“ทุ่งไหหิน” มรดกโลกในลาว กับตำนาน “ทุ่งแห่งไหเหล้า” ของ “ขุนเจือง” ?

ทุ่งไหหิน ลาว ความเชื่อ ขุนเจือง
ทุ่งไหหิน

ทุ่งไหหิน โบราณสถานอันสำคัญของประเทศลาว และยังได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกผ่านการรับรองของคณะกรรมการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562

ทุ่งไหหินตั้งอยู่ที่เชียงแขวง ทางตอนเหนือของลาว เป็นที่ราบสูง มีหินใหญ่ลักษณะคล้ายไหตั้งอยู่ทั่วบริเวณ มีอายุอยู่ในยุคโลหะตอนปลายไม่น้อยกว่า 2,500 ปี ซึ่งมีนักโบราณคดีค้นพบกระดูก ณ บริเวณนั้น สันนิษฐานว่าหินที่มีลักษณะไหนั้นเป็น “ภาชนะ” บรรจุกระดูก เป็นพิธีศพของชาวลาวโบราณ แต่ทุ่งไหหินนี้ เคยมีตำนานที่ว่าด้วยไหที่วางเรียงรายอยู่นี้ เป็นไหเหล้าของ “ขุนเจือง” วีรบุรุษแห่งสองฝั่งโขง

Advertisement

เท้าความก่อนว่า “ขุนเจือง” เป็นใครมาจากไหน ขุนเจืองเป็นบุคคลในตำนานที่ถูกเล่าขานว่าเป็นวีรบุรุษของกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยขุนเจืองเป็นตำนานที่ออกมาในรูปแบบของมหากาพย์ “ท้าวฮุ่งขุนเจือง” ที่นักวิชาการอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ได้คาดว่าถูกแต่งขึ้นในบริเวณล้านช้างหลวงพระบาง ประมาณสมัยอยุธยาตอนต้น จากลักษณะการประพันธ์และสำนวนที่คล้ายคลึงกับศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย ตำนานของของขุนเจืองก็มีความเกี่ยวข้องกับไหหินด้วย

ตำนานของไหหินนี้ มหาสิลา วีระวง เล่าไว้ว่า ขุนเจืองทำสงครามกับพวกแกว และตีเมืองแกวปะกัน หรือบริเวณเมืองเชียงขวางในปัจจุบันสำเร็จ จึงเฉลิมฉลองชัยชนะนี้อยู่ 7 เดือน ขุนเจืองจึงสั่งไพร่พลให้ทำเหล้าไหเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้มีไหขึ้นอยู่บริเวณทุ่งเป็นจำนวนมาก

คนลาวจะเรียกไหนี้ว่า “ไหเจือง” หรือ “ไหเหล้าเจือง” ผู้คนยังเชื่ออีกว่าหากเทน้ำลงในไห น้ำจะกลายเป็นเหล้าขึ้นมาในบัดดลด้วย ทำให้ไหเหล่านี้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวลาวและชาวข่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในความศักดิ์สิทธิ์ของไหเจือง “พระยาว่าน” ผู้นำแห่งชาวข่าที่รวมตัวกันเพื่อจะตั้งตนเป็นอิสระแก่ความเป็นไพร่ทาสจากพวกชนชั้นนำในลาว ในช่วงร่วมสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาตั้งอาณานิคมในลาว และจีนฮ่อที่อพยพลงมาและปล้นสะดม ได้ใช้ความเชื่อเรื่องไหในทุ่งไหหิน เพื่อประกอบพิธีกรรม “ชุบตัว” ให้กลายเป็นผู้มีบุญและตั้งตนเป็น “ขุนเจือง” ผู้เป็นตำนานแห่งวีรบุรุษสองฝั่งโขง โดยการนำพริกไปตำในไหและนำมาชโลมตัวโดยไม่มีอาการแสบร้อนแต่อย่างใด

ชาวข่าที่ดูเหตุการณ์อยู่ต่างเห็นว่าเป็นอัศจรรย์และเชื่อว่าเป็นผู้มีบุญที่จะนำพาชาวข่าต่อสู้กับชาวไท-ลาวได้ อันเป็นการใช้ความเชื่อเรื่องไหเจืองเพื่อที่จะตั้งตนเป็นผู้นำของชาวข่าที่คิดจะตั้งตนเป็นกบฏ เป็นที่มาของ “กบฏข่าเจือง”

ทุ่งไหหินก็เป็นโบราณสถานอันมีความสำคัญต่อประเทศลาวเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ได้รับการการันตีว่าเป็นมรดกโลกจากองค์กรระดับโลกอย่างยูเนสโก ทำให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศลาว เป็นสถานที่แห่งตำนานและความเชื่อของชาวลาวอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2538). ท้าวฮุ่งขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน

กำพล จำปาพันธ์. (2555). ข่าเจือง : กบฏไพร่- ขบวนการผู้มีบุญหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านซ้าง.กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562