“เทวดาวังล่าง-เทวดาวังบน” คำเรียกเจ้านายองค์ใด? มีที่มาอย่างไร?

ภาพถ่ายทางอากาศพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง สำนักราชเลขาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2513)

“เทวดาวังล่าง-เทวดาวังบน” นั้น เป็นคำที่ใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงอิศรสุนทร และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ส่วนเหตุใดจึงเรียกขานเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น

หนังสือความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ (สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2552) ต้นฉบับเป็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งมีพระราชกระแสทักท้วงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อธิบายไว้ (เพื่อให้ง่ายในการอ่านจึงมีการจัดย่อหน้า, เน้นตัวอักษร) ดังนี้

ว่าด้วยคําพูดของคนเก่า ๆ จะพรรณาถึงถ้อยคําของคนชั้นเก่า ๆ คือ ขุนนางและราษฎรที่เข้าใจกันประหลาด ๆ นั้นที่จะต้องเล็งเห็นความจริงควรจะใช้สืบมาก็มีบ้าง ที่ไม่มีหลักฐานไม่ควรใช้ก็มีบ้าง คือที่เรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อพระองค์ท่านยังดํารงพระยศอยู่ในที่กรมหลวงอิศรสุนทรนั้นว่าเทวดาวังล่าง เรียกสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่พระองค์ยังดํารงอยู่ที่กรมหลวงเสนานุรักษ์นั้นว่าเทวดาวังบน

คําที่ว่ามานี้เพื่อจะเล็งเห็นท่านทั้งสองพระองค์มีพระยศเป็นเจ้าฟ้าที่บนฟ้าก็มีแต่เทวดา จึงได้เรียกว่าเทวดาวังล่างเทวดาวังบน มีคําถามว่าที่ เจ้าฟ้าในยุคนั้นมีถึง 19 พระองค์ เหตุใดจึงเรียกเทวดาอยู่แต่สองพระองค์ก็ควรจะต้องเรียกทั่วกันไปทั้ง 19 พระองค์ จึงจะควรตอบว่าท่านสองพระองค์นี้ ในครั้งนั้นท่านดํารงพระยศเป็นพระบันฑูรใหญ่พระบัณฑูรน้อย (พระกระแส, ถ้าเช่นนั้นจะต้องพูดทําไมถึงเจ้าฟ้า จะว่าเพราะท่านรับพระบัณฑูรทั้งสองพระองค์เขาจึงเรียกว่าเทวดา มิสั้นดีกว่าฤา) ขึ้นแล้ว คนทั้งหลายจึงเพิ่งเห็นว่าเจ้าฟ้ากับเจ้าแผ่นดินเป็นคู่กัน

ถามว่า เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท ยังมีพระชนม์อยู่ท่านก็เป็นเจ้าฟ้า เหตุใดจึงไม่เรียกว่าเทวดาเล่า

ตอบว่าที่เรียกกันว่ากรมพระราชวังบวรคือเอานามวังมาเรียกใช้ได้เป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน ครั้นจะเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ว่ากรมพระราชวังพระองค์ใหญ่ กรมพระราชวังพระองค์น้อย ก็ชัดอยู่ด้วยท่านทั้ง 2 พระองค์นี้ไม่ได้เสด็จอยู่ในพระราชวังบวรฯ ท่านยังเสด็จประทับอยู่ที่วังเดิมของท่านทั้ง 2 พระองค์ (พระกระแส, ทําไมจึงไม่เรียกว่าพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย ตามหมายรับสั่ง ซึ่งไม่เกี่ยวแก่วังและเคยใช้มาแต่โบราณเล็งเห็นอย่างไร) จึงรู้เรียกกันว่าเทวดาวังล่าง เทวดาวังบน ถ้อยคําที่กล่าวมานี้ถ้าจะใคร่ครวญดู ในความเห็นของคนทั้งหลายก็ชอบกลอยู่ แต่คําที่กราบทูลฤาคําใช้ในบาทหมายจึงว่า บัณฑูรใหญ่บัณฑูรน้อย

ซึ่งก็สอดคล้องกับ คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่งว่า

“ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใคร ไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2652