวใจ

เพราะมันเป็นรางวัลยอดเยี่ยมที่ท่านได้รับจากรัฐบาลไทย น้ำตาที่ได้หลั่งออกมาเมื่อครั้งรัฐบมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ บอกปัดที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด อ้างว่าซื้อเรือรบสําคัญกว่านั้น มันช่างคุ้มค่าเหลือเกิน

ระเบียบข้าราชการพลเรือนมาตรา 24 พ.ศ. 2518 ที่ว่านี้ยังไม่มีบทบาทอะไรจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2522 ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ได้มีใจกว้าง เปิดโอกาสให้คนตาบอดเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน 2522 และข้าพเจ้าก็ได้เป็นคนตาบอดคนแรกที่เข้าสอบร่วมกับคนตาดี

การสอบมิได้รับการยกเว้นใด ๆ นอกจากมีกรรมการอ่านคําถามให้ฟัง แล้วข้าพเจ้าก็เขียนคําตอบลงบนเครื่องพิมพ์ดีดสัมผัส เมื่อผลสอบออกมาปรากฏว่า ข้าพเจ้าสอบได้ ก.พ.จึงอนุมัติให้บรรจุแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ 1 ระดับ 3 คือ ซี. 3 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2522 สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา ทําการสอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

เนื่องจากประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระยะเกือบ 40 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จํานวนคนตาบอดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ย่อมทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว จากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนน ในโรงงาน ตลอดทั้งในสมรภูมิ คนเหล่านี้ยังมีเป็นจํานวนพัน จํานวนหมื่น ซึ่งไม่มีโอกาสได้รับบริการในด้านการศึกษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการฝึกอบรมด้านอาชีพ เนื่องจากสถานที่และบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรคนตาบอด

ดังนั้น ข้าพเจ้าศิษย์เก่าและเด็กที่มิส คอลฟิลด์ได้อุปการะเลี้ยงดูได้รับโอกาสดีมาก่อน ใคร่จะเจริญรอยตามบทบาทของมิส คอลฟิลด์ โดยหาทางขยายการศึกษาของคนตาบอดให้กว้างไกลออกไปกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้เชิญมิตรสหายและผู้คุ้นเคยกับ มิส คอลฟิลด์ ตลอดทั้งศิษย์เก่าของท่านร่วมกันปรึกษาเตรียมการทั้งด้านเอกสาร และทุนเพื่อขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ใช้เวลาเตรียมงานอยู่ประมาณหนึ่งปี และได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2522 ได้รับอนุมัติเป็นมูลนิธิสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2523 โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด” มีวัตถุประสงค์ใหญ่ ๆ คือ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ มิส คอลฟิลด์ ซึ่งได้ทําคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอเนกอนันต์ และเพื่อสนองเจตนารมณ์ของท่าน

ขอเล่าอะไรอีกสักนิดเถอะ ในงานเลี้ยง “วันขอบคุณพระเจ้า” ซึ่งครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกันที่จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดขึ้น เจ้าภาพขอร้องให้แขกรับเชิญทุกคนกล่าวคําขอบคุณพระเจ้าในสิ่งที่ตนได้รับพระราชทานเป็นพิเศษในชีวิต ครั้นถึงคราวข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้ากล่าวคําโมทนาพระคุณพระเจ้าที่ทรงให้ข้าพเจ้าตาบอด

เจ้าภาพแปลกใจที่ได้ยินเช่นนั้น ถึงกับขอคําอธิบายพร้อมกับถามว่าความพิการนั้นมิได้ทําให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ดอกหรือ

ข้าพเจ้าชี้แจงด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า หากมิใช่เพราะความพิการนัยน์ตาของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคงจะไม่ได้รับพระคุณ (ประสบการณ์ในชีวิต) จากพระเจ้า ดังได้พรรณามาตั้งแต่ต้นแล้ว

ข้าพเจ้ายังมียาชูกําลังให้ชีวิต จิตใจสดใสซาบซ่านั่นคือ คําสอนของมิส คอลฟิลด์ที่เฝ้าพรําสอนข้าพเจ้าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ไม่ให้เป็นผู้รับ “ลูกเดียว” ต้องเป็นผู้ให้ด้วย

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 กรกฎาคม 2562